10 พ.ย. 2021 เวลา 10:43
น้ำท่วม กทม. หลังน้ำทะเลหนุนสุดขีด สู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะเป็นจริงไหม
1
ความโกลาหลจากปรากฎการณ์ "น้ำทะเลหนุน" สร้างความหวาดผวาให้กับประชาชนไม่น้อย ขณะที่คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์ไว้ว่า "ระวัง" พื้นที่บางส่วนของ กทม. เสี่ยงจมน้ำ ภายในปี 2030 คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลแบบสุดขีด อาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
1
“ก็น้ำทะเลหนุนจะให้ทำยังไง เรื่องนี้สั่งการไปแล้ว” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (ผอ.กอนช.) กล่าว
6
สวนทางกับเสียงสะท้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ไม่มีการแจ้งเตือน "น้ำทะเลหนุนสูง" จากกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่ทันตั้งตัว
3
“กทม.ต้องขออภัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ล้นเข้าในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ กระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน และทำให้การจราจรในหลายพื้นที่มีปัญหา” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) กล่าวขอโทษประชาชน
1
ภาพน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน รวมไปถึงท่วมพื้นผิวถนน ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งในพื้นที่อำเภอเมือง ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ช่วงหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ยาวไปจนถึงเขตติดต่อกรุงเทพมหานคร ถนนรถรางสายเก่า ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนสายลวด ถนนสุขุมวิทจากบางปูมุ่งหน้าคลองด่าน
1
ขณะที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้เขื่อนกั้นน้ำใต้สะพานซังฮี้พังลง ส่งผลน้ำทะลักท่วมถนนสะพานกรุงธน ทำให้การจราจรสัญจรลำบาก น้ำทะลักเข้าท่วมชุมย่านสะพานซังฮี้หลายจุด ปรากฎการณ์ “น้ำทะเลหนุนสูง” เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา
1
ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนครั้งนี้ สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่ติดตามข่าวสารว่าจะเกิดกระแสน้ำท่วมใหญ่เท่ากับเมื่อปี 2554
เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยอ้างข้อมูลจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ที่เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643
ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต
นี่คือสิ่งที่ “กรีนพีซ” ได้ตีพิมพ์รายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030)
1
ที่สำคัญคือ "กรุงเทพมหานคร" อยู่ในนั้นด้วย
เพราะกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งใน 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่ง เพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง(coastal flooding) ในปี พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ
1
สาระสำคัญที่ “ฐานเศรษฐฏิจ” จะหยิบยกจากส่วนหนึ่งของรายงานชุดนี้ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับ กรุงเทพฯ รายงานระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบ 10 ปี รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
2
ความเปราะบางของเมืองจากการเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และเสี่ยงจมน้ำอันเนื่องมาจากดินอ่อน การขยายตัวของความเป็นเมือง และการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเล
มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP 8.5 (เส้นตัวแทนความเข้มข้นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์)
2
โดย RCP 8.5 เป็นหนึ่งใน 4 ของภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่(Representative Concentration Pathway) หมายถึง สถานการณ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงโดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส
1
“สัปปายะสภาสถาน” รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม
2
ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573
ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP (มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ purchasing power parity - PPP)
การวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสภาวะสุดขีด ข้อมูลประชากร และ GDP เพื่อคำนวณผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลของเมือง 7 แห่งในเอเชีย
โดยถือเป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี​พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายก สภาวิศวกร โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า
กรุงเทพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเปรียบเป็น "กระทะคอนกรีต" ก้นลึกต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และยังต่ำกว่าระดับทะเลในหลายพื้นที่ หากไม่ทำอะไร ฝนตกมากก็ท่วม น้ำเหนือมาก็ท่วม น้ำทะเลหนุนสูง เจ้าพระยาก็ทะลัก
มีการคำนวนว่าในอีก 10 ปี ทั้งกรุงเทพอาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จากสภาวะโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น ฝนก็ตกหนักขึ้น ยิ่งช่วงนี้ น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเดือน ตค.-ธค. กทม.จะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำหนุนซ้ำซากทุกปี
ทั้งการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำเจ้าพระยายังไม่ครบ เป็นฟันหลอ มีรูรั่วหลายจุด เช่น ท่าเรือ และพื้นที่รุกล้ำ ทั้งกำแพงเขื่อนทรุดพัง รอการแก้ไข
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้
ปัญหาน้ำทะเลหนุน รู้ล่วงหน้าได้ เพราะมีการพยากรณ์น้ำขึ้น-น้ำลงทุกวัน เมื่อพิจารณาร่วมประกอบกับข้อมูลของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะสามารถตรวจสอบ และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ เมื่อรู้ล่วงหน้า ก็จัดทำแนวป้องกันชั่วคราว ประทังไว้ก่อน บริเวณฟันหลอ อุดรูรั่วกำแพงเขื่อนกั้นเจ้าพระยา เตรียมพร้อม เพิ่มอุปกรณ์เสริม เช่น ปั้มสูบน้ำอัตโนมัติ
2
เร่งก่อสร้างเสริมแนวเขื่อนให้สมบูรณ์ ตลอดแนว แต่พึงระวังผลกระทบต่อชุมชน ต้องสร้างประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เหมือนสิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน ที่สามารถเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ความแม่นยำสูง ที่เชื่อมโยงกับระบบพยากรณ์สภาวะอากาศ และระดับน้ำขึ้น น้ำลง เก็บข้อมูลสถิติระดับน้ำสูงสุด ที่เกิดจากน้ำหนุน ควบคู่กับการบริหารจัดการมวลน้ำเหนือที่ไหลผ่าน กทม. เพื่อประกอบการวางแผน และป้องกันล่วงหน้า อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การออกแบบกำแพงเขื่อนแบบเดิมโอกาสพังเร็วมาก เพราะสภาวะการขึ้นลงของน้ำในปัจจุบัน รุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น อาจต้องออกแบบเป็นกำแพงสองชั้น
1
การแก้ปัญหาระยะยาว อาจจำเป็นต้องสร้างเขื่อนปากแม่น้ำ เปิด-ปิดได้ เหมือนเมืองอื่น เช่น เมืองเวนิส อิตาลี และ เมืองรอตเตอร์ดาร์ม เนเธอแลนด์
จากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก ส่วนประเทศที่ปล่อยมากเป็นอันดับ 1 ของโลกคือจีนที่ (19.19%) รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา (18.13%)
2
การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ภายในเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ เว้นแต่ว่าเราจะลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง
ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันกับผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการ "ประชุม COP26" ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อลดผลกระทบให้ทันท่วงทีในการลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก”
1
ที่มา : สำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมเเละสิ่งเเวดล้อม Climate Watch ป่าสาละ
โฆษณา