10 พ.ย. 2021 เวลา 15:19 • สิ่งแวดล้อม
🌊 ช่วงนี้น้ำทะเลหนุน ล้นเข้าท่วม กทม. ปริมณฑลกันไปหลายพื้นที่ เราเลยเกิดความสงสัยขึ้นมาครับ ว่าเมืองใหญ่ใกล้ทะเลในประเทศอื่นเค้ามีการป้องกันหรือแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนม่วมเมืองกันยังไงบ้าง🛥
หลังจากอ่านข่าว ดูสารคดีจนอิ่ม ก็เลยเก็บมาฝากให้เพื่อนๆ ที่สนใจได้เป็นไอเดียไปศึกษาต่อยอดกันฮะ ออกตัวก่อนว่าจริงๆ เรื่องนี้เราก็ไม่ได้มีข้อมูลละเอียดมาก (บางโครงการก็เพิ่งรู้จักนี่เอง 😆) ส่วนใหญ่ก็ค้นคว้าจากข่าว บทความ แล้วก็สารคดีต่างๆ ฮะ เพื่อนๆ ที่อยากอ่านต่อก็ลองเอาชื่อโครงการแต่ละอันไปค้นดูกันได้นะ
จะมีโครงการไหน จากประเทศอะไร อลังการแค่ไหน ตามไปดูกันเลยครับ
🚩 The Thames Barrier - อังกฤษ
มาเริ่มกันที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรครับ สำหรับลอนดอนเนี่ยขึ้นชื่อว่ามีปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยโรมันเลยทีเดียวครับ โดยเมืองนี้จะมีแม่น้ำเทมส์ผ่ากลาง คล้ายๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา และมีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนย้อนกลับขึ้นมาจากปากแม่น้ำ คล้ายกับของเราเลย
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการระดมสมองกันเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ จังๆ คือน้ำท่วมใหญ่ในปี 1953 (พ.ศ.2496) โดยใช้เวลาวางแผนหาทางแก้ไขกันหลายสิบปี จนเกิดเป็นโครงการเขื่อนกันปากแม่น้ำเทมส์ The Thames Barrier ที่สร้างเสร็จและใช้งานครั้งแรกในปี 1982 (พ.ศ.2525) โดยโครงการนี้จะปิดประตูกั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนกลับขึ้นมาในเวลาน้ำขึ้นสูง และในช่วงปกติก็สามารถเปิดประตูให้น้ำไหลลงทะเลและเป็นเส้นทางคมนาคมได้
ภาพตอนปิดประตู ที่มา: http://therivermagazine.co.uk/culture/thames-barrier-london-regatta.html
ความน่าสนใจอีกอย่างนึงของที่นี่คือหน้าตาของประตูน้ำ ที่ไม่ได้เป็นระบบยกขึ้นยกลงแบบประตูน้ำบ้านเรา แต่จะใช้ระบบแท่นหมุน ที่สามารถหมุนประตูลงไปเก็บเอาไว้ที่ก้นแม่น้ำได้ ทำให้ไม่มีประตูบานใหญ่ๆ ทึบๆ มาเกะกะสายตา และไม่ต้องจำกัดความสูงของเรือที่จะผ่านประตูครับ
🚩 Afsluitdijk - เนเธอร์แลนด์
มาต่อกันที่เนเธอร์แลนด์กันบ้าง หลายคนน่าจะคุ้นเคยว่าประเทศนี้ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องการจัดการน้ำครับ เพราะพื้นที่กว่า 60% ของประเทศนี้ “อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล” ดังนั้นเนเธอร์แลนด์จึงมีปัญหาน้ำท่วมทั้งจากปริมาณน้ำในแม่น้ำ และปัญหาน้ำทะเลหนุน เช่นเดียวกับบ้านเราเลยครับ
เนเธอร์แลนด์ตั้งอยู่ที่ทะเลเหนือเช่นเดียวกับอังกฤษ ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในปี 1953 (พ.ศ.2496) เช่นเดียวกัน โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,800 คน และมีบ้านเรือนเสียหายมหาศาล ทำให้เนเธอร์แลนด์มีการวางแผนจัดการน้ำครั้งใหญ่ชื่อว่า “Delta Works” คือการสร้างแนวกั้นยักษ์เพื่อปิดกั้นชายฝั่งของประเทศจากทะเล รวมถึงประตูน้ำขนาดใหญ่ และระบบสูบน้ำต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยโครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 43 ปี และปัจจุบันนี้ก็ยังมีการปรับปรุง เพิ่มความสูงของขอบคันกั้นน้ำและเขื่อนต่างๆ อยู่
ในภาพจะเป็นเขื่อนชื่อ Afsluitdijk ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวกั้นชายฝั่งทางตอนเหนือของ Amsterdamโดยเป็นคันกั้นน้ำกว้าง 90 เมตร ความยาวประมาณ 32 กิโลเมตร ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 7.25 เมตร กั้นพื้นที่ด้านในจากระดับน้ำทะเล ทำให้ฝั่งด้านในเป็นพื้นที่น้ำจืดที่มีระดับน้ำคงที่ สามารถใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยหรือเกษตรกรรมได้ครับ
🚩 Maeslantkering (Maeslant Barrier) - เนเธอร์แลนด์
สำหรับโครงการ Maeslant Barrier ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป้นส่วนหนึ่งของโครงการ Delta Works เช่นกันครับ
ที่เรายกมาเป็นตัวอย่างนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ประตูกั้นน้ำทะเลหนุน” ที่มีหลักการคล้ายกับประตูน้ำของลอนดอนในภาพก่อนหน้านี้ แต่หน้าตาจะต่างกันมาก เพราะที่นี่จะมีประตูแต่ 2 บาน เปิดปิดแนวขวางคล้ายๆ รูปพัด แต่ละประตูมีขนาดมหึมา กว้างบานละ 237 เมตร สูง 22 เมตร (ประมาณตึก 7 ชั้น) โดยประตูนี้เริ่มก่อสร้างในปี 1991 (พ.ศ.2534) และสร้างเสร็จในปี 1997 (พ.ศ.2540) ครับ
ภาพตอนปิดประตู ที่มา: https://kkurojjanawong.wordpress.com/2019/11/24/maeslantkering-the-world-largest-storm-surge-barrier/
🚩 MOSE - อิตาลี
มาดูที่ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกันบ้าง กับปัญหาน้ำท่วมเมือง “เวนิส” ใช่ครับ เวนิสเมืองกลางน้ำที่เรารู้จักกันนี่แหละ โดยเมืองนี้ตั้งอยู่กลาง Venetian Lagoon (ทะเลสาบที่มีพื้นที่เปิดออกสู่ทะเลได้) ทำให้ระดับน้ำมีการขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล ซึ่งในช่วงหลังๆ มักจะมีปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลสูงผิดปกติเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำสูงท่วมเมืองและทำความเสียหายให้กับอาคารเก่าแก่สำคัญๆ เช่นโบสต์เซนต์มาร์คที่มีอายุเป็นพันๆ ปีเลยทีเดียว
เมืองเวนิส และจุดที่เป็นทางเข้าออกของลากูน
ดังนั้นจึงมีการสร้างโครงการ MOSE เขื่อนกั้นน้ำทะเลขนาดยักษ์ขึ้นมาปิดปากทางออกสู่ทะเลของ Venetian Lagoon ซึ่งมีอยู่ 3 ช่องทาง โดยจะมีบานประตูทั้งหมด 78 บาน มีความยาวของประตูกั้นน้ำรวมทั้งหมด 1.6 กิโลเมตรครับ
การทำงานของประตูกั้นน้ำ MOSE ที่มา: https://www.nationalgeographic.org/photo/europe-venicetide/#venice-tide-barrier
ความเจ๋งของระบบประตูกั้นน้ำของที่นี่ก็คือ มันไม่มีขอบประตูน้ำเป็นแท่นๆ โผล่ขึ้นมากลางน้ำ แต่จะใช้ประตูบานพับที่เป็นกล่องเหล็ก สามารถนอนราบไปกับพื้นทะเลได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน แต่พอจะใช้งานก็สูบอากาศใส่เข้าไปด้านใน ตัวบานประตูก็จะลอยขึ้นมากั้นน้ำสองฝั่งออกจากกัน
🚩 Marina Barrage - สิงคโปร์
เดี๋ยวจะหาว่ามีแต่ฝั่งยุโรป เราพากลับมาดูที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรากันบ้างครับ นี่คือโครงการ Marina Barrage เขื้อนกั้นน้ำทะเลที่สร้างปิดปากอ่าว Marina Bay ของสิงคโปร์ครับ หลายคนอาจจะเคยไปเที่ยวชมอาคารริมน้ำที่มีดาดฟ้าเป็นสนามหญ้ารูปวงก้นหอย ดูเผินๆ เหมือนสวนสาธารณะทั่วไป แต่จริงๆ ที่นี่มีอะไรมากกว่านั้นครับ
เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีฝนตกตลอดทั้งปี ทำให้มักจะมีปัญหาน้ำท่วมขังระบายออกทะเลไม่ทัน (เหมือนกับบ้านเรานั่นแหละ) หลายครั้งที่น้ำระบายช้า ก็เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่หนุนเข้ามาพร้อมๆ กัน Marina Barrage จึงเป็นระบบเขื่อนกั้นน้ำทะเลที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยสร้างปิดปากทางออกสู่ทะเลเอาไว้ โดยมีหลักการทำงานอยู่ 3 แบบ คือ
1. ในช่วงเวลาปกติ ประตูน้ำจะปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาด้านในอ่าวได้ แยกน้ำสองฝั่งออกจากกัน ต่อให้น้ำทะเลหนุน ด้านในก็จะยังคงมีระดับน้ำปกติ
2. ถ้าฝนตกหนัก แต่น้ำทะเลไม่สูงมาก ประตูน้ำจะสามารถเอนลงเพื่อให้น้ำด้านในระบายล้นออกสู่ทะเลได้
3. ถ้าฝนตกหนัก และน้ำทะเลหนุนพอดี ประตูจะกั้นน้ำเอาไว้ แล้วจะมีเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ 7 เครื่อง สูบน้ำด้านในออกไปทิ้งทะเล
นอกจากประโยชน์ในการระบายน้ำและป้องกันน้ำทะเลหนุนแล้ว เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเกาะ ค่อนข้างขาดแคลนน้ำจืดสำหรับใช้บริโภค เขื่อนนี้จึงช่วยปิดกั้นอ่าว Marina Bay ให้เป็นที่กักเก็บน้ำจืดให้กับเมือง สำหรับนำไปผลิตน้ำประปาได้ด้วยครับ
โดยเขาออกแบบอาคารปั๊มน้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็มาใช้ประโยชน์ได้ด้วย ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการศึกษาหาความรู้ เพราะด้านในอาคารมี museum ที่ให้ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์ ตัวปั๊มน้ำก็อยู่ในห้องกระจกที่สามารถเดินชมได้ครับ
วิวเมืองจากสันเขื่อน Marina Barrage ที่มา: Unsplash
อาคารปั๊มน้ำที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ทำเป็นห้องกระจกโชว์ให้เห็นการทำงานของปั๊ม ที่มา: Unsplash
และยังมี Museum ที่ให้ความรู้เรื่องการจัดการน้ำของประเทศเค้าด้วย ... ซึ่งผมก็ไปเสพความรู้จากที่ Museum นี้มาเล่านี่แหละฮะ
พื้นที่เรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำ
🚩 ย้ายเมืองหลวงหนีน้ำ - อินโดนีเซีย
นอกจากการพัฒนาโครงการต่างๆ นานามากั้นน้ำทะเลไม่ให้หนุนท่วมเมืองแล้ว ถ้าปัญหามันอีรุงตุงนังมากเกินจนแก้ยากแล้ว ก็ย้ายเมืองหลวงหนีน้ำมันซะเลยให้มันแล้วไป 🤣
กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ก็เป็นเมืองใหญ่ของโลกที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมครับ โดยสาเหตุมาจากทั้งแผ่นดินทรุดเนื่องจากการใช้น้ำบาดาลปริมาณมาก และจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ล่าสุดเมื่อสองสามปีก่อน ทางการของอินโดนีเซียก็ออกมาประกาศว่าจะเตรียมแผนการย้ายเมืองหลวงไปยังที่ใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ขยับไปใกล้ๆ แบบกรุงเทพฯ ย้ายไปอยุธยานะ แต่เป็นการย้ายออกจากเกาะเดิมไปอยู่ที่ใหม่ ห่างจากเดิมเป็นพันๆ กิโลไปเลย!
โดยเขาจะย้ายจากจาการ์ตาเดิมที่อยู่บนเกาะชวา ไปอยู่บนเกาะบอร์เนียว บริเวณที่เรียกว่าเขตกาลิมันตันตะวันออก (ชื่อเมืองหลวงอย่างเป็นทางการยังไม่ได้ตั้ง) โดยวางกำหนดเอาไว้ว่าจะเริ่มการย้ายระยะแรกภายในปี 2025 หรืออีก 4 ปีนับจากนี้ครับ
ซึ่งการย้ายเมืองหลวงก็เป็นอะไรที่ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะสุดท้ายก็อาจจะเป็นแค่การย้ายศูนย์กลางการบริหารประเทศไปอยู่ที่ใหม่ ไม่ได้เป็นการบังคับย้ายคนทั้งหมดออกไปจากเมืองเก่า ดังนั้นคนส่วนหนึ่ง (และอาจเป็นส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำ) ก็จะยังอยู่ที่เดิม และถ้าไม่ได้มีการแก้ปัญหาอะไรที่ชัดเจน เมืองจาการ์ตาก็จะยังจมทะเลอยู่ดี
🇹🇭 และสุดท้าย ปิดด้วยภาพของเหตุการณ์น้ำท่วมขังจากน้ำทะเลหนุนเมื่อวันก่อนครับ นี่ยังดีที่น้ำเหนือลงมาไม่เยอะ ถ้าเจอน้ำมาเยอะแบบปี 54 ก็คงได้ลำบากซ้ำซ้อนกันอีกรอบ
ก็หวังลึกๆ ว่าเราจะมีการพัฒนาระบบป้องกันอะไรที่ดีกว่าการไล่วางกระสอบทราย โทษฝนโทษทะเล บอกตัวเองว่าเป็นเรืาองธรรมชาติ ไม่ได้ท่วมทุกวันซะหน่อย แล้วก็วนลูปเหมือนเดิมทุกๆ ปีนะครับ
โฆษณา