12 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • การศึกษา
“จากเด็ก Gen-X ถึง Alpha” - มุมมองที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้ใหญ่เห็นเด็กยุคใหม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของชุมชนตัวเอง
ในยุคที่ Social Network กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่า “พวกเด็กสมัยนี้” ให้ความสำคัญกับโลกเสมือนจริงบนหน้าจอมือถือมากกว่าสังคมในโลกความจริง แต่กับกลุ่มเยาวชนลูกหลานชาว จ.สตูล และ จ.สงขลา เขากลับกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงชุมชนของพวกเขาเอง โดยเรียนรู้ผ่านโลกเสมือนจริง
“เด็กสมัยนี้มันไม่ได้เรื่องเลย วันๆ นั่งเล่นแต่มือถือ ไม่ก็หมกตัวอยู่ในห้อง นั่งหน้าคอมพ์ฯ เล่นเฟซฯ ดูติ๊กตอก อัพสตอรี่ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” เพื่อนของผมบ่นลูกตัวเองให้เพื่อนๆ ฟังในวงกาแฟ หลังจากไปแอดเฟซฯ ลูกตัวเอง แล้วเห็นว่ากิจวัตรประจำวันของเจ้าลูกตัวดีวนๆ อยู่กับการถ่ายรูปเซลฟี่ อัพสเตตัส และสตอรี่ นู้นนี่นั่น
ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยนั้น ดูจะเป็นปัญหาโลกแตกในทุกยุคทุกสมัย สายตาของคนยุคหนึ่งมักมองคนอีกยุคหนึ่งว่าแตกต่าง ไม่ชอบสักเท่าไหร่ หรือเลวร้ายถึงขนาดดูถูกดูแคลนกัน แต่หากลองมองย้อนกลับไป “เราเองก็ไม่ต่างกับเด็กๆ มันสักเท่าไหร่” ในวัยเดียวกับลูกของเพื่อน เราล้วนมีความขบถและความต้องการที่จะเป็นอิสระจากกรอบความคิดของผู้ใหญ่อยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ในยุคสมัยที่เรากำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นท่ามกลางวัฒนธรรมป๊อป การมาถึงของแนวเพลงอินดี้ (Indy-music หรือ Independent Music) สร้างความแปลกใหม่กับวัยรุ่นในยุคนั้น วัยรุ่นหลายคนใช้แนวเพลงใหม่ของพวกเขาบ่งบอกตัวตนของตนเอง จนมาถึงยุค Social Media เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พฤติกรรมของวัยรุ่นก็เปลี่ยนไป จากการติดตามรายการบันเทิงทางทีวี อ่านข่าวจากนิตยสาร กลายเป็นการฟังเพลงจาก Application ติดตามข่าวสารที่อัพเดทแบบ Real Time จากโลก Twitter ดูและฟังรายการผ่าน Youtube และ Podcast ต่างๆ ตลอดจนแสดงตัวตนผ่านสเตตัส Facebook สตอรี่ IG และติ๊กตอก Tiktok
ก็ตลกดีที่คนในยุคของผมที่เรียกตัวเองแสนเท่ว่า Gen-X จะดูถูกดูแคลน “พฤติกรรมใหม่” ของคนรุ่น Gen Me, Gen Z จนถึงเด็กรุ่น Alpha แต่กลับต้องยอมรับว่าพฤติกรรมเหล่านั้นกลายเป็น “สิ่งปกติใหม่” ในยุคนี้ไปแล้ว
เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทางภาคใต้ เพื่อนคนนี้กลับเล่าถึงพฤติกรรมการอยู่หน้าจอของเด็กรุ่นใหม่ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากสิ่งเดิมๆ ที่บรรดาเพื่อนๆ ชอบบ่นถึงลูกตัวเองในวงกาแฟอย่างสิ้นเชิง เมื่อเด็กรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งกลับลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาในชุมชนของตนเอง การวาดอนาคตของชุมชนและสังคมของพวกเขา ที่เขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในอนาคตอันใกล้ ถกเถียง พูดคุย และร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดอย่างผู้ใหญ่ผ่านทางหน้าจอในห้อง หรือในบ้านของพวกเขาเอง
The Change Makers Community* หรือ หลักสูตรพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คือพื้นที่ที่จัดไว้ให้เด็กรุ่นใหม่กลุ่มที่ว่า โดยหลักสูตรที่ว่านั้นจัดสอนออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น zoom ใช้เวลาในช่วงวันหยุดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเอง ที่จัดให้เยาวชนในเขตพื้นที่ จ.สตูล และจ.สงขลา ได้ฝึกคิดและปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
หากจะมองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในวัยรุ่นของเรา ไม่ว่าจะ Gen ไหน วัยรุ่นส่วนใหญ่ดูเหมือนจะใส่ใจกับตัวเองมากเกินพอดี แต่กับการที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมามองปัญหาของชุมชน ใส่ใจสังคมพื้นที่ของตนเอง พยายามหาคำตอบให้กับชุมชน ถึงแม้ผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แต่การพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของพลังชุมชนเพื่อความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และมีคุณค่ามากกว่าจะเป็นเพียงแค่ “ไอ้พวกเด็กสมัยนี้” อย่างที่คนยุคก่อนอย่างเราๆ มองว่าพวกเขาเป็น
โฆษณา