24 พ.ย. 2021 เวลา 01:30 • ท่องเที่ยว
🏕เต็นท์คุณกันน้ำจริงหรือ? ⛈💧
เต็นท์คุณกันน้ำได้จริงหรือ?
ในปัจจุบัน มีผู้ท่องเที่ยวชื่นชมธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติ จนถึง campsite ของเอกชน เต็นท์ก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน แต่ทุกครั้งที่มีฝนตก หรือเข้าฤดูฝน จะพบโพสต์มากมายตามกลุ่ม social media ว่า 'เต็นท์ไม่กันน้ำ' ทั้งๆ ที่มีสมาชิกหลายคนในกลุ่มก็ใช้เต็นท์ brand เดียวกัน model เดียวกัน และใช้ในช่วงเวลาเดียวกันกลับไม่พบปัญหา? เกิดอะไรขึ้น? หรือคนตั้งโพสต์พยายามดิสเครดิตสินค้า? หรือสมาชิกอวยสินค้าเกินจริง? หรือ ?????
🏕ส่วนไหนของเต็นท์ที่เป็นผ้ากันน้ำ?
โดยส่วนมาก เต็นท์จะมีการเคลือบกันน้ำในส่วน flysheet (สำหรับเต็นท์ที่เป็นผนัง 2 ชั้น | Double Walls tent) และพื้นส่วนมากก็จะเป็นผ้า PE. ที่เหมือนกระสอบพลาสติกเคลือบสารกันน้ำ และพื้นที่เป็นผ้า Oxford ที่เคลือบสารกันน้ำ)
ส่วนซิป มุ้งกันแมลง แถบผ้าร่ม จะไม่กันน้ำ ออกไปทางดูดน้ำด้วยซ้ำ แต่ผู้ใช้หลายคนไม่รู้ และโทษว่าสินค้ามีปัญหา หรือด้อยคุณภาพ
🏕ปัญหาจากพื้นเต็นท์ และมุมเต็นท์
จากรูปปัญหาจากน้ำซึมพื้นเต็นท์ อาจจะเกิดจากตามดเล็กๆ บนพื้นเต็นท์ที่เราไม่เห็น หรือปัญหาจากการเคลือบสารกันน้ำ เช่นภาพมุมซ้ายบนเป็นภาพของคุณ มินิ' ซาลาเปา จากกลุ่มจุดกางเต็นท์ หรืออาจจะเกิดจากการปูผ้าปูพื้นที่ใหญ่กว่าเต็นท์ (ภาพมุมซ้ายล่าง) ทำให้เวลาฝนตกน้ำจะไหลไปขังใต้เต็นท์ และเป็นเหตุให้น้ำซึมพื้นเต็นท์ขึ้นมาได้ หรือหากมีระดับน้ำสูงกว่ามุมเต็นท์ (ภาพกลางล่าง) ก็อาจทำให้น้ำไหลเข้ามุมที่พับพื้นเต็นท์ได้
☑️วิธีแก้ปัญหา คือ ใช้ ผ้าปูพื้นเต็นท์ หรือ groundsheet | footprint เพื่อยืดอายุพื้นเต็นท์ และเก็บ/กางเต็นท์ง่ายไม่เลอะ และควรใช้ขนาดไม่กว้างกว่าตัวเต็นท์ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าใต้เต็นท์และซึมขึ้นมาได้ (รูปขวา) หากใช้แผ่นใหญ่กว่าเต็นท์ ก็สามารถพับให้ขนาดพอดีกับตัวเต็นท์ก็ได้
1
การป้องกันน้ำ และความชื้นจากพื้น ควรหาผ้ากันน้ำที่มีขนาดเท่ากับพื้นเต็นท์ รองก่อนวางเต็นท์
🏕ปัญหาจากทำเลที่ตั้งเต็นท์
การเลือกทำเลก็สำคัญ หากคุณเลือกที่ราบ 70% จะพบปัญหาน้ำเจิ่งนองสูงได้ ควรเลือกที่เป็นเนินสูงสักระดับหนึ่ง พื้นผิวหากเลือกได้เป็นกรวดเล็กๆ จะช่วยระบายน้ำออกได้ด้วยเป็นอย่างดี ดีกว่าพื้นหญ้าที่มักจะขึ้นตามดินเหนียว ซึ่งจะอมน้ำและเละเป็นโคลนได้ ทำให้เป็นแอ่งใต้เต็นท์ และเวลาเก็บก็จะเลอะเทอะง่ายกว่า
พื้นกรวดละเอียด และพื้นที่เป็นเนินสูง จะช่วยป้องกันน้ำท่วมขังได้ ได้มากกว่าที่ราบ และดินเหนียวที่อุ้มน้ำมากกว่า
🏕ด้านบนและด้านข้างเต็นท์
ด้านข้างเต็นท์ หากเป็นเต็นท์แบบมี flysheet คลุมหมดถึงพื้นก็จะไม่มีปัญหา แม้ inner tent ข้างในเป็นมุ้งทั้งหมดก็ตาม (อาจจะมีปัญหาน้ำหยดจากหลังคาเต็นท์ที่เกิดจากการควบแน่นความชื้นภายในเต็นท์ได้ | Condensation)
ภาพมุมซ้ายบน เป็นเต็นท์ที่ราคาถูก ไม่เหมาะกับฤดูฝน หรือน้ำค้าง ภาพมุมซ้ายล่างคือเต็นท์ที่มีมากที่สุดในไทย กันฝนได้ในระดับนึง คือฝนที่มาแนวตรงด้านบน ไม่สามารถป้องกันฝนจากแนวเฉียง หรือมีลมหนุนได้ดี มุมขวาบน คือเต็นท์ที่มีการคลุม flysheet ถึงพื้น ทำให้ป้องกันฝนได้ทุกทาง แต่ก็ต้องมีการระบายอากาศลดหยดน้ำกลั่นตัวภายในเต็นท์ด้วยเช่นกัน
🏕ภาพสุดท้าย หากคุณมีเต็นท์มุมซ้ายบน-ล่าง ต้องการป้องกันฝนตกจากด้านข้างและด้านบนแบบมั่นใจ แนะว่าควรกาง tarp/awning ช่วย นอกจากป้องกันฝนแล้วยังมีพื้นที่ว่างด้านนอกเต็นท์อีกด้วย แต่ก็ต้องระวังไม่ควรกางสูงมาก เพื่อป้องกันฝนที่มีลมแรงพัดเข้าได้
เต็นท์โดมทรงต่างๆ ที่มีในประเทศไทย แต่การกันฝนไม่เท่ากัน แต่สามารถใช้ tarp/awning กางเพื่อช่วยการกันฝนได้
🏕ทรงประตู/หน้าต่างเต็นท์
สิ่งที่ไม่สามารถกันน้ำได้ นั่นคือ ซิป ตาข่าย เพราะไม่สามารถเคลือบสารกันน้ำได้ (จะไม่พูดถึงซิปกันน้ำในที่นี้ เพราะไม่เหมาะกับการใช้งานกับเต็นท์) ดังนั้น ประตูและหน้าต่างที่มีซิป จึงจำเป็นต้องมีสาบซิป
❓อะไรคือ 'สาบซิป' ?❓มันคือแถบผ้าที่มาปิดทับซิป เพื่อป้องกันฝนสาด และไหลเข้า เพราะซิปทั่วไปไม่สามารถป้องกันน้ำ และยังดูดซับน้ำได้ดีอีกด้วย!?!? (ในที่นี้จะไม่พูดถึงซิปกันน้ำ เพราะราคาสูง ใช้งานยากและราคาแพง จึงเหมาะกับเสื้อกันฝน กระเป๋ากันน้ำมากกว่าเต็นท์) และแต่ละทรงประตู/หน้าต่างมีปัญหาการกันน้ำไหลเข้าต่างกัน
จากรูปแนะนำให้คนที่อาจจะไม่รู้จักชื่อ 'สาบซิป' ให้รู้จักก่อน (มุมซ้ายบน) ยิ่งสาบใหญ่ ผ้ายิ่งแข็ง ยิ่งดี เพราะจะกันฝนได้ดีกว่า และเวลารูดสาบซิปจะไม่ไปขวางซี่ซิป หรือซิปกินผ้าได้
รูปถัดมาเป็นทรงประตูเต็นท์ทรงตัว 'D' ถ้ามีสาบซิป 'ข้างนอก' ที่ติดกับประตู แบบในรูปจะเจอปัญหาน้ำไหลเข้าประตู (ตรงจุดวงกลมมุมประตู) ง่ายกว่าแบบทรงตัว 'U (หัวคว่ำ)' และทรง 'T (หัวคว่ำ)' (ใน 2 รูปถัดมา)
👍แต่กับประตูทาง 'D' ของ REI Co-op Camp Dome นั้น (รูปล่าง) กลับทำสาบซิป 'ข้างใน' และมีการซีลตะเข็บกันน้ำ ทำให้กันน้ำไหลเข้าประตูได้ ซึ่งหลายแบรนด์ไม่ทำแบบนั้น เพราะต้องเพิ่มชิ้นผ้า และการซีลตะเข็บกันน้ำเพิ่ม
ทรงประตูเต็นท์แบบต่างๆ ที่ส่งผลต่อการกันน้ำ
🏕ช่องลม/ช่องระบายอากาศ
ช่องระบายอากาศ ถูกออกแบบให้ระบายอากาศร้อน และความชื้นเพื่อป้องกันการก่อตัวของหยดน้ำภายในเต็นท์ ซึ่งอาจจะมีช่องลมที่ตัว flysheet และ/หรือที่ inner tent โดยปกติทรงของช่องลม flysheet จะมีหลังคาเล็กคลุมกันฝนและลมอีกที แต่ในสถานการณ์ที่มีลมแรงขณะฝนตกหนัก ก็อาจจะพัดให้ละอองฝนเข้าภายในเต็นท์ได้ ซึ่งทางผู้ออกแบบเองก็สามารถปิดช่องระบายอากาศได้
จากในภาพ
ด้านซ้าย เป็นภาพของคุณ Jantharas May Wichachan จากกลุ่มจุดกางเต็นท์ โดยที่น้ำฝนที่ถูกพัดผ่านช่องระบายอากาศที่ flysheet จนทำให้ inner tent เปียกถึงข้างใน
☑️ส่วนภาพด้านขวาบน เป็นวิธีปิดช่องลมที่ flysheet โดยที่คุณสามารถปิดได้ด้วยการเอาขาที่ค้ำช่องลมนี้พับลงและปิดช่องลมแนบกับ flysheet ได้
☑️ส่วนภาพขวาล่าง เป็นภาพจาก CampingDD เต็นท์ของสนามเดินป่า รุ่น Aurora II ที่มีช่องระบายอากาศด้านบนที่ inner tent และสามารถรูดซิปปิดได้ ถือว่าใส่ใจในการออกแบบมาก
หลายคนบอกว่า ไม่ได้ใช้เต็นท์ในฤดูฝน ใช้แต่ฤดูหนาวก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบกันฝนก็ได้ อยากให้นึกด้วยว่าความชื้นในป่า อาจจะมากกว่าในเมือง ฝนฟ้าเองก็คาดเดาได้ยาก แถมตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกได้เข้าสู่ปรากฎการณ์ 'ลานีญา' ทำให้มีฝนตกประปรายในฤดูอื่นนอกเหนือจากฤดูฝน
เที่ยวแคมป์นอนแบบเปียกๆ มันทรมานดราม่ามากกว่า เสียเงินซื้อทั้งที ซื้อให้คุ้มดีกว่าครับ 😊
โฆษณา