5 พ.ย. 2021 เวลา 06:12 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] = - Ed Sheeran
ผลลัพธ์เท่าเดิม
[รีวิวอัลบั้ม] = - Ed Sheeran
-ไม่ค่อยคาดหวังกับพ่อหนุ่มผมส้มชาวอังกฤษ Ed Sheeran อยู่แล้ว ตั้งแต่ Divide แม้กระทั่ง No.6 Collaboration ดูทรงแล้วพอทำเนาได้ว่าแกผันมาทำเพลงป็อปสูตรสำเร็จเอาใจมหาชนเสียแล้ว เราคงไม่ได้เห็นกลิ่นอายอินดี้แบบที่เห็นในชุดแรก + หรือคาบลูกคาบดอกความเป็นแมสและอินดี้ใน X ที่ยังพอเห็นกลิ่นอายความดิบของอารมณ์อยู่บ้างราวกับมือกีตาร์ที่นึกอะไรออกแล้วด้นสดขึ้นมาไม่รีรอ
-พอแกเริ่มบูมจาก X ขึ้นมาปุ๊บ แกเริ่มมองหาเป้าประสงค์การทำเพลงหวังฮิตขึ้นมาทันที ในแง่การตลาดค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างมากโดยไม่ปฏิเสธ สังเกตได้เลยไม่ว่าจะห้างร้าน งานอีเว้นท์ งานแต่ง จะต้องมีเพลง Shape of You กับ Perfect เป็นเพลงตามงานที่ได้ยินบ่อยอยู่เสมอ เพิ่ม Thinking Out Loud อีกเพลงก็ได้ แต่พอมองออกได้ว่าสัดส่วนของเพลง Divide ที่เปิดในที่สาธารณะเยอะกว่าชุดสองปกเขียวแน่นอน ด้วยเพลงที่ย่อยง่าย ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาตีความให้ยุ่งยาก แต่ก็แลกกับความน่าเชื่อถือในความสามารถเหมือนกันว่า ฝีมือของ Ed ดรอปลงแล้วหรือไม่?
-แน่นอนว่าการที่ลูกเล็กเด็กแดงฟังได้ ผู้ใหญ่ฟัง(ก็ได้)ดันไม่ถูกใจนักฟังเพลงที่มองหาความท้าทายจากตัวศิลปินให้รู้สึกฉงนสนเท่ห์ที่จะติดตามพ่อหนุ่มชาวอังกฤษคนนี้ได้นานหน่อย ผมคงเป็นคนกลุ่มนั้นที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับการกลับมาของ Ed มากเท่าไหร่นักด้วยเหตุผลความเป็นสูตรสำเร็จที่เริ่มจะเหมือนๆคนอื่นจนตื่นเต้นน้อยลง
-ขนาดซิงเกิ้ล Bad Habits ที่ว่าเปลี่ยนสไตล์แล้ว แต่ยังไงก็อดคิดไม่ได้ว่าแกเจริญรอยตาม The Weeknd รึเปล่าหว่า เห็นเค้าทำเพลงซินธ์ป็อปแล้วประสบความสำเร็จเลยคิดจะนำเสนอสไตล์แบบนี้บ้าง แต่ผลที่ออกมาก็ค่อนข้างครึ่งๆกลางๆไปหน่อย เจือจางให้เด็กมันย่อยได้บ้าง ซิงเกิ้ลที่สอง Shivers ก็เช่นกันเป็นแดนซ์ป็อปจังหวะสนุกที่เห็นได้ทั่วไปมากๆ สองซิงเกิ้ลดังกล่าวแทบไม่ต่างอะไรจากงานแดนซ์ที่ไปร่วมงานกับดีเจสาย EDM ที่มีแนวคิดออกแบบเพลงเพื่อให้ย่อยง่ายทั้งนอกและในคลับก็เท่านั้น
-เอาแบบไม่ตัดสินอัลบั้มด้วยซิงเกิ้ล ถ้าลองมาฟัง = โดยรวมแล้ว มีจุดที่โอเคกว่า Divide ในแง่ของความคิดความอ่านด้วยส่วนนึง เพราะนี่คืออัลบั้มที่เค้าให้นิยามว่า Coming of age ที่ต้องเปลี่ยนผ่านจากชายโสดธรรมดามาเป็นพ่อคน การผ่านประสบการณ์สูญเสียเพื่อน ประคับประคองให้จิตใจมูฟออนมั่นคงยิ่งขึ้น ในเมื่อหาความแปลกใหม่ไม่ได้ อย่างน้อยก็คาดหวังความเติบโต ตกตะกอนทางความคิดไปตามประสบการณ์ไม่มากก็น้อย ซึ่งผมพอเห็นในผลงานชุดที่ 4 อยู่บ้าง
-แทร็คเปิดอัลบั้ม Tides จัดเป็นเพลงเปิดอัลบั้มที่ดีเลยนะ ความหนักแน่นของซอฟต์ร็อคสำเนียงอังกฤษจ๋า มันให้ความรู้สึก warp up สิ่งที่ผ่านมาได้เป็นเรื่องเป็นราวยิ่งนัก ให้ความรู้สึก fresh start ขึ้นมาหน่อย สร้างโมเมนต์ยื่นไมค์ให้คนฟังด้วยเทคนิคการเฟดเสียงลงคงไว้ซึ่งเสียงคนร้องในท่อนฮุก สามารถตรึงคนฟังได้อยู่หมัด มันทำให้ท่อนฮุกดูมีน้ำหนักขึ้นมาทันที โดยไม่ต้องอาศัยความ upbeat ให้มันโลดแล่นตลอดแทร็ค
-มุมมองการมองโลกในแง่ดียังคงเป็นชุดความคิดสำคัญที่อัดแน่นอยู่ในผลงานของเอ็ดไม่จางหาย เฉกเช่น First Times ที่พรรณนาถึงประสบการณ์ครั้งแรกในหลายอย่างๆที่ไม่เคยคิดว่า ครั้งแรกของเรื่องนั้นๆมันเกิดขึ้นเร็วเหลือเกินจนอยากให้เป็นแบบนี้นานๆหน่อย ทั้งการพาตัวเองไปเล่น Wembley Stadium ในแบบที่อดีตศิลปินข้างถนนไม่คิดว่าจะไปถึง การมีเนื้อคู่ และลูกสาวคนแรกที่เกิดความแช่มชื่นของจริง ซิงเกิ้ลล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาอย่าง Overpass Graffiti เป็นการโอบกอดรักเก่าที่ทำออกมาในฟีลกู๊ด ค่อนข้างไดนามิกมากกว่าฟูมฟายเอาเป็นเอาตาย เป็นไปได้ว่า ด้วยสถานะความรักที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน อาจทำให้กังวลเรื่องรักเก่าน้อยลงจึงเปลี่ยนเป็นความสดใสโลกสวยได้ ราวกับชมจิตรกรรมฝาผนังที่เคยแต่งแต้มไว้ระหว่างทาง พอได้ย้อนเส้นทางมาดูก็สวยดีนี่หว่า
-นอกจากจะย้ำโหมด optimistic โหมดคลั่งรักเห่อเมียก็ยังมีให้เห็น ผมเองก็ไม่ค่อยชอบให้ใครมาพรรณนาความรักของตัวเองจนกินพื้นที่ในอัลบั้มส่วนใหญ่ ซึ่งก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ Equals ยังคงเป็นเหมือนกับ Divide อย่างไรก็ดีมันยังมีเพลงที่จับต้องได้ถึงความเนี๊ยบในความแช่มช้าที่ผมพอซาบซึ้งในบางเพลงก็จะมี The Joker and the Queen ที่เดินบัลลาดเปียโนหนักแน่นทั้งเพลง ราวกับแกทำเพลงนี้เพื่อเอาไปเต้นรำกับเมียแกยามแก่เฒ่าชัดๆ อย่างไรก็ดีชอบในการเปรียบเปรยถึงจะมาจากวงไพ่ก็เหอะ แต่เออก็จริงในแง่ของการยอมลดตัวมาเกทับกับไพ่ใบต่ำโจ๊กเกอร์อย่างเรา อย่างน้อยมันก็ฉายภาพนิยามความรักที่มองเห็นถึงคุณค่ามากกว่าจะเอาแต่คลั่งรักกันและกันอย่างเดียว Love in Slow Motion ก็เป็นความละเมียดที่เคล้าคลุ้งด้วยกลิ่นอายสก็อตแลนด์เสนาะหู มีน้ำมีนวลดี อย่างน้อยเริ่มดีไซน์ไลน์กีตาร์โปร่งให้มีท่วงทำนองร่ายรำขึ้นมาหน่อย
-หนึ่งเพลงไฮไลต์เด็ดคือเพลงที่เขาตั้งใจ tribute ให้กับ Michael Gudinski ผู้เป็น music promoter ชาวออสเตรเลียคนสนิทที่จากไปอย่างสงบด้วยวัย 69 ปี ในเพลง Visiting Hours ที่ซาบซึ้งด้วยสาสน์ อิ่มเอมด้วยภาคดนตรีสุด lift up ในพาร์ทออเครสตร้าในช่วงสุดท้าย สมเกียรติเพลง tribute จริงๆ ทั้งนี้ความเก่งอยู่ตรงที่จบเพลงนี้ได้ในช่วงระหว่างกักตัวที่ออสเตรเลีย ก่อนที่จะงัดเพลงนี้ขึ้นมาโชว์ในงานรำลึกถึงหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งวงการดนตรีออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้ Kylie Minogue และนักแสดงตลก Jimmy Carr ที่สนิทกับ Michael ด้วย มามีส่วนร่วมในการขับขาน backup vocal ให้เพลงนี้ด้วย
-ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรสวรรค์การแต่งเพลงของเอ็ดไม่เป็นสองรองใคร แต่ปัญหาใหญ่ๆที่ยังพบเจอคือแนวคิดเพลย์เซฟของแกเนี่ยแหละ ไม่สามารถทำเพลงที่ท้าทายคนฟัง ผลักดันเพลงตัวเองให้ไปไกลกว่านี้ ต่อให้เน้นวลี catchy แต่ถ้าอยู่ในกรอบสูตรสำเร็จชนิดที่เหมือนๆกับผลงานที่ผ่านมาของตัวเอง มันก็ดูไม่ต่างจากคนอื่น ไม่เหลือซึ่งกลิ่นอายอินดี้ดิบๆแบบ + หรือ X 14 แทร็คแทนที่จะมีความต่อเนื่องในแง่ของความหลากหลายที่ควรจะมากกว่านี้ การสร้างข้อจำกัดในกรอบของแกเองราวกับเกรงกลัวว่าจะเสียฐานแฟนเพลง ง่ายเข้าไว้ แต่จะมีมุมที่แปลกใหม่กว่ารึเปล่านั่นก็อีกเรื่อง
-ในเพลง 2Steps ไม่รู้ว่ามีใครคิดเหมือนผมรึเปล่า เหมือนเอ็ดหยิบ pre-hook ของเพลง Shape of You มาต่อยอด บีทตุบตับแทนที่จะเนื้อเต้น แต่ก็ไม่ขนาดนั้นด้วยความที่เราคาดเดาลูกเล่นนี้ได้ Collide คอรัส cheer up ลักษณะนี้ชวนระลึกถึงสูตรเพลงเก่าๆของ Lionel Richies ยิ่งนัก Stop The Rain เป็นความพยายามเล่น drum and bass ชวนโยกที่ basic มากๆ อีกหนึ่งความน่าประหลาดใจที่ไม่คิดว่าจะลดระดับได้ง่ายๆคือการหันมาทำเพลงเอาใจลูกสาวแกในเพลง Sandman บีทของเพลงที่แทบไม่ปรุงแต่งอะไรเลย นึกว่ากำลังฟังเพลงแนวจิงเกิ้ลโฆษณาในเซเว่นอยู่รึเนี่ย ? จากเพลงที่แล้ว Visiting Hours ที่โคตรทรงพลัง พอมาเจอเพลงกรุ้งกริ้งแต่งให้ลูกสาว กราฟดรอปลงเยอะเลย
-แทร็คปิดท้ายอัลบั้ม Be Right Now ที่ว่าด้วยการพยายาม appreciate สิ่งรอบข้าง อยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด แทนที่จะเป็นโมเมนต์ที่แข็งแรงที่สุด กลับถูกละเลยราวกับลมพัดผ่านที่ไม่ได้ทิ้งความร่มเย็นอิ่มเอมมากนัก แทนที่จะปิดด้วยมุมมองมิติที่มีต่อตัวเองเพื่อเอาไปเสริมไม้ต่อจากเพื่อนผู้ลาจาก ทิ้ง chapter ของตัวเองต่อจากนี้อย่างไรให้อยากจะติดตามต่อบ้าง ปิดอัลบั้มได้แผ่วมากจริงๆ
-ไม่ได้คาดหวังการกลับมาคืนฟอร์มตั้งแต่แรกอยู่แล้วเลยพอเดาทางออกว่าจะเป็นเช่นไร แต่มันจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้เว้ย เอ็ดควรละทิ้งการทำเพลงตามมาตรฐานทั่วๆไปเสียที เลิกที่จะเพลย์เซฟเพียงเพราะกลัวเสียฐานแฟนเพลง แกอยู่ในจุดที่อินดี้ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวการเสียฐานแฟนเพลง การทำเพลงแบบหวังผลฮิตเพื่อไม่ให้ถูกลืม จึงไม่ใช่วิธีลับคมที่ดีมากนัก เพราะสูตรป็อปของแกก็มีคนทำแล้วมานัดต่อนัดจนคนเริ่มเบื่อไปมองหาแนวเพลงทางเลือกกันหมด ไม่คิดว่าแกจะไม่ซิกแซกอะไรเลย ปรับเป็นค่ากลางเสียหมด ใจจริงชอบชุดนี้มากกว่า Divide จำนวนแทร็คที่ชอบก็เยอะกว่า แต่พอมาฟังโดยรวมแล้วเนี่ย ฟังไปเรื่อยๆนี่ก็เริ่มกร่อยเอาการ
-บางทีผมก็อดคิดเรื่องอาถรรพ์ชื่ออัลบั้มไม่ได้จริงๆนะ ชุดที่แล้ว “หาร” เสียจนมันโดนตัดทอน ยิ่งเป็น No.6 Collaboration ซึ่งไม่เกี่ยวไรเลยกับการเป็นภาคต่อ The Mathematics ชื่อก็ไม่ได้ส่ออาถรรพ์ แต่ก็เป็นการย้ำถึงความเพลย์เซฟเข้าไปอีก ถ้าเป็นภาษาหนังไม่ต่างจากคนทำหนังอินดี้มาลดระดับเป็นดิสนี่ย์แหละ สำหรับ = ความหมายในตัวมันแทบไม่เป็นลางอะไรนอกจากการทำให้มันสมดุล แต่ดันไม่สมดุลด้วยการวกวนอยู่กับไม่กี่เรื่อง สูตรไม่กี่สูตร ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่สามารถขบด้วยสมการที่เหนือไปกว่างานชุดอื่นมากเท่าไหร่นัก
ถ้าชุดต่อไป Minus พรสวรรค์จะดรอปลงมั้ยเนี่ย ?
Top Tracks : Tides, Overpass Graffiti, The Joker and the Queen, Love in Slow Motion, Visiting Hours
Give 6/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา