Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านและสวน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 พ.ย. 2021 เวลา 02:05 • บ้าน & สวน
“ตถตา” ที่หมายถึง “เป็นเช่นนั้นเอง” คือชื่อของบ้านหลังนี้ซึ่งเจ้าของบ้านตั้งใจสื่อถึงการใช้ชีวิตแสนธรรมดา ทว่ารุ่มรวยด้วยเสน่ห์จากบรรยากาศในพื้นที่ รายละเอียดเชิงช่างที่อัดแน่นในทุกอณูของตัวบ้านไปจนถึงจังหวะการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย
1
“เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ชอบบรรยากาศของเมืองน่าน ผู้คน วิถีชีวิต และจังหวะสบายๆ ของที่นี่ พอมาทำงานที่โรงพยาบาลน่านก็ตัดสินใจจะอาศัยอยู่ที่นี่ จึงเริ่มหาที่ปลูกบ้าน จนกระทั่งมาลงตัวกับที่ดินผืนนี้” คุณหมอต่อง -นายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร และคุณหมอเกด- แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง เจ้าของบ้าน เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของบ้านหลังนี้ คุณหมอทั้งสองต้องการที่ดินที่ติดถนนและอยู่ริมน้ำ เดินทางไปโรงพยาบาลน่านได้สะดวก แต่ต้องมีบรรยากาศเงียบสงบและแวดล้อมด้วยธรรมชาติ
“แบบแรกๆ ที่ลองเขียนร่างขึ้นมากับเพื่อนที่เป็นสถาปนิกก็ยังเป็นเหมือนบ้านคนเมืองที่นำมาตั้งไว้ในชนบท พอพิจารณาอยู่ระยะหนึ่งก็คิดว่ายังไม่ใช่แบบที่เป็นเรา จึงตัดสินใจติดต่อให้อาศรมศิลป์มาออกแบบบ้านหลังนี้ และเขาก็ให้เราเขียนเรียบเรียงสิ่งที่ต้องการ ทำให้เราได้ทบทวนและตัดทอนสิ่งต่างๆ จนลงตัว และตรงกับความต้องการจริงๆ”
คุณเก๋ง -นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด คือผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ เขาเล่าถึงแนวคิดหลักของบ้านให้ฟังว่า “คุณหมอชอบความเป็นน่านในหลายๆ มิติ ทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต และลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเรือนไม้พื้นถิ่น แม้บ้านนี้จะห่างจากตัวเมืองน่านเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่กลับมีความเงียบสงบ มีธรรมชาติสมบูรณ์ มีลมเอื่อยๆ พัดมาแทบจะตลอดเวลา พอเริ่มออกแบบผมจึงนึกถึงคำว่า ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ เลยคุยกับคุณหมอว่าจะพยายามเก็บรักษาต้นไม้ในที่ดินให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะต้นใหญ่ๆ นั้นเก็บไว้ได้ทั้งหมด”
คุณหมอต่องกล่าวเสริมอีกว่า “พอได้ทำบ้านหลังนี้จริงๆ เหมือนเราได้เติบโตไปพร้อมกับบ้าน บ้านหลังนี้พาเราเข้าไปสู่สิ่งที่ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ พอได้ เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้ เกี่ยวกับบ้านและงานไม้ ก็เหมือนสะสมองค์ความรู้ต่างๆ มาเรื่อยๆ”
คุณเก๋งอธิบายลักษณะทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้านว่าเป็นเรือนพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในท้องถิ่นมาออกแบบใหม่โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหมอทั้งสองสนใจมาตั้งแต่ต้น แม้ตอนแรก ตั้งใจจะใช้โครงสร้างคอนกรีตผสมไม้ แต่สุดท้ายก็เลือกใช้ไม้เกือบทั้งหมด
“ช่วงที่เราออกแบบบ้านเสร็จและต้องการหาคนมาสร้างบ้านหลังนี้ ก็พอดีกับที่ทางอาศรมศิลป์ได้ร่วมงานกับอาจารย์จุลพร นันทพานิช เราสอบถามเรื่องผู้รับเหมา อาจารย์จุลพรจึงแนะนำให้รู้จักทีมงานยางนาสตูดิโอและสล่าเก๊า (ลุงอ๋อ-คุณวันไชย หงษ์แก้ว) ในที่สุดรายละเอียดต่างๆ ของบ้านหลังนี้ก็เกิดขึ้น ได้จากความร่วมมือกันของทั้งสามฝ่ายครับ”
การเลือกหาไม้มาใช้กับบ้านหลังนี้ต้องใช้เวลาเสาะหาทั้งไม้เก่าและบ้านเก่าที่กำลังจะรื้ออยู่นานทีเดียว ในขั้นตอนนี้สล่าที่ร่วมงานด้วยจะเป็นผู้คัดไม้ตามที่คุณเก๋งกำหนด “เราใช้ไม้จากบ้านเก่าประมาณห้าหลังได้ครับ” คุณหมอต่องเล่าด้วยรอยยิ้ม
สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือ ไม้เก่าเหล่านี้ได้มาจากเรือนไม้พื้นถิ่นในแถบจังหวัดน่าน ซึ่งหลายชิ้นมีเรื่องราวน่าสนใจ คุณหมอต่องเสริมให้เราเห็นภาพว่า “รู้สึกเหมือนเราได้ร่วมเดินทางไปพร้อมๆ กับรอยเท้าของบรรพบุรุษชาวล้านนาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเรือนเหล่านี้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเลือกทำความเข้าใจภูมิปัญญาพื้นถิ่นของเรือนหลายๆ หลังที่เรานำมาใช้และประยุกต์เข้าด้วยกันอย่างถนอมไว้ซึ่งร่องรอยดั้งเดิมอย่างที่ปรากฏ”
ทั้งเสา ไม้ฝา ไม้พื้น และหลายส่วนของบ้านโชว์ให้เห็นร่องรอยดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยบากหรือรอยต่อต่างๆ ถือเป็นรายละเอียดอันทรงคุณค่าที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวให้บ้านหลังนี้ เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตทั้งเก่าและใหม่ซึ่งนำพาไปสู่การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านด้วย
“คุณหมออยากได้พื้นที่เชื่อมโยงจากส่วนรับแขกไปยังครัวและส่วนอื่นๆ ผมจึงออกแบบให้ใต้ถุนกับชานรวมเป็นส่วนเดียวกัน นั่งรับลมได้ภายใต้บรรยากาศที่เสมือนโอบล้อมด้วยป่าใหญ่ ส่วนภายในบ้านก็มีความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกพื้นที่ อีกทั้งการเปิดพื้นที่ส่วนต่างๆ เพื่อรับลมก็ยังเหมาะสมกับภูมิอากาศของบ้านเรา และแม้ว่าบ้านหลังนี้จะมีลักษณะของเรือนพื้นถิ่น แต่ก็ประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันของเจ้าของบ้าน"
คุณเก๋งออกแบบใต้ถุนกว้างที่มีชายคายื่นยาว ใช้เป็นทั้งส่วนรับแขกและ พื้นที่อเนกประสงค์ เมื่อเดินเข้าสู่ตัวบ้านก็จะพบเคาน์เตอร์กลางของครัวซึ่งคุณหมอมักมานั่งทำงานตรงนี้มากที่สุด และเข้าไปด้านในสุดเป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งตั้งใจให้อยู่ชั้นล่างเพื่อความสะดวกในการเข้า -ออกของผู้สูงอายุ
บริเวณโถงบันไดออกแบบเป็นพื้นที่โปร่งโล่งรับแสงจากด้านบน เมื่อเดินขึ้นไปก็จะพบห้องพระ ส่วนนั่งเล่น และส่วนสุดท้ายก็คือห้องนอนที่อยู่ด้านในสุดของบ้าน “แม้เราจะพยายามสร้างความโปร่งโล่งให้บ้าน แต่ก็ไม่ลืมกำหนดพื้นที่ส่วนต่างๆ ให้มีความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีความปลอดภัยและแบ่งแยกลักษณะการใช้สอยให้มีความชัดเจน บ้านหลังนี้จึงเกิดขึ้นจากความร่วมไม้ร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าของบ้าน ตัวผมเองที่เป็นสถาปนิก ทีมยางนาสตูดิโอ และสล่าทุกท่าน”
บ้านหลังนี้ได้สร้างสิ่งที่มากกว่าคำว่า “สถาปัตยกรรม” แต่เป็นมิติของการใช้ชีวิตและเรียนรู้กับพื้นที่ชีวิตที่เรียกว่า “บ้าน” ดังที่คุณหมอต่องกล่าวทิ้งท้ายว่า “ช่วงหลังที่ผมมาคุมงานเองก็เริ่มได้เรียนรู้การทำงานช่างด้วยตัวเอง ได้ลองช่วยเลื่อยไม้ ใช้สิ่วเหลาลูกกรงเอง ทั้งยังได้เริ่มทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองอย่างที่เคยตั้งใจไว้ ทั้งเลี้ยงเป็ด ห่าน และไก่ รวมถึงทำสวนครัว พอได้ หยิบจับสิ่งเหล่านี้ก็พบว่า นี่คือความบันเทิงหนึ่งของชีวิตไปเลย มีอะไรให้ทำ ได้ออกแรง แทบไม่ต้องเข้าฟิตเนสเลยครับ”
นับว่าบ้านหลังนี้ได้ประยุกต์เรือนพื้นถิ่นล้านนาเข้ากับการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างลงตัว เป็นบ้านในฝันที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของเมืองน่าน และสร้างปรากฏการณ์ความธรรมดาที่งดงามดังเช่นที่เราได้เห็นกัน
เจ้าของ : แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
สถาปัตยกรรม : บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
ออกแบบภายใน : คุณปรียชนัน สายสาคเรศ
ผู้รับเหมา : คุณวันไชย หงษ์แก้ว (สล่าเก๊า)
ผู้ควบคุมงาน : ยางนาสตูดิโอ และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >>
https://bit.ly/3kBkxuP
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
www.baanlaesuan.com
1
บ้านไม้
บ้านใต้ถุนสูง
บ้านล้านนา
6 บันทึก
18
2
10
6
18
2
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย