4 พ.ย. 2021 เวลา 02:15 • ประวัติศาสตร์
“มารี ยาโลวิชซ์-ไซมอน (Marie Jalowicz-Simon)” หญิงชาวยิวผู้ทำทุกทางให้รอดจากนาซี
“มารี ยาโลวิชซ์-ไซมอน (Marie Jalowicz-Simon)” คือหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของชาวยิวในช่วงที่นาซีเรืองอำนาจในเยอรมนี
ก่อนที่จะเสียชีวิตในปีค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) ลูกชายของเธอได้บันทึกเรื่องราวของเธอ ซึ่งมารีได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงที่นาซีปกครองเบอร์ลิน
ภายหลัง เรื่องเล่าของมารีก็ได้ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือ ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงชีวิตและความลำบากในช่วงนั้น
“มารี ยาโลวิชซ์-ไซมอน (Marie Jalowicz-Simon)”
มารีเกิดในปีค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
เธอเป็นลูกคนเดียว โดยมีพ่อเป็นทนายความ ส่วนแม่เป็นผู้ช่วยของพ่อ
ขณะมีอายุได้ 11 ขวบ พรรคนาซีเริ่มจะเรืองอำนาจ และทำให้ญาติพี่น้องของเธอหลายคนถูกจับกุม แต่มารีก็สามารถหนีออกจากค่ายกักกัน และหาที่ซ่อนตัวในเบอร์ลิน
แม่ของมารีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ส่วนพ่อของเธอนั้นเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา โดยภายหลังจากที่สงครามจบลง มารีก็ได้อุทิศตนให้กับการสอน โดยเธอเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในเบอร์ลิน
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ มารีไม่ยอมพูดถึงเรื่องในอดีตเลย
แต่ต่อมา “เฮอร์แมนน์ ไซมอน (Hermann Simon)” ลูกชายของมารีและเป็นนักค้นคว้าเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ต้องการจะรู้เรื่องในอดีตของแม่ ประสบการณ์ของแม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงขอสัมภาษณ์แม่ของตนเอง
ในเวลานั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่มารีจะเสียชีวิตเพียงสองสัปดาห์ โดยที่ผ่านมา เฮอร์แมนน์นั้นสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวมาแล้วหลายคน หากแต่ไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวของผู้เป็นแม่ในช่วงนั้นเลย
เฮอร์แมนน์ ไซมอน (Hermann Simon)
เฮอร์แมนน์ได้เผยว่าผู้เป็นแม่นั้นเป็นผู้หญิงที่ดูลึกลับ เหมือนมีอะไรเก็บงำในใจ และไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นฟัง แต่ในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) เฮอร์แมนน์ได้วางเครื่องบันทึกเสียงลงข้างกายของผู้เป็นแม่ และกล่าวว่า
1
“แม่อยากจะเล่าเรื่องราวชีวิตของแม่ให้ผมฟังมาโดยตลอด เอาเลยครับ”
ผู้เป็นแม่เงียบไปซักพัก ก่อนจะเผยเรื่องราวในอดีต
เฮอร์แมนน์ใช้เวลาสัมภาษณ์ผู้เป็นแม่เป็นเวลา 7-8 เดือน และบันทึกเสียงคำบอกเล่าของผู้เป็นแม่ลงม้วนเทปได้กว่า 77 ม้วน
เทปบันทึกเสียงแต่ละม้วน มีความยาวระหว่าง 60-90 นาที และเฮอร์แมนน์ก็ไม่ได้พูดขัดแม่ของเขาเลย ปล่อยให้แม่พูดถึงประสบการณ์ในอดีตไปเรื่อยๆ
ความทรงจำของผู้เป็นแม่ยังคงแจ่มชัด และทำให้เฮอร์แมนน์รู้สึกทั้งทึ่ง ทั้งซาบซึ้ง ทั้งสะเทือนใจกับผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของผู้เป็นแม่
ภายหลังจากบันทึกเสียงเสร็จสมบูรณ์ เฮอร์แมนน์ก็เปิดฟังเทปที่บันทึก และนำมาเรียบเรียง ก่อนจะเขียนเป็นร่าง จนได้เป็นหนังสือในที่สุด
ในหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของมารี นอกจากความยากลำบากต่างๆ แล้ว ยังเต็มไปด้วยเรื่องของเซ็กส์และการล่วงละเมิดต่างๆ ที่น่าสะเทือนใจ หากแต่ก็เป็นความจริงอันโหดร้าย และสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่น่าหดหู่ในช่วงสงคราม
ในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) พ่อของมารีซึ่งเพิ่งจะสูญเสียภรรยาไปหมาดๆ ได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับหญิงที่เด็กกว่า แถมยังแต่งงานแล้ว ในขณะที่มารีซึ่งเพิ่งมีอายุเพียง 16 ปี ก็ได้เริ่มหลับนอนกับสามีของหญิงที่ผู้เป็นพ่อแอบมีสัมพันธ์ด้วย เพื่อแลกกับการได้มีที่หลับที่นอนให้พักอาศัย
นี่เป็นครั้งแรกที่เธอค้นพบว่า “เซ็กส์” คือสิ่งที่จะช่วยเหลือเธอได้ในหลายๆ เรื่อง และคุ้มภัยเธอจากอำนาจของนาซี
เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น มารีเป็นหนึ่งในเด็กชาวยิวที่ถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานของนาซี ซึ่งในโรงงานนี้เอง เธอก็ได้เรียนรู้ที่จะใช้ร่างกายในการเอาตัวรอด โดยเธอใช้เสน่ห์ทำให้คนในโรงงานหลงไหล และทำให้เธอเอาตัวรอดจากการทำงานหนักและสภาพที่โหดร้ายของคนงาน
4
ภายหลังจากผู้เป็นพ่อเสียชีวิต มารีก็ได้ขอให้หัวหน้าของเธอไล่เธอออกจากงาน (ในเวลานั้น ชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงาน) และเธอก็อาศัยเงินบำเหน็จของพ่อเป็นค่ากินอยู่
ญาติพี่น้องของเธอต่างถูกหมายเรียกให้เข้าค่ายกักกันชาวยิว แต่มารีนั้นไม่ยอมไปกับญาติพี่น้อง และตั้งใจว่าจะหนี
มารีต้องคอยหลบหนีทางการ หนีไปหลบซ่อนยังที่ต่างๆ ในเบอร์ลิน โดยเธอได้ไปอาศัยอยู่กับชาวเยอรมันหลายคนที่สงสารเธอ โดยส่วนใหญ่คนที่เธอไปอาศัยอยู่ด้วย ก็มักจะเป็นคนยากจนและโสเภณี
หลายคนที่เธอไปอาศัยอยู่ด้วยนั้น บางคนก็ดีกับเธอ แต่บางคนก็ล่วงละเมิดทางเพศต่อเธอ แต่มารีก็คิดว่านี่คือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความอยู่รอด
เซ็กส์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในยามสงครามหากต้องการจะรอดชีวิต และบางครั้งก็เพราะเซ็กส์นี่แหละ ที่ทำให้เธอได้รับในสิ่งที่ต้องการ
2
จากนั้น มารีก็ได้สวมรอยเป็นเพื่อนของเธอ นั่นคือหญิงที่ชื่อว่า “โจฮันนา ค็อช (Johanna Koch)” โดยเธอได้ทำเอกสารปลอม สวมรอยเป็นค็อช และเพื่อให้สำเร็จลุล่วง เธอจึงต้องเปลี่ยนคู่รักไปเรื่อยๆ เพื่ออาศัยประโยชน์จากผู้ชายเหล่านั้น
แต่ถึงอย่างนั้น เหล่าตำรวจลับของนาซีก็สงสัยในตัวเธอและคอยจับตาดูเธอ มารีจึงต้องทำทุกทางที่จะเอาชีวิตรอดในเบอร์ลิน แม้กระทั่งเข้าไปพัวพันกับการค้าบริการ และเธอยังต้องเปลี่ยนคู่รักไปเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด และอาศัยคู่รักแต่ละคนเป็นเกราะคุ้มภัยจากนาซี
เป็นเวลากว่าสามปีที่มารีมีชีวิตอยู่โดยใช้ชื่อปลอม ต้องอดทนต่อความหิวโหยและการล่วงละเมิดสารพัด ต้องย้ายที่อยู่ถึง 13 ครั้ง และเมื่อสงครามจบลง เธอก็ต้องพบว่าเธอไม่เหลือญาติพี่น้องอีกแล้ว
บ้านที่เธอเติบโตมาก็ได้ถูกทำลายจนไม่เหลือซากไปแล้ว รวมทั้งคนที่เธอรู้จักเกือบทั้งหมดได้ถูกนาซีฆ่าไปหมดแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น มารีก็ยังตัดสินใจที่จะอาศัยอยู่ในเยอรมนี ก่อนจะแต่งงานกับ “ไฮน์ริช ไซมอน (Heinrich Simon)” เพื่อนในวัยเด็ก
มารีและไฮน์ริช
มารีกับไฮน์ริชมีลูกด้วยกันสองคน และเธอก็ได้ศึกษาต่อ ก่อนจะทำงานเป็นศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์วรรณคดีในมหาวิทยาลัยในเบอร์ลิน
ต่อมา เมื่อมีการสัมภาษณ์เฮอร์แมนน์ว่าเขารู้สึกตกใจในเรื่องราวที่ผ่านมาของผู้เป็นแม่หรือไม่ เฮอร์แมนน์ก็ได้ตอบว่า
“ผมไม่ได้รู้สึกตกใจ ผมมีเส้นกั้นที่ชัดเจนระหว่างการเป็นนักประวัติศาสตร์มืออาชีพและการเป็นลูกของแม่ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ และการสำส่อนก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเวลานั้น บางทีเซ็กส์ก็คือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้รอดชีวิต เมื่อสงครามจบลง แม่ก็แต่งงาน และทุกอย่างก็จบ”
1
“แต่ผมก็รู้สึกเศร้ามากเมื่อรู้ว่าแม่ต้องขอความเมตตาจากคนเลวๆ หลายคนตั้งแต่อายุยังน้อย”
1
เรื่องราวของมารี ก็ชี้ให้เห็นว่าสงครามไม่เคยให้คุณกับใครเลยจริงๆ
โฆษณา