13 พ.ย. 2021 เวลา 07:00 • ธุรกิจ
“ขายของออนไลน์” ต้องเสียภาษียังไงบ้าง?
1
ในปีนี้หลายคนอาจจะได้ผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์แบบบังเอิญ หรือบางคนก็อาจจะทำเป็นรายได้เสริม ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันจึงทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพที่นิยมกับคนยุคสมัยนี้
การที่เรามีรายได้จากการขายของก็นับเป็น “เงินได้” ประเภทหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องนำรายได้เหล่านี้มา "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี" ให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดด้วยนะ
วันนี้เราเลยถือโอกาสเอาความรู้เรื่องภาษีสำหรับร้านค้าออนไลน์มาเล่าให้ฟัง เชื่อว่าหลายคนที่เพิ่งเริ่มขายของออนไลน์อาจจะยังสงสัยและสับสนเรื่องการยื่นภาษีเงินได้
“การขายของออนไลน์” ถ้าเราไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท (จดทะเบียนพาณิชย์) จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะถูกจัดอยู่ใน “เงินได้ประเภทที่ 8” คือ เงินได้จากการค้าขาย
(ส่วนใหญ่ร้านค้าออนไลน์จะยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กัน ดังนั้นในบทความนี้เราจะขอพูดถึงเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
ภาษี ขายของออนไลน์
ช่วงเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าต้อง “ยื่นภาษี” มีอยู่ 2 ช่วง คือ
1. ภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.94) ยื่นช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. ในปีเดียวกัน
เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. โดยที่ค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่ง
2. ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ยื่นช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. ของปีถัดไป
เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งปี ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น เงินได้ปี 2564 ต้องยื่นภายใน มี.ค. 2565
ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง ?
1. ยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร
2. ยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
3. ยื่นผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จะต้องคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดา โดยวิธีคำนวณ จะมี 2 ขั้นตอน คือ
1. รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ
2. รายได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย (ในส่วนนี้ต้องนำรายได้สุทธิไปเทียบกับตารางอัตราภาษีทีละขั้น แล้วนำมารวมกัน จึงจะเป็นภาษีที่ต้องจ่าย)
ค่าใช้จ่ายของร้านค้าออนไลน์ที่นำมาคิดภาษี มี 3 แบบ คือ
1. หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% (ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายกับกรมสรรพากร)
สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมาขายไป ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง
2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องเก็บเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับกรมสรรพากร)
สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง ร้านออนไลน์ที่มีต้นทุนสูงเพราะจะทำให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงตามไปด้วย
3. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ คิดภาษี 0.5%
ถ้ามีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาท โดยวิธีคิด คือ รายได้ x 0.5% = ภาษีที่ต้องเสีย
ภาษี e-Payment
สำหรับร้านค้าออนไลน์ควรจะรู้จักกฏเกณฑ์ภาษี e-Payment ด้วย เพราะเป็นกฎหมายออกมาเพื่อรองรับให้ทางสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรทราบ โดยกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 จึงยังเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ และบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจรายละเอียดมากนัก
เงื่อนไขของการส่งข้อมูล มีดังนี้
1. ฝาก/รับโอนเงินทุกบัญชี รวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป (ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม)
2. จำนวนครั้งการฝาก/รับโอนเงินทุกบัญชี รวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป
ซึ่งข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ คือ
- เลขบัตรประชาชน
- ชื่อ นามสกุล
- จำนวนครั้งที่ฝาก-รับโอน ต่อปี
- ยอดรวมเงินฝาก-รับโอน ต่อปี
โดยเอกสารเหล่านี้จะถูกนำส่งไปยังกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมปีถัดไป จากนั้นกรมสรรพากรจะเรียกเฉพาะคนที่มีเกณฑ์เข้าข่ายจะต้องเสียภาษี e-Payment เพิ่ม โดยคนที่โดนเรียกก็จะต้องนำเอกสารพวกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของร้านค้าให้เขาตรวจสอบอีกที
พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่อย่าเพิ่งตกใจกลัวไป ถ้าเราไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้นก็แค่ยื่นภาษีแสดงรายได้ประจำปีตามปกติ และสำหรับคนที่ยื่นภาษีเงินได้เป็นปกติอยู่แล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยนะ โดยปัจจุบันเสียอยู่ที่อัตรา 7% ของรายได้ และต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันหลังจากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ในกรณีที่เราทำงานประจำและขายของออนไลน์ด้วย จะดูจากรายได้ของร้านค้าเท่านั้น
ฝากติดตามเพจ Cashury - เพจความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุน
1
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
🔸YouTube Channel: https://www.youtube.com/cashury
โฆษณา