3 พ.ย. 2021 เวลา 13:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การเรียนรู้ของคนเรามีหลายอย่างนะ ไม่จำเป็นต้องมีคนสอนเสมอไป จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ขององค์ความรู้ปัจจุบันทุกสาขา นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ทุกอย่างคนที่เขาคิดขึ้นเขาก็ไม่มีใครมาสอนเขา ถ้ามันเป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วรอให้มีคนมาสอนก็จะไม่เรียกกันว่านวัตกรรมหรือการค้นพบ
มนุษย์ที่ใช้ไฟเป็นคนแรกอาจจะเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก(Trial & Error) เช่นเอาหินไปกระแทกพื้นหินเกิดประกายไฟติดหญ้าแห้งก็เลยทำซ้ำอีกจนเกิดองค์ความรู้ในการจุดไฟ
อีกกรณีอาจจะเป็นการเรียนรู้แบบบังเอิญ เช่นไปเจอไฟป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติเช่นฟ้าผ่า หรือการลุกไหม้จากธารลาวาของภูเขาไฟ บังเอิญมีมนุษย์ซน ๆ กล้า ๆ คนหนึ่งไปหยิบเอาท่อนไม้ที่ติดไฟถือไปแล้วไปโดนใบไม้แห้งลุกไหม้ต่อไปอีก
อีกแบบหนึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบ(Sink or Swim) คือจะยอมจมน้ำตายหรือดิ้นรนตะเกียกตะกายผุดดำผุดไหว้จนเข้าฝั่งได้ การเรียนรู้จากความจำเป็นที่ต้องเอาชีวิตรอดก็ถือเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญโดยไม่ต้องมีใครสอน เช่นมนุษย์กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่หนาวเย็นแต่ในบริเวณนั้นมีธารลาวาภูเขาไฟอยู่ด้วย(ลองนึกถึงภูมิประเทศเกาะไอซ์แลนด์ปัจจุบัน) ทำไงดีละจะไปอาศัยอยู่ตรงใกล้บริเวณที่มีลาวาไหลออกมาก็เหม็นกลิ่นกำมะถันและร้อนเกิน ลองพยายามเอาไม้ไปงัดไปแงะเอาก้อนหินร้อน ๆ มาใช้ให้ได้ก็เกิดติดไฟขึ้นมา ก็เลยถือไม้ที่ติดไฟลุกไหม้มาใช้แทน สุดท้ายรู้วิธีเอาไฟมาใช้
แน่นอนว่าคนที่ค้นพบคนแรก ๆ มีจำนวนไม่มากนัก ที่เหลือเป็นการเรียนรู้จากการเลียนแบบคนอื่นหรือจากการที่คนทำเป็นสอนให้นั่นเป็นเรื่องปกติ
การที่เราชอบไปตั้งคำถามที่ว่าใครเป็นคนสอนให้ถึงทำเป็นไม่ว่าจะเป็นการสร้างปิรามิด การจุดไฟ การสร้าง Stonehenge หรืออะไรที่ดูยาก ๆ คนที่ตั้งคำถามพยายามจะเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเทพเจ้า พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือแม้แต่มนุษย์ต่างดาว ..ในความเป็นจริงมนุษย์มีศักยภาพในตนเองมากพอที่จะค้นพบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมายได้ด้วยตนเองเสมอ
โฆษณา