8 พ.ย. 2021 เวลา 07:28 • หนังสือ
สร้างนิสัยการเรียนรู้ด้วย Atomic Habit
นิสัยคือขบวนการที่เกิดจากการเรียนรู้ จากความทรงจำหรือประสบการณ์ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในอดีต สมองสร้างนิสัยขึ้นเพื่อลดการทำงาน เมื่อพฤติกรรมใดก็ตามเกิดซ้ำๆ สมองจะลดการประมวลและใช้ระบบอัตโนมัติในการตอบสนองต่อปัญหาหรือเหตุการณ์นั้นๆ
Photo by Prophsee Journals on Unsplash
กระบวนการก่อให้เกิดนิสัย 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรกคือปัจจัยกระตุ้น สมองจะถูกกระตุ้นให้เกิดการคาดเดารางวัล ซึ่งนำไปสู่การเกิดความปรารถนา ความปรารถนาในขั้นตอนที่สองนี้เป็นเบื้องหลังการเกิดนิสัยทุกอย่าง เป็นขั้นตอนที่จะก่อให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลง เช่น คุณไม่ได้ต้องการเปิดโทรทัศน์ แต่ความปรารถนาความบันเทิงทำให้คุณเปิดโทรทัศน์ ตามมาด้วยขั้นตอนที่สามคือการตอบสนองต่อความปรารถนา อาจจะแสดงออกมาในรูปความคิดหรือการกระทำขึ้นอยู่กับแรงจูงใจหรืออุปสรรครวมถึงความสามาถของคุณ และขั้นตอนสุดท้ายเป็นขั้นตอนที่การตอบสนองนำไปสู่รางวัล ซึ่งรางวัลคือเป้าหมายสูงสุดของทุกการกระทำ
โดยสรุปคือปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดความปรารถนาซึ่งจูงใจให้เกิดการตอบสนองอันนำไปสู่รางวัลที่สร้างความพึงพอใจ และวนกลับมาเชื่อมโยงกับปัจจัยกระตุ้นอีกครั้งซึ่งทำให้เกิดเป็นวงจรนิสัย เช่นโทรศัพท์ส่งเสียงเตือนข้อความเข้า (ปัจจัยกระตุ้น) ก่อให้เกิดความอยากรู้ว่ามีข้อความอะไรส่งมา (ความปรารถนา) เกิดการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู (การตอบสนอง) และได้อ่านข้อความที่สนใจ (รางวัล) เมื่อมีเสียงกระตุ้นเข้ามาอีกครั้งสมองจะคาดเดาได้ถึงรางวัลและก่อให้เกิดวงจรนิสัย
ขั้นตอนเพื่อสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการก่อให้เกิดนิสัย
1. ต้องทำให้ชัดเจน (ปัจจัยกระตุ้น)
ถ้ามีขนมวางอยู่กลางออฟฟิศเสมอ ก็คงจะยากที่จะไม่หยิบกินในช่วงเวลาใดเวลานึงเพราะพฤติกรรมของคุณสามารถเปลี่ยนไปได้ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่
เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นการทำให้ชัดเจนคือการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อง่ายต่อการเรียนรู้ เช่น ถ้าคุณอยากสร้างนิสัยการเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือก็ให้วางหนังสือไว้ในจุดต่างๆ ที่สามารถหยิบมาอ่านได้ง่าย
"การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากการมองเห็น จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้"
2. ต้องทำให้น่าดึงดูด (ความปรารถนา)
สารโดปามีนเป็นสารที่ผลิตขึ้นสมอง มีบทบาทสำคัญในหลายๆ กระบวนการรวมทั้งการเรียนรู้ การจดจำและแรงจูงใจ สารโดปามีนจะถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลาที่คุณได้รับความพึงพอใจ แต่จุดสำคัญคือมันยังถูกปล่อยออกมากใจช่วงเวลาที่คุณกำลังคาดหวังด้วย ในครั้งแรกของพฤติกรรมที่ได้รับรางวัลนั้น สารโดปามีนจะถูกปล่อยออกมา แต่ในครั้งต่อๆ ไปสารโดปามีนจะเพิ่มขึ้นทันทีที่ได้รับรู้ปัจจัยกระตุ้นซึ่งมาจากความคาดหวัง จากนั้นเมื่อมีการตอบสนองเกิดขึ้นจนได้รับรางวัลอีกครั้ง สารโดปามีนจะพุ่งขึ้นอีกและเป็นการสอนให้สมองจดจำเรียนรู้เพื่อทำสิ่งเดิมในคราวหน้า
เพื่อทำให้การเรียนรู้น่าดึงดูด สามารถใช้เทคนิคการสร้างปรารถนาร่วมกับสิ่งล่อใจ คือ หลังจากทำ... (พฤติกรรมที่ต้องทำ) ฉันจะทำ... (สิ่งที่อยากทำ) เช่น หลังจากอ่านหนังสือในยามเช้า ฉันจะดื่มกาแฟ เป็นการมัดรวมนิสัยการเรียนรู้กับสิ่งล่อใจที่ก่อให้เกิดการปล่อยสารโดปามีน
3. ต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย (การตอบสนอง)
การลงมือทำเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ ช่วงของการดำเนินการ ก็เป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ เช่นการคิดจะไปออกกำลังกายหรือการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่ถูกต้องก็เป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถทำให้มีรูปร่างที่ดีขึ้นได้ มีเพียงการลงมือ ออกกำลังกายเท่านั้นที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ บ่อยครั้งเรามักติดอยู่ใน ช่วงของการดำเนินการ เพราะมันทำให้เรารู้สึกก้าวหน้าโดยไม่ล้มเหลว
การสร้างนิสัยการเรียนรู้ต้องเริ่มจากการลงมือทำ เพื่อก่อให้เกิดการทำซ้ำ ไม่ใช่การทำอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อเกิดการทำซ้ำๆ จดถึงจุดหนึ่งจะกลายเป็นการทำโดยอัตโนมัติ
เมื่อนิสัยเกิดจากการลงมือทำ ดังนั้นเพื่อลดแรงเสียดทานหรืออุปสรรค และเพื่อให้เกิดการใช้ความพยายามน้อยที่สุด สามารถใช้กฎ 2 นาที เพื่อเริ่มต้นนิสัยใหม่ๆ โดยใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาทีในการทำพฤติกรรมนั้นๆ เช่น การฝึกนิสัยการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นอ่านหนังสือเพียงวันละ 1 หน้า การเริ่มต้นแบบนี้เพื่อเป็นการวางเป้าหมายจากง่ายมากไปสู่ยากมาก เนื่องจากเป้าหมายที่ยากมาก อาจะทำให้คุณทำสิ่งนั้นได้แค่ชั่วคราวเพราะต้องใช้ความพยายามเยอะมาก แต่การเริ่มจากเป้าหมายง่ายมาก จะทำให้คุณทำสิ่งนั้นจนกลายเป็นอัตโนมัติ จากนั้นค่อยขยายไปยังเป้าหมายยากมากขึ้นได้ เช่น ถ้าเป้าหมายยากของคุณ คือการอ่านหนังสือสัปดาห์ละหนึ่งเล่ม การอ่านหนังสือวันละ 1 หน้าแต่ทำซ้ำๆ จนเป็นนิสัยจะทำให้คุณขยายไปยังเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
4. ต้องทำให้น่าพึงพอใจ (รางวัล)
การสร้างความก้าวหน้าเป็นเรื่องของการทำให้เกิดความพึงพอใจในทันที เช่นการบันทึกจำนวนหน้าที่อ่าน ทางนึงในการสร้างความพึงพอใจจากความก้าวหน้าคือการติดตามผลของนิสัย รูปแบบง่ายที่สุดคือการกากบาทปฏิทินในแต่ละวันที่ได้ทำพฤติกรรมนั้นๆ เช่น การติดตามผลการอ่านหนังสือโดยกากบาทบนปฏิทินในวันที่ได้อ่านหนังสือ
การติดตามผลของพฤติกรรมนี้ ทำให้ช่วยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมขึ้นอีกในคราวต่อไป และเป็นแรงจูงใจเมื่อมองเห็นความก้าวหน้า เช่น เมื่อการกากบาทบนปฏิทินนั้นนอกจากจะได้รับความพึงพอใจแบบทันทีที่ได้กากบาทแล้ว เมื่อคุณกลับมาย้อนดูปฏิทินก็จะทำอยากทำอย่างต่อเนื่อง
โดยสรุปการใช้งาน 4 ขั้นตอนข้างต้นเพื่อนำมาใช้ในการสร้างนิสัยการเรียนรู้ ขั้นแรกคือทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายโดยใช้สิ่งแวดล้อม เช่น การวางหนังสือไว้ในจุดที่เข้าถึงง่าย หรือวางไว้หลายๆ จุด และต่อมาต้องทำให้น่าดึงดูดโดยใช้การผูกติดกับสิ่งอื่นๆ ที่ล่อใจเราได้ เช่น อ่านหนังสือก่อนเปิดโทรทัศน์หรือดูซีรี่ย์ รวมถึงขั้นที่สามต้องทำได้ง่ายและใช้ความพยามน้อยในช่วงเริ่มต้น เช่น อ่านหนังสือ 1 หน้าก่อนก่อนเข้านอน และขั้นตอนสุดท้ายคือทำให้เห็นความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นรางวัล เช่น การกากบาทลงบนปฏิทันในวันที่ได้อ่านหนังสือ
การสร้างนิสัยไม่จำเป็นต้องยาก การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำเยอะ แต่การสร้างนิสัยเรียนรู้วันละนิดต่างหากที่จะทำให้ยั่งยืน แล้วคุณล่ะได้เริ่มลงมือหรือยัง?
โฆษณา