9 พ.ย. 2021 เวลา 00:07 • ประวัติศาสตร์
นี่คือ เอกสารที่น่าจะ “สูญหาย” ไปนานแล้ว เป็นเอกสาร “ภายใน” ของกองทัพบกสหรัฐ
กระดาษเก่าๆ ปึกนี้ มีอายุราว 70 ปี..เปื่อย กรอบ แทบจะขยับไม่ได้ หนา 70 หน้า เปิดเผยข้อมูลเบื้องลึก…การทำภารกิจสำคัญ
2
ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารสารวัตร-ตำรวจตระเวนชายแดน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ตีแผ่เบื้องหลังแผนงาน “กระทรวงกลาโหมสหรัฐ” เสนอ ผลักดันให้กองทัพบกไทย ปรับปรุง ขีดความสามารถ “หน่วยทหารสารวัตร” ของกองทัพบกไทย เพื่อมีขีดความสามารถ “สนับสนุนหน่วยรบหลัก” และเพื่อรับมือกับสงครามการต่อสู้ ปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่กำลังโหมกระหน่ำ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1
นายทหารสหรัฐ พันตรี เลค (Maj Richard Lake) คือผู้รับผิดชอบการทำรายงานฉบับนี้ …เป็นการทำงานที่ไม่ราบรื่น…
70 ปีที่แล้ว…คณะทำงานของสหรัฐไม่ท้อถอย หาช่องทางการทำงานกับนายทหารที่ใกล้ชิดกับ ผบ.ทบ. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
1
พบว่า…การเข้าหานายทหารคนสนิท หรือ “คนโปรด” ของผู้ใหญ่ งานจะไหลลื่นกว่า
รายงานบนกระดาษอายุ 70 ปี…เอ่ยชื่อนายทหารไทย ใคร ทำอะไร อย่างไร บุคลิกภาพของแต่ละคนเป็นอย่างไร
ผู้เขียนเห็นว่า นี่เป็นการรายงาน-ทำงานแบบ “มืออาชีพ”
มีการวิเคราะห์ ตีความแทรกลงมาในเอกสารว่า…ในเวลานั้น นายทหารระดับสูงของไทยต่างมีความหวาดระแวงว่า… “ทหารสารวัตร” จะเป็นเครื่องมือของใคร จะไปสร้างอำนาจให้กับฝ่ายไหนในกองทัพ
ไม่มีใครไว้ใจใคร…สถานการณ์คุกรุ่นไปด้วยข่าวการรัฐประหาร
กรมฝ่ายเสนาธิการ ระวังตัว ที่จะแสดงความคิดเห็น …แม้กระทั่ง..นายทหารชั้นผู้ใหญ่แทบไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น
ขอย้ำว่า…นี่เป็นการแปล ถอดความ จากการบันทึกของทีมงานสหรัฐ ที่เข้ามาทำงานร่วมกับ JUSMAGTHAI (Joint United States Military Advisory Group THAI) หรือคณะที่ปรึกษาทางทหารสหรัฐในประเทศไทย และกองทัพบกไทย
2
อาจารย์พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) ชาวอเมริกัน ปัจจุบันสอนวิชารัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของเอกสารฉบับนี้
13
อ.พอลบอกกับผู้เขียนว่า…เอกสารนี้ไปปรากฏ “ขาย” ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ที่รวบรวมเอกสารเก่า ภาพเก่า จากทั่วโลก
อ.พอลที่ติดตาม สนใจประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในอดีตได้พบเอกสารนี้ในเว็บไซต์ด้วยความดีใจ…ท่านจึงควักกระเป๋าด้วยเงินส่วนตัว สั่งซื้อในราคา 300 เหรียญสหรัฐ…ประมูลมาครอบครอง
2
ของชิ้นนี้ถูกส่งข้ามโลกมาทางไปรษณีย์…ท่านศึกษารายงานเชิงวิเคราะห์ โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ในเวลานั้น…ที่ระอุไปด้วย การช่วงชิงอำนาจกันเอง
เมื่อผู้เขียนและคุณพอลมีโอกาสได้คุยกัน ท่านก็ใจดี…แบ่งปันข้อมูลมาให้ และถ่ายทอดความระหว่างบรรทัดอย่างลึกซึ้งมาให้ฟัง
ท่านฯ กรุณาถ่ายภาพเอกสารอันทรงคุณค่านี้ บางช่วงบางตอนที่สำคัญส่งมาให้…โดยเฉพาะช่วงท้ายแล้ว ต้องขอนำมาบอกเล่า
การปรับปรุงหน่วย “ทหารสารวัตร” มีการเมืองแอบแฝง
การทำงาน…แฝงไปด้วยการ “แข่งขัน” กันระหว่าง กระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ต้องการจะสร้างเขี้ยวเล็บให้กองทัพบกไทย เพิ่มศักยภาพให้ทหารสารวัตร
1
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น…หน่วยข่าวกรอง ซีไอเอ (CIA) ที่นำโดยบุรุษเหล็กคนสำคัญ คือ บิล แลร์ (Bill Lair) ต้องการเข้ามาจัดตั้ง สร้าง “ตำรวจตระเวนชายแดน” ให้เป็น “กำปั้นเหล็ก” ของกรมตำรวจ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นไปอย่างจริงจัง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี การสร้าง ตชด.ก้าวหน้าทุกขั้นตอน
1
ขอย้อนข้อมูล ความรู้ เรื่องของ “ทหารสารวัตร” ในกองทัพบกไทย
1
พ.ศ.2440 รัชสมัยในหลวง รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหม
พระองค์ทรงปรับปรุงกิจการทหารบก โดยจัดให้มีการจัด “เหล่า” (หมายถึง ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ฯลฯ)
ทหารสารวัตร (Military Police) ก็เป็น 1 หน่วย/เหล่า ที่ถูกจัดตั้งขึ้นแบบกองทัพในยุโรป ต้นแบบ คือ อังกฤษ
ขออธิบายง่ายๆ …ทหารสารวัตร คือ ทหารผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล ตรวจตรา จับกุม คุมขัง สอดส่อง “ทหาร” ด้วยกันเอง
เด็กหนุ่มถืออาวุธ หรือไม่ถืออาวุธ อยู่กันเป็นกลุ่ม คึกคะนอง ไปกินเหล้าเมายา ตีหัวหมา ด่าแม่ชาวบ้าน รังแกประชาชน ทะเลาะวิวาทกันเอง ทำตัวเป็นอันธพาล…เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเมือง
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีสารวัตรทหาร เพื่อตรวจตรา กำกับ ดูแล ระเบียบวินัยของทหารภายนอกค่ายทหาร
ในขณะนั้นยังไม่ได้มีการจัดตั้ง “เหล่าทหารสารวัตร”
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2450 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ออกข้อบังคับกำหนดหน้าที่ “สารวัตรใหญ่ทหารบก” ขึ้นเป็นครั้งแรก
1
กองทัพบกจึงอนุมัติให้ วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันทหารสารวัตร”
พ.ศ.2476 กำหนดให้ทุก “มณฑลทหารบก” จัดให้มีทหารสารวัตรทหาร โดยมีหน้าที่ตรวจตราภายในท้องที่ของแต่ละมณฑล
ทหารสารวัตรทหาร มีปลอกแขนสีแดงที่แขนข้างขวา และมีจักรสีทองติดทับปลอกแขน จึงเป็นเหตุให้ได้รับสมญานามว่าพวก “ทหารแขนแดง”
(สงครามในยุโรป ทหารนับแสนจากอเมริกาถูกส่งไปรบในยุโรป ช่วงเวลาพักจากการรบ ไปหาความสำราญในเมือง กินเหล้า ชกต่อยกันเอง วิวาทระหว่างเหล่าทัพ เกะกะเกเร เป็นอันธพาลในเมือง จะถูกสารวัตรทหารมาจับกุม ควบคุมตัว สอบสวน กักขัง จำขัง ทหารทั้งหลายจะเกรงกลัว สห.มาก เพราะมีอาวุธ มีอำนาจเต็ม ทหารทุกประเทศมีลักษณะแบบนี้ มาก-น้อย ต่างกันไป ต้องมีทหารสารวัตรคอยจัดการ)
“ในยามสงคราม” ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง อยู่แนวหน้า เมื่อรุกไปข้างหน้า พื้นที่ข้างหลังจะว่าง…
ทหารสารวัตรก็จะมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย “พื้นที่ส่วนหลัง” ของการรบ ควบคุมพลเรือนในดินแดนที่เข้ายึดครอง ป้องกันอาชญากรรม ควบคุมเชลยศึก
1
เจาะมาที่ประเด็นหลัก…เอกสารโบราณฉบับนี้ครับ…
1
เอกสารนี้บันทึกการทำงานของคณะทำงานฯในห้วงสิงหาคม 2497 ถึงกรกฎาคม 2499…..สรุปความโดยย่อดังนี้…(แบบภาพกว้างนะครับ)
….สิงหาคม 2497 คณะทำงานฯของสหรัฐเข้าพบ เพื่อประชุมชี้แจงกับกรมฝ่ายเสนาธิการ กรมกำลังพล กรมยุทธการ และเจ้ากรมการสารวัตรทหารบก
ผู้แทน ทบ.สหรัฐ พยายามอธิบายการปรับปรุง อัตราการจัดคน ยุทโธปกรณ์ การฝึก รวมถึงภารกิจของ “ทหารสารวัตร” ในการสนับสนุนหน่วยกำลังรบหลัก…ที่ควรจะไปเพิ่มศักยภาพ “อำนาจกำลังรบ” ซึ่งในเวลานั้นหน่วยกำลังรบก็ยังจัดตั้งได้ไม่เป็นไปตามเป้า ยังเบาบาง
1
(ผู้เขียนขอเสริมว่า…สถานการณ์ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์กำลังก่อตัว) หากแต่ผู้ใหญ่ในกองทัพบางคน ยังเชื่อมั่นว่า ภารกิจลักษณะนี้ ต้องเป็นของตำรวจ
เมื่อผู้มีอาวุโส (ระดับค่อนข้างสูง) …แสดงทรรศนะเช่นนี้ในที่ประชุม การทำงานของที่ปรึกษาจากอเมริกา ค่อนข้างติดขัด
หากแต่หน่วยทหารสารวัตร กำลังพลในเหล่า มีความตื่นตัว ต้องการยกระดับ ขีดความสามารถหน่วยของตน
คณะทำงานฯรู้ตัวดีว่าปัญหาการทำงานติดขัดอยู่ตรงที่ “ฝ่ายเสนาธิการ” ของกองทัพ จึงหาทางติดต่อกับ พันโท ศักดิ์ พิสิทธิ์พงษ์ (Lt Col Sakdhi Pisitpongse) ผู้บังคับกองพันทหารสารวัตร 1 เดียวในกรุงเทพฯ (ฝ่ายสหรัฐเรียกชื่อ แซม)
นายทหารท่านนี้ไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้า รปภ.ให้กับ ผบ.ทบ. จอมพลสฤษดิ์ และครอบครัว ท่านอัธยาศัยดี ถือว่าสนิทสนมกับฝ่ายอเมริกัน เมื่ออยู่ใกล้ตัว ผบ.ทบ. ฝ่ายสหรัฐก็พอจะอาศัยให้อธิบายความ…ให้รายงานถึง ผบ.ทบ.ตรงได้บ้าง …เพื่อสนับสนุนภารกิจ
2
เจ้ากรมการทหารสารวัตรในเวลานั้น คือ พลจัตวา สวัสดิ์ สวัสดิ์รณภักดิ์ อดีตเป็นนายทหารเหล่าปืนใหญ่ ที่ได้รับคำสั่งให้มาเป็นเจ้ากรมทหารสารวัตร สนับสนุนการทำงานแต่ก็ต้องระวังตัว
ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสารวัตร คือ พันเอก สมบูรณ์ วิจิตรานุช ผ่านการศึกษากิจการทหารสารวัตรจาก สหรัฐ อังกฤษ ดูงานในยุโรปมาแล้ว
พันโท ชูเกียรติ สุรพิบูลย์ เป็นนายทหารยุทธการของโรงเรียน
(เรียนท่านผู้อ่านครับ… “โรงเรียนทหารสารวัตร” มีหน้าที่จัดหลักสูตร สอนอบรม ฝึก มิใช่หน่วยใช้ปฏิบัติ)
คณะทำงานของสหรัฐเห็นว่า..ควรจะมี 1 กองร้อยทหารสารวัตรต่อ 1 กองพล …เจ้าหน้าที่อเมริกันทำงานหนัก ร่างอัตราการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ (TO&E) ให้ฝ่ายไทย
โดยภาพรวม…กรมฝ่ายเสนาธิการ และผู้บังคับหน่วยกำลังรบ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก ในการประชุม ก็จะเกิดภาพ Lip Service (ตรงกับภาษาไทย เออออ รับปาก ไปเรื่อย ไม่เชื่อ ไม่ทำ)
นายทหารในหน่วยทหารสารวัตรของกองทัพบกไทย กระตือรือร้น อัธยาศัยดี ต้องการทำงานร่วมกับสหรัฐ
บางช่วงของเอกสารนี้บันทึกว่า… หลายโอกาส คณะทำงานฯโดย พันเอก สมบูรณ์ วิจิตรานุช ร่วมกับ JUSMAG ไปชี้แจงความคืบหน้า…ที่ประชุมกรมฝ่ายเสนาธิการ ก็มักจะเจอสภาพการ สงวนท่าที ไม่มีใครพูดอะไร ฟังแล้วก็เลิกกันไป…
การประสานงาน ภารกิจที่สหรัฐทำร่วมกับฝ่ายไทย…ล้วนอยู่ในระดับล่างที่ติดต่อกันเอง…ด้วยการทุ่มเท ใจถึงใจ
…สหรัฐ…สนับสนุนจัดส่งนายทหารไปเข้ารับการศึกษา ณ ฟอร์ต กอร์ดอน (Ft. Gordon) รัฐจอร์เจียจำนวน 10 นาย…
กองทัพบกไทยในเวลานั้นมี 21 หน่วยแยกทหารสารวัตร กระจายอยู่ทั่วประเทศขึ้นกับมณฑลทหารบก ใต้การบังคับบัญชาของ “แม่ทัพภาค”
กำลังพลส่วนใหญ่…ถูกปรับโอนมาจากหน่วยทหารอื่นๆ ไม่มีพื้นฐาน วิชา กิจการงานสารวัตรทหาร ยังขาดแคลนอาวุธ เครื่องมือสื่อสาร การฝึก โดยเฉพาะ วิชาการสอบสวน
คณะทำงานฯมาร่วมทำงานกับโรงเรียนทหารสารวัตร จัดหลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่า สห. เปิดเรียน มีนาคม 2499 มีนายทหารสำเร็จการศึกษา 46 นาย ปิดหลักสูตรเมื่อ 4 มิถุนายน 2499
สหรัฐเปิดหลักสูตรการสอบสวนให้ทั้งสารวัตรทหารและตำรวจ
รายงานของสหรัฐระบุว่า…ภารกิจส่วนใหญ่ของ สห.ในเวลานั้น คือ การให้ สห.ปราบเฮโรอีน
มีทหารสารวัตร 1 กองพันในกรุงเทพฯ คอยดูแลผู้ใหญ่ใกล้ชิด
ขอเปลี่ยนประเด็น….ลองไปดูการทำงานของ CIA ที่เดินหน้าเต็มสูบ…กำลังเสริมสร้าง ยกระดับตำรวจตระเวนชายแดน
การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น… พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจในเวลานั้น ให้การสนับสนุน ซึ่งสหรัฐก็เป็น “เจ้าบุญทุ่ม” ตัวจริง
CIA เปิดหลักสูตรส่งทางอากาศ (โดดร่ม) เป็นครั้งแรกในประเทศไทยให้กับกรมตำรวจ กลายเป็นตำรวจพลร่ม เรียกว่าหน่วย PARU (Police Aerial Reinforcement Unit)
1
อธิบดีเผ่า ใจถึง-พึ่งได้…แต่งตั้ง หัวหน้า CIA บิล แลร์ เป็น “พันตำรวจเอก” ในกรมตำรวจไทย ขยายขีดความสามารถไม่หยุด…
พล.ต.อ.เผ่า เสริมสร้างขุมกำลังตำรวจ โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า ตำรวจรถถัง ตลอดจนให้มีธงชัยเฉลิมพลเหมือนทหาร จนมีการกล่าวในเชิงประชดว่า… อาจจะมีถึง “ตำรวจเรือดำน้ำ”
พันตำรวจเอก หม่อมหลวง มานิจ ชุมสาย นักเรียนทุนหลวงจากเคมบริดจ์ คือบุคคลสำคัญ ที่กรมตำรวจพึ่งพาในการทำงานกับสหรัฐ ท่านขวนขวายขอรับ ฟิล์มภาพยนตร์การฝึก ฯลฯ ขอตำราตำรวจจากสหรัฐ
จัดจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัย 80 คน แปลตำรา จากภาษาอังกฤษเป็นไทย 100 เล่ม สหรัฐจ่ายให้หน้าละ 15 บาท
บิล แลร์ พาอธิบดีเผ่า บุรุษเหล็กแห่งเอเชียและคณะ ไปดูงานกิจการตำรวจในหลายประเทศ รวมทั้งโรงเรียนทหารสารวัตรกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ต กอร์ดอน อตร.เผ่ายอมรับว่ากิจการทหารสารวัตร ณ ฟอร์ต กอร์ดอน เป็นต้นแบบของการทำงาน “ทหารที่ทำงานแบบตำรวจ”
อตร.เผ่ากลับมา…สั่งจัดตั้ง “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน”
1
(พล.ต.อ.เผ่า อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พ.ศ.2494-2500 เจ้าของคำขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”
16 กันยายน พ.ศ.2500 เกิดรัฐประหาร พล.ต.อ.เผ่า ไม่หลบหนี เข้ามอบตัวแต่โดยดี โดยกล่าวกับจอมพลสฤษดิ์ ว่า “อั๊วมาแล้ว จะเอายังไงก็ว่ามา” ในที่สุดก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ)
ท้ายสุดของเอกสารนี้…ผู้เขียนคุยกับ อ.พอล ท่านอ่านเอกสารโดยละเอียด วิเคราะห์ว่า… นายทหารผู้ใหญ่ไทยบางท่านมองเห็นภาพว่า..
…การจัด/ปรับปรุงหน่วยทหารสารวัตร ตามแนวคิดของสหรัฐ เป็นเรื่อง “ซ้ำซ้อน” รวมทั้งเรื่องภารกิจของ ตชด.
นายทหารหลายท่าน ที่ยังระแวง สงสัยบทบาทของทหารสารวัตร ที่จะไป “เสริม-เติม” อำนาจให้กับฝ่ายไหน…
เรียนย้ำอีกครั้งนะครับ…นี่เป็นเอกสารที่ฝ่ายสหรัฐบันทึก รายงาน “เป็นการภายใน” ของ ทบ.สหรัฐ …มิใช่ความคิดของผู้เขียน
พ.ศ.2556 เมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงกลาโหม” ได้สั่งการให้จัดตั้งหน่วย “กองพันทหารสารวัตร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเชื่อมั่น ศรัทธา ในคุณลักษณะ ขีดความสามารถของ “ทหารสารวัตร” ซึ่งก็ยังตราตรึง ฝังใจ ในเครื่องแบบ ขีดความสามารถ เกียรติ ศักดิ์ศรี ของทหารสารวัตร
1
ขอบคุณ อาจารย์พอล แชมเบอร์ส ที่กรุณาส่งเอกสารนี้มาแบ่งปันและมีความเห็นประกอบมาด้วย…
ผู้เขียนยืนยันว่า “ทหารสารวัตร …ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด”
โฆษณา