8 พ.ย. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา วิธีตั้งเป้าหมายแบบ OKR ฉบับ Google
ทุกบริษัทย่อมต้องมีการตั้งเป้าหมายในอนาคต ที่อยากไปให้ถึง
แต่การตั้งเป้าหมายเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะบางครั้ง เป้าหมายขององค์กรก็สูงเกินไป หรือบางครั้งผู้นำอาจหลงทาง ตั้งเป้าที่ไม่สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทก็มี
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวิธีการตั้งเป้าหมายแบบ OKR
ที่บริษัทอย่าง Google เริ่มใช้ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทได้ยังไม่ถึงปี
จนปัจจุบันกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่าแสนคนทั่วโลก
แล้ว OKR ช่วยให้บริษัทไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ OKR กันสักนิด
1
OKR นั้นถูกนำเสนอโดย Andrew Grove อดีต CEO ของบริษัท Intel หนึ่งในผู้ร่วมลงทุนใน Google คนแรก ๆ โดยเขาได้นำเสนอเทคนิคนี้ให้กับ Larry Page และ Sergey Brin ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทใหม่ ๆ
ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองก็ยังคงใช้ OKR ในการบริหารอยู่ และ Google เองก็ยังเคยออกมาเคลมด้วยว่า OKR นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้
แล้ว OKR น่าสนใจอย่างไร ?
OKR ย่อมาจาก Objective Key Results
Objective หมายถึง การตั้งเป้าหมาย
และ Key Results หมายถึง วิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น
โดย Objective นั้น จะต้องเป็นเป้าหมายที่บอกว่าปลายทางของบริษัทคืออะไร เราอยากไปที่ไหน โดยเป้าหมายควรมีความเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขอะไรที่ชัดเจน
1
ส่วน Key Results นั้น จะตรงข้ามกับ Objective คือ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน วัดเป็นตัวเลขได้ มีความเที่ยงตรง เพื่อเป็นการบ่งชี้ว่าเรากำลังเข้าสู่เป้าหมายนั้น ๆ แล้ว
โดยปกติแล้วในหนึ่ง Objective จะมี Key Results ประมาณ 3-5 ข้อ และมีการกำหนดระยะเวลาชัดเจน เช่น ใน 1 ไตรมาส หรือในระยะเวลา 6 เดือน
1
ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดนี้ จะถูกกลั่นกรองให้สอดคล้องกับมุมมอง และภารกิจในระยะยาวของบริษัท และจะถูกนำไปใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กรตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงระดับพนักงานทั่วไป
แล้ว OKR ทำงานอย่างไร
เราลองมาดูตัวอย่างกัน..
สมมติว่าทีม Marketing ต้องการที่จะตั้งเป้าหมายด้วยวิธี OKR โดยสามารถจัด Objective และ Key Results ได้ดังนี้คือ
Objective: เพิ่มผู้สมัครทางอีเมลให้ได้เป็น 30% ภายในไตรมาสที่ 4
Key Result 1: เพิ่มจำนวนคลิกให้ได้ 30%
Key Result 2: เพิ่มอัตราการเปิดอีเมลให้ได้ 30%
Key Result 3: ลดการตีกลับของอีเมลให้ได้ 30%
หรือ
Objective: เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็น 40% ภายในไตรมาสที่ 4
Key Result 1: เพิ่มการกระจายเครือข่ายให้ได้ 10% ต่อเดือน
Key Result 2: ตีพิมพ์หรือลงสื่อในสำนักพิมพ์รายใหญ่ 3 แห่ง
Key Result 3: เพิ่มการรับรู้แบรนด์จาก 40% เป็น 60%
ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าการตั้งเป้าหมายนั้น ไม่ควรตั้งให้ง่าย หรือยากเกินไป เพราะหากเราตั้งเป้าหมายแล้ว อัตราความสำเร็จออกมาเป็น 100% นั่นอาจหมายความว่าเป้าหมายไม่มีความท้าทายพอ หรือเป้าหมายเล็กเกินไป
ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้น แต่มีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 60-70% ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่กำลังดี ไม่ง่าย หรือยากไป มีความท้าทายกำลังดี
อย่างใน Google เอง ก็จะวัดผลของ OKR โดยการให้คะแนน Key Results อยู่ที่ 0.0-1.0 คะแนน
หากทีมสามารถทำได้ 1 คะแนน นั่นอาจหมายความว่าเป้าหมายนั้นง่ายเกินไป หรือหากทีมสามารถทำได้เพียง 0.4 คะแนน นั่นอาจหมายความว่าเป้าหมายยากเกินไป หรือทีมอาจต้องการแรงสนับสนุนมากขึ้นอีก เพื่อพัฒนาให้ไปถึง 0.6-0.7 คะแนน ตามที่ตั้งเป้าไว้
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า
แล้ว OKR ต่างกับ KPI หรือเกณฑ์การประเมินพนักงานอีกแบบ ที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้อย่างไร ?
คำตอบคือ OKR นั้นจะเป็นการประเมินผลงานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาพรวมของบริษัท มีความเกี่ยวข้องในเชิงกลยุทธ์มากกว่า
ส่วน KPI นั้นจะเป็นการประเมินผลงานของตัวบุคคล หรือกิจกรรม ๆ หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น
สรุปแล้ว ประโยชน์ของ OKR ก็คือ ความโปร่งใสและการเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
หลายองค์กรอาจมองว่า เรากำลังรู้ว่าตัวเองเดินไปในทิศทางไหน และเห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจน แต่หลาย ๆ องค์กรไม่ได้เป็นเช่นนั้น
การนำ OKR มาใช้ จะช่วยทำให้ทั้งองค์กรเห็นภาพของเป้าหมายชัดขึ้น และแต่ละฝ่ายก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกันได้
ซึ่งการทำ OKR จะเข้ามามีส่วนช่วยตรงที่ แต่ละทีมจะต้องออกมานำเสนอหรืออัปเดต Key Results ของตัวเองว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร และถ้ามันไม่เวิร์ก ทีมจะมีการแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น
ซึ่งนอกจากจะทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้องค์กรไปยังเป้าหมายได้เร็วขึ้น เพราะจะรู้ได้ในทันทีว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นกำลังนำไปสู่เป้าหมายจริงหรือไม่ นั่นเอง..
References
โฆษณา