8 พ.ย. 2021 เวลา 14:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดท่องเที่ยว กำลังเปลี่ยนไป
1
แม้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยหลักพันคนต่อวันโดยเฉลี่ยนับจากดีเดย์ เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการคลี่คลาย หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถูกปกคลุมจากวิกฤติโควิดมาเกือบ 2 ปี นับจากโควิด-19 โผล่มาทักทายคนไทยเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะหายไปอย่างเฉียบพลันเมื่อทุกประเทศปิดพรมแดน ปิดน่านฟ้า เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19
5
ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน ที่โควิดระลอกแรกในบ้านเราพีคสุด ๆ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยแม้แต่คนเดียว ซึ่งต่างจากปี 2562 อย่างสิ้นเชิง ที่เดือนหนึ่ง ๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเฉลี่ย 3 ล้านคน ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 6.7 ล้านคน (จากเดิมคาดว่าจะทะลุ 40 ล้านคน) ส่วนปี 2564 ที่กำลังจะจบให้อีกเดือนเศษข้างหน้า ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าตัวเลขไว้ 7 แสนคน รวมอานิสงส์จากผลเปิดเมือง
2
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นดาวเด่นของภาคเศรษฐกิจ เป็นเครื่องจักรทำหน้าที่สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โควิด-19 ระบาดจากจีนและลามไปทั่วโลกในชั่วเวลาไม่กี่เดือน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในสภาพเหมือนคนล้มทั้งยืน เมื่อนักท่องเที่ยวหายไปอย่างฉับบพลัน จากที่เคยฝันว่าจะมีรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาทในปี 2563 เหลือแค่ 3.3 แสนล้านบาท หายไป 82% โดยประมาณ
3
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เปลี่ยนจากจุดแข็งมาเป็นจุดอ่อนให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าหลาย ๆ ประเทศ เพราะภาคเศรษฐกิจเราพึ่งพาท่องเที่ยวมากกว่าชาวบ้าน
2
แต่หน้าตาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังรีสตาร์ทอยู่ตอนนี้คงต่างไปจากเดิมพอสมควร เพราะโควิด-19 ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การเดินทางยุคนี้มีรายละเอียดและเงื่อนไขเยอะ ทั้งเรื่องฉีดวัคซีนครบโดส ความสามารถทางการเงิน วิธีป้องกันตัวเองระหว่างเดินทาง ขั้นตอนการเข้าประเทศ ฯลฯ
1
ตลาดกรุ๊ปทัวร์เป็นหมู่คณะที่เราเคยเห็นจนชินตาในช่วงก่อนหน้าแทบจะไม่มีโอกาสกลับมาเลยในเร็ววันนี้ ทิวทัศน์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไป ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการทำตลาดเพื่อหาลูกค้าด้วย
1
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ไปปาฐกถาหัวข้อ “Boost UP เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาของค่ายมติชน ได้พูดถึงเรื่องแนวทางการทำตลาดท่องเที่ยวยุคหลังโควิดว่าต้องมุ่งไปที่กลุ่มอยู่ยาวไม่ใช่ “นักท่องเที่ยวระยะสั้น” เช่นที่ผ่าน ๆ มา โดยยกเหตุผลการทำตลาดแบบเดิม ต้องนำนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน เพื่อแสวงหารายได้ 2 ล้านล้านบาท และต้องแลกกับ “ต้นทุนแฝง” ทั้งเรื่องสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อม
3
” ….จึงอยากทำการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยว ยกระดับการท่องเที่ยวที่มีจำนวนน้อย แต่สร้างรายได้ และมูลค่าให้กับประเทศได้ทัดเทียมกับการพึ่งพานักท่องเที่ยวระยะสั้นได้หรือไม่….. ” รองนายกฯ สุพัฒน์พงษ์ กล่าวตอนหนึ่ง และยืนยันด้วยว่า โอกาสทำตลาดดึงต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวนั้น “มี” เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายเข้ามาพำนักระยะยาว
2
โดยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้กับชาวต่างชาติที่สนใจพำนักระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี ดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อเดือน รวมเป็นกว่า 1 ล้านบาทต่อปี จะทำให้ไทยมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี เป็นรายได้ครึ่งหนึ่งของที่เราเคยได้ และต้องอาศัยจากนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
2
รองนายกฯ ยังบอกด้วยว่า กลุ่มคนที่จะดึงเข้ามาเป็นกลุ่มคนคุณภาพ ฐานะดี และพร้อมต่อยอดธุรกิจ อุตสาหกรรมให้มาอยู่เมืองไทย รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังมีพลัง หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ บริษัทใหม่ ๆ ที่ประสงค์ให้พนักงานมาอยู่ในประเทศที่สอง ซึ่งไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะอยู่ในสถานที่เดียวกัน สามารถไปพำนักในประเทศที่สองได้
1
ส่วนต่างชาติ (ที่มีเงิน) ที่ประสงค์เข้ามาอยู่ยาวในไทย ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ อาทิ ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ราว 16.6 ล้านบาทเศษ) กลุ่มคนเกษียณต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนเหรียญสหรัฐฯ กรณีต้องการทำงานจากประเทศไทย ต้องมีรายได้จากการลงทุนปีละ 8 หมื่นเหรียญสหรัฐฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และต้องจบปริญญาโท ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไทยมอบให้ เช่น วีซ่าพร้อมครอบครัว ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ เป็นต้น (รายละเอียดเพิ่มเติมหาดูได้จากมติครม. 14 ก.ย. 64)
2
นอกจากแผนดึงคนมีเงินมาอยู่ยาวในไทยแล้วก่อนหน้านี้ ศบค.ยังมีเป้าหมายยกระดับจังหวัดภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร จะใช้เวลากี่ปี ? แต่โดยรวม ๆ แล้วสรุปได้ว่า รัฐบาลหวังเต็มที่ที่จะหารายได้ด้วยการดึงต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายสูงถึง 1 ล้านคนและสร้างรายได้ 1.1 ล้านล้านบาท ถือเป็นการเปลี่ยนตลาดท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ จากช่วงก่อนโควิดกรุ๊ปทัวร์ คือ ตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทย มาเป็นตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ส่วนจะบรรลุเป้าหมายขนาดไหน หรือไม่อย่างไร คงต้องดูกันต่อไป เพราะการทำตลาดคนมีเงินไม่ง่ายและเป็นตลาดที่ทุกประเทศหมายปองในช่วงเร่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด
3
แต่ประเด็นเชิงนโยบายที่ยังไม่เห็นรัฐบาลขับเคลื่อนหรือพูดถึง คือ การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจไม่ให้พึ่งพาด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจพึ่งภาคท่องเที่ยวมาก สัดส่วนประมาณ 11% ของจีดีพี เมื่อโควิดระบาดทำลายการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยจึงเจ็บลึกกว่าเพื่อนบ้าน พอโควิดคลี่คลายแต่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เศรษฐกิจของเราก็ฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้าน ในสภาพเดียวกันนั้นยังพบเห็นได้จากเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย ฯลฯ ที่เศรษฐกิจพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อนักท่องเที่ยวหายไปแบบฉับพลันไม่ทันได้ตั้งตัว และสถานการณ์ยืดเยื้อข้ามปี เศรษฐกิจของเมืองท่องเที่ยวดังกล่าวก็อยู่ในสภาพแทบล้มทั้งยืนเช่นกัน
3
การจัดการเศรษฐกิจอย่างสมดุลไม่พึ่งพาด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป คือ แนวทางที่รับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี อย่าลืมว่าถึงโควิดจากไป ในไม่ช้าเชื้อตัวใหม่ก็จะปรากฎตัว ตามสถิติโรคระบาดเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจระดับคร่าชีวิตมุนษย์ในทุก 10 ปีเศษ ๆ จะมาปรากฎตัวเขย่าขวัญครั้งหนึ่ง อาจเป็นการระบาดในระดับประเทศหรือภูมิภาค และทุก 100 ปีเศษไวรัสจะจัดเต็มในระดับโลกครั้งหนึ่ง เช่น โรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่เราเผชิญกันอยู่เวลานี้
1
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา