9 พ.ย. 2021 เวลา 10:45 • สุขภาพ
รสชาติมหัศจรรย์—ตอน ภัยร้ายของรสเปรี้ยว?
สมัยนี้เป็นสมัยที่การปรุงอาหารทำได้ รสชาติหลากหลาย วัตถุดิบที่จะให้รสชาติต่างๆมีมากขึ้น การแข่งขันในธุรกิจอาหารก็มากขึ้น นอกจากรูปร่างหน้าตาและสีสันที่ทำออกมาดึงดูดความสนใจคนแล้ว รสชาติก็เป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
 
ในประเทศเขตร้อน ในวันที่อากาศร้อนจนไม่อยากอาหาร เรามักจะโหยหาอาหารรสเปรี้ยวเป็นพิเศษ อาหารรสเปรี้ยวเป็นที่นิยมอย่างมาก ลองจินตนาการถึงวันที่อากาศร้อนอบอ้าว การได้ดื่มน้ำส้ม หรือน้ำมะนาว หรือกินส้มตำ ลาบ น้ำตก หรือยำต่างๆทำให้เรารู้สึกคลายร้อนหรืออารมณ์ดีขึ้นหรือไม่ เคยสงสัยมั้ยว่าทำไม แล้วถ้าเรากินบ่อยๆจะมีผลเสียอะไรต่อร่างกายหรือเปล่า
วันนี้ทางเพจTCM for life นำคำตอบและสาระดีๆมาฝากทุกท่านอีกเช่นเคยค่ะ
การดูแลรักษาสุขภาพในด้านการกินอาหารนั้น นอกจากจะทานอาหารที่ดีแล้ว รสชาติอาหารก็สำคัญเช่นกัน
อาหารมีหลากหลายรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด หลักๆ 5 รสหลัก อีกทั้งยังมีรสจืด และรสฝาด ในแพทย์แผนจีนเชื่อว่าหลังจากอาหารเข้าไปในร่างกายแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพ จะเลือกเข้าสู่เส้นลมปราณและอวัยวะต่างๆตามรสชาติ
รสชาติ 5 รสนั้นเป็นเป็นคู่สัมพันธ์ของของธาตุทั้ง 5 ซึ่งจะเข้าสู่อวัยวะที่แตกต่างกัน พูดให้ง่ายก็คือ อาหารแต่ละรสชาติ จะส่งผลต่ออวัยวะต่างกันนั่นเอง ในคัมภีร์หวงตี้เน้ยจิง《素问-至真要大论》กล่าวไว้ว่า “หลังจากอาหารทั้งหมดเข้าสู่กระเพาะอาหารแล้ว ก็จะเข้าสู่อวัยวะคู่สัมพันธ์ โดยรสเปรี้ยวเข้าตับ รสขมเข้าหัวใจ รสหวานเข้าม้าม รสเผ็ดเข้าปอด รสเค็มเข้าไต” และยังบอกอีกว่า รสชาติต่างๆไม่ว่าจะจากอาหารหรือยาถ้าทานสะสมเป็นระยะเวลาหนึ่งสามารถบำรุงชี่ของอวัยวะนั้นๆได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่ออวัยวะนั้นๆ ดังนั้น การทานอาหารก็ไม่ควรทานรสใดรสหนึ่งมากเกินไป ต้องสมดุล และหลากหลายถึงจะดีต่อสุขภาพ
ในคัมภีร์หวงตี้เน้ยจิง แหล่งรวมทฤษฎีการแพทย์แผนจีนที่เขียนขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีได้กล่าวถึงรสชาติต่างๆ รวมถึงผลดีและผลเสีย หลังการดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพ และการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรจีน
โดยได้กล่าวเกี่ยวกับรสเปรี้ยวไว้ว่า รสเปรี้ยวเป็นรสชาติที่เข้าสู่เส้นลมปราณตับ
อวัยวะตับ(ในแพทย์จีน)มีหน้าที่กำกับเส้นเอ็น และเปิดทวารที่ดวงตา(เพราะเส้นลมปราณตับไปเชื่อมที่ดวงตา) ดังนั้นความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นในร่างกายเรา และการมองเห็นจึงขึ้นอยู่กับการไหลเวียนชี่ตับและการหล่อเลี้ยงจากเลือดของตับ
รสเปรี้ยวเป็นรสชาติที่เข้าสู่อวัยวะตับ ดังนั้นการทานอาหาร ผลไม้ หรือยาสมุนไพรรสเปรี้ยวจึงเป็นการบำรุงชี่ตับ บำรุงเส้นเอ็น และดวงตานั่นเอง นอกจากนี้รสเปรี้ยวยังมีสรรพคุณช่วยระงับเหงื่อ สมานปอดระงับไอ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหาย ระบายความร้อน ช่วยในการกระจายของชี่อีกด้วย
สังเกตง่ายๆเลยคือในวันที่อากาศร้อน หลังจากเราทำงานจนสายตาเมื่อยล้า เรามักจะรู้สึกโหยหาอาหารหรือเครื่องดึ่มที่มีรสเปรี้ยวนำ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม มะนาวโซดา ส้มตำ ลาบ น้ำตกเป็นต้น เพราะอาหารพวกนี้ช่วยให้คุณรู้สึกคลายร้อน แก้กระหาย และทำให้ตาสว่างในช่วงง่วงๆได้ด้วย
ถึงเราจะรู้ว่าอาหารรสเปรี้ยวนั้นมีสรรพคุณบำรุงตับ แต่การทานอาหารก็จำเป็นต้องทานอย่างสมดุลและหลากหลายการทานอาหารประเภทเดียวในปริมาณมากเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในคัมภีร์หวงตี้เน้ยจิงส่วนหลิงซู《灵枢》กล่าวไว้ว่า “รสเปรี้ยวเข้าเส้นเอ็น ถ้าทานเปรี้ยวมากเกินไปจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก” ในส่วนซู่เวิ่น《素问》 กล่าวไว้ว่า “รสเปรี้ยวที่มากเกินไปจะทำลายเส้นเอ็นและตับ” “รสเปรี้ยวเข้าเส้นเอ็น ดังนั้นคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเอ็นไม่ควรทานเปรี้ยว” และ “การทานรสเปรี้ยวที่มากเกินไปจะทำให้ผิวย่นหนา ขาดความยืดหยุ่น และมีเริมขึ้นที่ริมฝีปาก” กล่าวก็คือการทานอาหารรสเปรี้ยวในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลายาวนานทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหดและเกร็งตัว สูญเสียความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังมีบันทึกเกี่ยวกับโรคทางเดินกระเพาะอาหารไม่ควรทานของเปรี้ยว เพราะจะทำให้อาการหนักขึ้นอีกด้วย
หนังสือ หลินเจิ้งจึหนานอีอั้น《临证指南医案》ยังกล่าวอีกด้วยว่า การกินอาหารรสเผ็ดเปรี้ยวในปริมาณมาก เป็นการทำลายม้ามและกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุให้ท้องอืดท้องเฟ้อ
สรุปคือ ถึงแม้รสเปรี้ยวจะมีสรรพคุณบำรุงเส้นเอ็นและดวงตา แต่การทานในปริมาณที่มากเกินไปในระยะเวลาติดต่อกันนานๆ เป็นการทำลายเส้นเอ็น อันส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหดและเกร็งตัว ทำลายสายตา ทำให้การขับปัสสาวะผิดปกติจนถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารอีกด้วย
อาหารก็คือยา ถ้าทานอย่างสมดุลและถูกวิธีก็จะดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าทานในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย การทานอาหารจึงควรทานให้หลากหลาย ไม่เจาะจงชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงเพราะว่ามีสรรพคุณดี
ท้ายที่สุด การป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ผลอย่ายั่งยืนก็ยังคงหนีไม่พ้น “4อ” อารมณ์ อากาศ อาหาร และออกกำลังกาย
และอย่าลืม กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่แมสกันนะคะ
ด้วยความปรารถนาดีจาก TCM for life สุขภาพดีไปกับแพทย์จีน
โดย: พจ. วชิราภรณ์ ผดุงเกียรติวงษ์
โฆษณา