Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2021 เวลา 01:37 • หนังสือ
วิทยาศาสตร์ผิดได้หรือไม่?
(เขียนโดย กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ)
หลายคนๆกล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นใจว่า วิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่เที่ยงแท้เชื่อถือได้กับเรา
บางคนเชื่อว่า หากไม่มีวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่สามารถมีความรู้ที่แน่นอนเกี่ยวกับเอกภพได้และ บ่อยครั้งเรามักพบเจอกับผู้คนที่แสดงความรู้สึกอุ่นใจพร้อมจะน้อมรับเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทบจะทันทีเพียงได้ยินประโยคที่ว่า “เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว”
แต่เราแน่ใจอย่างนั้นได้อย่างไร?
วิทยาศาสตร์แสวงหาความรู้ผ่านการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (induction)เพื่อให้เข้าใจแก่นของการใช้เหตุผลแบบอุปนัย ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
ที่มา :Britanica
สมมติเราไปซื้อไข่ไก่จากร้านสะดวกซื้อมาหนึ่งกล่องซึ่งมีไข่ทั้งหมด 12 ฟอง หลังจากซื้อมาเราพบว่า มีไข่11 ฟองเน่า และเราเห็นว่า ไข่ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในกล่องที่ระบุวันหมดอายุวันเดียวกัน เราจึงสรุปว่า ไข่ใบที่ 12 น่าจะต้องเน่าด้วยเป็นแน่
นี่คือตัวอย่างของการใช้เหตุผลแบบอุปนัย กล่าวคือมันเป็นการอนุมาน(inference) จากตัวอย่างที่เรามีหรือสิ่งที่เราสังเกตได้จำนวนหนึ่งไปสู่สิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เคยสังเกตเห็นแต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า ไข่ใบที่ 12 จะเน่าด้วย จริงอยู่ที่ไข่ 11 ฟองในกล่องเน่า และทั้งหมดอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ระบุวันหมดอายุวันเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยยืนยันว่า ไข่ใบที่ 12 จะต้องเน่าเหมือน 11 ฟองแรก เพราะมันยังมีความเป็นไปได้ที่ไข่ใบสุดท้ายจะไม่เน่า
พวกเราต่างคุ้นเคยกับการใช้เหตุผลแบบอุปนัยเป็นอย่างดี
ที่มา : Wikipedia
ทำไมเรามักสั่งเมนูอาหารจานเดิมในร้านอาหารแห่งเดิม นั่นเป็นเพราะการใช้เหตุผลแบบอุปนัยบอกเราว่า เราเคยมากินข้าวที่ร้านแห่งนี้มาก่อน คราวที่แล้วเราสั่งเมนูนี้กินอร่อยดี มาคราวนี้ มาร้านเดิม แม่ครัวก็คนเดิม เมนูนี้ก็น่าจะยังอร่อยอยู่เหมือนคราวก่อนเราเลยตัดสินใจสั่งเมนูเดิมแต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า อาหารเมนูเดิมจากร้านนี้จะยังอร่อยเหมือนคราวก่อน?
ที่มา : Wikipedia
หรือเวลาที่เราเลือกเดินทางกับสายการบินหนึ่งเพราะเห็นว่าเครื่องบินของสายการบินนี้ไม่เคยตกเลยสักลำ มันต้องปลอดภัยแน่ๆ แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า เครื่องบินของเที่ยวบินที่เราจองมันจะไม่ตก?
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกวางอยู่บนการใช้เหตุผลแบบนี้
ยารักษาอาการเจ็บคอสูตรใหม่ถูกนำไปทดสอบกับอาสาสมัครผู้มีอาการเจ็บคอจำนวน 5,000 คน หลังจากได้รับยา อาสาสมัครทุกคนหายเจ็บคอหมด การทดสอบนำไปสู่ข้อสรุปว่า ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บคอ แต่นี้เป็นการสร้างข้อสรุปโดยอาศัยข้อมูลที่เรามีอยู่อย่างจำกัด เป็นข้อมูลเพียงน้อยนิดที่เราเก็บได้แล้วเราแน่ใจได้อย่างไรว่า ยาชนิดนี้จะรักษาอาการเจ็บคอของอาสาสมัครคนที่ 5,001ได้
เดวิด ฮูม (David Hume, 1711-1776) ที่มา : Wikipedia
เดวิด ฮูม (David Hume, 1711-1776) นักปรัชญาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นนักปรัชญาคนแรกที่มองเห็นปัญหาของการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (problem of induction) ฮูมตั้งคำถามว่า “เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พรุ่งนี้พระอาทิตย์จะยังขึ้น?” เรามักตอบโดยอาศัยการใช้เหตุผลแบบอุปนัยว่า เราสามารถมั่นใจได้ว่า พระอาทิตย์จะยังคงขึ้นในวันพรุ่งนี้ เพราะมันขึ้นมาแล้วเป็นเวลาหลายล้านปี และเราเชื่อในความสม่ำเสมอเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมชาติ(uniformity of nature)
เราให้เหตุผลว่า มันเคยขึ้นมาสม่ำเสมอในอดีตก็ย่อมแปลว่ามันจะยังคงขึ้นต่อไปในอนาคตแต่สำหรับฮูม นี่ไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอสำหรับการยืนยันให้เชื่อเช่นนั้น เพราะเราไม่เคยเห็นความสม่ำเสมอของธรรมชาตินั้นทั้งหมด
ที่มา : https://www.johnmccaskey.com/uniformity-principle/
เราสังเกตเห็นมันแค่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้การสรุปว่ามันสม่ำเสมอไม่มีน้ำหนัก และการที่ในอดีต เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีต ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ในอนาคต เหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีต
การที่พระอาทิตย์ขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายล้านปีไม่ได้ยืนยันว่าพรุ่งนี้มันจะยังคงขึ้น
นี่ย่อมหมายความว่า วิทยาศาสตร์มีโอกาสผิดได้
แล้วอย่างนี้ มันจะเป็นแหล่งที่มาของความรู้อันเที่ยงแท้ได้อย่างไร?
หรือ แท้จริงแล้ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถผิดได้ และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลลัพธ์คือการทำให้เราเข้าใกล้ความจริงเกี่ยวกับโลกและเอกภพมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะมาคุยกันถึงประเด็นนี้ในบทความต่อไป...
อ้างอิง
Ladyman, J. (2002) Understanding Philosophy of Science, London: Routledge.
Okasha, S. (2002) Philosophy of Science: A Very Short Introduction, Oxford: Oxford University Press.
12 บันทึก
26
4
4
12
26
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย