4 พ.ย. 2021 เวลา 04:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รำลึก 10 ปี Steve Jobs กับ 10 ประเด็นที่ Jobs ปฏิวัติโลกด้วย iPhone
1
ปีนี้เป็นการครบรอบการเสียชีวิตครบ 10 ปีของหนึ่งในซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยียุคใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่าง Steve Jobs ที่เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2011
1
ผลงานตลอดช่วงชีวิตของ Jobs แม้จะมีมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ Jobs ผลักดันออกมา แล้วไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จ แต่ยังพลิกโฉมหน้าวงการเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร (Paradigm) ไปตลอดกาล คือการเปิดตัว iPhone รุ่นแรกเมื่อมกราคม 2007 ที่ Jobs บรรยายว่าเป็น “มือถือที่ปฏิวัติวงการโทรศัพท์” ซึ่งในความเป็นจริง iPhone ไม่ได้แค่ปฏิวัติวงการโทรศัพท์ แต่ปฏิวัติวงการเทคโนโลยีไปสู่ยุคใหม่ ที่มีสมาร์ทโฟนเป็นแกนกลาง
10
สิ่งที่ Jobs ได้เริ่มและวางรากฐานเอาไว้ ยังคงส่งผลและถูกต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแม้แต่ Apple เองก็ยังประสบปัญหาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงจากสิ่งที่ Jobs ได้สร้างเอาไว้
4
โพสต์นี้จึงร่วมรำลึกถึง Jobs ด้วย 10 ประเด็นที่อดีตซีอีโอ Apple ได้สร้างเอาไว้ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2
รำลึก 10 ปี Steve Jobs เสียชีวิต กับ 10 เรื่องปฏิวัติโลก
1) ยกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มาไว้ในกระเป๋ากางเกง ปฏิวัติการสื่อสารและโทรคมนาคม
3 ประเด็นหลักที่ Jobs นำเสนอบนคีย์โน้ตเปิดตัว iPhone คือเป็นอุปกรณ์ที่ปฏิวัติการฟังเพลง ปฏิวัติวงการโทรศัพท์มือถือ และปฏิวัติวงการสื่อสารอินเทอร์เน็ต โดย Jobs เน้นย้ำว่า iPhone ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่พกพาได้
1
โทรศัพท์มือถือในยุคนั้น แม้จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ค่อนข้างจำกัดมาก ไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีมากนัก การมาถึงของ iPhone ที่มีเว็บเบราวเซอร์และแอปพลิเคชันในตัว ได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปแบบพลิกโฉมหน้า จนนำไปสู่การพลิกโฉมของวงการโทรคมนาคมอีกทอด
3
Ericsson บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม เคยออกรายงานในปี 2012 ด้วยว่า ปริมาณการใช้ “ดาต้า” ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เริ่มแซงปริมาณการใช้ “เสียง” นับตั้งแต่ปลายปี 2009 ก่อนที่ปริมาณ “ดาต้า” จะพุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณและทิ้งห่าง “เสียง” ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ถามว่าทุกวันนี้ โปรมือถือที่โทรฟรีเดือนละ 200-300 นาที เราโทรกันจริงๆ สักกี่นาทีเชียว ถ้าไม่ได้ทำงานเซลส์
ภาพจาก Shutterstock
2) Touch Screen ปฏิวัติการสั่งการอุปกรณ์รอบตัว
ถึงแม้ iPhone จะไม่ใช่โทรศัพท์เครื่องแรกที่มีหน้าจอทัชสกรีน เพราะ IBM เคยออกโทรศัพท์ (จริงๆ คือเครื่อง PDA) IBM Simon ที่มีหน้าจอระบบสัมผัสมาตั้งแต่ปี 1994 และถูกยกให้ในภายหลังว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรก
แต่สิ่งที่ iPhone แตกต่างและพลิกโฉมการใช้ระบบสัมผัสในการสั่งการ คือความง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน รวมถึงเพิ่มลูกเล่นในการสั่งการโทรศัพท์ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นจากผู้เข้าร่วมงานในคีย์โน้ตเปิดตัว iPhone ช่วงที่ Jobs โชว์การซูมภาพด้วยการใช้ 2 นิ้วถ่างออก (pinch) เป็นภาพสะท้อนของการปฏิวัติการสั่งงานอุปกรณ์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
การโชว์ pinch ในงานเปิดตัว iPhone
3) ปฏิวัติการถ่ายภาพให้เรามีกล้องดีๆ ติดตัวไปทุกที่
อาจบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นของยอดขายกล้องดิจิทัลที่ตกลงก็มาจาก iPhone นี้เอง ที่ทำให้อุปกรณ์ถ่ายภาพเหลือเพียงขนาดเท่าฝ่ามือ และพกพาไปได้ทุกที่ ก่อนจะถูกตอกย้ำด้วยแอปแต่งภาพและโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ใครๆ ก็เป็นตากล้อง (มือสมัครเล่น) ได้ แถมทุกวันนี้จุดที่วงการสมาร์ทโฟนยังแข่งขันกันอยู่อย่างดุเดือดก็คือเรื่องกล้องนี่แหละ
ตัวเลขรายงานจาก Camera & Imaging Products Association ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทกล้องแถวหน้าอย่าง Olympus, Canon, Sony, Nikon ชี้ว่ายอดขายกล้องดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 ที่ตอนนั้นมียอดขายรวม 121.5 ล้านชิ้น ตกลงมาเหลือเพียง 8.8 ล้านชิ้นเมื่อปี 2020 หรือหายไปราว 92.7%
2
ภาพจาก Pixabay
4) App Store กับการปฏิวัติการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์
iPhone มีส่วนสำคัญที่ปฏิวัติรูปแบบการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์จากเดิมที่มีทั้งซื้อแผ่นจากหน้าร้านเอามาลงเครื่องพีซีหรือดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต ให้อยู่ในรูปของการดาวน์โหลดและติดตั้งผ่าน App Store ช่องทางเดียว
เดิมการติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนพีซี เราอาจกังวลเรื่องไวรัส เรื่องมัลแวร์หากไม่ใช่ซอฟต์แวร์แท้ที่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Adobe หรือ Microsoft แต่ App Store ได้สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้งานซอฟต์แวร์ ไปพร้อม ๆ กันผ่านนโยบายการควบคุมและตรวจสอบแอปอย่างเข้มงวดของ Apple แบบระบบปิด ทำให้ผู้ใช้งานกล้าที่จะโหลดแอปจากนักพัฒนาที่ไม่รู้จักโดยไม่ต้องกลัวเรื่องไวรัสหรือมัลแวร์
แม้เรื่องนี้ Apple จะถูกมองว่าผูกขาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้การหาซอฟต์แวร์หรือเกมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย เป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะบนสมาร์ทโฟนหรือพีซี (Play Store หรือ Steam เป็นต้น)
ภาพจาก Shutterstock
5) ปฏิวัติอุตสาหกรรมเกม เมื่อเกมมือถือเติบโตแซงหน้าเกมพีซีและคอนโซล
1
อาจบอกไม่ได้เต็มปากว่า iPhone ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกมโดยตรง แต่มันคือจุดเริ่มต้นที่ส่งผลเป็น butterfly effect ที่ทำให้เกมบนแพลตฟอร์มโมบายล์ (สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนค่อยๆ เติบโตและแซงตลาดเกมเก่าอย่าง เกมบนพีซีหรือคอนโซล
เพื่อให้เห็นภาพ รายงานเมื่อปี 2017 จาก DFC Intelligence บริษัทวิจัยตลาดระบุว่าปี 2016 เป็นปีแรกที่รายได้ของอุตสาหกรรมเกมมือถือแซงหน้ารายได้จากเกมบนพีซีและคอนโซล
ส่วนตัวเลขล่าสุดจาก Newzoo บริษัทวิจัยตลาดอุตสาหกรรมเกมคาดว่าปีนี้ รายได้ในอุตสาหกรรมเกมรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.75 แสนล้านเหรียญ โดยส่วนแบ่งของเกมมือถือจะอยู่ 52% หรือราว 9 หมื่นล้านเหรียญ
1
ภาพจาก Newzoo
6) ปฏิวัติพฤติกรรมการมองจอ กระทบวงการสื่อปรับมาออนไลน์
แม้ Jobs จะโชว์บนคีย์โน้ตการดูหนังที่ไหนก็ได้ผ่านสมาร์ทโฟน แต่เจ้าตัวก็อาจจะไม่ได้คิดว่าในท้ายที่สุดแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเราๆ จะเปลี่ยนไปจนทำให้รายการทีวีแบบเดิมๆ ถูกเปิดดูน้อยลงกว่าเดิม และถูกแทนที่ดูการดูวิดีโอออนไลน์บนมือถือหรือแท็บเล็ต
ตัวเลขจากรายงานของ Zenith บริษัทเอเจนซี่และวิจัยด้านสื่อระบุว่า ผู้บริโภครับชมวิดีโอออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 32% ในช่วงปี 2013-2018 และจำนวนนาทีเฉลี่ยที่คนชมสื่อออนไลน์ต่อวันอยู่ที่ 100 นาทีเมื่อปี 2020 เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 84 นาทีเมื่อปี 2019
1
การโชว์การเล่นภาพยนตร์บน iPhone ในงาน MacWorld 2007
7) ปฏิวัติวงการฮาร์ดแวร์ ทำเองคุมเอง นักเลงพอ
1
Jobs มีวิสัยทัศน์มานานแล้วว่า Apple ควรจะพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีภายในฮาร์ดแวร์ของตัวเอง โดยเฉพาะชิปเซ็ต (ที่ประกอบไปด้วยซีพียู จีพียูและหน่วยประมวลผลอื่นๆ ในชิปเดียว) โดยแอปเปิลพัฒนาชิปเซ็ตใช้เองตั้งแต่ iPhone รุ่นแรก (รหัส APLxxxx) จนกระทั่งปี 2010 ที่ Apple เปิดตัวชิป A4 ของตัวเองเป็นครั้งแรกบน iPad และ iPhone 4
แม้ Apple จะไม่ใช่รายแรกที่ทำชิปเอง ก่อนหน้านั้น Motorola, IBM หรือ HP ก็เคยทำมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แตกต่างจาก Apple ที่ได้ฐานลูกค้า iPhone จำนวนมาก ทำให้บริษัทสามารถลงทุนด้านชิปเซ็ต ที่ค่อนข้างแพงและต้องการการสเกลจำนวนผลิต เพื่อลดต้นทุน ได้อย่างเต็มที่
4
การทำงานร่วมกันภายในของวิศวกรฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ผ่าน ชิป Apple A Series ทำให้แอปเปิลสามารถควบคุมเทคโนโลยีและประสบการณ์ใช้งานบนอุปกรณ์ทุกชนิดของตัวเอง ให้ออกมาดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างที่ตัวเองต้องการ และกว่า 10 ปีของการพัฒนาชิปเอง ปีที่แล้ว Apple ก็เอาประสบการณ์และประสิทธิภาพของการทำงานระหว่างฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์บน iPhone ขยับมาใช้บน MacBook แล้วด้วยชิป Apple M1 ที่ค่อนข้างสะเทือนวงการชิป โดยเฉพาะเจ้าตลาดอย่าง Intel
3
ภาพจากการเปิดตัว iPhone 4
8) ปฏิวัติวงการซอฟต์แวร์โทรศัพท์ ผลักดันให้เกิดคู่แข่งอย่าง Android
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือ iPhone เป็นจุดเริ่มต้นของวงการสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะเป็นตัวผลักดันให้เกิดคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออย่าง Android โดย Google ซื้อกิจการของ Android และเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2005 แต่การเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ทำให้ Android ที่กำลังพัฒนากันอยู่ตอนนั้น ต้อง “ยกเครื่องใหม่” ทั้งหมด เพราะรู้ตัวว่าสู้ iPhone ไม่ได้
1
ภาพจาก Shutterstock
9) ปฏิวัติภาพลักษณ์โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ใช้งาน แต่เป็นอุปกรณ์สื่อถึงสถานะทางสังคมและรสนิยม
1
iPhone ที่ Jobs เปิดตัวไม่เพียงแต่มีดีไซน์ใหม่เอี่ยมอ่องเทียบกับโทรศัพท์ในยุคนั้น แต่ด้วยดีไซน์ที่เรียบหรู และการกำหนดราคาของ iPhone ในแต่ละปี ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่มอง iPhone ไม่เป็นเพียงแต่โทรศัพท์ล้ำสมัยเครื่องหนึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นอุปกรณ์ที่เป็นตัวชี้สถานะทางสังคม และความหรูหราได้ในตัวมันเอง
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนคู่แข่งทุกวันนี้พยายามทำตาม แต่ยังไม่สามารถขึ้นไปในระดับเดียวกับ iPhone ได้ คือภาพลักษณ์ที่ Apple วางแบรนด์ตัวเองให้เป็นแบรนด์ฮาร์ดแวร์พรีเมียม หรูหรา ตรงนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่แฟนบอย Apple ส่วนหนึ่ง สามารถซื้อ iPhone เครื่องใหม่ได้ทุกปีหรือ 2 ปี ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงของตัว iPhone ก็ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเก่ามากนัก
1
กล่าวอีกอย่างคือการซื้อ iPhone ของคนที่รักแอปเปิล มีความคล้ายคลึงกับการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมของสาวๆ เพราะไม่ได้ต้องการแต่กระเป๋าคุณภาพดีๆ เอามาใช้งาน แต่ต้องการภาพลักษณ์ ความหรูหราของแบรนด์ติดมาด้วย
ภาพจาก Apple
10) ปฏิวัติตัวเอง จากบริษัทขายคอมพิวเตอร์ กลายมาเป็นบริษัทขายโทรศัพท์มือถือ
ในช่วงปี 2007 ของการเปิดตัว iPhone รุ่นแรก สัดส่วนรายได้หลักของแอปเปิลยังมาจากกลุ่มพีซีอย่าง Mac ตามด้วย iPod แต่นับตั้งแต่ปี 2010 ของการเปิดตัว iPhone 4 เป็นต้นมา รายได้หลักของแอปเปิลเปลี่ยนจาก Mac เป็น iPhone อย่างปีที่แล้ว สัดส่วนรายได้จาก iPhone คิดเป็น 50% ของรายได้ทั้งปีของ Apple และทำให้ Apple พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์และบริการต่างๆ โดยมี iPhone เป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด
3
ภาพจาก Apple
สรุป
สิ่งที่ Steve Jobs ทิ้งเอาไว้ ไม่ใช่แต่การเปลี่ยนแปลงในแง่ธุรกิจของ Apple เองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นเป็นลูกโซ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเอง ไปจนถึงอุตสาหกรรมสื่อ เกมหรือแม้แต่กล้องก็เช่นกัน
3
โฆษณา