Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
4 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
รู้จัก Emotional Validation ยืนยันความรู้สึกกันและกันแบบไม่ให้คิดไปเอง!
‘ไม่เห็นเป็นไรเลย’
‘เราเคยเจอหนักกว่านี้อีก..’
2
เคยระบายอะไรให้ใครสักคนฟังแล้วคนเหล่านั้นตอบแบบไม่ใส่ใจแบบนี้ หรือไม่ก็เปลี่ยนไปพูดเรื่องของตัวเองไหม ทั้งๆ ที่เราอุตส่าห์แสดงความรู้สึก เปิดใจเล่าความไม่สบายใจออกมาอย่างเต็มที่ แต่พวกเขากลับไม่ฟังกันบ้างเลย!
2
จะทำอย่างไรเมื่อมีแต่คน ‘ได้ยิน’ แต่กลับไม่มีใคร ‘รับฟัง’
เพราะรู้สึกว่าพูดไปก็ไม่มีใครรับฟัง หลายครั้งเราเลยเลือกที่จะเก็บความรู้สึกไว้แทน อย่างไรก็ตาม หากทำเช่นนี้บ่อยๆ อาจไม่ดีต่อสุขภาพจิตเอาได้ เพราะจริงๆ แล้วการยืนยันความรู้สึก (Emotional Validation) หรือการรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่ายนั้นสำคัญกว่าที่เราคิด
ทุกวันนี้มีคนรับฟังเราหรือเปล่า และเรารับฟังคนรอบตัวมากพอหรือยัง
มาดูแลจิตใจกันและกันผ่านการฟังเถอะนะ!
“Emotional Validation” การยืนยันความรู้สึกคืออะไรและทำไมถึงสำคัญ
การยืนยันความรู้สึก (Emotional Validation) คือกระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้พูด พร้อมทั้งแสดงออกให้พวกเขารู้ว่าเรารับฟังอยู่ เป็นการรับฟังด้วยใจจริงเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า สิ่งที่พวกเขาเผชิญคือเรื่องจริงและมีคนรับรู้ การยืนยันความรู้สึกนั้นตรงข้ามกับการไม่รับฟัง (Emotional Invalidation) ซึ่งคือการที่ความรู้สึกของอีกฝ่ายถูกมองข้าม ปฏิเสธ หรือตัดสิน อย่างการตอบรับส่งๆ หรือเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นนั่นเอง
แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าเกิดว่าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังเล่าล่ะ
การยืนยันความรู้สึกของอีกฝ่ายไม่ได้หมายความว่าเราต้อง ‘เห็นด้วย’ กับความคิดของเขาเสมอไป แต่เป็นการแสดงออกให้รู้ว่าเรารับฟังสิ่งที่เขาพูดอยู่ โดยไม่ได้พยายามเปลี่ยนความคิดหรือตัดสินพวกเขาแต่อย่างใด
แล้วการรับฟังคนอื่นนั้นสำคัญอย่างไร การรับฟังสำคัญมากโดยเฉพาะต่อคนที่เรารัก เพราะเป็นการแสดงออกว่าเราใส่ใจและเรายอมรับพวกเขาอย่างที่เป็น ยิ่งไปกว่านั้น การรับฟังโดยไม่ตัดสินยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย ลองจินตนาการดูว่าจะดีแค่ไหน หากเรามีใครสักคนคอยรับฟังทุกอย่างที่เราเล่า โดยไม่ตัดสินว่าเราถูกหรือผิด
เมื่อเรารับฟังอีกฝ่าย นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสำคัญต่อเราแล้ว ยังเป็นการช่วยให้อารมณ์ที่รุนแรงของอีกฝ่ายลดลงด้วย ตัวอย่างเช่น คนที่โกรธมากๆ หรือเศร้ามากๆ หากได้ระบายออกมา อารมณ์ลบเหล่านั้นจะบรรเทาลง งานวิจัยพบว่าการเป็นที่ระบายให้ใครสักคนนี่แหละ เป็นการช่วยให้อีกฝ่ายมีทักษะในการควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น
มีคนรับฟังดีต่อทั้งเราและเขาแบบนี้นี่เอง แล้วในกรณีที่ความรู้สึกถูกมองข้าม ไม่มีใครรับฟังล่ะ จะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง
ผลที่ตามมาของการไม่มีใครรับฟังความรู้สึก (Emotional Invalidation)
การได้ยินเฉยๆ แต่ไม่ได้รับฟังส่งผลเสียต่อเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตวิทยา พฤติกรรม และสุขภาพจิต ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกสับสนในตัวเอง เมื่อไม่มีใครรับฟังและยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจริง เราอาจรู้สึกสงสัยความคิด และพฤติกรรมของตัวเองก็เป็นได้ ความรู้สึกนี้เองจะนำไปสู่อาการไม่มั่นใจในตนเองและควบคุมอารมณ์ยาก
2
เพราะเมื่อพูดไปแล้วถูกมองข้ามหรือถูกตัดสิน ผู้พูดอาจไม่เชื่อในความรู้สึกตัวเองและมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น หากใครคนหนึ่งเสียใจ แต่เรากลับบอกว่าเขาคนนั้นดูไม่ได้เสียใจขนาดนั้น ดูร่าเริงปกติดีด้วยซ้ำ คนดังกล่าวอาจเข้าไปใจไปว่าเขาไม่ได้รู้สึกแย่ จึงไม่ได้ดูแลสภาพจิตใจตัวเองตามที่ควร
การถูกมองข้ามความรู้สึกยังสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้ เพราะเมื่อไม่มีใครรับฟัง เรามักจะรู้สึกว่าความรู้สึกของเราไม่มีค่า ที่น่าสนใจคือมีการศึกษาหลายงานที่พบว่า คนที่มีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ (Borderline Personality Disorder) มีแนวโน้มว่าพวกเขาเติบโตและใช้ชีวิตมาโดยไม่ถูกรับฟังความรู้สึก ซึ่งส่งผลให้พวกเขาแสดงออกทางอารมณ์ได้ไม่ถูกต้องนั่นเอง
1
ฟังดูน่ากังวลไม่น้อยเลยใช่ไหม แล้วเราจะยืนยันความรู้สึกของคนรอบข้างอย่างไรให้พวกเขารู้ว่า เรากำลังรับฟังอยู่จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินผ่านๆ เท่านั้น
มายืนยันความรู้สึกกันและกันว่าเรานั้นไม่ได้คิดไปเองคนเดียวกันดีกว่า!
แม้เรื่องอารมณ์จะเป็นเรื่องที่รับมือยากและไม่มีวิธีตายตัว แต่เราก็พอจะมีขั้นตอนมาแนะนำอยู่บ้าง หากลองนำไปปรับใช้ ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะการรับฟังความรู้สึก และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างได้ด้วย
1) ระบุและรับรู้ความรู้สึก
ในการยืนยันความรู้สึกของใครสักคน ขั้นตอนแรกก็คือรับรู้ว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร นี่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คนเมื่อฝ่ายตรงข้ามของเรานั้นชอบเก็บความรู้สึก อย่างการโกรธแล้วไม่พูดหรือเสียใจแล้วบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร
ยกตัวอย่างเช่น หากคนรักเราโกรธเรา เราอาจแสดงออกถึงความรับรู้ของเราด้วยการบอกว่า “เราเข้าใจว่าเธอกำลังโกรธเราอยู่” แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้บอกออกมาตรงๆ แต่เราสัมผัสได้ ก็อาจถามไปตรงๆ เลยว่า “เรารู้สึกว่าเธอกำลังโกรธอยู่ มีอะไรหรือเปล่า”
2) รับทราบต้นตอของอารมณ์
ขั้นต่อมาคือระบุว่าที่มาของความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไร เราควรถามตรงๆ ไปเลยว่าสาเหตุที่โกรธนั้นคืออะไร อย่างไรก็ตาม หากอีกฝ่ายไม่ใช่คนพูดตรงๆ เราอาจต้องย้อนเหตุการณ์และทำความเข้าใจเองว่ามีอะไรกระตุ้นความรู้สึกนั้น
3) ช่วยยืนยันความรู้สึก
สิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกจะสมบูรณ์ได้เมื่อสื่อสารออกมาโดยมีอีกฝ่ายรับฟัง แม้เราจะไม่เข้าใจเลยก็ตามว่าทำไมเขาถึงรู้สึกเช่นนั้น (หรือเราอาจมองว่ามันไร้สาระโดยสิ้นดี) แต่เราก็สามารถยืนยันได้โดยแสดงให้อีกฝ่ายทราบว่าเราฟังอยู่
สมมุติว่าคนรักของเราโกรธที่เรามาสาย 15 นาที เราสามารถสื่อสารออกไปได้ว่า “เรารู้ว่าเธอโกรธเพราะเรากลับบ้านช้า 15 นาที ที่เป็นแบบนั้นเพราะรถติดมากๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เธอโกรธเลยนะ แต่เราก็เข้าใจว่าเพราะรอนานเธอเลยรู้สึกหงุดหงิด” เราไม่จำเป็นต้องขอโทษด้วยซ้ำหากเราไม่รู้สึกว่าเราผิด บางทีแค่แสดงออกว่าเข้าใจก็อาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้แล้ว
1
นอกจาก 3 ขั้นตอนนี้แล้ว การใช้ภาษากายสื่อสารก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างการมองตาและพยักหน้า และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการฟังแบบ ‘ไม่พูดแทรก’ เพราะบางทีการรีบออกความเห็นขณะที่ผู้พูดยังเล่าไม่จบ อาจถูกมองเป็นการตัดสินอีกฝ่ายก็ได้นะ
1
มีหลายวิธีที่จะสื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเรากำลังรับฟังและเข้าใจ แต่ก็มีหลายประโยคเช่นกันที่ควรเลี่ยง อย่างเช่น ‘ไม่เห็นเป็นไรเลย’ ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร’ ‘เธออ่อนไหว/คิดมากไปเองหรือเปล่า’ หรือการเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองลำบากกว่าให้ฟัง คำพูดเหล่านี้ดีแต่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
การช่วยยืนยันความรู้สึกถือเป็นสิ่งดีๆ ที่เราจะมอบให้แก่คนสำคัญของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักไว้เสมอว่าการรับฟังเป็นแค่การช่วยเหลือด้านอารมณ์เบื้องต้นเท่านั้น อีกฝ่ายไม่อาจหายโกรธหรือหายเสียใจทันที เราไม่ควรรู้สึกแย่หากเราไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ จริงอยู่ที่เราควรช่วยเหลือคนที่เรารัก แต่การรับผิดชอบความรู้สึกของอีกฝ่ายแท้จริงแล้วไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราอาจแนะนำทางเลือกอื่นอย่างการปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดแทน
แต่ถ้าหากอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ได้หนักหนาอะไรและเราสามารถรับฟังได้ ก็อย่าลืมรับฟังกันและกันเพื่อเป็นการดูแลหัวใจกันวันละนิดก็ดีนะ
อ้างอิง
https://bit.ly/3GHWDaq
https://bit.ly/3pTlnGW
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
77 บันทึก
46
1
44
77
46
1
44
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย