14 พ.ย. 2021 เวลา 03:30 • ครอบครัว & เด็ก
สรุปเคล็ดลับการเลี้ยงลูก แบบปล่อยปละ แต่ไม่ละเลย ของเชฟป้อม
การเลี้ยงลูกแบบตามใจ หรือสปอยล์จนเกินไป อาจทำให้ลูกเสียคน
แต่ถ้าเลี้ยงแบบเข้มงวดเกินไป ไม่ให้อิสระทางความคิดและการใช้ชีวิต
ก็อาจทำให้ลูกขาดความเป็นผู้นำ ไม่ภูมิใจและเคารพตัวเอง หรือที่เรียกว่ามี Self-esteem ต่ำ นั่นเอง
แล้วการเลี้ยงลูกแบบไหน ถึงจะดีที่สุด ?
จริง ๆ แล้วอาจไม่มีสูตรตายตัว เพราะพื้นฐานของพ่อแม่แต่ละคน เติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ลงทุนเกิร์ลอยากจะมาแชร์เคล็ดลับการเลี้ยงลูก “แบบปล่อยปละ แต่ไม่ละเลย”
ของเชฟป้อม หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ว่ามีวิธีการอย่างไร
ถึงเลี้ยงลูกชายทั้ง 3 คนให้เติบโตมาอย่างดี และค้นพบแพสชันในเส้นทางชีวิตตัวเองได้
เพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้คุณพ่อคุณแม่ ได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัวของตัวเอง
แต่ก่อนที่จะไปรู้เคล็ดลับ เรามาทำความรู้จักสมาชิกครอบครัวนี้ ให้มากขึ้นกันก่อน
คนแรก คุณกุลพล สามเสน หรือคุณแอร์ ลูกชายคนเล็ก วัย 30 ปี เจ้าของร้านอาหารยุ้งฉาง
คนที่สอง คุณกุลพัชร สามเสน หรือคุณอ๊าด ลูกชายคนกลาง วัย 33 ปี เจ้าของร้าน Samisen Ramen
​​คนสุดท้าย คุณสกุลชัย สามเสน หรือคุณเอี๊ยด พี่ชายคนโต วัย 35 ปี เจ้าของร้านอาหารป่าก์
สำนวนที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” จึงใช้ได้กับครอบครัวนี้ เพราะลูก ๆ ต่างได้เสน่ห์ปลายจวักจากเชฟป้อมมาเต็ม ๆ
แต่กว่าเชฟป้อมจะประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับถึงทุกวันนี้ ก็ได้ผ่านเรื่องราวมากมาย ที่เป็นบททดสอบชีวิต ซึ่งหล่อหลอมให้เชฟป้อม กลายเป็นคุณแม่ผู้มีความสามารถรอบด้าน ทั้งอาชีพ หน้าที่การงาน และการเลี้ยงลูก
หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม เป็นบุตรของ หม่อมราชวงศ์เทพยพงศ์ เทวกุล และคุณประเทือง เทวกุล ณ อยุธยา มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน และเชฟป้อมเป็นลูกคนสุดท้อง
ชีวิตในวัยเด็กของเชฟป้อม เติบโตมาในวังเทวะเวสม์ โดยจะต้องเรียนรู้วิธีการทำอาหารไทย และอยู่ในกฎระเบียบอยู่เสมอ
3
ส่วนในมุมครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ความรักเชฟป้อมอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนทุกอย่างที่เชฟป้อมอยากทำ
ที่น่าสนใจคือ มีเหตุการณ์ในอดีตครั้งหนึ่ง เคยมีผู้ใหญ่คนหนึ่ง พูดกับคุณแม่ของเชฟป้อม ให้เชฟป้อมได้ยินว่า “ลูกสาวคนนี้ โตขึ้นแม่คงจะต้องเก็บไว้ก้นครัว เพราะดูท่าแล้วน่าจะขายไม่ออก เพราะอ้วนและดำ ต่อให้ให้ฟรี มีของแถม ป้าก็ไม่ขอให้ลูกชายหรอก”
ณ ตอนนั้น ผู้ใหญ่อาจพูดเล่นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่คำพูดเหล่านี้ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนความคิดของเชฟป้อม
ว่าทำไมเราต้องเป็น “คนถูกเลือก” หรือ “ไม่ถูกเลือก” ในเมื่อเราสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ต่อให้เราไม่สวยก็ตาม
จุดนี้เอง ทำให้เชฟป้อมกลายเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าลอง และสนุกกับการใช้ชีวิต โดยไม่ต้องคอยมานั่งห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง
และสาเหตุที่คำพูดดังกล่าว ไม่สามารถทำร้ายเชฟป้อมได้ ก็เพราะว่าพื้นฐานครอบครัวเต็มไปด้วยความรัก และการสนับสนุนอย่างเต็มที่นั่นเอง
เมื่อพื้นฐานครอบครัวดี รากฐานจึงแข็งแรง..
จากพื้นฐานครอบครัวที่ได้รับความรัก ความอบอุ่น ไปพร้อม ๆ กับการให้อิสระ ทำให้วิธีคิดของเชฟป้อม ถูกถ่ายทอดสู่วิธีการเลี้ยงดูลูก ๆ ที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว
เชฟป้อมจะเลี้ยงลูกทุกคนแบบใกล้ชิด คอยประกบจนถึงอายุ 15 ปี จนทุกคนมีคำนำหน้าว่า “นาย”
หลังจากนั้น ทุกคนจะต้องรับผิดชอบชีวิตและการกระทำของตัวเอง โดยเชฟป้อมจะไม่คอยปกป้องอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่จะคอยดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ก็ขอให้นึกถึงแม่เป็นคนแรก
คำพูดที่เชฟป้อม เคยพูดกับลูกชายทั้ง 3 คน คือ “แม่ คือคนแรกที่พร้อมจะให้อภัยและช่วยเหลือลูก ๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะดีหรือร้ายก็ตาม ขอให้บอกและอย่าโกหก”
ซึ่งการช่วยเหลือลูก ๆ ในมุมของเชฟป้อม จะไม่ช่วย “ให้ผิดกลายเป็นถูก” แต่จะเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับลูก เสมือนเชฟป้อมเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ที่ช่วยกันแก้ปัญหา และเดินไปด้วยกัน
ข้อคิดที่เชฟป้อมอยากฝากไว้ กับครอบครัวในยุคนี้ คือ
โดยส่วนมากแล้วพ่อแม่สมัยใหม่ จะไม่ค่อยสอนให้ลูกรู้จักกับความผิดหวัง ไม่เคยสอนให้แพ้ ไม่เคยสอนให้ลูกสู้
พ่อแม่พยายามจัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้ลูกเสร็จสรรพ ซึ่งเหตุผลเราทุกคนรู้กันดีว่าที่พ่อแม่ทำไป ก็เพราะความรัก ความเป็นห่วง ไม่อยากให้ลูกลำบากแบบที่ตัวเองเคยเจอมาก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร
แต่การทำให้ลูกเคยตัวกับการชนะมาโดยตลอด และไม่เคยรับรู้เลยว่า ชัยชนะที่ตัวเองได้มานั้น มีพ่อแม่คอยหนุนหลังอยู่ตลอด
ก็อาจทำให้ลูกขาดภูมิคุ้มกันในด้านความรู้สึกที่ดี หากต้องพบกับความผิดหวังในชีวิต หรืออาจขาดความกล้า ในการได้อะไรมาด้วยตัวเอง
ดังนั้น วิธีการเลี้ยงลูกที่ผสมผสานระหว่าง “กฎระเบียบ”, “ความรัก” และ “การให้อิสระ” ของเชฟป้อม ก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ดี ที่จะทำให้ลูกของเรา เติบโตไปได้อย่างแข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ..
References
โฆษณา