6 พ.ย. 2021 เวลา 15:50 • หนังสือ
#สรุปหนังสือ 𝗧𝗵𝗲 𝗣𝗼𝘄𝗲𝗿 𝗼𝗳 𝗠𝗲𝗮𝗻𝗶𝗻𝗴 : อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย
9
1. อ่านเล่มนี้จบผมรู้สึกอยู่อย่างเดียว คือ “ขอบคุณ” ขอบคุณที่หยิบเล่มนี้มาอ่าน ขอบคุณที่สำนักพิมพ์ ผู้เขียน ผู้แปล ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้จนมาถึงตัวเรา เป็นอีกเล่มที่ถ้ามีโอกาสจะแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน (ต้องอ่าน) เล่มนี้ผมไม่สามารถให้คะแนนได้เพราะมันเกินกว่านั้นไปมาก ทั้งความสุขความละมุนขณะอ่าน และความหมายของชีวิตที่เราจะค้นพบได้หลังอ่านจบ
5
การใช้เวลาทุกวินาทีไปกับเล่มนี้ช่างคุ้มค่าจริงๆครับ ไม่รู้จะสาธยายยังไงว่าชอบมาก ฮ่าๆ รู้สึกโชคดีที่ได้อ่านและอยากให้ทุกคนโชคดีเช่นกันครับ ❤️
3
2. พอยท์ของเล่มนี้ ตั้งคำถามง่ายๆว่า #คนเรามีชีวิตอยู่เพื่อมีความสุขและหลีกหนีความทุกข์ เพียงเท่านี้ใช่ไหม ? แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมเราถึงยังเห็นบางคนที่ยอมทำบางสิ่งที่ยากลำบาก ถ้าการเลี้ยงดูบุตรนั้นที่เหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น เหตุใดผู้หญิงบางคนถึงอยากมีลูกคนที่สองที่สาม ? ถ้าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นทำให้ภาระมากขึ้นทำไมยังมีคนมากมายอุทิศตนเพื่อผู้อื่น ? ถ้าการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดต้องยอมสละทั้งกาย ใจและเวลาส่วนตัว ? เหตุใดเราต้องเหนื่อยที่จะทำ ???
12
นั่นเป็นสมมติฐานของหนังสือเล่มนี้ที่คิดว่า เราไม่ได้เกิดมาต้องการมีความสุขเพียงอย่างเดียวหรอก “#แต่เราเกิดมาเพื่อค้นหาความหมายของการมีชีวิตด้วยต่างห่าง” !!!
2
3. แน่นอนว่าทุกคนเคยสัมผัส ความรู้สึกของคำว่า “ความหมาย” ส่วนตัวผมว่าคำนี้มีความซ้อนเหลื่อมกับความสุขอยู่ อาจไม่เหมือนกันเป๊ะ ความหมายอาจเป็นความสุขประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นช้าๆ แต่เติบโตและสะสมอยู่ในฐานของจิตใจเราได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
4
ยกตัวอย่าง ผมว่าความภาคภูมิใจเป็นส่วนหนึ่งของ “ความหมาย” มันอาจไม่ใช่ความสุขหวือหวา แต่เราสัมผัสได้ว่ามันหล่อเลี้ยงเรา
3
ตรงกันข้ามกับความสุขโดยทั่วไป เช่น การได้ดูหนัง ฟังเพลง กินอาหารอร่อย หรือการดีใจที่สมหวังกับเรื่องต่างๆ ความสุขประเภทนี้ เกิดขึ้นเร็ว และก็ดับลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
4. ปัจจุบันโลกวิ่งหมุนไปอย่างรวดเร็ว โลกเต็มไปด้วยผลผลิตจากวัฒนธรรมแห่งการแข่งขัน มีแต่คนเก่ง productive เราเอาแต่มองหาว่าจะเก่งกว่าคนอื่นได้อย่างไร แต่ไม่เคยเอะใจถามเลยว่าจะผลักดันตัวเองไปเพื่ออะไร จุดหมายปลายทางเหล่านั้นให้ความหมายอะไรกับชีวิต เราจึงเป็นโลกที่วิ่งหาความสุขที่เติมเต็มไปวันๆ แต่ละเลย “ความหมาย” ซึ่งเป็นคีย์แมนที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม
2
5. “โรเบิร์ต โนซิค” นักปรัชญา กล่าวไว้ว่า “แม้สิ่งที่เยี่ยมที่สุดคือการได้เป็นโสเครติสที่สุขสบายใจ เพราะมีทั้งความสุขและความลุ่มลึก แต่เราก็จะยอมสละความสุขบางส่วน เพื่อให้ได้มากซึ่งความลุ่มลึกเช่นนั้น” ดังนั้นการได้มาซึ่งความหมายบางทีอาจจำต้องแลกด้วยความสุข
6
6. ถ้ามีแท็งก์แห่งความสุขอยู่ คุณสามารถเข้าไปอยู่แล้วมีความสุขตลอดเวลา ปิดตายจากการ ทุกข์ระทมหม่นหมอง คุณจะอยู่ในนั้นตลอดไปไหม ?
4
ถ้าคุณเลือกอยู่ในนั้นหมายความว่า เรามีชีวิตเพื่อมีความสุขจริงๆ และความสุขคือจุดมุ่งหมายของชีวิต แต่ทว่าคนส่วนใหญ่ปฏิเสธการอยู่ในแท็งก์ นั่นอาจหมายความว่า ความสุขไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เพราะความสุขไม่ได้ตอบสนองความต้องการของการมีชีวิตทั้งหมด !
5
7. เราอาจมีความสุขเมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ที่ชอบ แต่อาจลำบากที่ต้องดูแลญาติที่ป่วย แต่เราคงเห็นด้วยที่ว่าการดูแลญาตินั้นสำคัญกว่าการอ่านหนังสือพิมพ์มาก นั่นเพราะการเลือกที่จะดูแลญาติพี่น้องแม้อาจสูญเสียความสุขไปบ้าง แต่มันมอบความหมายบางอย่างให้กับเรา
3
8. แม้ว่าชีวิตที่มี “ความสุข” และมี “ความหมาย” จะซ้อนเหลื่อมและหล่อเลี้ยงกันอยู่พอสมควร แต่ชีวิตทั้งสองแบบมีรากต่างกันมาก สิ่งหนึ่งที่พบได้คือ ชีวิตที่มีความหมายมีความสัมพันธ์กับความยากลำบากและความวิตกกังวลมากกว่าชีวิตที่มีความสุข
9. “ความหมาย” ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง รอบตัวเราเต็มไปด้วยแหล่งกำเนิดความหมาย เมื่อเราเชื่อมต่อกับแหล่งกำเนิดได้ เราก็สามารถสร้างความหมายที่มีค่าเฉพาะตัวขึ้นมาได้
10. “วิล ดูแรนต์” นักประวัติศาสตร์และปรัชญาให้แนวคิด “สุญนิยม” เกี่ยวกับชีวิตว่า
“ชีวิตนั้นไร้ซึ่งเป้าหมายหรือเหตุผลของการดำรงอยู่ เนื้อแท้ของชีวิตนั้นไร้ความหมายและแก่นสาร และไม่มีคุณค่าอะไรให้ยึดถือ เราเป็นเพียงการแพร่พันธุ์ชั่วคราวของแมลงมนุษย์บนโลก และเป็นผื่นคันบนผืนพิภพที่จะถูกรักษาให้หายในเวลาไม่นาน”
5
11. หนึ่งการศึกษาที่น่าสนใจพบว่า คนที่อยู่ในภูมิภาคที่ร่ำรวยกว่า เช่น สแกนดิเนเวีย คนกลุ่มนี้มีความสุขมากกว่า แต่เมื่อถามเรื่องความหมาย ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม ภูมิภาคที่ร่ำรวย เช่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง กลับให้คะแนนความหมายของชีวิตต่ำสุด ที่สำคัญประเทศที่ร่ำรวย พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าประเทศที่ยากจน !
2
12. การศึกษาของโออิชิและดีเนอร์เผยว่า ความสุขและความทุกข์ไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักถึงอัตราการฆ่าตัวตาย แต่หากเป็นความรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมายอยู่หรือไม่ต่างหาก !!
1
13. แม้เทคโนโลยีและความทันสมัยจะมอบความสุข สะดวกสบายให้กับเรา แต่มันริดรอนการสัมผัสความอิ่มเอมเบื้องลึก ความเข้าใจตนเอง และมันก็ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างที่โหว่กลวงของจิตวิญญาณเหล่านี้ได้
2
14. “ลีโอ ตอลสตอย” นักเขียนนวนิยายชาวรัสเซียชื่อดัง มีอาการซึมเศร้า จากการตกตะกอนบางอย่างในชีวิต เค้ามีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากเค้าคิดว่า
1
“โลกนี้มันช่างไร้สาระและไร้ความหมายสิ้นดี เค้าไม่พบประโยชน์จากการทุ่มเทลงแรงลงใจกับอะไร เพราะสุดท้ายก็จบลงด้วยความตาย สิ่งที่เราให้ความสำคัญ ทั้งหมดก็เป็นเพียงภาพฉากๆหนึ่งเท่านั้น อัตลักษณ์หรือคนรักสักวันก็ต้องดับสลาย”
3
พูดง่ายๆเค้ารับแนวคิดสุญนิยมเข้าไปในหัวเรียบร้อย
15. แต่ต่อมา ตอลสตอย ได้ถอนตัวออกจากแนวคิดเรื่องสุญนิยม เนื่องจากเค้าพบว่าคนธรรมดาเช่น ชาวนา ชาวไร่ทำไมถึงรู้สึกว่าชีวิตเค้ามีความหมาย เค้าพบว่าเคล็ดลับของชาวไร่ชาวนาก็คือ การมีความเชื่อเรื่องศาสนา เชื่อมั่นในพระเจ้าและคำสอนศาสนาคริสต์ แม้ตอลสตอยจะไม่ได้ปักใจเชื่อนักแต่เค้าก็พบคำตอบที่ตามหา
16. ตอลสตอยพบว่า ความหมายนั้นเกิดจาก “การศรัทธา” อาจเป็นสิ่งใดที่เราเชื่อมโยงหรือเชื่อมั่น เป็นการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าและไร้ขอบเขต ไม่ว่าศรัทธาของคุณจะเป็นแบบไหนและให้คำตอบอะไรกับเรา แต่มันจะมอบความหมายอันไม่สิ้นสุดแก่การดำรงอยู่
4
17. ส่วนตัว ผมคิดว่า เราคิดได้ทั้ง “สุญนิยม” และ “แบบศรัทธา” สุญนิยมที่กล่าวว่าโลกมนุษย์นั้นช่างไร้ความหมาย วันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็กลายเป็นฝุ่นธุลีก็คือความจริงด้านหนึ่ง ส่วนเราจะมีชีวิตกับศรัทธาก็เป็นการรับความจริงอีกด้านหนึ่งเข้ามา
แต่ไม่สำคัญว่าอันไหนถูกหรือผิด มันสำคัญว่าถ้าคิดแบบไหนแล้วทำให้เรารู้สึกอย่างไรมากกว่า ถ้าต้องการอยู่ในโลกอย่างมีความหวังการคิดแบบศรัทธาก็น่าจะเหมาะกว่า ในหนังสือ Awareness ตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างดีว่า แท้จริงแล้ว เรารับความคิดแบบไหนเข้ามา เราก็จะกลายเป็นแบบนั้น แต่การวิ่งเข้าไปในความคิด ล้วนไม่ใช่ความจริง (แต่เรามักทึกทักไปว่ามันคือความจริง)
5
18. ข้อจำกัดของการค้นหาความหมาย ในนิยามของตอลสตอยนั้นคือ เป็นไปได้ไหมที่จะมองหาความหมายของชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งที่ไร้ขอบเขต ? เป็นไปได้ไหมที่เราไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาแต่ยังค้นพบความหมายในชีวิตได้
19. คำตอบคือ ความหมายไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงความศรัทธาในศาสนา มันอยู่กับทุกสิ่งที่เราตรากตรำลงแรง ใส่ใจ ตั้งใจ เชื่อมโยง คาดหวัง ให้เวลาและจดจ่อกับมัน โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำมันด้วยความรักและทำเพื่อผู้อื่น 📌📌📌📌
7
20. “อัลแบรต์ กามูส์” นักเขียนนวนิยายและปัญญาชนชาวฝรั่งเศส มีความคิดต่างเรื่องสุญนิยม เค้าพบว่าจริงๆแล้ว แนวคิดเรื่องสุญนิยม ไม่ได้นำไปสู่ความสิ้นหวังในชีวิต มันเป็นเพียงความเข้าใจความจริงของชีวิตอย่างหนึ่ง แต่เราจะรู้สึกอย่างไร เราเป็นคนเลือกเองได้ภายหลัง
1
เพราะความหมายไม่ได้กำหนดจากภายนอกมันถูกกำหนดจากตัวเรา เราจึงรังสรรค์มันได้ เหมือนงานเขียนของ ซาร์ต ที่ว่า “ชีวิตมีความหมายตั้งแต่แรกเริ่ม มันขึ้นอยู่กับคุณที่จะเป็นผู้ให้ความหมายแก่มัน และคุณค่าก็ไม่ใช่อะไรนอกจากความหมายที่คุณเป็นคนเลือก” 📌📌
1
21. จริงอยู่ที่ชีวิตมนุษย์ไร้ความหมาย แต่ความหมายไม่ใช่ความจริง มันคือสิ่งที่เราเลือกที่จะให้ความหมายต่างหาก เราอาจรู้ว่าเราต้องดับสลาย แต่เราใส่ความหมายเข้าไปในการดำเนินชีวิตเราได้ เราสัมผัสคุณค่าของทุกวินาทีชีวิตได้ ในเล่มเล่าเรื่อง “เทพตำนานซิซิฟัส” เป็นตัวอย่างที่กินใจมากๆครับ (ตัวอย่างนี้จะเป็นภาพจำให้คุณไว้ใช้ได้ตลอดชีวิต !!)
3
22. ตอลสตอย อาจพบความหมายจากสิ่งที่ไร้ขอบเขต แต่กามูส์นั้นพบความหมายในสิ่งที่มีขอบเขต นั่นก็คือ “ความหมายอยู่ในการใช้ชีวิต” ในหน้าที่การงาน และมันอยู่รอบตัวคุณ อยู่ที่คุณจะเลือกมอบความหมายให้กับอะไร
23. ความหมายอยู่ในพันธกิจ อยู่ในสิ่งที่คุณอุทิศตัวเพื่อมัน อยู่ในการใส่ใจ อยู่ในการทุ่มเท อยู่ในเวลาที่คุณเสียไปเพื่อมัน อยู่ที่การคิดคำนึงไตร่ตรองถึงมัน สิ่งเหล่านี้สร้างพันธะแห่งความหมายขึ้นมา ในเล่มยกตัวอย่างเจ้าชายน้อย เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมาก (กุหลาบแสนสวยของใครๆก็ไม่มีความหมายเท่ากุหลาบที่เราปลูก ใส่ใจและให้เวลากับมัน)
1
24. “ดูแรนต์” กล่าวว่า ความหมายเกิดจากการข้ามพ้นตัวตน นั่นก็คือการมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ใหญ่กว่า เค้าเชื่อว่าเมื่อคุณเชื่อมโยงกับสิ่งนั้นหรือยังประโยชน์กับสิ่งนั้น ชีวิตคุณก็จะยิ่งมีความหมายมากขึ้น ในที่นี้คือ “การงาน และครอบครัว”
1
25. “การงาน” เป็นที่มาแห่งอัตลักษณ์ มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคม เมื่อตกงานเราจึงไม่ใช่แค่ขาดรายได้ แต่เราขาดความหมายของการมีชีวิตด้วย ดังนั้นการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นจึงเป็นก้าวแรกของการอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
26. จากการวิจัยของผู้เขียนพบว่า จุดกำเนิดความหมายนั้นมาจาก 4 แกนสำคัญ
1. ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น
2. การมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
3. การเล่าเรื่อง (การเข้าใจตัวเองและเลือกเรื่องราวที่มีความหมายให้กับมัน) และ
4. การข้ามพ้นตัวตน
3
27. #ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น ความรู้สึกว่าเราผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหรือกลุ่มใดนั้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนความหมายของชีวิตที่สำคัญที่สุด
28. จากงานวิจัยในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พบว่า เด็กที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้วิ่งเล่น ได้สัมผัสกับแม่ของเขาบ้าง ทำให้เด็กมีอัตราการรอดชีวิต เพิ่มมากกว่าเด็กที่ถูกแยกเดี่ยวเนื่องจากกลัวการติดเชื้อ
1
29. ผลสรุปงานวิจัยยืนยันความสำคัญของความรักที่เด็กควรได้รับ เค้าพบเด็กๆต้องได้รับสิ่งที่จำเป็นมากกว่าแค่อาหารและที่อยู่อาศัย นั่นก็คือความรักจากผู้คนหรือแม่ของเค้า เพื่อให้เค้ารู้สึกผูกพันและเป็นที่รัก เป็นคนที่เต็มคน เพราะถ้าไม่ได้รับตั้งแต่วัยนี้เด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิต
1
30. ในโลกดิจิตัล มีการสำรวจว่า ผู้คนกว่าร้อยละ 20 รู้สึกเปลี่ยวเหงา และพบว่าความเปลี่ยวเหงาเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต นอกจากความเหงาเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังพบว่าผู้คนรู้สึกว่าความหมายของการมีชีวิตลดลง (ผมเคยสรุปหนังสือ วิทยาศาสตร์ความเหงา เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก ใครสนใจย้อนกลับไปอ่านได้นะค้าบ)
31. ”เดอร์ไคม์” บิดาแห่งสังคมวิทยา เผยงานวิจัยเชิงประจักษ์ว่า แม้ว่าแนวคิดปัจเจกนิยมให้คำตอบพื้นฐานชีวิตที่ดี แต่มีข้อเสียคือ เค้าพบว่าแนวคิดเชิงปัจเจกผลักให้ผู้รู้สึกแปลกแยกจากสังคม เป็นอิสระจากข้อจำกัดทางสังคม และเป็นแนวคิดที่ทำให้มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้น !
32. การจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะงานวิจัยพบว่าตามธรรมชาติคนเรามักชอบพอคนที่เห็นหน้าค่าตากันเป็นประจำ และการที่ผู้คนมีประสบการณ์และค่านิยมบางอย่างร่วมกันนั้นทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากขึ้น นั่นเพราะว่า ความหมายก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับคำว่า “การรับใช้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
2
33. บางครั้งความสัมพันธ์เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก็เป็นบ่อเกิดของความหมายได้เช่นกัน นักจิตวิทยาเรียกมันว่า “ความสัมพันธ์คุณภาพสูง” เช่น ที่คนแปลกหน้าพูดคุยแสดงความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน การบริการลูกค้าด้วยความจริงใจ
2
34. เมื่อใครมอบน้ำใจบางอย่างให้เรา เราควรรับไว้เพื่อเปิดความสัมพันธ์คุณภาพสูงให้สานต่อไป เพราะชั่ววินาทีของการปฏิเสธอาจถอดความหมายออกจากความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ
35. สาเหตุที่ทำให้พนักงานรู้สึกต้อยต่ำมากที่สุดก็คือ เวลาที่พวกเขาถูกละเลยหรือถูกทำเหมือนไม่มีตัวตนอยู่ในโลก แต่ในทางกลับกัน ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจทำให้งานธรรมดาสามัญและน่าเบื่อดูมีค่าและคุ้มค่าที่ได้ทำจนสุดฝีมือ
36. #จุดหมาย จุดหมายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าเต็มไปด้วยความปรารถนาดีกับผู้อื่นนั้นก็เป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของความหมายแห่งชีวิตได้
3
ยกตัวอย่าง “แอชลีย์” ซึ่งเป็นคนที่รักสัตว์มาก เค้าทำงานเป็นคนทำความสะอาดสวนสัตว์ จุดหมายของเค้าคือ เค้าเพียงอยากให้สัตว์ที่เค้าดูแลมีความสุขในสภาพแวดล้อมของมัน ผ่านการทำให้ที่อยู่ของมันสะอาดและปลอดภัย ง่ายๆเพียงเท่านี้ก็ทำให้เรามีชีวิตที่มีความหมายได้แล้ว
1
37. “วิลเลียม ดามอน” นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า จุดหมายที่ดีมักมีความมั่นคงและมีผลกระทบกว้างขวาง ไม่ใช่แค่การอยากไป อยากกิน อยากทำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน จุดหมายคือ ตัวกำหนดทิศทางหลักของชีวิต มันจะขับเคลื่อนพฤติกรรมของเราให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญจุดหมายมักเกี่ยวข้องกับการทำประโยชน์ต่อผู้อื่น
1
38. “คอสส์” ชายคนหนึ่งที่ติดคุกในคดีค้ายาเสพติด แพทย์แจ้งว่าเค้าอาจเสียชีวิตในคุกเนื่องจากสุขภาพเค้าไม่ค่อยดี คอสส์พยายามเลือกทานอาหารที่ดีขึ้น คาร์ดิโอและลดน้ำหนักได้ถึง 70 ปอนด์
เมื่อเค้าพบว่าเค้าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เค้ามีจุดหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆที่อยู่ในคุกให้มีสุขภาพดีเช่นกัน เค้าช่วยเหลือเพื่อนๆในคุกให้ผ่านความทุกข์ยากได้มากมาย เมื่อวันที่ได้ออกจากคุก เค้าก็ออกมาเปิดสถานออกกำลังกายของตัวเองและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
เค้าใช้เพียงจุดแข็งที่เค้ามี คือสิ่งที่เค้าทำได้และทำได้ดี ช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ซึ่งเค้าเคยประสบมา นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่ชี้ว่าความหมายแฝงอยู่ในจุดหมายเล็กๆในตัวเราและมันเป็นสิ่งที่เราทำได้เสมอเพียงใช้ความถนัดที่เรามีเปิดทาง
1
39. คนที่ใช้จุดแข็งในการทำงานนั้นจะทำให้การงานของเค้ามีความหมายมากขึ้น เพราะนอกจากความสามารถของเค้าจะยกระดับผู้อื่นได้แล้ว เค้าจะยังมีความมั่นใจ ภูมิใจและรักตัวเองมากขึ้นด้วย 📌📌📌
40. “เฟรเดอริก บีคเนอร์” กล่าวว่า พันธกิจชีวิตของคุณ คือ “จุดที่ความปิติจากส่วนลึกของตัวตนคุณ มาบรรจบกับความโหยหาในขั้นลึกของโลก”
41. คนที่เข้าใจว่างานของตน ทำเพื่ออะไรและได้ช่วยเหลือสังคมอย่างไร จากงานวิจัยพบว่าเค้าจะทำงานอย่างมีจุดหมายมากขึ้น และพบว่างานที่ทำนั้นเป็นงานที่มีความหมาย
42. พอยท์นี้สำคัญมาก 📌 เค้าพบการเลี้ยงดูลูกนั้น แสนเหนื่อยยาก เลือดตาแทบกระเด็น ต้องอดตาหลับขับตานอน ทำงานเลี้ยงชีพและต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อม ดูแลอบรม
แต่เค้าพบว่า ที่การเลี้ยงดูลูกนั้นเป็นการกระทำที่มีความหมายนั่นก็เพราะว่า มันทำให้เราทำเพื่อผู้อื่น คิดถึงประโยชน์และความสุขของผู้อื่น ไม่ใช่คิดถึงแต่ความสุขสบายของตัวเอง และมันแฝงไปด้วยจุดหมายที่สูงส่งก็คือการอยากเห็นลูกของเราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบและใช้ชีวิตบนโลกได้อย่างสง่างาม 📌📌
2
43. #การเล่าเรื่อง เป็นอีกหนึ่งแกนที่สำคัญที่ช่วยสร้างความหมายให้กับชีวิตเรา เหตุผลที่การเล่าเรื่องนั้นทำให้เราสัมผัสความหมายของชีวิตได้มากขึ้นก็เพราะว่า
การเล่าเรื่องทำให้เราได้เรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างประณีต ในขณะที่เราไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติของปัญหา ช่วยคลี่คลายการตัดสินที่รวดเร็ว เราจะเข้าถึงมิติของเรื่องราวได้หลายด้าน จนทำให้เราลดความรู้สึกขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นได้
1
และอย่างที่สองคือเมื่อเรื่องราวคลี่คลายมาถึงจุดหนึ่ง เราสามารถมองเห็นคุณค่าของความยากลำบาก และคิดว่ามันคือบทเรียนบางอย่างที่เปรียบเสมือนของขวัญ และสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิตเดินต่อไป ยกตัวอย่างแนวทางจะคล้ายหนังสือ The Alchemist ซึ่งใครที่เคยอ่านน่าจะเข้าใจข้อนี้ดีครับ
แต่การเล่าเรื่องไม่ใช่เรื่องแต่งนวนิยาย เป็นมันเป็นการเลือกเรื่องราวของชีวิตของเราเองต้างหาก บางคนอาจล้มเหลว ถูกคดโกง ประสบเคราะห์กรรมที่น่าเวทนา แต่มันหล่อหลอมให้เค้าเป็นเค้าในตอนนี้ที่มีความสุขและเข้าใจโลกมากขึ้น
5
44. #การข้ามพ้นตัวตน แม้เราทุ่มทุนสร้างชีวิตมามากมาย แต่เวลาไม่กี่สิบปีของเราบนโลกนั้นน้อยมาก จนเทียบไม่ได้กับเวลาหลายพันล้านปีที่เอกภพดำรงอยู่ก่อนเรา ความรู้สึกว่าเราจิ๊บจ้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงนี้ กลับเติมเต็มให้เราอิ่มเอิบด้วยสำนึกรู้ถึงอำนาจและความหมายของตัวเราเอง
45. การข้ามพ้นตัวตนคือ ประสบการณ์ความรู้สึกว่าเราลอยเหนือขึ้นไปบนโลกปกติวิสัยและมองกลับลงมาเห็นภาพรวมความเป็นไปของโลกที่เราเห็นอยู่ทุกวัน มันทำให้เราเห็นสัจธรรมและรู้สึกตื้นตันในความจริงบางอย่าง เป็นความเข้าใจที่หยั่งลึกถึงความจริงที่ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยสติปัญญาที่เกิดจากการใช้เหตุผล
1
46. “เดวิด ยาเด็น” นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย กล่าวว่า การข้ามพ้นตัวตนนั้นทำให้ “ความรู้สึกตัวตนของเราหายไป” พร้อมกับความกังวลและความอยากใคร่ในเรื่องสัพเพเหระ การรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองนั้นทำให้เราลืมความวิตกกังวลในชีวิตประจำวันได้อย่างน่าอัศจรรย์
1
47. นอกจากการข้ามพ้นตัวตนแล้ว การเจริญสติก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้เราตระหนักได้ว่าเราสามารถแยกตัวเองออกจากความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์ได้ เหล่านี้ทำให้เราสามารถกำหนดชีวิตเราเองได้ และทำให้เราตระหนักอย่างลึกซึ้งว่าตัวตนหรืออัตตาเป็นเพียงภาพมายาในหัวเราเท่านั้น
1
48. สุดท้ายนี้ ขอย้ำความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ที่ผมคิดว่า เป็นหนังสือที่ค่อนข้างมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากมันให้คำตอบกับเราว่า
แท้จริงแล้ว ชีวิตที่มีความหมาย นั้นไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องประสบความสำเร็จอย่างที่ใครนิยาม ไม่ต้องทิ้งความเป็นตัวเอง เพียงเรามีความปรารถนาให้ผู้คนรอบข้างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดี ใช้สิ่งที่เราทำได้ และทำได้ดีเป็นเครื่องมือเปิดทาง และใช้ความตั้งใจ การสละเวลา เป็นเชื้อเพลิง สำหรับผมแค่นี้ก็ตอบคำถามที่ว่า “อะไรทำให้ชีวิตเรามีความหมาย ?” ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วครับ
3
//พะโล้
#เรื่องย่อของหนังสือเล่มเยี่ยม
โฆษณา