Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
I am Urban designer
•
ติดตาม
8 พ.ย. 2021 เวลา 10:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
8 ทักษะ สำคัญสำหรับวิชาชีพนักวางแผนเมือง (Professional Urban Planner)
ภาพหน้าปก
บทนำ
ยุคสมัยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้านผังเมือง (Planning History) นับได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในแต่ละยุค ซึ่งมีความต้องการวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการบริโภคนิยมที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายในชีวิตเป็นหลัก ผลสะท้อนกระแสทุนนิยมในปัจจุบันเมื่อทำการศึกษากลุ่มคนแต่ละช่วงวัยที่เรียกว่า เจเนอเรชั่น (Generation) แล้ว ทำให้ทราบว่า แนวคิดทางด้านผังเมืองมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อวิถีสังคมเมืองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เมื่อสังคมเมืองมีความต้องการอย่างไรเมืองก็ควรตอบสนองต่อความต้องการของสังคมอย่างนั้น คุณภาพชีวิตในสังคมเมืองจึงถือเป็นปัจจัยที่สังคมเรียกร้องให้มีการพัฒนาด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวบนวิถีชีวิตยุคใหม่ โดยมองสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตและผลกระทบระยะยาว แล้วคาดการณ์ความต้องการของสังคมในอนาคต
วิชาชีพนักผังเมือง เป็นวิชาชีพที่มีพัฒนาการด้านทฤษฎีและองค์ความรู้ตามการเปลี่ยนแปลงของพลวัตของสังคม โดยเฉพาะการอาศัยพื้นฐานของกลุ่มคนจากเจเนอเรชั่นในการศึกษาปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง โดยมุ่งเน้นไปยังความต้องการด้านวิถีชีวิตที่แตกต่างกันจากมุมมองทัศนคติ ผนวกกับประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาการวางผังเมืองในยุคก่อนๆ ที่เกิดจากกระแสนิยมในช่วงนั้นซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อปัญหาสังคมเมืองในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า “เมื่อสังคมเปลี่ยนเมืองต้องเปลี่ยน แต่เมืองต้องเปลี่ยนก่อนสังคมจะเปลี่ยน” การวางผังเมืองจึงเป็นวิชาชีพที่ช่วยสร้างความหลากหลายและสร้างทางเลือกของโอกาสเพื่อการดำรงชีวิต รวมถึงการเป็นอาชีพที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเมือง วิชาชีพนักผังเมืองจึงมีลักษณะเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น สถาปนิก, วิศวกร, และแพทย์ เป็นต้น
วิชาชีพนักผังเมืองโดยทั่วไป ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนที่อยู่นอกวงการ การวางผังเมืองเป็นวิชาชีพที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการวางแผนแบบตรงไปตรงมาซึ่งเป็นการคาดการณ์อนาคตเมือง โดยการอธิบายด้วยการเขียนระบุลงในแผนที่เมือง นักผังเมืองจึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการวางแผนและนโยบาย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตของเมืองให้ประสบผลสำเร็จทางด้านคุณภาพชีวิต หลักปฏิบัติทางด้านวิชาชีพที่นักผังเมืองจะต้องยึดถือมีอยู่ด้วยกัน 8 ข้อ ดังนี้
1. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในพื้นที่ที่ผู้คนอยู่อาศัย
นักผังเมืองจะต้องประมาณการจำนวนครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยวิเคราะห์จากสภาพปัจจุบันและช่วงเวลาที่ผ่านมาจากปีก่อน ๆ มีหน้าที่ให้คำแนะนำถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนนั้น ๆ การคาดการณ์และวางแผนการเติบโตของที่อยู่อาศัย ภายใต้กระบวนการวางแผนของชุมชนในอนาคต การกำหนดสัดส่วนของที่อยู่อาศัย ให้มีความหลากหลายและผสมผสานกัน เช่น บ้านครอบครัวใหญ่ , บ้านแฝด เป็นต้น การกำหนดเป้าหมายสำหรับผู้เป็นเจ้าของที่ดินเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายที่มีผลต่อราคาของที่อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อความเหมาะสมกับรายได้ของประชาชนในระดับต่าง ๆ เช่น สำหรับผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง รวมถึงการคำนึงความแตกต่างกันด้านอาชีพ เช่น เสมียนร้านค้า พนักงานร้านอาหาร ผู้ช่วยพยาบาลและครู เพื่อให้มีอยู่อาศัยและราคาที่เหมาะสมกับอาชีพนั้น
ภาพที่ 1 แสดงการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานและมุ่งเน้นการเดินเป็นหลัก
2. การส่งเสริมพื้นที่แหล่งงานและการเติบโตด้านอสังหาริมทรัพย์
นักผังเมืองจะทำการควบคุมและกำหนดโซนสำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมภายในชุมชน เช่น แหล่งที่ตั้งโรงงาน , แหล่ง ช๊อปปิ้งและแหล่งงานและกลุ่มอาคารสำนักงาน เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสม โดยการวางแผนทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อคาดการณ์ความต้องการและการสร้างโปรแกรมเพื่อส่งเสริมความสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และตามความต้องการของนายจ้าง รวมถึงการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพในชุมชน
ภาพที่ 2 แสดงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยโดยอาคารแนวตั้งตามความหนาแน่นของพื้นที่
3. การส่งเสริมการคมนาคมหลากหลายทางเลือก (เช่น ทางเดิน, ทางจักรยาน, ระบบขนส่งมวลชนและรถยนต์)
นักผังเมือง ต้องทำการศึกษาระบบการคมนาคมและขนส่งที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางภายในเมือง โดยเสนอแนะระบบที่เหมาะสมและสร้างตัวเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนภายในเมืองที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้จะต้องศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโดยคาดการณ์ในระดับการเติบโตของเมืองและภูมิภาค ให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง รวมถึงการคมนาคมขนส่งและการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและระบบอุตสาหกรรมภายในเมือง โดยการวางแผนการทำงานเพื่อสร้างระบบการขนส่งที่มีความสมดุลกับการอยู่อาศัย โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบขนส่งที่มีความยั่งยืน เช่น การออกแบบทางเดินและการขับขี่จักรยาน รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้เมืองประสบความสำเร็จไปสู่ความน่าอยู่และยั่งยืนมากขึ้น
ภาพที่ 3 แสดงระบบคมนาคมและขนส่งระหว่างเมือง
4. การส่งเสริมน้ำดื่มที่สะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค และการจัดการน้ำเสียภายในเมือง
นักผังเมืองจะต้องทำงานร่วมกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับเมือง โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยรองรับการขยายตัวของชุมชน เช่น ต้นทุนของท่อระบายน้ำ ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้นในท่อ รวมถึงการที่จะต้องบำรุงรักษามากขึ้นโดยผู้บริหารเมือง ในด้านการทำงานนักผังเมืองจำเป็นต้องคาดการณ์ความต้องการภายในชุมชน ถึงความเหมาะสมกับราคาที่ดินที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายของการให้บริการท่อน้ำทิ้งและน้ำใช้ โดยต้องทำงานร่วมกับวิศวกรด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพื่อวางแผนสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของเมืองในอนาคต
ภาพที่ 4 แสดงการจัดการฟื้นฟูน้ำเสียภายในเมือง (คลองชองเกชอน เกาหลีใต้)
5. การส่งเสริมให้มีพื้นที่กิจกรรมทางสังคมเพื่อการสร้างสรรค์
การวางแผนและผังเมือง จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับสวนสาธารณะแบบเปิดและสถานที่ศูนย์รวมชุมชน ให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย เช่น สวนสาธารณะ, สนามกีฬาและศูนย์ชุมชน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชุมชนเมือง โดยนักผังเมืองจะทำการศึกษาเพื่อการแจกแจงอายุของประชากรในปัจจุบัน ในการวางแผนสำหรับเมืองในอนาคต โดยคาดการณ์จากตัวเลขการเติบโตของเด็กในวัยเรียน กลุ่มต่าง ๆ ที่จะต้องมีการผสมผสานความแตกต่างของสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่เหมาะสมกับสัดส่วนของประชากร โดยการจัดการความเสมอภาคและความยุติธรรมของพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งภายในชุมชน
ภาพที่ 5 แสดงการส่งเสริมพื้นที่กิจกรรมทางสังคมใจกลางเมือง
6. การส่งเสริมการวางแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของชุมชน
นักผังเมือง ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการค้าขาย ที่อยู่อาศัย, ที่ทำงานและพื้นที่นันทนาการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงการออกแบบทางกายภาพของพื้นที่ในเมืองให้มีความสมบูรณ์ในปัจจัยเหล่านั้น สำหรับการออกแบบชุมชนเมืองจะเป็นการพิจารณาวิธีการกำหนดความสูงอาคารที่เหมาะสมกับขนาดของถนน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากเมือง แต่การวางผังเมืองจะช่วยสร้างกลไกและกฎระเบียบเกี่ยวกับการออกแบบทางกายภาพของชุมชน เพื่อกำหนดลักษณะของสถานที่ เพื่อให้สามารถดึงดูดหรือปฏิเสธการลงทุนที่ขัดต่อความต้องการของคนในชุมชนตามแผนที่วางไว้
ภาพที่ 6 แสดงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่า (เมืองอินชอน เกาหลีใต้)
7. การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
นักผังเมือง จะมุ่งเน้นไปที่การจัดระเบียบและส่งเสริมการพัฒนาชุมชน โดยมองกลวิธีที่จะเพิ่มความยุติธรรมทางสังคม ลดความยากจน โดย "สร้างชุมชนให้มีความสำคัญและการเติบโตที่เหมาะสม" สภาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน, 2009) วางแผนการทำงานในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่แต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลรายได้สูง ไปจนถึงผู้ที่มีรายได้ต่ำ และผู้ที่ประสบความยากจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ้างงานและรายได้ โดยพื้นที่การพัฒนานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในย่านใจกลางเมือง, ชานเมืองหรือชนบท จะส่งเสริมให้มีธุรกิจขนาดเล็กและสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างคุณภาพของที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่แพง โดยนักผังเมืองจะสร้างโปรแกรมสำหรับทางเลือก เพื่อให้มีความพร้อมด้านอาชีพและสนับสนุนทักษะการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของผู้อยู่อาศัยในชุมชน
ภาพที่ 7 แสดงการส่งเสริมการเดินภายในเมือง (Walkable City)
8. การส่งเสริมการประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายในเมือง
นักผังเมือง จะต้องศึกษาการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงาน เพื่อจะคาดการณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต และเพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ นอกจาก โรงไฟฟ้า, ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือการจัดเก็บปิโตรเลียม โดยการวางแผนในระดับขั้นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการระบุวิธีการที่ชุมชนสามารถลดความต้องการพลังงานและการวางแผนสำหรับบริหารจัดการแหล่งทรัพยากร เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนในอนาคต
ภาพที่ 8 แสดงการส่งเสริมการประหยัดพลังงานภายในเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชน
นอกจากหลักปฏิบัติทางด้านวิชาชีพที่นักผังเมืองจะต้องยึดถือทั้ง 8 ข้อแล้ว ทักษะที่สำคัญของการเป็นนักผังเมืองที่มักจะถูกถามอยู่เสมอ คือวิธีการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเมืองเพื่อเตรียมที่จะกลายเป็นนักวางแผนเมืองในอนาคต ด้านการศึกษานักผังเมืองจะต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน การสร้างผลประโยชน์และโอกาสสำหรับพื้นที่เมือง นักผังเมืองจะต้องมีทักษะด้านการวิจัย รวมทั้งความสามารถในการค้นหาข้อมูลวิเคราะห์และการข้อสรุปที่ถูกต้อง
บนพื้นฐานของการประชาสัมพันธ์ มีความสามารถในการสื่อสารทั้งการพูดและการเขียนเพื่อให้ผู้ฟังรับรู้และเข้าใจง่าย มีพื้นฐานจำเป็นด้านทักษะในการวิเคราะห์จำนวนประชากร และจำนวนของที่อยู่อาศัยจากหน่วยตัวเลขของระยะทางหรือของระบบขนส่งของเมืองโดยเฉพาะการเดินและการใช้จักรยาน นอกจากนี้รวมถึงภาระของประชาชนในการเสียภาษีทรัพย์สิน ส่วนนักผังเมืองสาขาอื่นในบางสาขา เช่น นักผังเมืองด้านคมนาคมจะมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการขนส่ง ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การวิเคราะห์นโยบาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะการทำงานกับมากกว่านักผังเมืองสาขาด้านการวางผังออกแบบ
กล่าวโดยสรุป
การเป็นนักผังเมืองหรือนักออกแบบชุมชนเมืองสมัยใหม่ จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ด้านความต้องการของสังคม เพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมุมมองและทัศนคติของกลุ่มคนแต่ละช่วงวัย ประสบการณ์ที่สำคัญของนักผังเมืองจึงเป็นการผนวกองค์ความรู้ความรู้สมัยใหม่ควบคู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อค้นหารูปแบบเมืองในอนาคตที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตสังคมเมืองยุคใหม่ แนวคิดการวางผังเมืองยุคใหม่อาจมีความขัดแย้งต่อกระแสระบบทุนนิยมที่กำลังรุนแรงมากขึ้นและปฏิเสธบางเรื่องที่ขัดต่อความยั่งยืนที่ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว
นักผังเมืองจำเป็นอาศัยประสบการณ์การพัฒนาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นบทเรียนพื้นฐาน นับตั้งแต่ช่วงเวลานี้วิชาชีพนักผังเมืองจะมีบทบาทต่อการแก้ไขลักษณะกายภาพเมืองในอนาคต นักผังเมืองยุคใหม่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะและความชำนาญให้มากขึ้น เพื่อสั่งสมประสบการณ์และพร้อมให้คำตอบถึงวิธีการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเมือง รวมถึงการสร้างผลประโยชน์และโอกาสในพื้นที่ตามความต้องการของชุมชนเพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืนในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
แปลจาก : American Planning Association.(2010).Becoming an Urban Planner: A Guide to Careers in Planning and Urban Design. (n.d ed.),United States of America .John Wiley & Sons.Inc
1 บันทึก
2
3
1
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย