8 พ.ย. 2021 เวลา 04:27 • บันเทิง
ร่างทรงในมุมมองวิทย์ๆ (หนังจบ เราไม่จบ)
เตือนก่อนเลยนะครับว่าเนื้อหาในบทความนี้มี "สปอย" ถ้าท่านใดยังไม่ดูแนะนำเซฟไว้อ่านหลังชมภาพยนต์เสร็จนะครับ
ปกติแล้วผมเป็นคนดูหนังผีแล้วถึงแม้จะกลัวแต่ดูเสร็จก็จบแค่ภายในโรง เพราะว่าผี ปีศาจ หรือ ซอมบี้ เราถึงแม้จะกระตุ้นความกลัวได้แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่จริงรึเปล่า แต่สำหรับ "ร่างทรง" ผมดูจบแต่ว่าความรู้สึกกลับไม่จบ ผมว่า "มันตามกลับบ้านด้วย" เหตุผลเพราะว่าเราถ้าเรามองด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์แล้ว หนังเรื่องนี้จะหลอนขึ้นไปอีกมากๆเลยเพราะมันใกล้ตัว เพราะว่าในชีวิตเราอาจจะเจอเหตุการณ์แบบในหนังได้ คราวนี้เรามาลองดูมุมมองทางวิทยาศาสตร์กันหน่อยนะครับ
1. ตอนช่วงต้นๆของหนังเล่าเรื่องเหตุการณ์ "การถ่ายทอดร่างทรงย่าบาหยัน" โดยในหนังอธิบายว่า "ย่าบาหยัน" คือวิญญานบรรพบุรุษของตระกูลของตัวเองในเรื่อง โดยที่วิญญานย่าบาหยันจะเข้าทรงเฉพาะผู้ญิงของญาติฝ่ายหญิงเท่านั้น (แม่น้อย ป้านิ่ม และมิ้ง)
เรื่องนี้ถ้ามองมุมมองของวิทยาศาตร์ โดยถ้าเรามองว่า "ร่างทรงย่าบาหยันเป็นความสามารถพิเศษชนิดหนึ่ง" เราก็มองได้ว่าอาจจะเป็นยีนกลายพันธุ์ (คล้ายๆ X men) โดยคำอธิบายนี้จะลงตัวมากๆถ้าเราบอกว่า ยีนนี้เป็นยีนภายใน mitochondria โดยปกติแล้ว mitochondria จะมียีนเป็นของตัวเองและจะถ่ายทอดทางญาติฝั่งแม่เท่านั้น ส่วนคำอธิบายว่าทำไมความสามารถร่างทรงนี้ไม่มีในผู้ชายในตระกูลก็อาจจะอธิบายด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนก็ได้ เช่นยีนหัวล้านจะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชาย เราจึงไม่ค่อยเห็นผู้หญิงหัวล้าน
ยีนที่ถ่ายทอดเฉพาะญาติฝ่ายแม่ ซึ่งเป็นยีนใน mitochondria
2. คราวนี้เรามาลองอธิบายพฤติกรรมที่ค่อยๆเปลี่ยนไปของมิ้งกันดูนะครับ ในหนังเราจะพบว่าพฤติกรรมของมิ้งจากเด็กผู้หญิงร่าเริงจะค่อยๆกร้าวร้าวและดูหวาดระแวงซึ่งพฤติกรรมนี้มาพร้อมๆกับการตกเลือดและอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ผมได้ฟังบทวิเคราะห์มาจากช่อง The moof และเห็นด้วยมากๆกับสมมติฐานว่ามิ้งน่าจะติดเชื้อซิฟิลิส (โรคทางเพศสัมพันธ์)
ในหนังพยายามอธิบายว่ามิ้งเป็นผู้หญิงที่รักสนุกนอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งน้องชายร่วมสายเลือดและลุงแท้ๆของตัวเองก็ไม่เว้น โดยโรคซิฟิลิสสามารถทำให้ทารกในครรภ์แท้งได้ (เหตุการณ์ตกเลือดและปวดท้อง) และเชื้อซิฟิลิสน่าจะลามขึ้นไปกัดกินสมองของมิ้ง จนทำให้เกิดพฤติกรรมแปลกๆ ในช่วงแรกอาจจะมีอาการหูแว่ว ต่อมาก็เริ่มใช้ความรุนแรง จนกระทั่งเหตุการณ์หลังจากที่หนีออกจากบ้านไปอยู่ตึกร้าง 1 เดือน เราจะพบว่ามิ้งไม่หลงเหลือความเป็นมิ้งอีกต่อไป เป็นไปได้ว่าสมองส่วนที่รับผิดชอบเรื่อง "ความยับยั้งชั่งใจ ความคิดวิเคราะห์ (neocortex: สมองส่วนมนุษย์)" ถูกทำลายไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือสมองส่วนสัญชาตญาน (limbic และ brain stem: สมองสัตว์) จะเห็นได้จากฉากกล้องวงจรปิด พฤติกรรมแปลกๆต่างๆนาๆแบบผิดมนุษย์ เช่นกินเนื้อดิบๆ และฉี่เรี่ยราด ออกสำรวจบ้านช่วงกลางคืน ดุร้าย และหวงถิ่น (ขู่หมา)
ทฤษฎีสมอง 3 ส่วน มิ้งน่าจะถูกทำลายสมองส่วนมนุษย์ (neocortex) ไปแล้วเหลือแต่สมองส่วนสัตว์ (limbic และ ก้านสมอง) ที่ยังทำงานอยู่
3. โดยปกติแล้วหนังสยองขวัญจะมีตัวละครที่ให้ความหวัง ในเรื่องนี้คือตัวละคร "ป้านิ่ม" ซึ่งผู้กำกับก็โหดร้ายกับคนดูมากๆโดยการฆ่าตัวละครป้านิ่ม (ดับความหวังของคนดูและตัวละครในเรื่องไปเลย) โดยในหนังบอกว่าป้านิ่ม "ไหลตาย" แต่เราคนดูทุกคนคิดว่าป้านิ่มต้อง "โดนของเข้าตัว" แน่ๆ
เรามาวิเคราะห์กันครับว่า "ไหลตาย" คืออะไร การไหลตาย (Brugada Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นกันมากในคนอีสาน โดยอาการนี้เกิดจากภาวะหัวใจทำงานผิดปกติเนื่องจาก Na-channel ทำงานผิดปกติ สาเหตุการตายมักจะเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยการทำงานหนัก และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งในหนังเล่าว่าป้านิ่มเตรียมพิธีกรรมไล่ผีของมิ้ง 7 วัน 7คืน แบบไม่ได้พักผ่อน บวกกับตอนนั้นจิตใจของป้านิ่มพังทลายสุดๆจากเหตุการณ์รูปปั้นย่าบาหยันถูกตัดคอ ซึ่งสองสาเหตุนี้น่าจะไปกระตุ้นโรคนี้ให้กำเริบได้ ซึ่งการไหลตายมักจะเกิดขึ้นในขณะหลับ (สำหรับแฟนหนังยุค 80-90 อาจจะคุ้นเคยเรื่อง นิ้วเขมือบ หรือ A nightmare on Elm Street ที่ Freddie Cooker ออกไล่ล่าเหยื่อในความฝัน ทำให้เหยื่อตายขณะหลับ ก็ได้ไอเดียมาจากโรคไหลตายนี่แหละครับ)
ไอ้นิ้วเขมือบ หนังสยองขวัญยุค 80-90 ที่ได้แรงบันดาลใจจากโรค "ไหลตาย" ของชาวม้งในอเมริกา
4. คราวนี้เรามาทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "องค์ลง" ในฉากกลางเรื่องที่ป้านิ่มไปหาอาจารย์สันติ เราจะพบว่า ลูกศิษย์ของอาจารย์ในสำนักมีอาการที่เรียกว่า "องค์ลง" กันถ้วนหน้า และฉากสุดท้ายที่ลูกศิษย์ของอาจารย์สันติ "ถูกผีเข้า" (ที่น่าสนใจมากๆคือ ผีไม่เข้าตากล้องในพิธีเลย)
ผมมองเหตุการ์องค์ลงและผีเข้าที่เกิด "เฉพาะลูกศิษย์ของอาจารย์สันติ" ว่าน่าจะเกิดจาก เซลล์สมองกระจกเงา (mirror-neuron) เคยสังเกตไหมครับว่าเวลามีคนไอ หรือว่ามีคนหาวในห้องเรียน มักจะมีเพื่อนนักเรียนไอหรือหาวไปตามๆกัน ปรากฏการณ์นี้ถูกอธิบายด้วย "เซลล์ประสาทกระจกเงา"ในสมอง โดยเซลล์ประสาทกระจกเงานี้ตามธรรมชาติมีทำให้เกิดการลอกเลียนแบบซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากๆในการเรียนรู้ทักษะต่างๆของมนุษย์ เช่น เราเลียนแบบท่าเต้น เราเลียนแบบการจับคอร์ดกีต้าร์ เลียนแบบท่าเลี้ยงบอล เด็กๆเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ มนุษย์โบราณอาจจะเลียนแบบการทำเครื่องมือล่าสัตว์จากผู้อาวุโสในเผ่า โดยเซลล์ประสาทกระจกเงานี้จะมีอิทธิพลอย่างมากกับ "คนที่เรานับถือ และพร้อมที่จะทำตาม(ในที่นี้คืออาจารย์สันติ)"
ตอนฉากสุดท้ายตอนที่อาจารย์ทำพิธีเรียกวิญญาน ก็ปรากฏว่ามีเฉพาะลูกศิษย์ของอาจารย์เท่านั้นที่ถูกผีหมาเข้าสิง (เหล่าลูกศิษย์อาจจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นของตระกูลยะสันเที๊ยะมาก่อน) พอมีคนหนึ่ง "ถูกผีเข้า" คนอื่นๆก็เริ่ม "ถูกผีเข้า" กันไปตามๆกัน บวกกับบรรยากาศของอาคารร้าง และพิธีกรรมที่ดูขลังที่สำคัญคนเหล่านี้(พร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว) ก็เลยผีเข้ากันไปตามๆกัน
1
mirror-neuron เซลล์ประสาทที่ทำให้สัตว์จำพวกลิง เรียนรู้พฤติกรรมของผู้อาวุโสเพื่อเลียนแบบทักษะการเอาตัวรอดในธรรมชาติ
อันนี้เป็นมุมมองทางวิทยาศาสตร์ในฐานะครูสอนวิทยาศาสตร์และอดีตนักวิจัยคนหนึ่ง ถ้าผิดพลาดประการใดขออภัยนะครับ ถ้าจะให้ดีช่วยกัน discuss ใต้ comment ได้เลยนะครับเพื่อความสนุก
เพราะว่าวิทยาศาสตร์อยูรอบตัวเรา
lazybio
เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียน ชีวะ-เคมี
สามารถ add QR code เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้เลยนะครับ
โฆษณา