9 พ.ย. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีครั้งใหญ่ของโลก 🌎
จุดจบการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ
.
5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ จำนวนภาษีนิติบุคคลที่รัฐบาลทั่วโลกสูญเสียไปทุกปี จากการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ Tax Haven
3
รายได้มหาศาลของรัฐบาลที่หายไปนี้ สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศได้หลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตอย่าง ตอนนี้ รัฐบาลทั่วโลกยิ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูประเทศและต่อกรกับโควิด
1
ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของโลกรอบนี้จึงสำคัญมาก เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ลดการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ และดึงรายได้กลับเข้าสู่หลายประเทศ
1
ในทางกลับกัน เมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ บริษัทที่เคยได้รับประโยชน์จากการเลี่ยงภาษีจะต้องจ่ายภาษีเยอะขึ้น ส่วนประเทศในกลุ่ม Tax Haven ก็จะสูญเสียรายได้สำคัญไป
4
เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร? ไปอ่านกันเลยกับ Macro Snap
1
【Tax haven ดินแดนสวรรค์ของการเลี่ยงภาษี 】
บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มีวิธีมากมายในการเลี่ยงภาษี โดยอาศัยจุดอ่อนและช่องโหว่ทางภาษีของหลายๆประเทศ และวางแผนภาษีให้บริษัทเสียภาษีน้อยที่สุด
ถึงแม้คำว่า “เลี่ยงภาษี” จะฟังดูไม่ค่อยขาวสะอาดสักเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้ววิธีเหล่านี้ถูกกฎหมาย
4
โดยปกติแล้ว ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีอัตราภาษีไม่เท่ากัน บริษัทข้ามชาติเหล่านี้จึงไปเปิดสาขาที่ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ และโยกกำไรไปยังสาขานั้น เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ แทนที่จะเสียภาษีแพงๆ ในประเทศที่ดำเนินกิจการจริงๆ (ขั้นตอนจริงซับซ้อนกว่านี้มาก)
1
แล้วแบบนี้บริษัทไหนจะอยากเสียภาษี 21% ที่อเมริกา หรือเสียภาษี 30% ที่เยอรมนี แน่นอนว่าบริษัทข้ามชาติที่มีกำไรเยอะก็ต้องหาทางหนีไปเสียภาษีที่หมู่เกาะ British Virgin, Bermuda และ Cayman ที่เสียภาษี 0% อยู่แล้ว
3
เพราะแบบนี้ ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำจึงถูกเรียกว่า “Tax haven” หรือก็คือ ดินแดนสวรรค์ของการเลี่ยงภาษี นั่นเอง
และจากการคาดการณ์ของ IMF การเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ Tax Haven ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีนิติบุคคลมากถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่า GDP ประเทศไทยเลยทีเดียว
2
ทั้งนี้ การเลี่ยงภาษีที่ Tax Haven มีมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว และนอกจากหมู่เกาะที่เล่าไป ประเทศที่เรารู้จักกันดีหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และ สิงคโปร์ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็น Tax Haven เหมือนกัน
2
เพราะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหรือมีกฎหมายที่เอื้อต่อการเลี่ยงภาษี เพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาเปิดสาขาในประเทศตนเอง
2
นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยียิ่งทำให้รัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีได้ยากขึ้น เพราะบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายสามารถเข้าไปให้บริการในต่างประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องตั้งบริษัทในต่างประเทศนั้นๆ ทำให้การโยกย้ายกำไรทำได้ง่ายกว่าเดิม
2
ตัวอย่างเช่น Facebook, Google, และ Netflix สามารถเข้ามาให้บริการคนไทย โดยไม่ต้องเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยด้วยซ้ำ
1
ทุกวันนี้ ค่าโฆษณาของ Facebook ในไทย ถ้าดูในใบเสร็จจะพบว่าเราจ่ายเงินให้กับ Facebook ในไอร์แลนด์ และ Netflix ที่เราดูกันอยู่ทุกวันก็เช่นกัน เราจ่ายเงินตรงไปที่ Netflix สิงคโปร์เลย
4
พอไม่มีสาขาในไทย ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ ทั้งๆที่การใช้บริการเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน
1
เมื่อปัญหาการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติดูจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงนำไปสู่ความร่วมมือของรัฐบาลระดับนานาชาติเพื่อแก้ปัญหานี้ และได้ข้อสรุปออกมาเป็น ข้อตกลงภาษีขั้นต่ำทั่วโลก
7
【ข้อตกลงภาษีขั้นต่ำทั่วโลก】
การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีครั้งใหญ่ระดับโลกได้เกิดขึ้นแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ
ข้อตกลงนี้ได้รับความเห็นชอบจาก 136 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของ GDP โลก และผ่านการรับรองด่านสุดท้ายจากกลุ่มประเทศ G20 แล้ว ในวันที่ 30 ตุลาคม 2021
2
โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป
 
ซึ่งประเด็นสำคัญของข้อตกลงภาษีขั้นต่ำทั่วโลก มีอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้
2
1) กำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15%
ประเทศทั่วโลกจะต้องเก็บภาษีนิติบุคคลอย่างน้อย 15% และจะมีผลกับบริษัทที่มีรายได้ 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
1
ซึ่งจะทำให้ Tax Haven ที่เคยใช้อัตราภาษีต่ำกว่า 15% เพื่อดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศ จะไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป
5
2) เก็บภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้
1
กุญแจสำคัญของข้อตกลงนี้ คือ การให้สิทธิการเก็บภาษีแก่ประเทศที่บริษัทข้ามชาติดำเนินกิจการอยู่และมีกำไร แทนประเทศที่บริษัทบริษัทตั้งสำนักงานอยู่
2
ซึ่งจะมีผลกับบริษัทที่มีรายได้ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไร 10% ขึ้นไป
โดย 25% ของกำไรบริษัท ส่วนที่มากกว่า 10% จะถูกแบ่งไปให้ประเทศที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้
1
ข้อนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการและมีรายได้ในประเทศ โดยที่ไม่ได้ตั้งสำนักงานในประเทศนั้น และไปเสียภาษีในอีกประเทศหนึ่งที่เสียภาษีถูกกว่า
2
【ผลของการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีครั้งนี้】
จากการคาดการณ์ของ OECD คาดว่าการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ (ข้อ 1) จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีนิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
2
และการเก็บภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้ (ข้อ 2) จะทำให้กำไรของบริษัทข้ามชาติกว่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลกลับเข้าสู่ประเทศแหล่งที่มาของรายได้
ส่วนผู้ที่จะได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้แก่
1
1) บริษัทข้ามชาติจะกำไรลดลง
เมื่อเริ่มใช้ข้อตกลงภาษีนี้ในปี 2023 บริษัทข้ามชาติที่เคยเลี่ยงภาษีจะต้องบอกลา Tax Haven และไปเสียภาษีอัตราสูงๆ ในประเทศแหล่งที่มาของรายได้แทน ซึ่งการเสียภาษีเพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรจำนวนมากของบริษัทหายไป
3
และคาดว่าจะมีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ เพราะจากข้อมูลของ The Economist พบว่า ในปี 2018 เกือบครึ่งหนึ่งของกำไรจากบริษัทข้ามชาติถูกโอนไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ
1
ทั้งนี้ บริษัทที่จะโดนหนักกว่าเพื่อนน่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพราะแค่ด่านแรกคือภาษีขั้นต่ำ 15% บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั้ง 6 ของอเมริกา ก็ไม่รอดไปแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ Amazon, Facebook, Apple และ Netflix
4
จากข้อมูลของ S&P Global ทั้ง 4 บริษัทนี้เสียภาษีในปี 2020 ต่ำกว่า 15% โดย Amazon เสียภาษีไปเพียง 11.8% เท่านั้น ทั้งๆที่อัตราภาษีนิติบุคคลของอเมริกาคือ 21%
หลังจากที่เจ็บจากด่านแรกไปแล้ว บริษัทเทคฯ ที่เคยโยกกำไรไปยัง Tax Haven อย่างง่ายดาย ยังต้องมาเจอด่าน 2 คือการไปเสียภาษีอัตราสูงๆ ในประเทศแหล่งที่มาของรายได้อีก งานนี้ไม่รู้ว่าจะทำให้กำไรของบริษัทหายไปเท่าไหร่
2) ประเทศที่ได้ประโยชน์
1
ประเทศที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ จากการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายครั้งนี้ คือ ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาขายสินค้าหรือให้บริการเยอะ แต่กำไรส่วนใหญ่ถูกดึงไปรับรู้ที่ประเทศอื่น
ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา
ตอนต้นปีนี้ มีการเปิดเผยว่า บริษัทรองเท้าสุดฮิตอย่าง Nike ที่มียอดขายในอเมริกาเยอะมาก กลับไม่ได้เสียภาษีให้อเมริกาในปี 2020 ทั้งๆที่บริษัทก็ไม่ได้ขาดทุน
นอกจากนี้ยังมีบริษัทขนาดใหญ่อีกมากกว่า 50 บริษัทใน S&P 500 ที่มีกำไรในปี 2020 แต่ไม่ได้เสียภาษีให้อเมริกาเลยสักดอลลาร์ และบางบริษัทยังสามารถขอคืนภาษีได้อีกด้วย
3) ฝันร้ายของ Tax Haven
2
ในขณะที่หลายประเทศกำลังยิ้มรับรายได้มหาศาลที่กำลังจะไหลเข้ามา แต่นี่กลับเป็นฝันร้ายของ Tax Haven
1
กลุ่มแรก คือ หมู่เกาะ British Virgin, Bermuda และ Cayman ที่เคยใช้ภาษี 0% ดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาเปิดสาขา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกระทบโดยตรงต่อรายได้หลักของหมู่เกาะ ซึ่งเป็นรายได้จากค่าบริการที่เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทและการดำเนินการต่างๆของบริษัท
กลุ่มต่อมา คือ ประเทศอื่นที่เก็บภาษีต่ำกว่า 15% เพื่อดึงให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น ไอร์แลนด์และฮังการี
1
และสุดท้าย คือ Tax Haven ประเทศอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, สิงคโปร์ และฮ่องกง
1
ถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะรอดจากการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้อยู่ดี
โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ รายได้จากภาษีนิติบุคคลจะลดลง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ อาจไม่สามารถดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้มาลงทุนในประเทศอีกต่อไป
1
สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีโลกครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาษี
2
วิธีการเลี่ยงภาษีแบบเดิมๆ ของบริษัทของข้ามชาติจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ในขณะที่บางประเทศกำลังดีใจที่จะเก็บภาษีได้เยอะขึ้น
1
แต่บางประเทศกลับกำลังปวดหัวว่าจะจัดการกับผลกระทบที่จะตามมายังไง
4
.
ถ้าโลกนี้ยังหมุนอยู่ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
1
และในทุกๆการเปลี่ยนแปลงมักจะมีทั้งผู้ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบอยู่เสมอ
1
สิ่งสำคัญ คือ ใครจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดีกว่ากัน เพราะบางครั้งผู้ที่เสียเปรียบอาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและกลายมาเป็นผู้ชนะก็ได้
อย่าลืมว่า “ในทุกๆวิกฤตมักจะมีโอกาสอยู่เสมอ” 😊
1
ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ Macro Snap
เปลี่ยนเศรษฐศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับนักลงทุน
Sources :
1
โฆษณา