11 พ.ย. 2021 เวลา 11:40 • สุขภาพ
วิกฤติโควิด-19 : วิกฤติแห่งความขาดแคลน
Covid-19: The Crisis of Shortages
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Bnomics ได้พาทุกคนพูดคุยไปถึงเรื่องราวของปัญหาขาดแคลนต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติ Irish Potato Famine ปัญหาการขาดแคลนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงยุค 1920 และวิกฤติขาดแคลนน้ำมันที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกในยุค 1970
สาเหตุที่เราได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าก็เพราะว่าอยากจะพาทุกคนฉายภาพปัญหาขาดแคลนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมา เพื่อให้เข้าใจปัญหาการขาดแคลนสินค้าต่างๆ กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
📌 สู่จุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดแคลน (Back to the Beginning)
ก่อนอื่น ผมจะขอเล่าย้อนกลับไปเร็วๆ ถึงต้นเหตุของปัญหาขาดแคลนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันครับ โดยปัญหาที่ว่านี้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงมีนาคมปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงระยะเริ่มต้นของวิกฤติโควิด-19 โดยในขณะนั้น การระบาดที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างต่างทำให้บรรดาบริษัทและโรงงานการผลิตต่างๆ ทั่วโลกปิดตัวลงชั่วคราว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้สายพานการผลิตสินค้าทั่วโลกหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ แม้ว่าหลังจากเกิดล็อกดาวน์อย่างพร้อมกันทั่วโลกไปไม่นาน ประเทศที่เริ่มควบคุมการระบาดได้ อย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศแหล่งที่ตั้งของโรงงานสำคัญของโลกจะได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการลง และเริ่มติดเครื่องยนต์ให้อุตสาหกรรมการผลิตกลับมาเริ่มวิ่งต่ออีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปได้โดยง่าย เพราะอุตสาหกรรมการผลิตต่างเกี่ยวพันกันในห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) กันไปหมด ส่งผลให้การฟื้นตัวก็เริ่มต้นได้โดยช้า เนื่องจากขาดชิ้นส่วนวัตถุดิบสำคัญที่ผลิตในประเทศอื่น
1
นอกจากนี้ ก็มีบรรดาบริษัทและโรงงานจำนวนไม่น้อยที่ได้ปรับแผนการผลิตใหม่ โดยลดกำลังการผลิตต่ำลง เนื่องจากได้คาดการณ์ที่ว่าความต้องการซื้อสินค้าจากผู้บริโภคจะลดลง
ในขณะที่ฝั่งภาคการผลิตทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในฝั่งผู้บริโภคกลับไม่ใช่เช่นนั้น เพราะตั้งแต่ช่วงแรกที่วิกฤติเกิดขึ้น รัฐบาลและธนาคารทั่วโลกต่างก็ระดมทุกสรรพกำลังในเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อพยุงตลาดการเงิน ไปจนถึงการอัดฉีดเงินสดเข้ากระเป๋าเงินของประชาชนโดยตรง เพื่อรักษาสภาพคล่อง ให้อยู่รอดไปต่อได้ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น
1
📌 เมื่อมีเงินเหลือ คนย่อมอยากนำไปใช้จ่าย (What do you do with piles of cash?)
ผลก็คือ นโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ทำให้อยากนำไปจับจ่ายใช้สอย ทดแทนพวกบริการต่างๆ ที่ไม่สามารถไปได้ชั่วคราว ซึ่งในส่วนนี้ จำนวนไม่น้อยก็ถูกใช้จ่ายไปกับการบริโภคพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างเช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ จากเทรนด์ Work From Home หรือ Study From Home ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลน ที่เราได้เห็นในช่วงแรกๆ ก็คือปัญหาขาดแคลนชิป (Chip shortage)
3
ซึ่งปัญหานี้ก็ยังถูกซ้ำร้ายโดยปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ได้มีการแบนบริษัทผลิตชิปของจีน ทำให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องหันไปซื้อชิปจากบริษัทจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่น TSMC จากไต้หวันแทน ซึ่งก็เดินเครื่องจักรเต็มกำลังอยู่แล้ว หรือเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตชิปของญี่ปุ่น เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้ชิปยิ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการไปอีก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เป็นวงกว้าง ตั้งแต่พวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์
ในช่วงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทางสหรัฐฯ ทำการแบน SMIC บริษัทผลิตชิปจากจีน
นอกจากนี้ ในช่วงหลังมาที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ปัญหาการขาดแคลนที่ว่าก็ได้เริ่มขยายเป็นวงกว้าง ไปหลายอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อคนจำนวนมากที่อัดอั้นมานาน สามารถนำเงินของตัวเองออกมาใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่น ในสหรัฐฯ ตัวเลขการขายขั้นสุดท้ายที่แท้จริง (Real Final Sales) ก็พุ่งขึ้นสูง โดยกลับมาอยู่ในเทรนด์ก่อนเกิดวิกฤติแล้ว
ปัญหาขาดแคลนที่ว่านี้ก็ได้สะท้อนออกมาเป็นปรากฎการณ์ที่ราคาสินค้าต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อปริมาณสินค้าที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของราคาน้ำมันที่ได้เพิ่มขึ้นสูง ต่างจากปีก่อนอย่างลิบลับ เมื่อคนกลับมาเดินทางได้เช่นเดิม ความต้องการน้ำมันก็ฟื้นคืนมา อีกทั้ง ยังมีปัจจัยหนุนจากวิกฤติขาดแคลนพลังงานอีกด้วย
📌 แรงงานขาดแคลน... ทำให้อาจมีเด็กดีหลายคน ไม่ได้พบกับซานตา (Bad luck for good kids)
1
ปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะสินค้าอย่างเดียวอีกด้วย หากแต่รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในตลาดแรงงาน อย่างเช่น ในสหรัฐฯ ที่แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกลับฟื้นตัวของตลาดแรงงานโดยรวมจะเป็นไปได้ดีอย่างมาก โดยมีแรงงานกลับเข้ามาทำงานอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งอื่นๆ แต่ในช่วงหลังมา การฟื้นตัวของตลาดแรงงานก็ชะลอตัวลง มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ยังลังเลในการกลับไปทำงานอีกครั้ง ส่งผลต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจโดยรวม
ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุด ก็เกิดข่าวว่าในเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะถึงนี้ ก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์การขาดแคลนซานตาคลอสในสหรัฐฯ อีกด้วย เนื่องจากคนที่จะมาทำงานนี้ได้จะต้องเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้กังวลกลัวจะติดเชื้อจากเด็ก และไม่กล้าไปทำงานกัน
ปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่ปัญหาตามมาซึ่งก็คือเงินเฟ้อ เมื่อราคาสินค้าต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้ตลาดเข้าสู่ดุลยภาพ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนและปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นก็ได้ทำให้หลายคนเริ่มกังวลใจและตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่ปัญหา Stagflation ซึ่งก็คือภาวะเศรษฐกิจซบเซาแต่อัตราเงินเฟ้อสูงเหมือนเช่นวิกฤติน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 หรือไม่
2
ปัญหาขาดแคลนซานตาคลอสในสหรัฐฯ ที่มักเป็นผู้สูงอายุซึ่งส่วนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
โดยในส่วนนี้ หากไปดูจริงๆ ก็จะพบว่า จริงอยู่ที่ในช่วงนี้ มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนสินค้าต่างๆ จากฝั่งผู้ผลิต (Supply side) เอง อย่างเช่น กรณีของการผลิตชิป
ปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้นจะคลายตัวลงเอง แต่ต้องมีภาครัฐมาช่วยบรรเทา
แต่สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้นั้นมาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ตลาดแรงงานที่แม้ว่าการฟื้นตัวจะสะดุดบ้าง แต่ก็กลับมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ ความต้องการซื้อของผู้บริโภคพุ่งทยานขึ้นมาอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่างหาก ซึ่งเป็น Demand-pull inflation ต่างจากวิกฤติยุค 1970 ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจซบเซา
เมื่อเงินที่ผู้บริโภคเก็บไว้ได้ถูกนำออกมาใช้จ่ายจนหมด และราคาสินค้าที่ขาดแคลนได้ปรับตัวสูงขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ตลาดก็จะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติเอง
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามยถากรรม เพราะกว่าที่ตลาดจะปรับตัวได้ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งก็หมายความว่าปัญหาการขาดแคลน และปัญหาราคาสินค้าสูงดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตพอสมควร
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ตลาดก็ค่อยๆ ปรับตัวไป รัฐบาลก็มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวนี้ให้กับสังคมโดยรวมด้วย ตั้งแต่ การช่วยเหลือขั้นพื้นฐานอย่างการเข้าแทรกแซงราคาสินค้าบางชนิด อย่างเช่น น้ำมัน ไปจนถึง การแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต อย่างเช่น การเข้ามาช่วยภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในการสร้างและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแรงขึ้น ล้มแล้วลุกได้เร็ว พร้อมรับกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
#วิกฤตขาดแคลน #วิกฤตขาดแคลนชิป
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา