5 พ.ย. 2021 เวลา 15:19 • นิยาย เรื่องสั้น
“เพราะความตายเป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่”
เก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงิน ชื่อของใครบางคนถูกสกรีนด้วยสีขาวไว้อยู่หลังเก้าอี้ เพื่อบอกให้รู้ว่าเก้าอี้ตัวนี้มีคนใจดียกให้ พื้นที่สี่เหลี่ยมของเก้าอี้ถูกแทนด้วยกระโปรงสีดำนั่งรอกลุ่มคนชุดดำแวะเวียนไปจุดธูปให้ใครสักคนหนึ่งที่อยู่ในกล่องไม้สี่เหลี่ยมแกะสลักเลื่อมทอง รอบกล่องประดับประดาไปด้วยดอกไม้ และช่อพวงหรีดมากมายจากคนหนึ่งที่เคยผูกสัมพันธ์ นาฬิกาบอกเวลาที่เหมาะสม บทสวดได้เริ่มขึ้น ผู้คนชุดสีดำพนมมือ บ้างก็หลับตา บ้างก็ลืมตา เพื่อฟังเสียงประสานของทำนองบทสวด ถัดไปอีกวันในวันที่ฟ้าสว่าง พระอาทิตย์คล้อยเลยกลางหัวไปแล้ว กล่องไม้สี่เหลี่ยมถูกเคลื่อนย้ายไปอีกที่ ที่ที่เขาเชื่อกันว่าเปลวเพลิง และเสียงประทัดจะพาคนที่อยู่ในนั้นเดินทางไปยังที่ ที่ชอบที่ชอบ
นี่คงเป็นวัฒนธรรม”ความตาย”ที่ฉันเห็นภาพได้ชัดที่สุด นอกจากนั้นก็พอจะนึกภาพออกบ้างตามหนังหรือซีรี่ย์ต่างๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้โลกของฉันได้เปิดกว้างขึ้น หนังสือปกแดง ถ้าวางอยู่บนชั้นในร้านขายหนังสือคงต้องเหลียวมองบ้างแหล่ะ นอกจากสีปกจะแดงเด่นแล้ว ชื่อหนังสือยังดึงดูดให้ฉันต้องพลิกหน้าหลังไปอ่านเรื่องย่อ “From Here To Eternity” หรือชื่อภาษาไทย จากดับสูญสู่นิรันดร์ หนังสือจากสัปเหร่อชาวอเมริกัน เคตลิน ดัฟที ที่จะพาออกเดินทางไปหลายประเทศ จากหลากหลายทวีปทั้งอเมริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ เพื่อเล่าถึงวัฒนธรรมความตาย ที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือ การรำลึกถึงใครสักคน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รัก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันแทบจะทุกอย่างเป็นเรื่องของธุรกิจ แม้แต่ความตาย เมื่อไม่นานมานี้ฉันพึ่งถึงบางอ้อว่า การจัดพิธีงานศพนั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การเช่าสถานที่ ของประดับตกแต่งในพิธี แม้แต่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างในหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือยุโรป ก็มักจะเลือกการจ่ายเงินจ้างบริษัทรับจัดงานศพ เพราะเป็นวิธีที่กระชับที่สุด หรือแม้แต่ในโบลิเวีย แม้แต่ตอนที่ตายไปแล้วคนที่ยังอยู่ยังต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในการฝังศพ ถ้าไม่มีจ่ายก็จะถูกแปะกระดาษเหมือนทวงค่าเช่าบ้าน และถ้าไม่มีจ่ายจริงๆก็ต้องโดนไล่ที่ คนที่อยู่ในนั้นอาจจะต้องไปอยู่ที่หลุมรวมหรือส่งกลับไปหาครอบครัวในสภาพโครงกระดูก
แต่การเดินทางของเคตลิน ดัฟที ผ่านตัวหนังสือ 200 กว่าหน้าได้ทำให้ฉันกลับมานึกถึงความหมายที่แท้จริงของการจัดงานศพ เคตลินได้ออกเดินทางสำรวจถึง 8 สถานที่ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น เม็กซิโก สเปน โบลิเวีย อินโดนีเซีย แม้จะแตกต่างกันทั้งในเรื่องของภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและความเชื่อ ที่แสดงให้เห็นในการจัดพิธีศพที่หลากหลายรูปแบบ อย่างที่ฉันไม่เคยนึกถึงมาก่อน
การโยนศพให้แร้งกิน การเผาศพแบบไม่มีอะไรกั้น การเก็บศพไว้เป็นสิบๆปีอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และยังเปลี่ยนชุด หวีผมให้ทุกๆวัน การคีบเถ้ากระดูกของคนที่ตายแล้วใส่อัฐิทีละชิ้น และอีกหลายหลายรูปแบบของงานศพที่ในหนังสือได้พาไปเปิดประสบการณ์ ทำเอาฉันทึ่งไปกับแนวคิดในการจัดการกับศพของทุกๆที่ แต่มีแนวคิดที่ฉันรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และถ้าให้เลือกวิธีที่จะจัดการกับศพตัวเองได้วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย “เปลี่ยนศพเป็นปุ๋ย”
โครงการที่รับผิดชอบโดย คาทรินา สเปด บนเนินเขาแห่งหนึ่งในนอร์ทแคโรไลนา จะมีร่างผู้ที่ล่วงลับฝังอยู่ในดินแบบไม่มีโลง ไม่มีอะไรมาปิดกั้น โดยในตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนทำการ
 
วิจัยหาวิธีสร้างปุ๋ยจากร่างคน เพื่อทำให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่ร่างผู้ตายจะตรงดิ่งสู่ดิน โดยไม่มีการดองศพ เมื่อศพสลายกลายเป็นปุ๋ย สมาชิกครอบครัวก็สามารถนำดินดังกล่าวไปไว้ในสวนของตัวเองได้ โดยในตอนที่จะนำร่างไปย่อยสลายครอบครัวก็จะเป็นคนแบกร่างนั้นไปวางไว้บนเนินเอง โดยส่วนตัวฉันคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนมาก และดูจะเป็นวิธีที่ลำบากคนที่ยังอยู่น้อยที่สุด อีกทั้งฉันยังเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าตลอดเวลาที่เราใช้ชีวิต เราใช้ประโยชน์จากผืนดินและธรรมชาติ คงจะน้อยไปด้วยซ้ำหากตอนที่เราตายแล้ว เราจะคืนให้ธรรมชาติบ้าง
แม้จะแตกต่างสถานที่ แตกต่างวัฒนธรรมในการจัดงานศพ แต่ในแต่ละสถานที่ที่เคตลิตได้พาไปสำรวจ มีจุดเหมือนกันอยู่หนึ่งอย่างคือ ความใกล้ชิด อย่างที่เคยกล่าวไปว่าแม้แต่ความตายก็เป็นเรื่องของธุรกิจ และธุรกิจนี่เองที่กันเราให้ออกห่างจากเรื่องของความตาย การที่หนังสือเล่มนี้พาฉันออกเดินทาง ทำให้ฉันได้เห็น “พื้นที่ว่าง”ของทุกวัฒนธรรม ที่ได้เว้นไว้ให้เราได้รำลึกถึงคนที่จากไป แม้ว่าทางกายภาพจะเปลี่ยนไป แต่เรื่องราวของใครคนนั้น คนที่ครั้งหนึ่งเป็นคนที่เรารักไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะอย่างนั้นคงไม่เป็นไรหรอกถ้าหากเราจะใช้เวลาอีกสักหน่อย ซึมซับความสวยงามของเรื่องราวที่เป็นไปตามธรรมชาติ ในฐานะคนที่ยังมีชีวิตอยู่และคนที่ใกล้กับความตาย ที่ไม่รู้ว่าใกล้แค่ไหนแต่คงไม่ไกลกันนักหรอก
ป่าน : เขียน/เรียบเรียง
ม่า : งานศิลป์
โฆษณา