10 พ.ย. 2021 เวลา 05:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีน (Acupuncture Treatment by Traditional Chinese Medicine)
ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบพบเจอแต่กลับพบว่าวิธีการให้คำอธิบายและวิธีการรักษามีความแตกต่างกันออกไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ฉะนั้นความเจ็บป่วยจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับบริบทเฉพาะสังคม บางคนป่วยโรคชนิดเดียวกัน ช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะให้คำนิยามหรือวิธีการรักษาอีกอย่างหนึ่ง
ในขณะเดียวกันบางคนก็รักษาด้วยวิธีแตกต่างออกไป ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคชนิดเดียวกัน ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ก้าวหน้ากว่าในอดีตมาก การรักษาโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้นมีให้เลือกรักษากันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน
เพื่อเปรียบเทียบแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบัน และเพื่อให้เห็นมุมมองของคนที่เลือกรักษาการฝังเข็มแทนที่จะเลือกการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน
การรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม หรือการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนไทย ซึ่งการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมเลือกรักษาวิธีการนี้ การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีมานานเป็นเวลาหลายพันปีในประเทศจีน ปัจจุบันการฝังเข็มได้แพร่หลายในประเทศ สำหรับประเทศไทย ประชาชนก็ได้ให้ความสนใจในการศึกษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งการศึกษาการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนนี้เพื่อเปรียบเทียบการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบัน
เพื่อให้เห็นถึงมุมมองของคนที่เลือกรักษาการฝังเข็มแทนที่จะเลือกการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์วิเคราะห์ และทำความเข้าใจในการศึกษาครั้งนี้ด้วย
ประวัติความเป็นมาการฝังเข็ม
วิชาฝังเข็มมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อันยาวนานนับพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดียุคหินใหม่ ที่ขุดค้นพบเข็มที่ฝนมาจากแท่งหิน ในลักษณะ รูปร่างต่าง ๆ เช่น เข็มกลม เข็มสามเหลี่ยม และเข็ม รูปร่างคล้ายมีดสั้นนั้น
ทำให้เป็นที่ยอมรับว่าการฝังเข็มมีต้นกำเนิดมาจากสังคมบุรพากาลจีนมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ต่ำกว่า 4 พันปีมาแล้ว สันนิษฐานว่ามนุษย์ เรารู้จักนำเอาเข็มมาใช้รักษาโรค คงจะอาศัยการสังเกตว่า ในยามเจ็บป่วยนั้นเมื่อกดนวด หรือใช้วัตถุแข็ง เช่น หิน, กระดูก, กิ่งไม้ กดแทงลงบนส่วนของร่างกายที่รู้สึกเจ็บปวด หรือไม่สบาย จะทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นทุเลาลงได้ เมื่อรู้จัก "ตำแหน่ง" หรือ "จุด" ที่กดนวด กดแทงแล้ว ทำให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงได้เช่นนี้ จึงได้มีการยอมรับและถ่ายทอดต่อกันมาเป็นวิธีการรักษาโรคอย่างหนึ่ง
ภายหลังจึงมีการสร้างประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับใช้กดแทงจุดโดยเฉพาะ ซึ่งจากการขุดพบหลุมฝังศพหลิมเซิ่ง ที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ค้นพบหลักฐานยืนยันว่า เมื่อ 2000 ปี ก่อนนั้นได้มีการประดิษฐ์เข็มที่ทำจากเงินและทองคำนำเอามาใชัฝังรักษาโรคแล้ว
สรุปประสบการณ์ความชัดเจนจากการใช้ฝังเข็มฝังรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นั้น ได้รับการสรุปเป็นระบบทฤษฎีเป็นวิชาฝังเข็มเฉพาะออกมาเป็นเวลานานถึง 2000 ปีก่อนแล้ว ในหนังสือหวงชู ที่พบในหลุมฝังศพหม่าหวังตุย เมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ประเทศจีน ซึ่งมีอายุนานถึง 700 ปี ก่อน ค.ศ. บันทึกว่าคนเรามี “เส้นจิงแขนขา 11 เส้น” “เส้น ยินหยาง 11 เส้น”
พร้อมทั้งอธิบายถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ร่วมถึงวิธีการรักษาด้วยการฝังเข็ม และการใช้สมุนไพรรมยาอย่างละเอียดลออแล้ว ต่อมาพบทฤษฎีเส้นลมปราณอันเป็นทฤษฎีรากฐานสำคัญของวิชาฝังเข็ม ได้รับการสรุปเป็นทฤษฎีอย่างสมบูรณ์ในหนังสือเน่ยจิง
ภายหลังจากการสถาปนาก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา วิชาฝังเข็มได้รับการฟื้นฟู และการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่อย่างกว้างขวางนับจากปี ค.ศ. 1949 จนถึงปี ค.ศ. 1977 มีบทความวิจัยเกี่ยวกับวิชาฝังเข็มตีพิมพ์ เผยแพร่มากถึง 8000 กว่าชิ้น มีการค้นคิดเทคนิคจุดใหม่ ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนการประดิษฐ์ เครื่องมือทางไฟฟ้า เพื่อนำเอามาประยุกต์ใช้ในการฝังเข็มทั้งแง่ของเครื่องมือวิจัย และเครื่องมือรักษาโรคอีกเป็นจำนวนมาก
เดิมวิชาฝังเข็มยังไม่เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ตราบกระทั่งภายหลังจากการเดินทางเยือนประเทศจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี ค.ศ. 1972 ผลสำเร็จของการฝังเข็มชาแทนยาสลบในการผ่าตัด สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวอเมริกัน และก่อให้เกิดความตื่นตัวในวงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ศูนย์ฝังเข็ม (Acupuncture Center) แห่งแรกในสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในรัฐอื่น ๆ อีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
ความสนใจในวิชาฝังเข็มในปัจจุบันนี้เป็นที่แพร่หลายไปเกือบทั่วโลก มีอย่างน้อย 116 ประเทศ ที่มีการสอนวิชาฝังเข็ม ปี ค.ศ. 1982 คณะกรรมการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียแพซิฟิค ได้จัดการประชุมเกี่ยวกับวิชาฝังเข็ม และได้มีการก่อตั้งสมาพันธ์วิชาฝังเข็มแห่งโลกขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1987 การค้นคว้าวิจัยทั้งในแง่วิทยาศาสตร์พื้นฐานและในทางคลินิกเกี่ยวการฝังเข็มได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง
การรักษาด้วยการฝังเข็ม เป็นเวชกรรมที่มีมานานเป็นเวลาหลายปีในประเทศจีน ปัจจุบันการฝังเข็มได้แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ให้ความสนใจและได้เป็นแกนนำในการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประชุมในปี ค.ศ. 1979 ที่นครปักกิ่ง ได้ร่างรายชื่ออาการหรือโรคที่พิจารณาให้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาจำนวน 43 ประเภท สำหรับประเทศไทยประชาชนก็ได้ให้ความสนใจในการศึกษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
การฝังเข็ม คือ การแทงเข็มลงไปตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน เข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ
การฝังเข็มรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้
1.กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดคอ เป็นต้น รวมไปถึงโรคยอดฮิตอย่าง ออฟฟิสซินโดรม
2.วิตกกังวล นอนไม่หลับ จนไปถึงโรคซึมเศร้า โดยร่วมกับการทำจิตบำบัด
3.เลิกยาเสพติด เลิกบุหรี่ ลดความอ้วน โดยร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด
4.อัมพาต อัมพฤกษ์ โดยร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ
5.โรคภูมิแพ้ หืดหอบ และผื่นคันตามร่างกาย
การฝังเข็มเหมาะสมกับใคร
1.เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งเป็นการเพิ่มสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
2.ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาหลาย ๆ ชนิด
3.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันของยา
4.ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดยาที่ใช้รักษาโรคไม่ได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาระบาย เป็นต้น
5.ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกกับการฝังเข็ม
6.ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพโดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย
ประโยชน์ของการฝังเข็ม
1.ปลอดภัย ด้วยวิธีการรักษาที่ถูกต้อง
2.มีผลข้างเคียงน้อยมาก
3.สามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.สามารถควบคุมความเจ็บปวดบางประเภท
5.การฝังเข็มอาจมีผลดีต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาแก้ปวดที่ไม่เหมาะสม
แน่นอนว่าการรักษาทั้งหมดนั้นมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของการฝังเข็ม มีดังนี้
1.อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติ หรือผู้ที่ต้องกินยาเจือจางเลือด
2.อาจมีเลือดออก ช้ำ และปวดบริเวณที่ได้รับการฝังเข็ม
3.เข็มที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ
4.ในบางกรณีเข็มอาจหัก และทำลายอวัยวะภายใน
5.เมื่อฝังเข็มลึกเข้าไปในหน้าอกหรือหลังส่วนบน อาจมีความเสี่ยงต่อการยุบของปอด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
ประเภทของการฝังเข็ม
ประเภทของการฝังเข็มมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ การฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture) และอีกแบบคือการฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry Needling) การเข้าใจความแตกต่างของวิธีการทั้งสองทำให้สามารถตัดสินใจได้เบื้องต้นว่าเป็นโรคอะไร มีอาการเป็นอย่างไร เหมาะกับการรักษาแบบไหน และข้อแตกต่างของแต่ละวิธี เป้าหมายและปรัชญาที่ต่างกัน
การฝังเข็มแบบตะวันตกทำเพื่อลดอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ วิธีการฝังจึงจะฝังลงไปในจุดที่เป็นจุดปวดซึ่งจะช่วยคลายกล้ามเนื้อในบริเวณนั้น ๆ ในขณะที่การฝังแบบจีนเชื่อว่าร่างกายจะฟื้นฟูและเยียวยาเมื่อพลังงานในร่างกายไหลเวียนดี การฝังแบบจีนจึงทำเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของระบบโลหิตและพลังงานเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทแบบองค์รวม ระยะเวลาของการฝัง
การฝังแบบจีนมักจะเป็นการฝังและค้างไว้ประมาณ 15 – 30 นาที ในขณะที่การฝังแบบตะวันตกจะไม่เน้นการค้างเข็มไว้ เพราะเป็นการฝังเพื่อคลายจุดที่ตึงหรือปวด จึงเหมาะกับการรักษาผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังและฉับพลันโดยที่ไม่ต้องใช้ยา ต้นกำเนิดและความเก่าแก่ที่ต่างกัน การฝังจีนมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนและเป็นแพทย์แผนจีนโบราณเก่าแก่เป็นพัน ๆ ปี แต่การฝังแบบตะวันตกเป็นการแพทย์สมัยใหม่และถูกค้นพบขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1980
การรักษาด้วยการฝังเข็มและการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แตกต่างต่างกันอย่างไร ?
การฝังเข็ม คือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยเข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ป่วยจึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น มากกว่า 35 ชนิด แล้วแต่ตำแหน่งที่ใช้ฝังเข็ม ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายการฝังเข็มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 – 3 ครั้ง และต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้วแต่โรคที่เป็นตามการพิจารณาของแพทย์
การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การแพทย์ที่ให้การรักษาทางยา การผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด และ วิชาแพทย์สาขาต่าง ๆ โดยวิชาความรู้ด้านแพทยศาสตร์ และการพยาบาล เป็นวิชาความรู้ที่แพทย์ พยาบาล ต้องผ่านการเรียน การสอน การฝึกฝน จากโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ มีแหล่งที่มาจากการศึกษาถูกต้องตามหลักวิชาและหลักสถิติ มีการศึกษาวิจัย มีการเผยแพร่องค์ความรู้ และมีการรับรองจากองค์กร – สถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกว่าให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้จริง
การเปรียบเทียบการรักษาด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน
Arthur Klienman (1980) เสนอแนวคิดว่าด้วยระบบสุขภาพ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความจริงที่สะท้อนออกด้วยความเชื่อ (ความรู้) พฤติกรรมการปฏิบัติของสังคมมีลักษณะที่แตกต่างกันเป็น 3 กลุ่ม (โดยเรียกสิ่งเหล่านี้ใหม่ว่า Clinical reality) คือ ความจริงแบบวิชาชีพ ความจริงแบบกึ่งวิชาชีพ และความจริงแบบชาวบ้าน ระบบการดูแลสุขภาพในสังคมหนึ่ง ๆ ตามความคิดของ Kleinman (1980) ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของประชาชน (Popular Sector) ส่วนของวิชาชีพ (Professional Sector) และส่วนของพื้นบ้าน (Folk Sector)
โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ มีวิธีการอธิบายและแก้ไขความเจ็บป่วย ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันและดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมโดยที่สังคมหนึ่งมีระบบการดูแลสุขภาพทั้งระบบการดูแลสุขภาพในภาคประชาชน ระบบการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน และระบบการดูแลสุขภาพแบบวิชาชีพ
ทั้ง 3 ส่วนนี้ต่างก็มีวิธีคิด แบบแผนความเชื่อ และการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแสดงพฤติกรรมตอบสนองเจ็บป่วยต่างกัน และต่างก็ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมพฤติกรรมการตอบสนองความเจ็บป่วยของบุคคลจึงมีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับกระบวนคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ตัดสินใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดทางสังคมวิทยาการแพทย์เกี่ยวกับพฤติกรรมความเจ็บป่วย
ในส่วนของระบบการดูแลสุขภาพในส่วนวิชาชีพ (Professional Sector) หมายถึง การปฏิบัติทางการแพทย์ที่เป็นรูปแบบของวิชาชีพ มีการจัดองค์กรที่เป็นทางการ มีการปฏิบัติทางการแพทย์ในลักษณะที่มีวิทยาการขั้นสูง เช่น ระบบการแพทย์จีน การแพทย์อายุรเวท การแพทย์แบบกาเลน – อารบิก หรือการแพทย์แบบตะวันตก
การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนนั้นก็เป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ที่เป็นรูปแบบของวิชาชีพอีกรูปแบบหนึ่ง มีหลายองค์กรมากมาย และเป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ที่เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งให้กับผู้คนอีกด้วย ที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ที่อันตรายต่อร่างกาย รวมถึงไม่มีสารเคมีตกค้างอีกด้วย
การฝังเข็มช่วยรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ซึ่งการใช้เข็มฝังบริเวณที่เป็นเส้นทางเดินของพลังงาน คือ บริเวณที่มีพลังงานผ่านมาก เป็นการช่วยกระตุ้นลมปราณ หรือพลังงานที่ไหลเวียนติดขัด ช่วยให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ระบายเลือดที่คั่งเนื่องจากการไหลเวียนไม่ดีให้ไหลเวียนดีขึ้น ระบายความร้อน สิ่งสกปรกที่สะสมหรือสารพิษที่มีเกินออกไป และบำรุงให้ความชุ่มชื้น ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับเข้าสู่สมดุล
ซึ่งเมื่อเปรียบกับแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ นั้นพบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงของยามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ มีผลต่อระบบภายในร่างกายทั้งตับ ไต และกล้ามเนื้อ เช่น ยาแก้ปวดแบบแรง ยาคลายเส้น อาจทำให้เกิดไตวาย เลือดออกในกระเพาะได้ หรือหากเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดแบบที่ลดความเสี่ยงเรื่องโรคกระเพาะที่ราคาแพง ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น
อีกทั้งสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็ต้องใช้ยาตลอดเพื่อไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบภายในร่างกายตับ ไต มีการทำงานหนักมากกว่าปกติ
จากที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่ายาไม่มีข้อดี เพียงแต่ควรใช้ยาแต่จำเป็นเท่านั้น และเป็นอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งการฝังเข็มเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เข้ามามีบทบาทการรักษา คือ หลังจากการใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบันในการรักษาโรคแล้ว แต่อาการยังไม่ทุเลา และเกิดผลค้างเคียงต่อร่างกาย ซึ่งการรักษาด้วยการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนนั้นเป็นทางเลือกที่ดีอีกหนึ่งทางให้กับผู้คน
โดยเฉพาะอากรปวดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง หากกินยาเป็นประจำก็จะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยอมรับการฝังเข็มแล้ว
โดยได้สัมภาษณ์กับผู้ที่มีประสบการณ์การฝังเข็มมาก่อนทั้งหมด 3 คน
นางสาวเอ็ม (นามสมมุติ) อาชีพนักศึกษา อายุ 22 ปี ได้เล่าว่าเมื่อตอนเด็กตนเองเป็นโรคภูมิแพ้ แพ้จำพวกแมลงถึงขั้นรุนแรง โดยรักษาด้วยแพทย์แผนปัจุบันแล้วมันไม่หาย จึงตัดสินใจไปรักษาด้วยการฝังเข็ม จากการหาข้อมูลจากการอ่านหนังสือมาก่อน เพราะคิดว่าไม่อยากจะกินยาไปตลอด กลัวโรคอื่น ๆ จะตามมาในอนาคต โดยการเข้ารักษาอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทั้งแบบปกติและกระตุ้นไฟฟ้า
ส่วนใหญ่จะเป็นแบบปกติมากกว่าเพราะอาการไม่ได้รุนแรงมาก พอหลังจากเข้าการรักษาแล้ว ส่งผลให้อาการโรคภูมิแพ้บรรเทาลงไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องพึ่งยาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่อาการไม่ได้หายไปอย่างถาวร ยังคงต้องกลับไปรักษาเช่นเดิม แต่นางสาวเอ็มไม่ได้กลับไปรักษาแล้ว เนื่องจากมีภาระต่าง ๆ มากมายจนทำให้ไม่มีเวลาว่างกลับไปรักษา
นางสาวพีพี (นามสมมุติ) อาชีพ นักศึกษา อายุ 22 ปี ได้เล่าว่า ตนเองเป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ทั้งกินยารักษา ทำหลายวิธีแล้วมันก็ไม่หาย คุณแม่เลยแนะนำให้ลองไปฝังเข็ม โดยการเข้ารักษาจะเป้นการฝังเข็มแบบกระตุ้นไฟฟ้าทุกครั้ง มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ฝังในทุกครั้ง แต่จะมีจุดที่ฝังประจำ ได้แก่ ข้างจมูก หน้าท้อง เพราะเป็นการฝังแก้ภูมิแพ้และคุมน้ำหนัก เมื่อเข้าการรักษาความรู้สึกหลังฝังเสร็จจะมีอาการเพลียอย่างมาก
ซึ่งจะไม่เห็นผลโดยทันทีต้องใช้เวลาประมาณ 2–3 ครั้งหลังจากที่ฝังเข็มถึงจะเห็นผล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ จากปกติที่จาม น้ำมูกไหลทุกเช้าก็ไม่ค่อยมี ในส่วนของน้ำหนักตัว ตอนที่ฝังอยู่กินเยอะมากน้ำหนักไม่ขึ้นเลย แต่พอหยุดไปสักเดือนสองเดือนน้ำหนักก็ขึ้นปกติ อาการภูมิแพ้ก็เช่นกัน ปัจจุบันไม่ได้กลับไปฝังแล้ว เนื่องจากไม่มีเวลาว่างกลับไปรักษา
และได้เล่าเสริมว่าจากประสบการณ์ตัวเองที่เข้าการรักษามองว่ามีค่าใช้จ่ายที่ค่อยข้าง เพราะทำครั้งนึงราคาประมาณ 500 – 600 บาท จนถึง 1000 บาท ซึ่งเดือนหนึ่งควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ถึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งต้องมีทุนทรัพย์ประมาณหนึ่ง แต่ก็แลกมาด้วยความคุ้มค่า
นางสาวเคย์ (นามสมมุติ) อาชีพ นักศึกษา อายุ 21 ปี ได้เล่าว่าคุณแม่ของตนมีอาการปวดขา ปกติจะเลือกรับประทานยาเพื่อรักษาอาการปวด แต่ตับคุณแม่เองไม่ดีนัก จึงตัดสินใจลองรักษาด้วยการฝั่งเข็ม โดยรู้จักผ่านพี่เขยที่เป็นแพทย์จีน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแต่ต้องเข้าการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาตนเองจึงเปิดใจในการรักษาสิวด้วยการฝังเข็ม
เนื่องจากตนเองเคยเข้ารับการรักษาสิวด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ผลที่ได้คือ มีการเลี้ยงไข้ พอได้เข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้วผลลัพธ์ที่ได้ คือ สิวยุบได้ตัวไว ลดการอักเสบ อีกทั้งจากประสบการณ์ที่เคยเห็นพี่เขยทำการรักษาผู้ป่วยในคลินิกก็ได้เห็นผลลัพธ์จริง ๆ จากผู้ป่วยเข้าการักษาด้วยการฝังเข็ม จากคนที่เป็นอัมพาต เส้นเลือดแตก เดินไม่ได้ แต่เมื่อได้ทำการรักษาก็กลับมาเดินได้ปกติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายอื่น ๆ จากประสบการณ์ที่เคยรักษาคิดว่าเป็นทางเลือกการรักษาที่ดี เพราะไม่มีสารเคมี ไม่ได้มีการใช้ยา
จากคำสัมภาษณ์ของทั้ง 3 คน จะเห็นได้ว่า 2 คนแรกเลือกที่จะฝังเข็มเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็กและได้เข้าการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันโดยการเลือกรับประทานยาในการรักษา แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ดีขึ้นจึงตัดสินใจเข้าการรักษาด้วยแพทย์แผนทางเลือก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ แม้ในการเข้ารักษาครั้งแรก ๆ จะยังไม่แสดงผลชัดเจนนัก จึงต้องเข้าทำการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล
แต่แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งแต่สถานที่ก็จะมีราคาการรักษาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของที่นั้น ๆ ซึ่งการฝั่งเข็มแม้จะเป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย เนื่องจากมีคนที่รู้จักการรักษาแบบนี้ค่อนข้างน้อย ประกอบมีค่ารักษาที่มีราคาใกล้เคียงกับแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งแพทย์แผนปัจจุบันเป็นที่นิยมในสังคม
ทำให้ส่วนใหญ่เลือกรักษาแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลักมากกว่าที่จะเลือกรักษาแพทย์ทางเลือก เพราะ มีการรักษาที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ มีข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้แก้ปัญหาได้ดีกับโรคต่าง ๆ กลับกันในแพทย์แผนทางเลือกที่ยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ความปลอดภัยจากการรักษา ความน่าเชื่อถือจากการยอมรับและมีการใช้อย่างแพร่หลาย และเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วต้องรักษาเช่นนี้ตลอด ไม่เช่นนั้นอาการป่วยต่าง ๆ ก็จะกลับมากำเริบอีกครั้ง
ซึ่งแตกต่างจากแพทย์แผนปัจจุบันที่จะให้ยามารับประทานเพื่อบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ แต่ก็ส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักจากผลข้างเคียงของยาที่ได้รับ รวมไปถึงอาจจะก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมาก็เป็นได้
ตามแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาการรักษาเยียวยา (Health Seeking Process) ของ Chrisman and Kleinman (1983) การกำหนดความหมายอาการผิดปกติ (Symptom definition) เมื่อบุคคลรับรู้ถึงสถานะสุขภาพที่เปลี่ยนไป บุคคลจะเริ่มให้ความหมายแก่อาการที่เกิดขึ้น การให้ความหมายจะเป็นไปตามลักษณะทางวัฒนธรรม (Cultural meaning) กล่าวคือ บุคคลจะเรียนรู้ความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพ การจำแนกประเภทอาการ และการจัดการกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสังคมกรณ์ (กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม) หรือกระบวนการอบรมถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ
ที่มีมาจากอดีตและจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมการแพทย์อื่น ๆ ต่อจากนั้นบุคคลจะสร้างชุดความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพ และความเจ็บป่วยอย่างหยาบ ๆ ตามความรู้ที่ได้มา ซึ่งเมื่อใดที่บุคคลได้รับความรู้ใหม่
ตัวอย่าง ได้ความรู้จากระบบการแพทย์แบบวิชาชีพ บุคคลก็จะนำความรู้ใหม่นั้นไปเปรียบเทียบกับชุดความรู้เดิมที่มี และความรู้ใหม่ก็จะถูกดัดแปลง ปรับให้เข้ากับชุดความรู้ความเชื่อเดิม และบรรจุไว้เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้น ๆ เช่น จากการสัมภาษณ์ของนางสาวเคย์ ที่เข้าการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยผลลัพธ์ไม่ดีขึ้นและแพทย์เลี้ยงไข้ สิวไม่หายขาด จึงตัดสินใจเปิดใจกับการรักษาโดยการฝังเข็มรักษาสิว ผลที่ได้ คือ มีอาการดีขึ้น สิวยุบตัวไว อาการอักเสบน้อยลง
อีกทั้งยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ คือ การได้รับความรู้จากระบบการแพทย์วิชาชีพ (การฝังเข็มด้วยแพทย์แผนจีน) จึงนำเอาความรู้ใหม่ไปเปรียบเทียบกับความรู้เดิม ๆ ที่ต้องรักษาสิวกับแพทย์แผนปัจจุบัน จึงหันมารักษาสิวด้วยการฝังเข็ม
รายการอ้างอิง
เอกสาร
สมาคมแพทย์แผนฝังเข็มและสมุนไพร. 2555. ความเป็นมา .. การฝังเข็ม. [ออนไลน์]. วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นได้จาก http://www.thaiacupuncture.net/web/index.php/2012-09-02-15-30-15/77-2012-08-28-03-53-29.html
โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ. 2563. การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร. [ออนไลน์]. วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นได้จาก https://www.princsuvarnabhumi.com/การฝังเข็มรักษาโรคได้/
Hello คุณหมอ. 2563. “ฝังเข็ม” ประโยชน์ – ความเสี่ยงที่ควรทราบก่อนรับการรักษา. [ออนไลน์]. วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นได้จาก https://www.sanook.com/health/23333/
Rehabcareclinic. 2564. ฝังเข็มคืออะไร รักษาโรคอะไรบ้าง การฝังมี 2 แบบ คืออะไรบ้าง. [ออนไลน์]. วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นได้จาก https://www.rehabcareclinic.com/blog/ฝังเข็มคืออะไร-รักษาโรคอะไรบ้าง-การฝังมี-2-แบบ-คืออะไรบ้าง
รายงานการวิจัย
ภญ.เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. การแพทย์ผสมผสานและงานวิจัยเชิงประยุกต์ในหน่วยงาน (รายงานผลการวิจัย). สถาบันการแพทย์ไทย – จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สัมภาษณ์
นาวสาวพีพี (นามสมมติ) 11 ตุลาคม 2564. นักศึกษา. มหาวิทยาลัยศิลปากร
นางสาวเอ็ม (นามสมมติ) 11 ตุลาคม 2564. นักศึกษา. มหาวิทยาลัยศิลปากร
นาวสาวเคย์ (นามสมมติ) 1 พฤศจิกายน 2564. นักศึกษา. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โฆษณา