9 พ.ย. 2021 เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“จงซื้อของเพื่อใช้งาน ไม่ใช่เพื่ออวดคนอื่น” 4 วิธีวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มั่นคง โดย โอม - ปัณฑพล นักร้องวง Cocktail OHM Cocktail และวิทยากรพิเศษด้านการเงิน
1
หลายคนคุ้นเคยกับคุณโอม ในฐานะนักร้องชื่อดังวง Cocktail แต่จริงๆ แล้วเขายังมีอีกบทบาทหนึ่ง นั่นคือการเป็นวิทยากรด้านการเงิน และเป็นผู้วางแผนการเงินให้เพื่อนๆ ในวงอีกด้วย ซึ่ง aomMONEY เห็นว่าแนวคิดและเทคนิคของคุณโอมน่าสนใจมากๆ ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง แอบบอกว่าเรานำมาปรับใช้ได้ทุกข้อแน่นอน
1
[1. จงซื้อของเพื่อใช้งาน ไม่ใช่เพื่ออวดคนอื่น]
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การซื้อของปรนเปรอตัวเอง เป็นการซื้อความสุขเพื่อดับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นเพียงการ “บรรเทาทุกข์” เพราะสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นยังอยู่ หนำซ้ำการใช้เงินปรนเปรอตัวเองมากเกินตัว จะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย
คุณโอมให้แง่คิดเรื่องนี้ไว้ว่า การดับทุกข์ที่แท้จริง คือการรู้เท่าทันใน “สิ่งสมมติ” ของที่มีราคาไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นของที่มีค่าเสมอไป และของที่ราคาแพง ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นของดี สุดท้ายแล้วมนุษย์ควรซื้อของมาเพื่อใช้งาน ไม่ใช่เพื่อประดับฐานะ หรือเพื่ออวดคนอื่น แนวคิดนี้จะทำให้แผนการเงินของเราไม่ถูกรบกวน และไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นครับ
1
[2. ซื้อบ้านไว้เป็นสินทรัพย์ มีประโยชน์ยามฉุกเฉิน]
ข้อนี้น่าสนใจมากครับ สมาชิกทุกคนในวง Cocktail ต่างก็มีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะคำแนะนำของคุณโอม เขามองว่าเมื่อเราทำงานหาเงินมาได้ ก็ควรซื้อบ้านเพื่อเป็นสินทรัพย์ติดตัว นั่นเพราะว่าถ้าในอนาคตเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างน้อยบ้านที่เราเป็นเจ้าของอยู่ ก็จะช่วยให้ผ่านวิกฤติไปได้
เช่น หากธุรกิจมีปัญหา ก็สามารถใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขอเงินทุนหมุนเวียน หรือถ้ามีหนี้สินเยอะ ก็รวมหนี้ไว้ที่เดียวกันได้ โดยนำบ้านไปแลกสินเชื่อ แล้วนำเงินก้อนมาปิดหนี้ทั้งหมด หรืออาจจะปล่อยเช่า/ขายบ้าน เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายต่อไป
[3. รู้จักรายได้ที่แท้จริงของตัวเอง และเวลาในการหาเงินที่ยังเหลืออยู่]
ถ้าอายุที่เริ่มต้นทำงาน คิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 20 ปี แล้วเกษียณตอน 60 ปี
ข้าราชการมีเงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท
ถ้าทำงาน 40 ปี มีรายได้ 9,600,000 บาท
นักดนตรี ทำงานได้เงินเดือนละ 200,000 บาท
ถ้าทำงาน 10 ปี มีเงิน 24,000,000 บาท
ดูเหมือนว่านักดนตรีจะมีรายได้เยอะ แต่อย่าลืมว่าอาชีพนี้มีขาขึ้น - ขาลง ซึ่งคุณโอมมองว่านักดนตรีจะสามารถทำเงินในวงการได้แค่ราว 10 ปี เท่านั้น (ขณะที่อาชีพอื่นๆ มีช่วงเวลาทำงานหาเงินราว 40 ปี)
ดังนั้น คนที่ประกอบอาชีพอิสระ จึงต้องเอารายได้ต่อเดือนมาหารด้วย 40 เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นรายได้ที่แท้จริง
24,000,000 ÷ 40 = 600,000 บาทต่อปี หรือ 50,000 บาทต่อเดือน
***เมื่อวางแผนการเงินในเรื่องใดก็ตาม ควรใช้ตัวเลขนี้เป็นที่ตั้ง***
เพราะตัวเลขรายได้ 200,000 บาทต่อเดือนนั้น เป็นเพียง “ภาพลวงตา” ว่าเรามีรายได้เยอะ
นอกจากนี้ ทั้งอาชีพอิสระและมนุษย์เงินเดือน ต่างก็ไม่มีเงินบำนาญเหมือนกับข้าราชการ จึงต้องคิดวางแผนออมเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีเงินใช้ในตอนแก่นั่นเอง
4
[4. สร้างกองทุนเกษียณของตัวเอง]
คนส่วนใหญ่เมื่อมีเงินอยู่ในกระเป๋าแล้ว ก็มักจะจ่ายเพื่อสิ่งของที่อยากได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกัน ถ้าบอกให้ออมเงิน ก็จะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นคุณโอมมองว่าเราจึงควรแบ่งออมตั้งแต่แรก โดยหักออมอัตโนมัติตั้งแต่ยังเป็นตัวเลขที่เพิ่งเข้าบัญชี เพราะจะง่ายกว่าการหักออมจากเงินสดในกระเป๋า
1
คุณโอมจึงสร้าง “กองทุนเกษียณของวง” ขึ้นมา โดยทุกครั้งที่วง Cocktail มีรายได้จากงานจ้าง ก็จะหักเงินส่วนหนึ่งจากทุกคน เก็บออมไว้ในบัญชีร่วมกัน ถ้าวงนี้ยังไม่ยุบ เงินก้อนนี้ก็จะไม่มีการถอนออกมา หรือหากต้องการนำมาลงทุนทำธุรกิจ ก็จะต้องมีลายเซ็นยินยอมจากสมาชิกวง ครบทั้ง 4 คน
aomMONEY มองว่า ข้อนี้ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ได้ คือทุกอาชีพจะมีกองทุนเกษียณของตัวเองอยู่แล้ว เช่น ประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเราควรจะใช้สิทธิ์ตรงนี้ให้เต็มเพดาน
แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับเป้าหมายเงินก้อนหลังเกษียณ เราจึงต้องเสริมด้วยการลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), ประกันชีวิตแบบบำนาญ, ลงทุนในอสังหาฯ แล้วเก็บค่าเช่าระยะยาว ฯลฯ
#วางแผนการเงิน #ออมเงิน
#โอมCocktail #Cocktail #CheersCocktail
#MoneyHack #aomMONEY
◤ = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =
👍 ชอบกด Like โดนใจ กด Share
และอย่าลืม ✅ See First
เพื่อที่จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ ๆ ก่อนใคร
= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = ◢
ติดตามความรู้ทางการเงินในช่องทางอื่นๆ ได้ที่
📌 กลุ่มกองทุนไหนดี https://bit.ly/3aOjgMl
สนใจโฆษณาติดต่อ :
👉 Tel: 088-099-9875 (แน้ม)
โฆษณา