5 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นไร! นักจิตวิทยาเผย "คุยกับคนแปลกหน้า" คือเรื่องปกติ แถมดีต่อใจอีกด้วย
หากเราเดินอยู่ดีๆ แล้วมี “คนแปลกหน้า” เข้ามาทักทาย ความรู้สึกแรกของเราเลยอาจเป็นความ ตกใจหรือหวาดกลัว ตามมาด้วยความสงสัยว่าคนคนนั้นจะเข้ามาหลอกเราหรือขายตรงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่จริงแล้วคนแปลกหน้าก็คือคนธรรมดา เฉกเช่นเดียวกับการที่เราเป็นคนแปลกหน้าของคนอื่น
2
หรือเพราะแม่สอนตั้งแต่เด็กว่า “อย่าคุยกับคนแปลกหน้า” หรือเปล่า เราเลยกลัวแบบนี้!
1
เรากลัวการคุยกับคนแปลกหน้ามากกว่าที่คิด หากให้เลือกระหว่างความเหงาหรือคุยกับคนแปลกหน้า หลายๆ คนอาจยอมเหงาแทน ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยบอกว่าความเหงานั้นส่งอันตรายต่อสุขภาพพอๆ กับการสูบบุหรี่เลยด้วยซ้ำ
หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความกลัวคนแปลกหน้าของมนุษย์เรา คงจะเป็นผลวิจัยที่พบว่าคนทั่วโลกกำลังโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกันและชาวอังกฤษ และอคติต่อผู้อพยพ ที่เรามักจะเห็นจากข่าวผู้อพยพถูกทำร้ายและพูดจาเหยียดหยามอยู่บ่อยๆ
จริงๆ แล้วการคุยกับคนแปลกหน้ามีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด! ในหนังสือจิตวิทยาชื่อดังเรื่อง “The Power of Strangers” โดย โจ โคเฮน ได้พูดถึงข้อดีของการคุยกับคนแปลกหน้าไว้ พร้อมค้นหาคำตอบว่าทำไมเราถึงไม่ชอบคนแปลกหน้า และแบ่งปันวิธีหัดพูดคุยกับคนแปลกหน้าสำหรับคนที่ไม่กล้าคุย
ทำไมเราถึงไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า
เรามักจะรายล้อมไปด้วยคนแปลกหน้าเมื่อเดินทางด้วยรถสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ ในการเดินทางคนเดียวเรามักจะรู้สึกเคว้งคว้างอยู่บ้าง แต่แทนที่จะหันไปคุยกับคนข้างๆ สิ่งที่หลายคนเลือกทำคือ.. การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์
1
แน่นอนว่าการเลือกทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราเคยสงสัยไหมว่า ‘ทำไม’ จึงเป็นเช่นนั้น
นักวิจัยพบว่ามีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกคือเราคิดไปเองว่าคนอื่นจะ ‘ไม่ชอบ’ เรา
ในปี 2018 เอริก้า บูธบี้ นักจิตวิทยาท่านหนึ่งได้ทำการทดลอง โดยการให้ผู้ร่วมการทดลองมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในห้องทดลอง ในหอพัก และในห้องเวิร์กชอป ผลพบว่าเกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า “The Liking Gap”
The Liking Gap เกิดขึ้นเมื่อคนเราเชื่อว่าเราชอบคนอื่น แต่คิดว่าพวกเขาไม่น่าจะชอบเราเท่าไร (ทั้งๆ ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้นเลย เขาอาจจะชอบเรามากกว่าที่เราคิดก็ได้) ถึงแม้บทสนทนาระหว่างผู้ร่วมการทดลองนั้นเป็นไปได้ด้วยดี พวกเขามักจะคิดไว้ก่อนเสมอว่าคนอื่นไม่ชอบตนเอง นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่ค่อยคุยกับคนแปลกหน้า
1
ส่วนอีกเหตุผลคือ เรามักจะมองคนไม่รู้จักว่า ‘ด้อยกว่า’
ผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่มักจะเจอคนแปลกหน้าจำนวนมากอยู่เป็นประจำ แม้จะขึ้นชื่อว่า ‘คน’ แปลกหน้า เรากลับให้ค่าพวกเขาน้อยกว่ามนุษย์ พวกเขาเป็นเพียง ‘สิ่งกีดขวาง’ ที่เราเจอในชีวิตประจำวันเท่านั้น และเรามักจะคิดอยู่ลึกๆ ว่าคนเหล่านี้เก่งน้อยกว่า มีความสามารถน้อยกว่าเรา
ในการทดลองของนิโคลัส เอปลีย์ และจูเลียนา ชโรเดอร์ ในปี 2013 ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องพูดคุยกับคนแปลกหน้าขณะใช้รถโดยสารสาธารณะ ผลทดลองพบว่าผู้เข้าร่วมรู้สึกแปลกใจอย่างมากที่จริงๆ แล้วคนแปลกหน้าเหล่านั้นน่าสนใจกว่าที่พวกเขาคิด (หรือพูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาไม่คิดว่าคนอื่นจะฉลาดเหมือนกันนะเนี่ย!)
ไม่รู้จักก็คุยได้! แถมดีต่อใจด้วย
3
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสุขและความเป็นอยู่ของมนุษย์คือ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง เราเคยได้เห็นผลวิจัยผ่านตากันบ่อยๆ ว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนและคนในครอบครัวนั้น มักจะมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับใคร มักจะเจอปัญหาทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย อย่างโรคหัวใจ เป็นต้น
2
การศึกษาเหล่านั้นมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด แล้วเราเคยสงสัยมั้ยว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนแปลกหน้า’ ล่ะ ส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง
ในปี 2013 กิลเลียน แซนด์สตอร์ม และอลิซาเบธ ดันน์ ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์จากการคุยกับคนแปลกหน้า มีผู้ร่วมวิจัยกว่า 60 คน แบ่งเป็นชาย 30 คนและหญิง 30 คน โดยพวกเขาเหล่านี้ต้องพูดคุยกับบาริสต้าขณะซื้อกาแฟ และต้องพยายามให้เป็นการคุยสั้นๆ เท่านั้น
2
ผลที่พบคือ แม้แต่บทสนทนาเล็กๆ ระหว่างคนแปลกหน้าก็ช่วยให้มีความสุขขึ้นได้
เพื่อยืนยันผลการทดลอง ทั้งสองได้ทำงานวิจัยคล้ายกันอีกงาน ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้รับคลิกเกอร์สีแดงและสีดำ โดยสีแดงหมายถึงความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ให้ความรู้สึกแน่นแฟ้น ราวกับเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่วนสีดำแทนความสัมพันธ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้ารู้จักกันผ่านๆ อย่างแท้จริง
ความเชื่อเดิมๆ ในสังคมมักจะเชื่อกันว่าความสัมพันธ์ผิวเผินนั้นไม่มีค่าและทำให้เรารู้สึกเหงา แต่ผลการทดลองพบว่าคนที่พบเจอความสัมพันธ์ผิวเผินมากกว่า โดยรวมแล้วมีความสุขมากกว่าและรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่แพ้กัน ดังนั้นหากวันใดเรารู้สึกเหงาๆ ลองไปสั่งกาแฟสักแก้วแล้วคุยกับบาริสต้าดูไหม อาจช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นก็ได้นะ
ฟังดูง่ายสำหรับคนที่ชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว คนเงียบๆ อย่างเราล่ะ พอจะมีวิธีชวนคุยกับคนอื่นแบบไม่ให้เขินไหม
1
รู้จักวิธีคุยกับคนแปลกหน้าฉบับมืออาชีพ
อันดับแรกเลยคือเปิดด้วย “สมอลทอล์ก” (Small Talk) หรือการชวนคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปอย่างเรื่องดินฟ้าอากาศ จริงอยู่ที่เป็นบทสนทนาแบบผิวเผินมากๆ แต่ก็เป็นตัวเปิดประตูสู่บทสนทนาจริงๆ ได้ดี
2
ขั้นตอนต่อไปก็คือลอง “ออกนอกบท” ดู ปกติมนุษย์เรามักจะมีคำตอบที่ชินในการตอบคำถามทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เช่น หากโดนถามว่าสบายดีมั้ย เรามักจะตอบว่าสบายดี (ทั้งๆ ที่จริงอาจจะไม่สบายเลยก็ได้) คำตอบเดิมๆ เช่นนี้มักจะทำให้บทสนทนาตัดจบลงแทบจะทันที เราลองมาออกนอกบทแล้วตอบคำถามแบบสร้างสรรค์บ้างดูไหม
เป็นต้นว่า ‘ดีมากเลยช่วงนี้ ถ้าคะแนนเต็ม 10 เอาไปเลย 8’ คำตอบเช่นนี้ช่วยให้เราดูจริงใจ ดูเหมือนคิดก่อนตอบคำถามจริงๆ ไม่ได้ตอบส่งๆ แบบหุ่นยนต์ แถมยังช่วยกระตุ้นให้ผู้ถามสงสัยและถามถึงสาเหตุต่ออีกด้วย
1
นอกจากการตอบคำถามแล้ว เราควร “ถามกลับ” ด้วย เพราะมนุษย์เรานั้นพอใจในการสื่อสารกับคนที่สนใจในตัวเรา มากกว่าคนที่สนใจแต่ตัวเอง สิ่งสุดท้ายที่อย่าลืมทำคือ “การมองตา” เพราะการกระทำง่ายๆ อย่างการมองตาผู้พูดนี่แหละ จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนสำคัญในการสร้างสัมพันธไมตรี
1
ในเมื่อรู้กันแบบนี้แล้ว วันนี้ก็อย่าลืมลองทักทายคนแปลกหน้าที่บังเอิญเจอดูบ้างนะ ถึงจะเขินๆ อยู่บ้าง แต่เราขอแนะนำว่าอย่าคิดมาก อย่ามัวแต่กังวลว่าเราคุยไม่เก่งหรือพูดอะไรน่าอายไปไหม คิดเสียว่าไม่มีใครสนใจเราหรอก! เพราะอีกฝ่ายก็กังวลในใจไม่แพ้กันว่าทักษะการพูดของเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่เราควรจะโฟกัสคือ ‘ความสุข’ และ ‘เรื่องราวใหม่ๆ’ ที่เราได้จากบทสนทนามากกว่า
1
อ้างอิง
หนังสือ The Power of Strangers โดย Joe Keohane
1
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
#softskill
โฆษณา