7 พ.ย. 2021 เวลา 23:59 • ประวัติศาสตร์
ประเทศกินีตั้งอยู่ทางแอฟริกาตะวันตก ติดกับประเทศเซเนกัลและประเทศมาลีทางตอนเหนือ ตอนใต้ติดกับประเทศไลบีเรีย และประเทศเซียร่าลีโอน ประเทศกินีจัดว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นผู้ผลิตแร่บอกไซด์ที่เป็นแร่ธาตุสำคัญในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม รายใหญ่ลำดับที่ 5 ของโลก นอกจากนี้ ก็ยังมีทองคำ เพชร และปิโตรเลียม ปริมาณมหาศาลในประเทศอีกด้วย แต่ประเทศกินีถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความเสี่ยงต่อการเป็นรัฐล้มเหลว เพราะปัญหาคอร์รัปชั่น และความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งเกิดจากระบอบการปกครองเป็นแบบเผด็จการมาโดยตลอดตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2501 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ล่าสุดก็เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีนี้เอง
เป็นถึงเจ้าชายแต่ต้องยอม เป็นทาสทั้งๆ ที่หนีได้สำเร็จแล้ว ผู้เขียน : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
เมื่อ 250 กว่าปีที่แล้ว ดินแดนตอนกลางประเทศกินีที่เป็นที่ราบสูงเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรฟูตา จาลู (Futa Jallon) เป็นรัฐมุสลิมมีกษัตริย์ปกครองชื่อ พระเจ้าอิบราฮิม โซริ (Ibrahim Sori) ผู้มีลูกชาย
คนโตชื่อ เจ้าชายอับดุล ราห์มาน (Abdul-Rahman) ที่เกิดเมื่อ พ.ศ.2305 (ตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ที่ได้รับการศึกษาชั้นต้นเป็นอย่างดีในเมืองทิมโบเมืองหลวงของรัฐฟูตา จาลู และได้ไปศึกษาต่อที่เมืองทิมบักทู เมืองหลวงของประเทศมาลีที่ถือว่าเป็นเมืองตักศิลาศูนย์กลางแห่งศิลปวิทยาการของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกทำให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานสามารถพูดอ่านเขียนภาษาอาหรับได้อย่างคล่องแคล่วและสามารถใช้ภาษาแอฟริกันอื่นๆ ได้ถึง 4 ภาษา นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นอิสลามมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูงที่สุดในโลก
เมื่อเจ้าชายอับดุล ราห์มานมีอายุได้ 26 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่มีกำลังพล 2,000 คน ในกองทัพของ พระเจ้าอิบราฮิม โซริ แต่ในการรบครั้งหนึ่ง กองทัพของเจ้าชายอับดุล ราห์มานถูกซุ่มโจมตีทำให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานถูกจับกุมตกเป็นเชลยศึก และถูกขายเป็นทาสให้แก่พ่อค้าทาสชาวอังกฤษ โดยพ่อค้าทาสชาวอังกฤษได้จับเจ้าชายอับดุล ราห์มานล่ามโซ่ลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปขายในตลาดค้าทาสในทวีปอเมริกาเหนือโดยให้แก่ชายชาวอเมริกันที่ชื่อ นายโทมัส ฟอสเตอร์ (Thomas Foster) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของไร่ในเมืองนัตเชซ์ ดินแดนมิสซิสซิปปี
เจ้าชายอับดุล ราห์มาน พยายามอธิบายว่าเขาเป็นใครให้กับ นายโทมัส ฟอสเตอร์ เพื่อให้ติดต่อเรียกค่าไถ่จากบิดาของเขา แต่นายโทมัส ฟอสเตอร์ไม่สนใจกลับจับเจ้าชายอับดุล ราห์มานโกนหัวอีก ซึ่งการไว้ผมยาวเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงของแอฟริกาแถมยังบังคับให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานทำงานหนักเยี่ยงทาสคนอื่นๆ ทำให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานได้หลบหนีออกจากไร่ของนายโทมัส ฟอสเตอร์ไปอาศัยอยู่ในป่าเขาร่วมเดือนหลุดรอดจากการไล่ล่าของพวกนักล่ารางวัลในการจับทาสที่หลบหนีไปได้ แต่ในที่สุดเจ้าชายอับดุล ราห์มานก็ตระหนักว่าเขาไม่มีทางที่จะหนีรอด
จากการเป็นทาสในอเมริกาได้และไม่มีทางที่จะกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนที่แอฟริกาได้อีกต่อไปเขาจึงตัดสินใจกลับไปยังไร่ของนายโทมัส ฟอสเตอร์ด้วยตนเอง และเจรจาให้นายโทมัส ฟอสเตอร์เปลี่ยนจากการปลูกใบยาสูบ ซึ่งราคาตกต่ำมากในขณะนั้นไปปลูกฝ้าย ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายได้ราคาดีในตลาดยุโรปและที่อาณาจักรฟูตา จาลูนั้นปลูกฝ้ายส่งขายยุโรปอยู่แล้วซึ่งนายโทมัส ฟอสเตอร์ตกลงที่จะทดลองโดยให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานเป็นผู้จัดการควบคุมในการปลูกและจำหน่ายฝ้ายทำให้นายโทมัส ฟอสเตอร์เป็นเจ้าของไร่ฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในมิสซิสซิปปีและมั่งมีเงินทองขึ้นมากมายเป็นผลให้เจ้าชายอับดุล ราห์มานได้เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมทาสในไร่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นจนได้แต่งงานกับทาสสาวอายุ 25 ปีเมื่อ พ.ศ.2337 (ตรงกับสมัย ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) จนมีบุตรชายหญิงด้วยกันถึง 9 คนในเวลา 38 ปี
จากการเป็นหัวหน้าทาสทำให้เขาได้รับสิทธิพิเศษสามารถปลูกพืชผักในที่ดินส่วนหนึ่งได้และสามารถนำพืชผักเหล่านั้นไปขายที่ตลาดในเมืองได้อีกด้วย และแล้วใน พ.ศ.2350 นายแพทย์ชาวไอริชชื่อ จอห์น ค็อกซ์ (John Cox) ได้พบเจ้าชายและจำเจ้าชายได้ เนื่องจากบิดาของเจ้าชายเคยช่วยชีวิตตอนที่เขาป่วยหนักขณะไปเยือนอาณาจักรฟูตา จาลู
เมื่อได้พูดคุยและทราบถึงชีวิตของเจ้าชาย หมอค็อกซ์ก็คิดจะทดแทนบุญคุณบิดาของเจ้าชาย จึงไปเจรจากับนายฟอสเตอร์ โดยเสนอเงิน 1,000 ดอลลาร์ (จัดว่ามากในยุคนั้น) เพื่อไถ่ตัวเจ้าชาย แต่นายฟอสเตอร์ปฏิเสธ เนื่องจากเจ้าชายเป็นกำลังสำคัญที่สุดสำหรับงานในไร่ฝ้ายของเขา
1
หมอค็อกซ์เสียชีวิตไปใน พ.ศ.2359 หากแต่ลูกชายของหมอค็อกซ์ก็ได้สานต่อเจตนารมณ์ของพ่อ ได้หาทางที่จะไถ่ตัวเจ้าชายด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวของเจ้าชายลงในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนกระทั่งใน พ.ศ.2369 เจ้าชายได้เขียนจดหมายถึงญาติที่แอฟริกา และนับเป็นโชคดี เนื่องจากจดหมายนั้นตกไปถึงสุลต่านแห่งโมร็อกโก และสุลต่านได้ติดต่อไปยัง ประธานาธิบดีจอห์น ควินซีย์ อดัมส์ (John Quincy Adams) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้ต่อต้านการมีทาส เพื่อขอให้ปล่อยเจ้าชายเป็นอิสระ
ในที่สุดเมื่อ พ.ศ.2371 นายฟอสเตอร์ต้องยอมให้เจ้าชายเป็นอิสระพร้อมรับเงินชดเชย เนื่องมาจาก
คำสั่งของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเจ้าชายเป็นอิสระก็ออกรณรงค์ปราศรัยขอบริจาคเงินจากผู้ต่อต้านการมีทาสทางภาคเหนือของสหรัฐอเมริกาจนได้เงินพอไปไถ่ตัวภริยาออกมาได้ หากแต่ลูกๆ ยังคงเป็นทาสอยู่กับนายฟอสเตอร์
ทั้งเจ้าชายกับภริยาได้ออกปราศรัยทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อหาเงินมาไถ่ลูกๆ ซึ่งเจ้าชายจึงได้เป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไป และได้เข้าพบกับประธานาธิบดีจอห์น ควินซีย์ อดัมส์อีกด้วย
แต่ภายหลังจากการรณรงค์หาเงินได้ 10 เดือน เจ้าชายอับดุล ราห์มานก็เก็บเงินได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จะไปไถ่ลูกๆ เท่านั้น ก็ถึงเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยมี นายแอนดรูว์ แจ๊กสัน เป็นผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีแข่งขันกับประธานาธิบดีจอห์น ควินซีย์ อดัมส์นั้นเป็นชาวใต้มีทาสอยู่เป็นจำนวนมากได้รณรงค์ให้ชาวอเมริกันฝ่ายใต้ต่อต้านการปราศรัยหาเงินเพื่อไถ่ตัวลูกๆ ของเจ้าชาย เพราะเป็นการโจมตีสถาบันทาสในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผยจนเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้เจ้าชายและภริยาต้องเดินทางไปยังประเทศไลบีเรีย ซึ่งสหรัฐอเมริกาจัดไว้ให้ทาสที่ได้รับอิสรภาพแล้วเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างกะทันหัน
การกลับไปยังแอฟริกาของเจ้าชายอับดุล ราห์มานได้รับการต้อนรับอย่างมโหฬารโดยกษัตริย์แห่งฟูตา จาลู ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าชายอับดุล ราห์มานได้ส่งกองคาราวานไปต้อนรับเจ้าชายอับดุล และภริยาถึงไลบีเรีย ตั้งแต่ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2372 เพียงสี่เดือนหลังจากที่เจ้าชายกลับมาถึงแอฟริกา เจ้าชายก็ป่วยหนัก และเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน โดยไม่ได้มีโอกาสพบหน้าลูกๆ ทั้ง 9 คน
ครับ ! เรื่องของเจ้าชายอับดุล ราห์มานนี้แสดงให้เห็นว่าทาสผิวดำจากทวีปแอฟริกาจำนวนกว่า 10 ล้านคนที่ถูกล่ามโซ่ลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วโอกาสที่จะได้รับอิสรภาพและกลับมาบ้านเดิมในทวีปแอฟริกาได้นั้นแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว
โฆษณา