Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Movie Trivia
•
ติดตาม
4 พ.ย. 2021 เวลา 05:38 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ร่างทรง (2021) – มึงก็ทายดูสิ ว่ากูเป็นใคร
ก้าวสำคัญของหนังไทยเรื่องใหม่ของ GDH ที่น่าจับตาทันที นับตั้งแต่มีการปล่อยตัวอย่างแรก เพราะเป็นการรวมทุนระหว่างไทยและเกาหลีใต้ที่ได้โปรดิวเซอร์อย่าง นาฮงจิน มาคุมงานสร้างให้ เรื่องราวที่ว่าด้วยการทรงเจ้าตามความเชื่อในภาคอีสานที่ถูกนำมาสร้างด้วยฝีมือของผู้กำกับ ฯ บรรจง ปิสัญธนะกูล อย่าง ร่างทรง
ร่างทรง เล่าเรื่องราวในแถบภาคอีสานว่าด้วย ร่างทรงอย่าง “ป้านิ่ม” ที่ทำหน้าที่เป็นคนทรงให้กับย่าบาหยันมารุ่นสู่รุ่น ทุกอย่างดูเป็นปกติจนกระทั่ง พี่สาวของป้านิ่มอย่าง “น้อย” ซึ่งแต่งงานมีลูกกับสามีอย่าง “วิโรจน์ ยะสันเทียะ” ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ตามหลังลูกชายที่เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ ป้านิ่มไปร่วมงานจนกระทั่งลูกสาวอย่าง “มิ้ง” เริ่มมีอาการประหลาด ทั้งการตอบโต้กับเสียงที่ไม่มีอยู่จริง อาการสั่น เจ็บเมื่อยตามตัวและมีอาการไม่เป็นตัวของตัวเอง นั่นทำให้ป้านิ่มออกตามหาว่า แท้จริงร่างทรงที่แอบมาอาศัยอยู่ในตัวมิ้งนั้น เป็นย่าบาหยันหรือตัวอะไรกันแน่?
ตัวหนังเปิดมาด้วยการนำเสนอแบบกึ่งสารคดีในทำนอง mockumentary เปิดมาด้วยเรื่องราวของป้านิ่มที่เป็นร่างทรงย่าบาหยัน ท่ามกลางบรรยากาศเย็นยะเยือกของชนบทในภาคอีสาน ด้วยภาพของบ้านช่องและป่าไม้ที่ชวนขนลุก ก่อนจะไล่เรียงไปถึงเรื่องราวของครอบครัวยะสันเทียะที่เป็นครอบครัวที่พี่สาวเธอไปแต่งงานด้วย จากงานศพของคนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่จากไปด้วยการฆ่าตัวตาย ที่เป็นเสมือนบ่อเกิดให้เห็นความเฮี้ยนต่าง ๆ มากขึ้น เมื่อมิ้งมีอาการที่ผิดแผกไปจากคนปกติ
การห้าวหาญใช้เทคนิค mockumentary (เสมือนถ่ายทำสารคดี) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวถือเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับตลาดภาพยนตร์ไทย เพราะนอกจากความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้หนังเข้าถึงยากขึ้นระดับนึง ต้องใช้เทคนิคกลวิธีเล่าเรื่องที่เวิร์คระดับนึงถึงจะสำเร็จ ซึ่งตัวหนังทำได้ค่อนข้างดี ทั้งในแง่การคุมบรรยากาศและการปูพื้นเรื่องราวในสไตล์ของสารคดี นอกจากนี้การกำกับไล่ระดับอารมณ์ก็ทำได้ค่อนข้างถึง เป็นผลจากเรื่องราวที่ประดังกันมา ทั้งศาสนาและความเชื่อ เรื่องเพศและความรุนแรงที่ดุลได้กำลังพอดี แถมยังต้องชื่นชมทีมนักแสดงที่แสดงได้เป็นธรรมชาติน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในรายของ ป้าเอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา และ ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร
กระนั้นเอง การใช้เทคนิคนี้ก็เป็นดาบสองคมที่ย้อนคมกลับเข้าหาตนเอง เพราะการใช้กิมมิคนี้ อาจเพื่อดึงให้ผู้คนสนใจและเชื่อไปกับเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น แต่เทคนิคหลายอย่างที่ปรากฎบนจอกลับเต็มไปด้วยวิธีคิดของคนที่คิดแบบภาพยนตร์ cinematic ทั้งในแง่ของการเผยเรื่องราวและงานภาพต่าง ๆ หลายช็อตถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่บังเอิญเกินกว่าจะเป็นหนังสารคดีได้ นอกจากนี้การทำเป็นเหมือนตัวละครตากล้องไม่มีบทบาทสำคัญใด ๆ ต่อเรื่องราว นอกเหนือจากการมาถือกล้องนั้น ก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุผลเลยเสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้ความซ่องแตกในองค์ท้าย กลับกลายเป็นการค้านความรู้สึกจนยากที่จะเชื่อ สวนทางกับสิ่งที่ตัวหนังปูมาตั้งแต่ต้น
ถึงแม้ว่าตัวเนื้อเรื่องและเรื่องราวจะสมเหตุผลในหลายกรณี ทั้งการปูเนื้อหาคำว่าผีและวิญญาณในตอนต้น ก็สอดคล้องกับความนรกแตกได้พอดีและน่าเชื่อ หากแต่เป็นเพราะการนำเสนอและถ่ายทอดผ่านเทคนิคนี้ยังสับสนในตัวเอง เสมือนตัวหนัง “ร่างทรง” นี้ กำลังถูกร่างของสารคดีเข้าครอบ แต่ก็ยังเหยียบย่างอยู่ระหว่างสารคดีกับภาพยนตร์ โดยไม่ตัดสินใจเสียทีว่าจะมาทางไหน นั่นทำให้ตัวหนังเสียศักยภาพที่น่าเชื่อถือนี้ไปมากพอสมควร
สรุปแล้ว ร่างทรง เป็นหนังสยองขวัญที่นำด้วยเทคนิคกึ่งสารคดีในการเล่าเรื่องราว ชูด้วยบรรยากาศอันเย็นยะเยือกของภาคอีสานและการคุมจังหวะในฉากชวนหลอนต่าง ๆ นานาที่น่าจดจำ กับการแสดงของทีมนักแสดงที่เป็นธรรมชาติ กระนั้นเองด้วยเทคนิคที่นำมาใช้กลับยังไม่มีประสิทธิภาพหรือประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเทคนิคไม่ได้จูงใจให้เราเชื่อในเนื้อหาไปได้อย่างสนิทใจ ถึงแม้แก่นสารหลักที่พูดถึงความเชื่อลี้ลับในเรื่องจะน่าสนใจมากก็ตาม
3.5 / 5
ร่างทรง - The Medium "랑종" (2021)
Written for the Screen & Directed by Banjong Pisanthanakun
Story by Chantavit Dhanasevi & Siwawut Sewatanon
Original Story by Na Hong-jin & Choi Cha-won
ภาพยนตร์
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Movie Trivia | Review
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย