3 พ.ย. 2021 เวลา 08:55 • สุขภาพ
ต่อจากโพสต์ที่แล้วในโพสต์นี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง การวิเคราะห์มาตรการการรับมือปัญหาแรงงานของไทย รวมทั้งการศึกษาและเปรียบเทียบการจัดการโควิด19 ของประเทศเพื่อนบ้านและข้อเสนอแนะในการดำเนินมาตรการและนโยบายของรัฐบาล
4.วิเคราะห์มาตรการแรงงานระยะยาวของประเทศไทยในปัจจุบัน
จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 โดยรัฐบาลได้สั่งให้มีการปิดประเทศและล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ GDPให้เกิดการหดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 6.6 และจากข้อมูลในไตรมาส 2/64 สถานการณ์แรงงานค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ มีผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงานที่ทำไม่ถึง 4 ชม. ต่อวัน รวม 3 ล้านคน , ผู้ว่างงานระยะยาวเกิน 1 ปี 1.7แสนคน และแรงงานที่ต้องกลับสู่ภูมิลำเนา 1.6 ล้านคน
ทำให้ในปี 64 รัฐบาลต้องปรับมาตรการแรงงานให้เหมาะสมมากขึ้นกล่าวคือได้มีการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อสถานการณ์ คือ 1.มาตรการสร้างกลไกเอื้อให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ทันการณ์ เป็นมาตรการที่เหมาะสมในเวลานี้เนื่องจากเด็กจบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19และการจัดการจากรัฐบาลที่ยังไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาวส่งผลให้งานหายากมากขึ้น ซึ่งก้าวแรกของการทำงานเป็นส่วนที่สำคัญต่อการทำงานในอนาคตอย่างมาก การหางานไม่ได้ในช่วงแรกอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมากการที่มีมาตรการนี้ทำให้สามารถหางานได้ง่ายขึ้นเพื่อให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน
2.มาตรการช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบแต่ละกลุ่ม สำหรับในมาตรการนี้อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการรับภาระค่าใช้จ่ายที่หนักจากการจ้างงานจึงควรมีนโยบายหรือมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบการด้วย เช่น การลดภาษี เป็นต้น แต่การที่ปรับจากสนับสนุนแรงงานที่จำกัดเฉพาะนักศึกษาจบใหม่เป็นแรงงานทั่วไปถือเป็นผลดีต่อแรงงานในภาพรวม แต่สำหรับนักศึกษาจบใหม่อาจทำให้เกิดการแข่งขันในการเข้าทำงานมากขึ้น
3.การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ให้เต็มที่ สำหรับมาตรการนี้จะไม่ครอบคลุมถึงแรงงานหรือคนที่ไม่สามารถใช้งานแอพลิเคชันต่างๆได้ซึ่งสำหรับคนที่มีความลำบากการมีโทรศัพท์เพื่อใช้งานแอพพลิเคชันเป็นเรื่องที่ยากทำให้การเยียวยาในมาตรการนี้ไม่สามารถส่งถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้จึงควรที่จะเพิ่มการเยียวยาให้ครอบคลุม เช่น การให้แต่ละจังหวัดมีการสำรวจผู้ที่ยากลำบาก/คนว่างงานให้ครอบคลุมเพื่อทำบันทึกเป็นข้อมูลการเยียวยาจึงจะสามารถทำได้ครอบคลุมในทุกมิติ
มาตรการที่ช่วยเหลือแรงงานในทางอ้อม เช่น เดิมผู้ประกอบการต้องมีแรงงานที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับลดเป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานไว้ได้และทำให้แรงงานเกิดการว่างงานหรือตกงานลดลงถือเป็นมาตรการที่ดีและน่าสนใจเนื่องจากได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและแรงงาน
5.ถอดบทเรียนการจัดการโควิด19จากประเทศเพื่อนบ้าน
จากสถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบและความเสียหายจากโควิด19 ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจการหยุดชะงักของภาคธุรกิจจนส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานหรือด้านสังคมที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแบบNew Normal รูปแบบการทำงานหรือการเรียนต่างๆล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากโควิด19จะสร้างความเสียหายให้ประเทศแล้ว ประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีความเปราะบางและเป็นตัวเสริมให้บาดแผลจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ย่ำแย่ลงไปอีก ตัวอย่างเช่น การเมืองที่ไม่สงบประชาชนไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล หรือการตัดสินใจล่าช้าในการควบคุมโรค รวมทั้งการล่าช้าในการสั่งซื้อวัคซีนและการสั่งซื้อวัคซีนที่ผูกขาดจากผู้ขายรายเดียว ส่งผลให้การรับมือหรือจัดการกับโควิดได้ไม่ดีเท่าที่ควรทำให้เกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่มีความพร้อมและมีมาตรการคุมโรคที่เข้มงวดทันท่วงที ตัวอย่างประเทศในอาเซียนที่จัดการกับโควิด19ได้ดีที่สุดคือประเทศสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวจากอาเซียนที่ถูกจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่จัดการโควิด19ดีที่สุดอันดับที่12ของโลก โดยการจัดลำดับ Nikkie โควิด-19 Recovery Index จากNikkei Asia หากลองศึกษาและเปรียบเทียบการจัดการโควิด การกำหนดมาตรการด้านต่างๆรวมทั้งมาตรการแรงงานของสิงคโปร์ ก็จะทราบว่าทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นประเทศต้นๆที่สามารถจัดการโควิดได้ดีที่สุด โดยมาตรการการจัดการโควิด19 ที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากคือการต้องตรวจหาเชื้อที่ง่ายและรวดเร็วเพื่อให้ได้ทราบผลและจัดการได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะเน้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจแบบ Antigen rapid test หรือชุดตรวจเชื้อด้วยตนเอง โดยสามารถหาได้ตามร้านขายยา คลินิกเอกชน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ๆเช่นชุดตรวจหาเชื้อจากลมหายใจที่จะรู้ผลใน1-2นาที
การรู้ผลที่เร็วนั้นจะช่วยในการควบคุมโรค และรักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น และหัวใจหลักของการรับมือกับโควิดของสิงคโปร์คือการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและทันท่วงที เพราะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้ออย่างมาก ทั้งยังลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตในกลุ่มผู้ติดเชื้ออีกด้วย นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุขคือการห้ามรวมตัว การจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ หรือปิดสถานที่เสี่ยง ด้านเศรษฐกิจที่มีการอุดหนุนธุรกิจE-Commerce อุดหนุนการพัฒนาระบบดิจิตอลของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการตั้งทุนสนับสนุนสถาบันการเงินเป็นต้น
ในส่วนของมาตรการด้านแรงงานสิงคโปร์ ดำเนินการโดยการชดเชยยรายได้เป็นเวลา9เดือนและอัตราการชดเชยขึ้นอยู่กับงานแต่ละชนิด มีโครงการสำหรับสนับสนุนด้านต้นทุนค่าจ้าง15%แก่ผู้ประกอบการ และขึ้นค่าจ้างรายเดือนอย่างน้อย50ดอลล่าสิงคโปร์ให้แก่แรงงานที่เงินเดือนไม่ถึง5000ดอลลาร์สิงคโปร์ มีมาตรการที่ช่วยอุดหนุนนายจ้างและให้เงินช่วยเหลือแก่แรงงานรายได้ต่ำถึงปานกลาง ต่างกับมาตรการการรับมือของไทยที่มีการเยียวยาแค่เพียงบางจังหวัดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากโควิดมากกว่าสิงคโปร์ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจการจ้างงานปัญหาแรงงาน การระบาดของเชื้อไวรัสในประเทศ การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งไทยต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศและนำมาปรับเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในประเทศให้ดีขึ้น
6.ข้อเสนอแนะ
มาตรการแรงงานในยุคโควิดที่ออกมาถือว่ามีความเหมาะสมต่อสถานการณ์เพียงแต่ควรที่จะมีการปรับให้ครอบคลุมถึงแรงงานในทุกพื้นที่เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการออกนโยบาย/มาตรการต่างๆ รวมถึงควรให้การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการให้เหมาะสมเนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบเช่นกันและมีความสำคัญต่อการจ้างแรงงานหากมีการลดการจ้างงานลงก็จะทำให้มีจำนวนการว่างงานมากขึ้นไปอีก
มาตรการต่างๆเหล่านี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาจำเป็นแต่สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการควบคุมการแพร่ระบาดที่รัฐบาลยังทำได้ไม่ดีพออย่างเช่น การบริหารจัดการผู้ป่วยที่ขาดประสิทธิภาพ ปัญหาการจัดการหาวัคซีนล่าช้ารวมทั้งการฉีดวัคซีนที่ไม่เหมาะกับช่วงวัย การจัดการเรื่องสถานที่ฉีดวัคซีนที่ไม่เหมาะสมกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น โดยเฉพาะการได้รับวัคซีนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับทุกช่วงวัยหากทุกคนได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและเหมาะสมจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเรียนหรือทำงานแบบออนไซต์ไม่เป็นที่กังวลมากนัก เนื่องจากจะช่วยควบคุมโรคและลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างงานในอนาคตได้ รัฐบาลจึงควรเร่งนำเข้าวัคซีนและจัดสรรให้คนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2564). เช็ค! 4 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ ลูกจ้าง สู้โควิด-19. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/964703?fbclid=IwAR0jl3ntJEA_bPS_vlt6R3YU8IZvz4lYPjxow92Gb8Rrzbb2Hs4OmF9sCw8
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์, และพรชนก เทพขาม. (2564). มาตรการแรงงานที่เหมาะสม ยืดหยุ่น และพร้อมรับการอยู่ร่วมกับโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_27Sep2021.aspx?fbclid=IwAR31H9x8gCt4HzxY_fHwwTp9vd6Rh5HAaEczQXNyL95MVwgSNLpm_d-51so
ไทยรัฐ. (2564). รัฐบาล เปิดมาตรการเยียวยา 10 จว. ล็อกดาวน์เพิ่มทุกสิทธิ ใ.33-ม.39-ม.40. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2139502?fbclid=IwAR145x-7qrABE70SQHZsB2qv3AxGB2mNGsraYDhPTClkkevGv6jb4aw9eM4
บีบีซีไทย. (2564). โควิด-19 : เปิดแผนรัฐบาลสิงคโปร์ เรียนรู้อยู่กับไวรัส ให้ชีวิตปกติสุขในระยะยาว. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จาก https://www.bbc.com/thai/international-57612128?fbclid=IwAR1X3Mi-JHpUGhAA18dI_DhPNCTCha_F6w9JWNdY_ef97fybZKAvrx8PT5o
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2564). สถิติการระบาดเปรียบเทียบระหว่าง สิงคโปร์ กับ ไทย. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จาก https://www.covidpolicywatch.com/singapore/?fbclid=IwAR0aMzMINZ_v8P5KPEhEKVtReYjs1y-ViaN8pW4TbCDTavdhHZ43J_FBfgc
โฆษณา