14 พ.ย. 2021 เวลา 03:15 • ประวัติศาสตร์
“เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน (Princess Margaret, Countess of Snowdon)” เจ้าหญิงผู้ได้รับสมัญญานามว่าเป็น “แกะดำแห่งราชวงศ์อังกฤษ”
1
“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II)” ทรงเป็นพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร
เรื่องราวของพระองค์เป็นที่แพร่หลาย คนทั้งโลกต่างรู้จักพระองค์เป็นอย่างดี
หากแต่ “เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน (Princess Margaret, Countess of Snowdon)” พระขนิษฐาของพระองค์ กลับไม่เป็นที่พูดถึงนัก และดูเหมือนจะอยู่ใต้เงาของพระเชษฐภคินีมาโดยตลอด
1
บทความนี้จะเป็นเรื่องราวของพระองค์
“เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน (Princess Margaret, Countess of Snowdon)”
“เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน (Princess Margaret, Countess of Snowdon)” ประสูติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473)
พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์ที่สองใน “ดยุกแห่งยอร์ก (Duke of York)” และ “ดัชเชสส์แห่งยอร์ก (Duchess of York)” ซึ่งภายหลัง พระราชบิดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร (George VI)” ส่วนพระราชมารดาก็ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth The Queen Mother)
1
พระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดยุกแหงยอร์กก็ทรงรักและเอ็นดูเจ้าหญิงมาร์กาเรต เนื่องจากเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงมีพระนิสัยขี้เล่น ร่าเริง ทำให้ดยุกแห่งยอร์กทรงตามใจพระราชธิดาองค์นี้อย่างมาก
ดยุกแห่งยอร์กทรงเรียกเจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ภายหลังคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร) ว่าเป็นความภาคภูมิใจของพระองค์ แต่สำหรับเจ้าหญิงมาร์กาเรตนั้น พระองค์ทรงเรียกว่าเป็น “ความสุข” ของพระองค์ เป็นผู้ที่ทำให้แต่ละวันของพระองค์มีความสุข
1
เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงมีชีวิตที่เรียบง่าย เงียบสงบ จนเมื่อพระชนม์ได้ 6 ปี
3
ในเวลานั้น “สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร (Edward VIII)” ได้ทรงสละบัลลังก์หลังจากครองราชย์ได้เพียง 11 เดือน เนื่องจากทรงตกหลุมรักหญิงชาวอเมริกันที่ชื่อว่า “วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson)”
1
สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และวอลลิส ซิมป์สัน
เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสละบัลลังก์ ทำให้ดยุกแห่งยอร์ก พระราชบิดาของพระองค์ ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร (George VI)”
1
พระเจ้าจอร์จที่ 6 ไม่ทรงเต็มพระทัยในการขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงกังวลว่าพระองค์อาจจะไม่เหมาะที่จะเป็นพระประมุข
และเมื่อพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชธิดาองค์ใหญ่ จึงได้เป็นรัชทายาท ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรต ตกเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนกว่าที่ผ่านๆ มา ทำให้ชีวิตที่สงบเงียบของสองพี่น้องต้องเปลี่ยนไป
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเรียนรู้ที่จะควบคุมพระอารมณ์องค์เอง หากรู้สึกขุ่นพระทัย ก็สามารถเก็บความขุ่นเคืองนั้นไว้ในพระทัยได้ดี
แต่เจ้าหญิงมาร์กาเรตนั้นทรงดื้อหากแต่ร่าเริง เปิดเผยมากกว่าพระเชษฐภคินี
นอกจากนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 6 ยังค่อนข้างตามใจพระองค์ ทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงมาร์กาเรตเข้าบรรทมดึกได้ราวกับผู้ใหญ่
3
และด้วยความร่าเริงของเจ้าหญิงมาร์กาเรต ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่สนใจของผู้คน โดยเจ้าหญิงเอลิซาเบธนั้นชอบพระทัยที่ทุกคนให้ความสนใจพระขนิษฐา เพราะทำให้พระองค์รู้สึกผ่อนคลายที่ผู้คนคลายความสนใจจากพระองค์บ้าง
2
ในฐานะองค์รัชทายาท เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงถูกเข้มงวดและต้องปฏิบัติตามแบบแผนพิธีการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ในขณะที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตไม่ต้องถูกเข้มงวดเท่ากับพระองค์
2
ทางด้านการศึกษา เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็ได้รับการถวายการสอนในศาสตร์ต่างๆ ในขณะที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตค่อนข้างได้รับการตามใจ ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการเรียนมากเท่ากับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีเวลาทำอะไรตามพระทัย
2
ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เจ้าหญิงมาร์กาเรตจึงเริ่มเสวยเหล้า และเสด็จเที่ยวตามไนท์คลับต่างๆ ในลอนดอน
2
เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงใช้ชีวิตอย่างสนุกสุดเหวี่ยง จนกระทั่งเรื่องเศร้ามาเยือน
ในปีค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) หลังจากเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งปอด พระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็สวรรคตด้วยพระชนมายุ 56 พรรษา
ในเวลานั้น เจ้าหญิงมาร์กาเรตมีพระชนม์เพียง 22 ปี และทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่แพทย์ต้องถวายยาระงับประสาทเพื่อให้พระองค์บรรทมได้
ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II)”
1
การขึ้นเป็นพระประมุขของประเทศที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ ทำให้สองพี่น้องห่างเหิน และทำให้เจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งมีพระชนม์เพียง 20 ต้นๆ ต้องมองหาใครที่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ผู้ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของพระองค์ คือ “ปีเตอร์ ทาว์นเซนด์ (Peter Townsend)” นายทหารแห่งกองทัพอากาศ
1
ปีเตอร์ ทาว์นเซนด์ (Peter Townsend)
เจ้าหญิงมาร์กาเรตและทาวน์เซนด์รู้จักกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยแต่ก่อน ทาวน์เซนด์มองว่าเจ้าหญิงมาร์กาเรตเป็นเพียงเจ้าหญิงนิสัยเสียองค์หนึ่ง และตัวของทาวน์เซนด์ก็เป็นทหารที่มีวินัยและเคร่งครัดในกฎระเบียบผู้หนึ่ง
พระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็ทรงโปรดทาวน์เซนด์ และทาวน์เซนด์กับเจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ทรงเริ่มมีสัมพันธ์กันในเวลาต่อมา
1
เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงมีพระประสงค์จะอภิเษกสมรสกับทาวน์เซนด์ แต่ปัญหาก็คือ เจ้าหญิงมาร์กาเรตมีพระชนม์เพียง 22 ปี ในขณะที่ทาวน์เซนด์อายุ 38 ปีแล้ว และที่สำคัญ ทาวน์เซนด์แต่งงานแล้วแถมมีลูกถึงสองคน
1
แต่ทาวน์เซนด์ก็ได้หย่ากับภรรยาในเวลาต่อมา และเขาก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับเจ้าหญิงมาร์กาเรตอย่างลับๆ
ถึงแม้ประชาชนอาจจะยอมรับการที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตจะอภิเษกสมรสกับทาวน์เซนด์ หากแต่คริสตจักร รัฐสภา และคณะรัฐมนตรีคงจะไม่ยอมรับแน่ๆ
2
ทาวน์เซนด์นั้นเป็นสามัญชน และยังผ่านการหย่าร้างมาแล้ว ไม่ใช่คู่ที่เหมาะสมเลย
1
และตามกฎการอภิเษกสมรสของราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงมาร์กาเรตต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระราชินีเอลิซาเบธ ถึงจะอภิเษกสมรสได้
1
ความกดดันจึงตกอยู่กับพระราชินีเอลิซาเบธ พระองค์ไม่สามารถพระราชทานพระบรมราชานุญาตได้ เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อคริสตจักรและรัฐสภา แต่หากไม่อนุญาต เจ้าหญิงมาร์กาเรตก็จะขออนุญาตต่อรัฐสภาโดยตรง ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เรื่องอื้อฉาวเข้าไปอีก
ดูเหมือนทางออกที่ดูจะเหมาะสมที่สุด ก็คือเจ้าหญิงมาร์กาเรตต้องสละสิทธิในสายการสืบบัลลังก์ รวมทั้งต้องถูกถอดยศและตำแหน่งต่างๆ และถูกตัดเงินปีอีกด้วย
1
แต่พระราชินีเอลิซาเบธก็ทรงมีพระประสงค์จะให้พระขนิษฐาพอพระทัย พระองค์จึงพระราชทานคำแนะนำต่อพระขนิษฐา โดยทรงแนะนำว่าเจ้าหญิงมาร์กาเรตควรจะรอให้พระชนม์ครบ 25 ปีซะก่อน พอถึงเวลานั้น เจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ไม่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระองค์อีกต่อไป
1
หากแต่ “วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ก็ได้มีคำสั่งให้ทาวน์เซนด์ไปประจำการยังนครบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ภายหลังจากผ่านไปได้สองปี และเจ้าหญิงมาร์กาเรตมีพระชนม์ได้ 25 ปี สื่อมวลชนต่างๆ ก็คอยจับตาดูว่าเจ้าหญิงมาร์กาเรตจะลงเอยกับทาวน์เซนด์หรือไม่
แต่ด้วยช่วงเวลาสองปี ทำให้เจ้าหญิงมาร์กาเรตและทาวน์เซนด์ห่างเหิน และต่างก็หมดความรักซึ่งกันและกันแล้ว อีกทั้งทาวน์เซนด์ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ทำให้เจ้าหญิงมาร์กาเรตหมดความสนพระทัยในทาวน์เซนด์อย่างรวดเร็ว
1
ตุลาคม ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) เจ้าหญิงมาร์กาเรตและทาวน์เซนด์ก็ทรงเลิกคบหากัน ท่ามกลางความสนใจของชาวอังกฤษ
ปีต่อมา เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงตอบตกลงที่จะแต่งงานกับพระสหายที่ชื่อ “บิลลี วอลเลซ (Billy Wallace)”
1
ในเวลานั้น เจ้าหญิงมาร์กาเรตมีพระชนม์ได้ 26 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะไม่เด็กแล้ว
1
แต่ชีวิตคู่ของพระองค์กับวอลเลซนั้นก็อยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากภายหลังการหมั้น วอลเลซก็ได้สารภาพกับพระองค์ว่าเขาแอบมีชู้ ทำให้เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงเลิกสัมพันธ์กับวอลเลซทันที
2
เจ้าหญิงมาร์กาเรตและวอลเลซ
สองปีหลังจากเลิกรากับวอลเลซ เจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ได้ทรงพบกับช่างภาพชาวอังกฤษที่ชื่อ “แอนโทนี อาร์มสตรอง-โจนส์ (Antony Armstrong-Jones)” ในงานเลี้ยงมื้อค่ำงานหนึ่ง
หลังจากงานนั้น อาร์มสตรอง-โจนส์ได้รับเชิญให้ไปถ่ายพระรูปของเจ้าหญิงมาร์กาเรต ทำให้อาร์มสตรอง-โจนส์และเจ้าหญิงมาร์กาเรตได้เริ่มต้นสัมพันธ์กัน และได้หมั้นหมายกันในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)
อาร์มสตรอง-โจนส์และเจ้าหญิงมาร์กาเรต
อาร์มสตรอง-โจนส์ถูกหลายคนดูถูกว่าเป็นเพียงสามัญชน หากแต่เขาก็เป็นคนที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตเลือก และในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกัน
งานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงมาร์กาเรตกับอาร์มสตรอง-โจนส์ได้ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ และเป็นงานอภิเษกสมรสงานแรกของราชวงศ์อังกฤษที่ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ และมีผู้ชมทั่วโลกได้ชมกว่า 300 ล้านคน
1
ชีวิตคู่ในสองปีแรกนั้นราบรื่นดี ทั้งคู่มีอะไรคล้ายๆ กัน ซึ่งก็อาจจะมากเกินไป และทำให้ความขัดแย้งเริ่มตามมา
1
เจ้าหญิงมาร์กาเรตและอาร์มสตรอง-โจนส์มีพระโอรส ธิดาจำนวนสองคน หากแต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ
1
อาร์มสตรอง-โจนส์ได้งานในสำนักข่าวแห่งใหม่ ซึ่งทำให้เขาต้องทำงานหนักขึ้นและต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ และเขาก็เริ่มจะหยาบคายและไม่สนใจเจ้าหญิงมาร์กาเรต อีกทั้งเจ้าหญิงมาร์กาเรตยังจับได้ว่าเขาแอบคุยโทรศัพท์กับผู้หญิงคนอื่น
1
ทางด้านเจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ไม่ยอมน้อยหน้า พระองค์ทรงมีสัมพันธ์กับชายอื่นมากหน้าหลายตา
ในวันหนึ่ง ปาปารัสซีได้ถ่ายพระรูปของเจ้าหญิงมาร์กาเรตขณะกำลังอยู่กับคนสวน และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วอังกฤษ ทำให้ชาวอังกฤษทั้งประเทศซุบซิบนินทาพระองค์
เมื่อฟางเส้นสุดท้ายขาดผึงลง เจ้าหญิงมาร์กาเรตและอาร์มสตรอง-โจนส์ก็ประกาศแยกทางกัน ก่อนจะหย่ากันในปีค.ศ.1978 (พ.ศ.2521)
3
ด้วยความอื้อฉาวที่ประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษขนานนามพระองค์ว่าเป็น “ปรสิต” และ “ความอับอายของคนทั้งชาติ” โดยหลายคนตั้งคำถามว่า ในเมื่อเจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ประพฤติองค์เสื่อมเสีย ทำไมถึงไม่ถอดยศของเจ้าหญิงมาร์กาเรตล่ะ?
2
ตลอดชีวิตของเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระองค์ทรงอยู่ใต้เงาของพระเชษฐภคินีมาโดยตลอด
พระองค์เคยประทานสัมภาษณ์ โดยรับสั่งว่าพระองค์มักจะพยายามที่จะแบ่งเบาภาระของพระเชษฐภคินี อย่างน้อยซักนิดนึงก็ยังดี
ภายหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ เจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ไม่ทรงพบกับความสุขอีกเลย โดยพระองค์มักจะปาร์ตี้อย่างบ้าคลั่งและมีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน หากแต่พระองค์มักจะโดดเดี่ยวเสมอ
1
ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระพลานามัยของพระองค์นั้นเสื่อมโทรมอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากการใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงของพระองค์
1
ในช่วงที่พระราชบิดาสวรรคต พระองค์ทรงสูบบุหรี่วันละกว่า 60 มวน ทำให้โรคต่างๆ รุมเร้า
1
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) เจ้าหญิงมาร์กาเรตได้สิ้นพระชนม์จากพระโรคแทรกซ้อน ภายหลังจากที่พระองค์ทรงมีพระอาการอุดตันของเส้นพระโลหิตในพระสมอง
พระองค์มีพระชนม์ 71 ปี
ตลอดพระชนม์ชีพ ผู้คนมักจะเอาแต่เอ่ยถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร พระเชษฐภคินีของพระองค์ ในขณะที่พระองค์นั้น ไม่ค่อยมีคนสนใจนักเมื่อเทียบกับพระเชษฐภคินี
นอกจากนั้น หลายคนมองว่าพระองค์เป็น “แกะดำ” เป็นความอับอายของราชวงศ์
และถึงแม้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและผิดหวัง แต่พระองค์ก็ทรงใช้ชีวิตได้คุ้ม พระองค์ทรงรักความสนุกสนาน และใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง ต่างจากพระราชวงศ์อังกฤษองค์อื่นๆ
ถึงจะไม่โดดเด่นเท่าพระเชษฐภคินีผู้โด่งดัง แต่เรื่องราวของพระองค์ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจเลยทีเดียว
โฆษณา