10 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิกฤติการขาดแคลนน้ำมัน ปี 1973: บทเรียนของความขาดแคลนที่เกิดจากความไม่ลงรอยระหว่างประเทศ
ปกติแล้วการค้าระหว่างประเทศมักจะสร้างประโยชน์กับผู้เข้าร่วมทำการค้ากัน แต่บางครั้งก็ถูกใช้เป็นอาวุธในการเจรจาระหว่างประเทศได้ หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงการใช้การค้าเป็นอาวุธ จนนำไปสู่การ “ขาดแคลนน้ำมัน” เกิดขึ้นปี 1973 โดยเมื่อในตอนนั้น ได้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างชาติอาหรับบางประเทศ กับสหรัฐอเมริกาและบางประเทศที่สนับสนุนประเทศอิสราเอล
ขณะเดียวกัน เมื่อเรานำบทเรียนจากอดีตย้อนกลับมามองยังปัจจุบัน เราจะพบว่า “วิกฤติการขาดแคลนน้ำมัน” ครั้งปัจจุบัน มีปัจจัยต้นเหตุอีกหลายอย่างที่มากไปกว่าการใช้ “น้ำมัน” เป็นอาวุธเพื่อถ่วงดุลในการเจรจาระหว่างประเทศดังเช่นในอดีต ซึ่ง Bnomics จะนำได้เล่าและวิเคราะห์เจาะลึกในบทความนี้ให้ทุกท่านอ่านกันครับ
📌 ความขัดแย้งอันนำไปสู่การใช้นโยบายห้ามส่งออกน้ำมัน
เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เป็นชนวนสำคัญ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติน้ำมันปี 1973 เป็นเหตุการณ์ความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศอิสราเอลกับอีกฝ่ายที่นำกำลังทหารเข้ามาจู่โจมก่อน ประกอบด้วยประเทศอียิปต์และซีเรีย สงครามครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า “Yom Kippur War (สงครามยมคิปปูร์)” หรือบางคนอาจจะเรียกว่า “Ramadan War (สงครามเดือนรอมฎอน)” เนื่องจากการต่อสู้ครั้งนี้เกิดขึ้นใน “ช่วงเทศกาลยมคิปปูร์” อันเป็นช่วงเทศกาลวันลบมลทินบาปของชาวยิว และก็ยังเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ที่เป็นเดือนการถือศีลอดของชาวอาหรับ-มุสลิมด้วย
1
เหตุผลที่ทางอียิปต์และซีเรียได้ทำการส่งทหารเข้าไปก็เพราะว่า พวกเขาต้องการที่จะทวงคืนพื้นที่ที่ถูกทางอิสราเอลยึดไปใน “สงคราม 6 วัน (Six-days War)” ในปี 1967 ซึ่งเหตุการณ์ตอนนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเปิดฉากต่อสู้ก่อน อย่างไรก็ดี หลังจากสงคราม 6 วัน ทางอิสราเอลก็ได้ขยายอาณาเขตออกไปพอสมควร และก็อย่างที่กล่าวข้างต้น มันก็นำมาสู่การเกิดสงครามยมคิปปูร์ด้วย
หากเรื่องนี้เป็นแค่เพียงความขัดแย้งของสามชาติ ปัญหาก็อาจจะไม่ได้ซับซ้อนมาก ทว่าในสงครามครั้งนี้กลับกลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิ “สงครามเย็น” เมื่อสหภาพโซเวียดได้เข้าสนับสนุนฝ่ายอียิปต์และซีเรีย จึงทำให้ทางอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ตัดสินใจเข้าสนับสนุนอิสราเอล ผ่านงบช่วยเหลือฉุกเฉินขนาดกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Richard Nixon
📌 Oil as a weapon นโยบายการใช้น้ำมันเป็นอาวุธ
หลังจากที่ประธานาธิบดีนิกสัน ได้ยื่นขอให้สภาผ่านงบประมาณช่วยเหลืออิสราเอล กลุ่มประเทศอาหรับที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ The Organization of Arab Petroleum Exporting Countries (OAPEC) ที่สนับสนุนอียิปต์และซีเรีย ก็ได้ทำการใช้นโยบายตอบโต้อเมริกา โดยห้ามการส่งออกน้ำมันไปให้ประเทศสหรัฐฯ และก็ขยายการห้ามส่งออกน้ำมันกับประเทศอื่นที่สนับสนุนอิสราเอลในต่อมาด้วย เช่น เนเธอแลนด์ และโปรตุเกส
ทั้งนี้ Bnomics ขอเล่าพื้นเพของกลุ่ม OAPEC สักเล็กน้อย อันที่จริงแล้ว ประเทศในกลุ่มนี้ก็ล้วนเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่ม OPEC ที่เป็นกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินนั่นเอง แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวมให้แนวทางของกลุ่มประเทศอาหรับที่ผลิตน้ำมันเป็นไปในทางเดียวกัน หากกลุ่มนอกอาหรับไม่เห็นด้วยหรือเกิดปัญหาอื่นๆ
นอกจากการห้ามส่งออก ทางกลุ่มก็ยังตัดสินใจลดการผลิตน้ำมัน โดยรวมลงด้วย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น ที่ได้ซื้อกักตุนน้ำมันไว้จำนวนมากช่วงนั้น จนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 4 เท่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือน จาก 2.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็น 11.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นเสมือนการเปลี่ยนน้ำมันให้กลายเป็นอาวุธ โดยข้อเรียกร้องต่อทางสหรัฐฯ และอิสราเอลสำหรับการยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันก็คือ การที่อิสราเอลต้องคืนดินแดนที่เคยยึดไป เมื่อตอนทำสงครามครั้งก่อนๆ ให้กับประเทศในกลุ่มอาหรับทั้งหมด ซึ่งการเจรจาครั้งนั้นได้ยืดเยื้อกินเวลาไปหลายเดือน ที่แม้จะสามารถตกลงจนยกเลิกนโยบายเหล่านี้ได้ในที่สุด ราคาน้ำมันโลกก็ไม่ได้ปรับตัวกลับมาสู่ระดับก่อนหน้าอีกเลย
ราคาน้ำมันไม่เคยกลับลงไปสู่ระดับเดิมอีกเลยหลังเกิดวิกฤตน้ำมันในปี 1973
ตอนนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นประกอบกับปริมาณการส่งออกที่ถูกตัดไปก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาไม่น้อย และก็เป็นสัญญาณเตือนสำคัญก่อนอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อก็สูงและการว่างงานก็มาก) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ที่ตอนนั้นราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
1
คำถามคือ แล้วก่อนหน้านี้ไม่มีใครเตือนเลยหรือว่า มันอาจจะเกิดปัญหาวิกฤติน้ำมันแบบนี้ได้? คำตอบคือ มี แต่ไม่ได้รับการรับฟังและนำมาปฎิบัติเท่าที่ควร
​​📌 แผลที่รอวันถูกเปิดโปง
เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ไปก่อนหน้าช่วงวิกฤติ เราก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ทำไมอเมริกาถึงไม่ได้กังวลว่าจะเกิดวิกฤติการขาดแคลนน้ำมันได้
ย้อนกลับไปในปี 1945 ณ ตอนนั้นอเมริกายังเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ โดยผลิตน้ำมันมากกว่า 50% ของทั้งโลก และก็เป็นผู้ส่งออกให้ประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของอเมริกาเติบโตมากกว่าอัตราการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ในปี 1948 อเมริกากลายเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ ทำให้ต้องเริ่มมองหาแหล่งน้ำมันต่างประเทศ โดยแหล่งน้ำมันสำคัญที่ถูกค้นพบในช่วงนั้นก็มาจากประเทศแถบลาตินอเมริกาและประเทศแถบตะวันออกกลาง
อเมริการวมถึงประเทศตะวันตกหลายประเทศได้เล็งเห็นถึงจุดนี้เช่นกัน จึงได้มีความพยายามในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันเหล่านี้ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับตัวเอง โดยได้ทำการสนับสนุนเชิงนโยบายให้กับกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ 7 บริษัท ที่มีชื่อเรียกว่า “The Seven Sisters” ซึ่งประกอบไปด้วย BP, Gulf Oil, Shell, Chevron, Exxon, Mobil และ Texaco
“The Seven Sisters”
บริษัทเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีในช่วงแรก เมื่อเข้าไปเจรจาขุดเจาะน้ำมันในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และก็คอยควบคุมปริมาณการผลิตและราคาให้สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศตะวันตก แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มประเทศเจ้าของน้ำมันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้ผลตอบแทนน้อยจนเกินไป (ในตอนนั้นบริษัทกับประเทศเจ้าของน้ำมันแบ่งกำไรคนละครึ่ง)
อิหร่านเป็นประเทศแรกที่ได้พยายามที่จะต่อสู้กับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เหล่านี้ โดยการแปรรูปอุตสาหกรรมน้ำมันให้กลายเป็นของรัฐ แต่ครั้งนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบริษัทน้ำมันกลับมารวมหัวกันไม่ยอมให้น้ำมันจากอิหร่านออกสู่ตลาดโลกแทน ทำให้สุดท้ายอิหร่านต้องยอมแพ้ และปล่อยให้บริษัทน้ำมัน Seven Sisters เหล่านี้กลับเข้ามาดำเนินการในประเทศอีกครั้ง
1
ตัวอย่างของอิหร่านเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ประเทศตะวันตกย่ามใจ และคิดว่ากลุ่มประเทศเจ้าของน้ำมันคงจะไม่กล้าที่จะสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ แต่จากการกดราคาของน้ำมันให้ลงไปต่ำอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม Seven Sisters ที่ในบางช่วงลงไปต่ำถึง 0.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็ทำให้สุดท้ายกลุ่มประเทศเจ้าของน้ำมันได้ทำการก่อตั้งกลุ่ม OPEC (The Organization of the Petroleum Exporting Countries) ขึ้นในปี 1960
1
กลุ่ม OPEC ได้เรียนรู้จากความใจร้อนของอิหร่านในอดีต จึงได้ทำการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนและถ่ายโอนอำนาจจากบริษัทน้ำมันให้มาเป็นของรัฐอย่างช้าๆ แต่ประเทศตะวันตกก็ยังไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นภัยสำคัญ เหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่ตอกย้ำความเชื่อมั่นของชาติตะวันตกว่า กลุ่มนี้ยังไม่ได้มีอิทธิพลมากพอเกิดขึ้นในปี 1967 ตอนเกิด “สงคราม 6 วัน (ที่อิสราเอลยึดพื้นที่ ที่เราเล่าข้างบน)” ที่ครั้งนั้นทางประเทศอาหรับก็พยายามที่จะต่อสู้ด้วยน้ำมันคล้ายกับตอนปี 1973 เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
อิทธิพลของ OPEC ต่อน้ำมันที่ประเทศมหาอำนาจใช้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 1972 ประเทศตะวันออกกลางผลิตน้ำมันถึง 47% ของที่ยุโรปตะวันตกใช้ และผลิตน้ำมันถึง 57% ของที่ญี่ปุ่นใช้ ประกอบกับในอเมริกาจะมีกฎหมายกำหนดโควตาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศให้มีสัดส่วนไม่เกินประมาณ 12% ซึ่งแทนที่จะเป็นข้อดี ช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างชาติ แต่กลายเป็นว่าสัดส่วนที่ตั้งไว้มันดันน้อยเกินไป จนทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันในอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เป็นจุดเปราะบางด้านพลังงานแทน
เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างสุกงอม ก็เกิดเหตุการณ์สงครามยมคิปปูร์ แล้วประเทศอาหรับก็ใช้นโยบายห้ามส่งออกน้ำมันและลดการผลิต แต่น้ำมันที่เราเห็นว่าถูกใช้เป็นอาวุธนั้น จะไม่สามารถทำร้ายอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ได้อย่างที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ได้ผ่านเหตุการณ์มากมายที่ค่อยๆ สะสมอิทธิพลของ OPEC ให้สูงขึ้นที่ได้เล่าไป
​​📌 บทเรียนของการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤติครั้งนี้
ในวิกฤติครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีที่ประเทศตะวันตกตระหนักได้ถึงความเปราะบางทางด้านพลังงานของตัวเอง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประเทศเหล่านี้เคยสนับสนุน ก็ไม่สามารถสร้างหลักประกันได้อย่างที่เคยคิดมาตลอด ทำให้ทุกประเทศต้องเริ่มคิดถึงทางเลือกของตนเองในการใช้พลังงานอื่นๆ โดยปรับการพึ่งพาพลังงานประเภทต่างๆ ให้เหมาะสม หรืออย่างในอเมริกาที่ต้องยกเลิกกฎหมายโควตาการนำเข้าน้ำมันเลย เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
นอกจากนี้ อดีตครั้งดังกล่าวยังเป็นบทเรียนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่อเมริกาต้องระมัดระวังในการเดินหมากในตะวันออกกลางมากขึ้นอย่างมาก เมื่อต้องคิดถึงจิตใจของประเทศกลุ่มอาหรับ ที่ก่อนหน้าไม่เคยคิดว่ามีพลังมากพอจะมาต่อกรกับพวกเขาได้
ท้ายที่สุด ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อมองไปข้างหน้า แม้ในวันนี้ OPEC อาจมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมาก แต่ด้วยโลกที่ผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากกระแสของเทคโนโลยีสีเขียวที่กำลังมาแรง วิกฤตครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอัตราเร่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะกำลังเห็นการถูกโค่นลงจากบัลลังก์ของ OPEC อีกครั้ง เหมือนดังที่เคยเห็น The Seven Sisters ถูกโค่นลงมา ในเร็วๆ นี้ก็ได้
#วิกฤตขาดแคลน #OilCrisis #วิกฤตขาดแคลนน้ำมัน #สหรัฐอเมริกา #OPEC
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา