6 พ.ย. 2021 เวลา 02:43 • ความคิดเห็น
ทำประกันเร็วไป 1 ปี ดีกว่าทำช้าไป 1 วัน
การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ คือ หลักในการโอนย้ายความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคาดการณ์เองว่า เราจะโอนย้ายไปให้บริษัทประกันรับผิดชอบ หรือ เราจะรับความเสี่ยงนั้นไว้เอง
1
การต้องแลกกับการจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปี ทำให้บางคนเสียดายว่ามันจะต้องทิ้งสูญเปล่าไป หากไม่มีเหตุเกิดขึ้น
แน่นอนว่าไม่มีใคร อยากให้เกิดเหตุร้าย เพื่อให้คุ้มค่าเบี้ยประกัน แต่ก็อดเสียดายไม่ได้อยู่ดี
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตมากว่า 20 ปี ได้รวบรวมสาเหตุที่คนเลื่อนการซื้อประกันออกไปก่อน ยังไม่ซื้อตอนนี้ และมุมมองนำเสนอในด้านความเสี่ยง มา 5 ข้อ ให้ท่านลองพิจารณาดูค่ะ ว่าจะโอนย้ายความเสี่ยง หรือ รับความเสี่ยงไว้เอง
🚫เหตุที่เกิดกับคนอื่น คงไม่เกิดกับเรา ยังรู้สึกว่าไกลตัวอยู่
📚มุมมองนำเสนอ
มาลองดูค่าสถิติอัตราการเกิดโรคร้ายแรงของคนไทย ว่ามีโอกาสเกิดเท่าไหร่ และค่ารักษาพยาบาลที่ต้องใช้มากน้อยแค่ไหน
ค่าเฉลี่ย คนไทย 17 คน มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรง 1 คน คิดเป็น 5.9% ของประชากร
คนส่วนใหญ่จะคิดว่า พวกเขาคือ 16 คนที่ไม่เป็นโรคร้ายแรงค่ะ มีแค่บางคนเท่านั้นที่คิดว่าตัวเองอาจจะเป็น 1 ใน 17 คน ที่อาจป่วยเป็นโรคร้ายแรง และซื้อประกันคุ้มครองไว้
5 อันดับแรกของผู้ป่วยโรคร้ายแรงในประเทศไทย ได้แก่
1.ไตวาย หรือ ไตวายเรื้อรัง
2.มะเร็ง (รวมมะเร็งผิวหนัง)
3.โรคปอดระยะสุดท้าย
4.การผ่าตัดลิ้นหัวใจโดยวิธีการเปิดหัวใจ
5.โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน
ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการรักษา โรคร้ายแรงระดับต้น
📍มะเร็งเต้านมระยะไม่ลุกลาม 90,000 - 130,000 บาท
📍การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ 80,000 บาท
📍ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 1 ข้าง 137,000 บาท
📍การผ่าตัดเลือดคั่งใต้เยื่อหุ้มสมอง 240,000 บาท
📍การผ่าตัดไตออก 1 ข้าง 240,000 - 420,000 บาท
ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการรักษา โรคร้ายแรงระดับรุนแรง
• การฉายรังสีและเคมีบำบัด 200,000 - 1,000,000 บาท
• ผ่าตัดสมองแบบเปิดกะโหลก 200,000 - 600,000 บาท
• ผ่าตัดเปลี่ยนปอด 70,000 - 700,000 บาท
• การผ่าตัดท่อเลือดหัวใจ 200,000 - 700,000 บาท
• ปลูกถ่ายอวัยวะไต 500,000 - 1,200,000 บาท
**ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560**
หากการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เงินที่เรามีหรือสวัสดิการที่เรามีเพียงพอกับการรับความเสี่ยงนี้ไว้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อประกัน แต่หากเราหรือคนในครอบครัวเกิดเป็นผู้โชคดี เหมือนถูกรางวัลจากการสุ่มของค่าสถิตินี้ เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงขึ้นมา เราจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ไหวหรือไม่
🚫รู้ว่าประกันก็สำคัญนะ แต่รออายุเยอะกว่านี้ มีความเสี่ยงมากกว่านี้ ค่อยซื้อ อยากใช้เงินทำอย่างอื่นก่อน
ในช่วงเริ่มต้นของการหารายได้ First Jobber ก็จะมีเป้าหมายทางการเงินที่อยากทำมากมาย ทั้งซื้อสินทรัพย์ บ้าน รถยนต์ ทำธุรกิจ ลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว ใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยไปตาม lifestyle ของตัวเอง รวมถึงคิดว่ายังอยู่ในวัยที่ร่างกายแข็งแรง จึงยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพมากนัก บางคนยังไม่ใช่คนหารายได้หลักของครอบครัว จึงยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของทุนประกันชีวิตเท่าไหร่
📚มุมมองนำเสนอ
ความเจ็บป่วยไม่ได้เลือกอายุอย่างที่หลายคนคิด ลองเดินเข้าไปดูที่โรงพยาบาล ก็จะพบว่าคนที่เข้ามารับการรักษามีทุกช่วงอายุ ยิ่งภาวะมลพิษ พฤติกรรมการบริโภค และความเครียดในปัจจุบัน ทำให้คนอายุน้อยมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้ง่ายขึ้น เมื่อเริ่มมีโรคประจำตัว ก็จะสมัครทำประกันเพื่อรับความคุ้มครองเต็มรูปแบบได้ยากขึ้น
คนทุกคนเติบโตมาด้วยต้นทุนที่มีคนดูแลเลี้ยงดูมา มีมูลค่าความสามารถแฝงอยู่ในตัว หากเด็กคนนี้สามารถทำงานสร้างรายได้จนถึงวัยเกษียณ อาจจะสามารถสร้างเงินได้ถึง 10 ล้านบาทเลยทีเดียว ใครบ้างที่ต้องพึ่งพารายได้จากเขา หากเขาต้องจากไปก่อนวัยอันควร รายได้ที่คาดหวังนั้นก็หายไปตามตัวของเขาด้วย และคนเราไม่ได้มีเหตุจากไปจากการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว อาจจะมีอุบัติเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็มีโอกาสเช่นกัน
🚫มีประกันสุขภาพจากที่ทำงานอย่างเพียงพอแล้ว เอาไว้ลาออกจากงานประจำค่อยซื้อประกันสุขภาพ
📚มุมมองนำเสนอ
สวัสดิการจากที่ทำงาน เป็นสวัสดิการติดโต๊ะ มีความคุ้มครองก็ต่อเมื่อเรายังมีสถานะเป็นพนักงานในองค์กรอยู่ ในโลกของการทำงาน การแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน มีความไม่แน่นอนของการตกงานได้อยู่เสมอ จากโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วในทุกวันนี้ บางทีเราอาจจะไม่ได้ลาออกจากงานประจำตามที่คาดการณ์ไว้ก็ได้ และสุขภาพของเรา อาจจะไม่ได้ดีสมบูรณ์จนสามารถสมัครทำประกันได้ ตามเวลาที่เราวางแผนไว้ก็เป็นได้
การทำกรมธรรม์ประกันสุขภาพไว้เป็นสวัสดิการติดตัว แบ่งความเสี่ยงเอาไว้บ้าง เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
🚫เก็บเงินไว้เอง แล้วเอาเงินไปลงทุนให้งอกเงย ตั้งกองทุนประกันด้วยตัวเอง
📚มุมมองนำเสนอ
หากคิดแบบนี้คือ เราจะรับผิดชอบค่ารักษาเองทั้งหมด เป็นการพนันกับโชคชะตา ถ้าเรามีเวลามากพอ เหตุเกิดช้าออกไป เรามีเวลาสะสมเงิน มีเวลาลงทุนให้เงินงอกเงย เราก็ชนะ แต่ถ้าเหตุเกิดวันพรุ่งนี้ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสสร้างเงิน เราจะทำอย่างไร
หากคิดว่าเราจะรับความเสี่ยงนี้ไว้เอง เราต้องมีวินัยในการจัดสรรเงินออมเข้ากองทุนที่เราเตรียมไว้ เผื่อเป็นค่ารักษาตัว ให้สม่ำเสมอเหมือนการชำระเบี้ยประกันทุกๆงวดอย่างต่อเนื่องด้วย
🚫กลัวเคลมไม่ได้ ยุ่งยาก
📚มุมมองนำเสนอ
สาเหตุของการเคลมไม่ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากการแถลงข้อมูลของผู้เอาประกันในใบสมัครมีการปกปิดสาระสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้บางทีผู้เอาประกันไม่ทราบว่าตัวเองปกปิด เพราะไม่ได้กรอกใบคำขอเอง และเมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์ก็ไม่ได้ตรวจสอบถ้อยแถลงที่แนบอยู่ในกรมธรรม์ว่าตรงกับที่ตนเองแจ้งไปกับตัวแทนไหม
ถ้าหากเข้าใจในเรื่องของระยะเวลารอคอย และการแถลงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเคลม
ความรู้เรื่องระยะเวลารอคอยและการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องเราสามารถสอบถามตัวแทนให้เขาชี้แจง หรือ อ่านรายละเอียดในกรมธรรม์เพื่อทำความเข้าใจได้ และในปัจจุบันการติดต่อเคลมหลายบริษัทเปิดช่องทางการติดต่อโดยตรง ง่าย สะดวก มีเจ้าหน้าที่อธิบายได้อย่างชัดเจน
การทำประกันมีประโยชน์มากมาย หากมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่าให้การเข้าใจผิด หรือ ความรู้สึกว่ายุ่งยาก ทำให้เราเสียโอกาสในการใช้เครื่องมือทางการเงินนี้ในการช่วยโอนย้ายความเสี่ยงเลย
🌟บทสรุป – ไม่อาจมีใครบอกได้อยากแม่นยำว่า ควรทำประกันเวลาไหนถึงคุ้มค่าที่สุด เพราะความแน่นอนของชีวิต คือ ความไม่แน่นอนของโรคภัย ไข้เจ็บ คนเรารู้วันเกิด แต่ไม่มีใครรู้วันตาย หากแต่การโอนย้ายความเสี่ยง ต้องเตรียมไว้อย่างเหมาะสม กับการประเมินความเสี่ยงของตัวเราเอง
 
📍ความเสี่ยงน้อย โอกาสเกิดน้อย คนคงมองข้ามไป รับความเสี่ยงไว้เองได้
📍ความเสี่ยงมาก โอกาสเกิดมาก เห็นเด่นชัด เช่น ประกันรถยนต์ คนก็ซื้อแบบตัดสินใจไม่ยาก
📍ความเสี่ยงน้อย โอกาสเกิดมาก เช่น มีดบาด เป็นหวัด เราอาจรับไว้เองได้ ค่ารักษาไม่แพง
📍ความเสี่ยงมาก ถึงแม้โอกาสเกิดน้อย เช่น โรคร้ายแรง หากเกิดแล้วกระทบฐานะการเงินของคนทั้งครอบครัว ควรมีการโอนย้ายความเสี่ยง แต่เพราะคิดว่าไม่เกิด โอกาสเกิดน้อย บางคนจึงผัดไปก่อน ไปจนถึงไม่สนใจจัดการเลย เพราะไม่เห็นความสำคัญ
🧚‍♀️ลองตรวจสอบดูนะคะว่า หากมันเกิดขึ้นจริงๆ เรามีแผนรับมืออย่างไร ต้องขายทรัพย์สิน หรือ กระทบกับอนาคตการศึกษาของลูกไหม ถ้าจะแบ่งโอนย้ายความเสี่ยงไว้บ้าง ต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ บางทีอาจจะไม่ได้ใช้เงินมาก หรือ เบี้ยแพงอย่างที่เรากลัว ลองปรึกษาตัวแทนมืออาชีพใกล้ตัวของท่าน
ไม่รู้ ไม่จัดการ ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้แล้ว ยังไม่จัดการ อาจจะมาเสียใจภายหลังได้ค่ะ
เสริฟความรู้ทางการเงินให้คุณในทุกวัน
โฆษณา