6 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
"สิงคโปร์" จากเกาะเล็กๆ ที่ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สู่ศูนย์กลางการค้าและการเงินของโลก
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์ สู่จุดกำเนิดของการเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของโลก
การจะเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของสิงคโปร์ได้ ก็ต้องมองย้อนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจจุดเริ่มต้นของประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้เสียก่อน
ประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์สามารถย้อนกลับไปได้ถึงราวศตวรรษที่ 14 เมื่ออาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณของพื้นที่คาบสมุทรมลายูเสื่อมอำนาจลง ถึงจุดล่มสลาย และถูกแทนที่โดยอำนาจใหม่อย่างอาณาจักรมัชปาหิต ทำให้เชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรศรีวิชัยหนีอำนาจใหม่และไปตั้งอาณาจักรของตัวเองขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเจ้าชาย Sang Nila Utama แห่งศรีวิชัยที่ได้ไปตั้งอาณาจักรสิงคปุระ (Kingdom of Singapura) หรือที่รู้จักกันว่า เทมาเซ็ค (Temasek)ซึ่งได้เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของก้าวแรกในการพัฒนามาเป็นเกาะสิงคโปร์ในปัจจุบัน
2
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ทำให้อาณาจักรสิงคปุระก้าวจากการเป็นเพียงแค่เกาะด่านการค้าจุดหนึ่งในอาณาจักรศรีวิชัยมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญที่ควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างจีน อินเดีย และอาหรับจนได้
อาณาจักรสิงคปุระ (Kingdom of Singapura) หรือ เทมาเซ็ค (Temasek)
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรสิงคปุระก็ไม่ได้อยู่ได้ยืนยาวนัก เนื่องจากเผชิญภัยรุกรานจากต่างชาติพอสมควร จากอาณาจักรมัชปาหิตที่อิทธิพลแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน จนท้ายที่สุด ก็ถูกกำลังทหารของอาณาจักรมัชปาหิตตีแตกจนผู้ปกครองนครต้องหนีไปตั้งอาณาจักรใหม่ในทางเหนือที่ชื่อว่ารัฐสุลต่านแห่งมะละกา (Sultanate of Malacca)
และด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างดี สามารถควบคุมเส้นทางการค้าได้ ก็ทำให้รัฐสุลต่านแห่งมะละกามีความมั่งคั่งและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนก้าวขึ้นไปเป็นอำนาจใหญ่ที่ควบคุมดินแดนคาบสมุทรมลายูได้ทั้งหมด (รวมถึงเกาะสิงคโปร์ด้วย)
แต่ทว่ารัฐสุลต่านแห่งมะละกาก็เฟื่องฟูอยู่ได้ไม่นานนัก เมื่อต่อมา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกสได้เข้ามายึดกรุงมะละกาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าให้กับชาติตัวเอง เป็นผลให้รัฐสุลต่านแห่งมะละกาถึงจุดจบลง และเกิดเป็นรัฐสุลต่านแยกย่อยออกมามากมาย ซึ่งเกาะเทมาเซ็คก็ได้ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐสุลต่านที่แข็งแกร่งที่สุดในขณะนั้นซึ่งก็คือรัฐสุลต่านแห่งยะโฮร์
ภายหลัง โปรตุเกสก็ถูกกองกำลังทางทหารของดัชต์ร่วมกับรัฐสุลต่านข้างเคียงอย่างยะโฮร์ขับไล่ จนทำให้ดัชต์เข้ามาควบคุมรัฐสุลต่านแห่งมะละกาไว้ได้
📌 จากเกาะเล็กๆ สู่เมืองท่าการค้าสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษ
จนกระทั่งในปี 1819 ที่ Sir Stamford Raffles ได้เดินทางเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาที่ตั้งด่านการค้าให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็ได้พบเกาะสิงคโปร์จึงได้ทำการซื้อเกาะสิงคโปร์จากสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ เพื่อตั้งอาณานิคมอังกฤษขึ้น ซึ่งเป็นการขัดคำสั่งจากบริษัทแม่ที่อังกฤษ และทำให้พวกดัชต์ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐยะโฮร์อยู่ไม่พอใจอย่างมาก
Sir Stamford Raffles
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทแม่ของ British East India ก็ไม่ได้มีการลงโทษหรือสั่งให้ยกเลิกการกระทำแต่อย่างใด โดยปัญหาดังกล่าวระหว่างอังกฤษกับดัชต์ถูกเคลียร์กันอย่างลงตัวในปี 1824 ที่มีการแบ่งเขตดินแดนอาณานิคมกันอย่างชัดเจน โดยดัชต์ได้ควบคุมพื้นที่บริเวณหมู่เกาะชวา หรืออินโดนีเซีย ในปัจจุบัน และในส่วนของอังกฤษนั้น ควบคุมพื้นที่มะละกา ปีนัง และเกาะสิงคโปร์ โดยเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Strait Settlements
โดยภายหลังจากที่เกาะสิงคโปร์ได้ตกไปอยู่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากคนมองเห็นศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ โดยในช่วงแรกนั้น สัดส่วนของผู้อพยพเป็นชาวมาเลย์เป็นหลัก แต่ภายหลัง ก็กลายเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ที่ได้กลายเป็นผู้อพยพหลัก จนตั้งรกรากและกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ไปโดยปริยาย
Strait Settlements
ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่มีการตั้งอาณานิคมนั้น เกาะสิงคโปร์เองไม่ได้เจริญรุ่งเรืองมากนัก เนื่องจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้สูญเสียสิทธิ์ผูกขาดทางการค้ากับจีน อีกทั้ง ก็ยังโดนแรงกดดันจากเมืองท่าอาณานิคมอีกแห่งของอังกฤษอีกด้วย ซึ่งก็คือฮ่องกง จึงทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศได้เต็มที่
แต่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1860 เมื่อคลองซูเอส ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนและทะเลอาหรับก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้งาน
ทำให้เกาะสิงคโปร์ถูกหันมาให้ความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีอย่างยิ่ง ควบคุมช่องแคบ เส้นทางการค้าสำคัญของโลกได้ ทำให้อังกฤษก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ท่าเรือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการสินค้าจากภูมิภาคเอเชียอย่างมาก เช่น ดีบุก ยาง ที่ผลิตในมาเลเซีย
บทบาทของสิงคโปร์ในฐานะเมืองท่าสำคัญได้เป็นส่วนสำคัญที่เป็นจุดกำเนิดของบรรดาธนาคารต่างๆ ขึ้นเพื่อมาสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ เช่น การทำ Trade Finance เป็นต้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกในทุกวันนี้
การปกครองของอังกฤษก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกเข้ามายึดครอง เนื่องจากต้องการทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคดังกล่าว ไปสนับสนุนแผนการทางทหารของตัวเอง
แม้ท้ายที่สุดแล้ว การยึดครองของญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงเมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในปี 1945 แต่การยึดครองของญี่ปุ่นก็ได้ทำให้ชาวอาณานิคมใน Strait Settlements ของอังกฤษมีสำนึกรักชาติ (Nationalism) ส่งผลให้นำไปสู่ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพในช่วงหลังสงครามโลก
โดยในปี 1946 อังกฤษได้ยกเลิก Strait Settlements ไป และจัดตั้งให้บรรดาอาณานิคมของตัวเองอย่างเช่น มะละกา ปีนัง และสิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งของ Crown Colony ของอังกฤษ โดยสิงคโปร์เองก็ได้รับสิทธิในการปกครองกิจการภายในของตัวเอง (Self-governance) อย่างสมบูรณ์จากอังกฤษในปี 1959 โดยมีลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก
📌 สิ้นสุดการปกครองของอังกฤษ แต่เส้นทางหลังได้อิสรภาพก็ใช่ว่าจะราบรื่น
ทั้งนี้ Crown Colony ของอังกฤษในคาบสมุทรมลายูก็ไม่ได้อยู่ยืนยาวนัก เพราะเกิดกระแสรักชาติในหมู่ชาวอาณานิคม และชาวอาณานิคมเหล่านี้ยังหมดศรัทธาในความสามารถของอังกฤษในการปกป้องคุ้มครองตัวเอง ส่งผลให้นำไปสู่กระแสการเรียกร้องอิสรภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ในเกาะอังกฤษเอง ก็เผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นกัน ทำให้รัฐบาลอังกฤษก็หมดความสนใจเกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล
จนกระทั่งในปี 1963 สิงคโปร์ก็ได้ประกาศเอกราชร่วมกันกับสหพันธรัฐมลายู บอร์เนียเหนือ และซาราวัก ก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียขึ้น
แต่ทว่า เส้นทางหลังจากนั้นก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะการเมือง การปกครอง และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างสิงคโปร์และรัฐอื่นๆ ในมาเลเซียก็ทำให้รวมประเทศกันไม่สำเร็จ จนสุดท้าย สิงคโปร์ก็ถูกขับออกไปจากมาเลเซียในปี 1965 ซึ่งเป็นเพียงสองปีให้หลังเท่านั้น
1
หลังจากแยกประเทศมา ลี กวน ยู ก็เผชิญโจทย์ที่ยากอย่างมาก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ และไม่มีอุตสาหกรรมใด อีกทั้งยังต้องพึ่งพาอาหาร พลังงาน และน้ำสะอาดจากนอกประเทศอยู่มาก
1
ลี กวน ยู
ลี กวน ยู ได้ทำการตัดสินใจที่สำคัญอย่างมากโดยการดำเนินนโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมการส่งออก (Export-led industrialization)
ซึ่งขัดกับกระแสของโลกในขณะนั้นซึ่งยึดมั่นในแนวทางการตั้งอัตราภาษีนำเข้าสูงๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ (Import-substitution Industrialization) รวมทั้งยังตั้งเป้าในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามา เพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์
📌 การตัดสินใจที่เด็ดขาดของลี กวน ยู นำพาประเทศเข้าสู่เส้นทางที่ใช่
ด้วยเหตุนี้ การจะทำเช่นนั้นได้ ลี กวน ยู ก็มองว่าสิงคโปร์เองก็จะต้องเป็นที่ที่น่าลงทุนสำหรับชาวต่างชาติ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การลงทุน ตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การจัดสรรการศึกษาที่มีคุณภาพให้ประชากรชาวสิงคโปร์ ไปจนถึงการกำหนดอัตราภาษีให้อยู่ระดับต่ำ และปลอดภัยจากอาชญากรรมต่างๆ
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการนำพาสิงคโปร์เข้าสู่การปกครองที่ค่อนข้างไปในทางเผด็จการ มีบทลงโทษที่เด็ดขาดและรุนแรงกับคนที่ทำผิดกฎหมาย มีการเอาจริงเอาจังกับผู้ค้ายาเสพติดและคอรัปชันจนทำให้สิงคโปร์ถูกมองว่าเป็น Corruption-free country
ทั้งหมดนี้ ประกอบกับการที่สิงคโปร์ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เป็นทางผ่านของเส้นทางการค้าโลก ทำให้สิงคโปร์สามารถเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว
โดยในช่วงแรก สิงคโปร์มุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูกในการผลิต อย่างเช่น ไม้ขีดไฟ เบ็ดตกปลา ยากันยุง และพวกอุตสาหกรรมสิ่งทอ
แต่เมื่อคุณภาพของแรงงานสิงคโปร์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สิงคโปร์ก็ได้เปลี่ยนผ่านตัวเอง ขยับขึ้นไปเป็นการผลิตสินค้าที่มูลค่าสูงขึ้นบนห่วงโซ่อุปทาน ที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง โดยเริ่มต้นจากฮาร์ดดิสก์ และก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่ซับซ้อน มูลค่าสูงยิ่งขึ้น อย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ชิป ตลอดจนถึง ยานอวกาศ และเทคโนโลยีชีวภาพ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันใหญ่ติด 5 อันดับแรกของภูมิภาคอีกด้วย โดยคิดเป็น 1.5% ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งโลกในปี 2018 อีกด้วย
2
นอกจากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ลี กวน ยู ก็ได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาภาคธุรกิจการเงินของสิงคโปร์ก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก และด้วย ภายใต้คำแนะนำของ Dr Albert Winsemius ที่ปรึกษาจากสหประชาชาติ ก็ช่วยสานต่อให้ธุรกิจการเงินของสิงคโปร์เติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกได้จริง
📌 ชัยภูมิที่ดีและนโยบายที่ใช่นำพาสิงคโปร์ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก
Dr Winsemius ได้ให้คำแนะนำว่าสิงคโปร์อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ดีมาก ทั้งในทางการค้าและทางการเงิน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์เอง ทำให้สิงคโปร์อยู่ใน Time Zone ที่เหมาะสมอย่างมาก ที่จะสามารถเข้ามาเติมช่องว่างของตลาดการเงินโลกในขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ตลาดสหรัฐฯ ปิดลง และตลาดยุโรปยังไม่ทันได้เปิดพอดี
Dr. Albert Winsemius นักเศรษฐศาสตร์ชาวดัตซ์ ที่ปรึกษาจากสหประชาชาติ
คำแนะนำดังกล่าวนำไปสู่การก่อตั้ง Asian Dollar Market (ADM) ขึ้นในปี 1968 และต่อมาในปี 1971 เมื่อสหรัฐฯ ได้ยกเลิกการผูกค่าเงินตัวเองไว้กับทองคำก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างมากที่ทำให้สิงคโปร์หยิบฉวยโอกาสดังกล่าวจนก้าวมาเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเงินตราของภูมิภาคได้
หลังจากนั้น สิงคโปร์ก็ยังคงให้การสนับสนุนภาคธุรกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักสำคัญในกลุ่มการเงิน และการจัดตั้งสถาบันต่างๆ อย่างเช่น Monetary Authority of Singapore ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลให้การเติบโตของธุรกิจการเงินเป็นไปอย่างมีระบบ
นโยบายภาครัฐที่ใช่ ได้นำพาให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเงินสำคัญของโลกได้สำเร็จ และทุกวันนี้ สิงคโปร์ก็ยังพร้อมที่จะ Disrupt ตัวเองอยู่เสมอ โดยล่าสุด ทางรัฐบาลก็ยังตั้งเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็น Smart Financial Center โดยการออกใบอนุญาตสำหรับ Digital Banking สนับสนุนการพัฒนา FinTech และเปิดโอกาสในการพิจารณาการใช้สกุลเงินคริปโต (แม้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศก็ตาม) เพื่อพร้อมรองรับ Digital Economy ที่กำลังเกิดขึ้นอีกด้วย
โดยสรุป สิงคโปร์ได้ก้าวจากประเทศเกาะเล็ก ที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติใดๆ มาเป็นหนึ่งในเสือสี่ตัวของเอเชีย และศูนย์กลางการค้าการเงินของโลกได้ โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างเช่นการมีชัยภูมิที่ดี อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก นโยบายรัฐและระบอบการปกครองที่ใช่ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจตัวเอง นำพาประเทศก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรือง และทำให้ประชาชนของตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ในทุกวันนี้ สิงคโปร์เองก็ยังคงพัฒนา ปรับปรุงให้ตัวเองพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอยู่เสมอ อย่างเช่น ทางรัฐบาลก็ยังคงพยายามปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้ประเทศตัวเองเป็นที่น่าลงทุน ที่น่าทำธุรกิจเสมอมา จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกอบธุรกิจได้สะดวกที่สุดในโลก พร้อมกันนั้นก็พยายามสร้างโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรของตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างแท้จริง
#ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ #เศรษฐกิจสิงคโปร์ #สิงคโปร์
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา