8 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ทุพภิกขภัยมันฝรั่ง” วิกฤตขาดแคลนอาหารที่แย่ที่สุดในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 19
ในปัจจุบัน...โลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้นสวนทางกับค่าแรง ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารแพง ผักแพง น้ำมันแพง และวัตถุดิบต่างๆ ขาดแคลน เนื่องจากเกิดปัญหาในบางส่วนของซัพพลายเชนการผลิต
อันที่จริง วิกฤตขาดแคลนดังกล่าว ได้เคยเกิดขึ้นและทำลายเศรษฐกิจและชีวิตผู้คน มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตมันฝรั่งขาดแคลน การขาดแคลนแอลกอฮอล์ การขาดแคลนน้ำมัน มาจนถึงปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดนี้
วันนี้ Bnomics จะเล่าถึงวิกฤตมันฝรั่งขาดแคลนในประเทศไอร์แลนด์ ว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้นและผ่านวิกฤตมาได้อย่างไร
📌 ทุพภิกขภัยมันฝรั่ง: ฝันร้ายของประเทศไอร์แลนด์
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Great Famine) หรือ ทุพภิกขภัยมันฝรั่ง (Potato Famine) เป็นการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะมันฝรั่ง ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ในช่วงปี 1845 - 1852 และถือเป็นการกันดารอาหารที่แย่ที่สุดในยุโรป แห่งศตวรรษที่ 19
อนุสรณ์ทุพภิกขภัย (Famine Memorial) ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์
📌 ก่อนเกิดวิกฤติ: ยุครุ่งเรืองของมันฝรั่ง
ย้อนกลับไปก่อนเกิดวิกฤติ ชาวไอริชได้รู้จักกับมันฝรั่งครั้งแรกในปี 1589 หลังจากนั้นมันฝรั่งก็ค่อยๆเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในศตวรรษที่ 18 มันฝรั่งได้กลายเป็นอาหารหลักของคนในประเทศไอร์แลนด์ อย่างในช่วงต้นปี 1840 กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรก็กินมันฝรั่งเป็นอาหารหลักอย่างเดียวไปแล้ว
1
การพึ่งพามันฝรั่งเป็นอาหารหลัก บวกกับการที่มีสายพันธุ์มันฝรั่งในประเทศอยู่น้อยมาก ก็ทำให้ไอร์แลนด์นั้นเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารหลักเป็นอย่างมาก
1
📌 ฝันร้ายที่กลายเป็นจริง: โรคใบไหม้ในมันฝรั่ง
1
ในปี 1844 โรคใบไหม้ในมันฝรั่ง (Potato Blight) ซึ่งเกิดจากเชื้อราโอโอไมซีท หรือ ราน้ำ ได้เริ่มระบาดในเม็กซิโกและอเมริกาเหนือ และมาถึงไอร์แลนด์ในปีต่อมา
1
ไอร์แลนด์ถูกกระทบโดยการระบาดครั้งนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะที่อื่น เช่น สหรัฐฯ นั้นมีการเพาะปลูกพืชอื่นๆอีกมากมายไว้บริโภค แต่ในไอร์แลนด์ แม้จะมีการปลูกพืชและธัญพืชที่หลากหลาย แต่สินค้าเหล่านั้น ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อส่งออกไปขายที่อังกฤษเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้คนในประเทศ โดยเฉพาะคนในชั้นแรงงาน บริโภค
2
ซ้ำร้าย อากาศที่ค่อนข้างเย็นและชื้นในไอร์แลนด์ก็ยิ่งทำให้เชื้อราชนิดนี้แข็งแรงและแพร่กระจายได้เร็ว
สัดส่วนประชากรลดลงจากวิกฤตทุพภิกขภัยมันฝรั่ง (Potato Famine) ในประเทศไอร์แลนด์ช่วงปี 1845 - 1852
📌 เรื่องร้ายที่มาซ้ำเติม: รัฐบาลที่ช่วยอะไรไม่ได้
รัฐบาลไอร์แลนด์ในตอนนั้น ซึ่งมีประธานาธิบดีคือ คุณรอเบิร์ต พีล (Robert Peel) ยังคงเพิกเฉยเมื่อมีรายงานเรื่องการระบาดครั้งแรก เนื่องจากไอร์แลนด์เคยเจอโรคระบาดในมันฝรั่งมาแล้ว แต่การระบาดในครั้งนั้นไม่ค่อยรุนแรงเท่าไร
แต่แล้วเมื่อคนกว่า 10,000 คนเริ่มล้มตายจากความอดอยากในปี 1846 รอเบิร์ต พีล ได้พยายามนำเข้าธัญพืชเป็นจำนวนมากจากอเมริกา แต่ก็พบอุปสรรคจากกฎหมาย Corn Laws ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศมาขายภายในประเทศ และแม้จะมีการพยายามแก้กฎหมายแล้ว แต่ก็เจอกับการต่อต้านภายในรัฐบาลอยู่ดี
ดังนั้น รอเบิร์ต พีล จึงได้แค่จัดทำโปรแกรมจัดจ้างงานสาธารณะ เพื่อให้คนมีรายได้พอซื้ออาหาร ซึ่งโปรแกรมนี้อยู่ได้ไม่นานเพราะ รอเบิร์ต แพ้การเลือกตั้งให้กับ จอห์น รัสเซลล์ (John Russell) ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา
1
แม้รัฐบาลภายใต้การนำของ จอห์น รัสเซลล์ จะยังคงมีการจัดจ้างงานสาธารณะอยู่บ้าง แต่รัฐบาลนี้เชื่อมั่นในกลไกของตลาดเสรี คือ เชื่อว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรจะคลี่คลายได้เอง หากรัฐบาลแทรกแซงน้อยที่สุด จึงไม่ค่อยได้ออกมาตรการช่วยเหลืออะไรมาเพิ่มเติม
1
ในปี 1847 รัฐบาลได้ยุบโปรแกรมการจ้างงานที่ล้มเหลวทั้งหมด และได้ออกมาตรการแจกซุปฟรีตามห้องครัวแทน แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะมีคนที่ต้องการอาหารเยอะเกินไป ถึงขนาดที่ครัวบางที่ต้องเสิร์ฟซุปให้กับคนมากถึง 10,000 คน
และแม้จะมีองค์กรอิสระบางองค์กรอย่าง Quakers ที่ได้พยายามรวบรวมข้าวของและเงินบริจาคมาช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่การกันดารอาหารที่นานกว่า 1 ปี ก็ทำให้เงินบริจาคค่อยๆ หมดไป
1
📌 ผลลัพธ์ที่น่าสลดใจ: ความตาย การอพยพ และการประท้วง
1
จากความกันดารทางอาหารที่เกิดขึ้น มีคนกว่า 1 ล้านคนที่เสียชีวิตจากการขาดอาหารและโรคที่เกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหาร อันที่จริง มีคนตายมากเสียจนโลงศพนั้นเป็นสิ่งขาดแคลนและมีราคาสูง
2
เหมือนอย่างที่นักข่าวชาวอังกฤษ เจมส์ มาโฮนี (James Mahoney) ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมไอร์แลนด์ในช่วงนั้นได้บรรยายไว้ว่า เขาได้เห็นบ้านเกือบทุกหลังมีคนตายนอนอยู่ในบ้านโดยปราศจากการทำพิธีใดๆ และได้เห็นหญิงชาวไอริชเดินอุ้มศพลูกไปตามถนน เพื่อขอเงินคนที่ผ่านไปมาไปซื้อโลงศพให้ลูก
2
นอกจากนั้น คนที่เหลืออีกเกือบสองล้านคนก็ได้พยายามอพยพไปประเทศอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ อย่างในปี 1841-1850 นั้น เกือบครึ่งหนึ่งของผู้อพยพที่ไปอเมริกาทั้งหมดก็มาจากไอร์แลนด์
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้อพยพเหล่านี้จะได้ดีกันทุกคน เพราะเรือที่นั่งไปนั้นแออัด และเต็มไปด้วยโรคระบาด มีคนตายระหว่างทางมากมายจนเรือเหล่านี้ได้ชื่อว่า “เรือโลงศพ” (Coffin Ships)
1
นอกจากนี้ ความอดอยากที่ยาวนานก็ได้ก่อให้เกิดกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า “Young Irelanders” ที่ได้มีการปะทะกับตำรวจอย่างรุนแรงโดยการยิงปืนใส่กันในปี 1848 ก่อนกลุ่มนี้จะสลายตัวไป
1
📌 ตอนจบของฝันร้าย
วิกฤตครั้งนี้กินเวลาถึง 10 กว่าปี การกันดารอาหารก็จบลงในปี 1852
3
แม้หลายคนจะบอกว่านี่เป็นเพราะไอร์แลนด์ค่อยๆ กลับมาปลูกพืชผลได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่นักวิชาการหลายคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ปัญหาคลี่คลายจริงๆ คือ จำนวนประชากรที่ลดลงจากการเสียชีวิตและการอพยพ
1
ดูจากที่ตัวเลขประชากรที่มีประมาณ 8 ล้านคนในปี 1841 เมื่อเริ่มวิกฤต และได้ลดลงไปแตะ 6.5 ล้านคนในปี 1851
จำนวนประชากรของประเทศไอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 1800 - 2000
หลังจากนั้นอีก 10 กว่าปีต่อมา จำนวนประชากรก็ยังคงลดลงเรื่องจากการอพยพและอัตราการมีลูกที่น้อยลง จนในปี 1921 จำนวนประชากรลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 1840
การขาดแคลนมันฝรั่งในประเทศไอร์แลนด์ก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในการตึงตัวของอุปทานที่ส่งผลอันใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ในบทความหน้า Bnomics จะพาไปดูเรื่องราวการขาดแคลนของประเทศไหนอีก อย่าลืมติดตามกันนะคะ
#วิกฤตขาดแคลน #thegreatfamine
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : The Hulton Archive / Getty Image
โฆษณา