Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2021 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“แอลกอฮอล์ขาดแคลน” ในสหรัฐฯ : ฝันร้ายของนักดื่มจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่ไทยกำลังจะเปิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้แล้วหลังจากที่ศบค.ได้ออกคำสั่งให้งดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว แต่ในบางรัฐของสหรัฐฯ ตอนนี้ กำลังเผชิญกับปัญหาในซัพพลายเชนของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตั้งแต่ว่าการผลิตต้องใช้เวลานาน
ผู้ผลิตก็ต้องคาดการณ์ความต้องการผู้บริโภคก่อนถึงจะผลิตได้ ไหนจะแหล่งผลิตขวดแก้ว ค่าขนส่งระหว่างประเทศแพงขึ้น และการจะขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปตามบาร์ ตามร้านอาหารก็ชะงักอีกเพราะขาดแคลนคนขับรถบรรทุก จนถึงขนาดที่ในรัฐเวอร์จิเนียมีข้อบังคับว่าประชาชนสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียงคนละขวดต่อวันเท่านั้น
เรื่องราวการขาดแคลนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเกือบร้อยปีก่อน เพียงแค่สาเหตุที่ทำให้แอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งที่หายากในอดีตกับปัจจุบันนั้นแตกต่างกัน
📌 แล้วอะไรคือ สาเหตุให้แอลกอฮอล์ขาดแคลนในอดีต?
เมื่อปี 1920 สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ เนื่องจากมองว่าจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรม การคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาทางสังคม ช่วยลดภาระทางภาษีที่จะต้องจัดสรรไปให้เรือนจำ และช่วยให้คนอเมริกันมีสุขภาพที่ดี จึงได้ห้ามการผลิต นำเข้า ขนส่ง และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่เนื่องจากกฎหมายนั้นควบคุมที่ซัพพลายเชนการผลิตแอลกอฮอล์ ไม่ได้ห้ามการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นก่อนที่กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ ชนชั้นสูงและคนที่พอจะมีเงินหลายๆ คนก็จึงรีบไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากักตุนไว้ที่บ้านจนทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมดเกลี้ยงทั้งร้านขายปลีกและขายส่ง ถึงขนาดที่ว่าประธานาธิบดี Woodrow Wilson ขนย้ายคลังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังบ้านพักส่วนตัวที่วอชิงตันหลังจากหมดวาระ ส่วนคุณ Warren G. Harding ประธานาธิบดีคนต่อมา ก็ได้ย้ายคลังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตนไปไว้ในทำเนียบขาวแทนเมื่อรับตำแหน่ง
📌 ผลที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐทำให้แอลกอฮอล์ขาดแคลน
ในตอนนั้นความเห็นถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ระหว่างฝั่งที่สนับสนุนให้ควบคุมแอลกอฮอล์ กับฝั่งที่ต่อต้านการควบคุมแอลกอฮอล์ ทางด้านฝ่ายสนับสนุนนำโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันคือ คุณ Irving Fisher และคุณ Clark Warburton ที่กล่าวว่าการควบคุมแอลกอฮอล์นี้ช่วยให้ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปีลดลง โดยคุณ Irving Fisher ได้อ้างอิงจากข้อมูลราคาขายปลีกของแอลกอฮอล์ว่าการควบคุมแอลกอฮอล์ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และปริมาณการบริโภคลดลง (ตามกฎอุปสงค์)
ประมาณการปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อคนในปี 1900 - 1975
อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างเช่นนั้นอาจไม่ถูกทั้งหมด เนื่องจากในขณะนั้นเกิดการผลิตและจัดจำหน่ายเหล้าผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ บาร์ลับๆ ที่เรียกว่า “Speakeasies” หรือ “Blind Pigs” เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในตอนปลายทศวรรษนั้นประมาณว่ามีร้านเหล่านี้กว่า 200,000 ร้าน และมีการทำเหล้าเพื่อบริโภคกันเองในครัวเรือนเรียกว่า Moonshine
Speakeasies
การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตลาดมืดนี้ส่วนใหญ่จะนิยมผลิตแบบที่แอลกอฮอล์แรงๆ อย่างเช่น วิสกี้ ไปเลย แทนที่จะแอบผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบาๆ และเทอะทะอย่างเบียร์ เนื่องจากต้นทุนของการถูกจับสูงกว่า ในขณะนั้นราคาแอลกอฮอล์จึงพุ่งสูงมาก อาทิ เบียร์ ราคาขึ้น 700% ในขณะที่ตระกูลเหล้าสปิริต (เช่น วิสกี้) นั้นราคาขึ้นเพียง 230% จึงส่งผลให้เกิดการบริโภคเหล้าสปิริตมากกว่าก่อนที่มีจะการควบคุมแอลกอฮอล์เสียอีก
แล้วด้วยความที่แอลกอฮอล์ยังถูกกฎหมายอยู่ในประเทศใกล้เคียงสหรัฐฯ อย่างแคนาดา เม็กซิโก และหมู่เกาะแคริบเบียน นักดื่มชาวอเมริกันบางคนจึงใช้วิธีเดินทางเข้าไปเที่ยวแล้วดื่มให้เต็มที่ก่อนกลับมา หรือบางคนก็ลักลอบนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย สหรัฐฯ จึงต้องใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมากในการบังคังใช้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษที่ 1920 นั้น งบประมาณของสำนักงานสิ่งของต้องห้าม (Bureau of Prohibition) เพิ่มขึ้นจาก 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 13.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังเกิดช่องว่างให้มีการคอร์รัปชั่นขึ้น ทั้งจากการที่เจ้าหน้าที่บางส่วนแอบรับสินบนจากผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย และยังเกิดการคอร์รัปชั่นในฝั่งวงการแพทย์ เนื่องจากว่าตามกฎหมายกำหนดให้แพทย์สามารถเขียนใบสั่งแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นยารักษาโรคได้ ในช่วงระหว่างที่มีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ คาดว่ามีแพทย์ออกใบสั่งยา 11 ล้านใบ ตลอดทศวรรษที่ 1920 ว่ากันว่าเคยมีแพทย์คนหนึ่งเขียนใบสั่งวิสกี้ให้คนไข้กว่า 475 ใบภายในวันเดียว และประมาณกันว่าหมอเหล่านี้กวาดเงินไปกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเขียนใบสั่งวิสกี้ให้เป็นยารักษาคนไข้ในช่วงเวลานั้น
ในช่วงที่มีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์คาดว่า มีแพทย์ออกใบสั่งยา 11 ล้านใบตลอดในช่วงปี 1920
ราวๆ 14 ปี ให้หลัง กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ก็เป็นอันสิ้นสุดการบังคับใช้ เนื่องจากดูเหมือนว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดีที่เคยคาดคิดไว้ และไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะนอกจากผลเสียที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังไปเกิดผลกระทบทางลบต่อเกษตรกร แรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ อีกทั้งรัฐไม่สามารถเก็บภาษีจากแอลกอฮอล์ได้ แล้วในช่วงนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) พอดี รัฐบาลเก็บภาษีรายได้ ได้น้อยลงจึงจำเป็นต้องมาเก็บภาษีแอลกอฮอล์แทน แอลกอฮอล์จึงกลับมาถูกกฎหมายอีกครั้ง
หลังจากที่กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์สิ้นสุดลง การผลิตแอลกอฮอล์กลับมาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เบียร์กว่า 50,000 บาร์เรล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นค่อยๆ ถูกผลิตและจำหน่ายตามมาอย่างครึกครื้นหลังถูกควบคุมมาเป็นเวลานาน ราคาแอลกอฮอล์ไม่สูงลิ่วเหมือนในช่วงที่ถูกควบคุมอีกแล้ว คนงานที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้กลับมามีงานทำอีกครั้ง ตลาดแอลกอฮอล์ จึงสามารถดำเนินมาได้อย่างปกติจนถึงปัจจุบัน
เรื่องนี้เป็นเหมือนบทเรียนจากความผิดพลาดครั้งสำคัญของสหรัฐฯ การควบคุมแอลกอฮอล์ที่มุ่งหวังเรื่องสุขภาพ และลดอาชญากรรม กลับกลายเป็นมาตรการที่ไปสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ แทน ทั้งยังไม่สามารถบรรลุผลในการควบคุมแอลกอฮอล์ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรก แต่กลับต้องสูญเสียงบประมาณและรายได้จากภาษีเป็นจำนวนมากไปกับนโยบายที่กินเวลากว่า 14 ปีนี้
#วิกฤตขาดแคลน #AlcoholShortage #วิกฤตขาดแคลนแอลกฮอล์ #สหรัฐอเมริกา
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Hall, W.D. (2010). What are the policy lessons of National Alcohol Prohibition in the United States, 1920-1933? Addiction, 105 7, 1164-73 .
Miron, J. A., & Zwiebel, J. (1991). Alcohol Consumption During Prohibition. The American Economic Review, 81(2), 242–247.
https://www.npr.org/2021/09/22/1039600464/liquor-shortages-covid-19-pennsylvania-virginia-ration-alcohol
https://www.cato.org/policy-analysis/alcohol-prohibition-was-failure
https://rarehistoricalphotos.com/prohibition-alcohol-history-1920-1933/
เครดิตภาพ : Rare Historical Photos
5 บันทึก
7
5
5
7
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย