Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ม
มูซา วันแอเลาะ
•
ติดตาม
14 พ.ย. 2021 เวลา 03:28 • การศึกษา
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม محمد علي ادم الاثيوبي แห่งประเทศเอธิโอเปีย
ยอดโต๊ะครูผู้ไม่ชอบให้ใครรู้จัก แม่นยำวิชาน่าฮู ปราดเปรื่องทางศาสตร์ฮะดีษ
เอธิโอเปีย หรือ อบิสสิเนีย หรือ ฮะบะซะฮ์ คือประเทศในแอฟริกาตะวันออก
เอ่ยถึงเอธิโอเปีย มุสลิมเราส่วนมากจะรู้จักชนชาตินี้ เพราะเป็นกัลยาณมิตร และมีประวัติยาวนานกับมุสลิม ตั้งแต่ตอนต้นของประวัติศาสตร์อิสลาม
การอพยพของพี่น้องมุสลิมถึง 2 ครั้ง ที่ถูกภัยจากมุสริกกุเรซในยุคนั้นคุกคาม
จนต้องไปขอลี้ภัยไปเอธิโอเปีย ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์เนกุส หรือ กษัตริย์นะญาซีย์ เป็นคุณงามความดีที่โลกมุสลิมไม่เคยลืมเลือน
ในสมัยเด็ก ๆ ตอนเรียนฟัรดูอีนในวันเสาร์- อาทิตย์ เราต่างก็ฟังประวัติท่านบิลาล
คงจำกันได้ถึงถ้อยคำอมตะ " อะฮัด " ที่หมายถึง " อัลลอฮ์องค์เดียว "
ที่ท่านบิลาลเปล่งน้ำเสียงออกมาตอนถูกทรมานเพื่อให้ทิ้งศาสนา
ท่านบิลาล คือซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมหมัด ที่ดั้งเดิมแล้วมาจากแผ่นดินเอธิโอเปีย
ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา มีอุละมาชาวเอธิโอเปียท่านหนึ่ง อาจจะไม่โดดเด่นสำหรับโลกมุสลิมทั่วไป เพราะอุลามาท่านนี้ไม่ต้องการเปิดเผยตัว
แต่ได้ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกของนักวิชาการศาสนา และผู้ใฝ่หาความรู้อิสลาม
เป็นปราชญ์อิสลามที่เชี่ยวชาญในศาสตร์วิชาไวยากรณ์อาหรับ และ ศาสตร์ฮะดีษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศาสตร์ฮะดีษนั้น ได้รับการยกย่องอย่างมากว่า
" ภายใต้พื้นภิภพในยุคสมัยใหม่นี้ ท่านคืออุละมาฮะดีษที่ยอดเยี่ยมที่สุดรองจากเชค อัลบานีย์ "
ปราชญ์เอธิโอเปียท่านนี้ มีชื่อว่า
" เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม "
ปี ค.ศ. 1946 เชคกำเนิดมาสู่โลกดุนยาที่ประเทศเอธิโอเปีย
และมีชีวิตอยู่ถึงปี ค.ศ. 2020 โดยเสียชีวิตที่นครมักกะฮ์ ซาอุดิอารเบีย
รวมอายุขัย 75 ปี
ราว 10 ปีก่อนที่ท่านเกิดนั้น สภาพบ้านเมืองในเอธิโอเปียมีความวุ่นวาย มาก
เพราะตอนนั้น เบนิโต มุสโสลินี มาเฟียสงครามชาวอิตาลีกำลังกระหายสงครามแบบบ้าเลือด
ส่งทหารอิตาลีและยุทโธปกรณ์ทางสงครามบุกเอธิโอเปีย จนกลายเป็นสงครามเหมือนผู้ใหญ่รังแกเด็กทารก
เรียกสงครามดังกล่าวว่า " สงครามอิตาลี - เอธิโอเปีย ครั้งที่ 2 "
ที่บอกว่า เหมือนผู้ใหญ่รังแกเด็กทารก เพราะเอธิโอเปียมีรถถังแค่ 4 คัน อิตาลีมีรถถัง 795 คัน
เอธิโอเปียมีเครื่องบินแค่ 13 ลำ ส่วนอิตาลีมีเครื่องบินถึง 595 ลำ
ผลลัพธ์คงเดากันออกอย่างไม่ต้องสืบ เข้าทำนอง " ผู้ใหญ่เขกหัวเด็ก "
อิตาลียึดครองถึง 4 ปี
แต่ปราชญ์ประวัติศาสตร์ส่วนมากมีความเห็นว่า
การที่เอธิโอเปียตกอยู่ใต้การยึดครองของอิตาลีในระหว่างปี ค.ศ. 1937 - ค.ศ.1941
นักประวัติศาสตร์ไม่ถือว่า เอธิโอเปียมีสถานะเป็นอาณานิคมของอิตาลี เพียงแค่ถูกกองทัพอิตาลีเข้ายึดครองเท่านั้น
สำหรับครอบครัวของเชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม แล้ว
เหตุการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดใหน ไม่มีผลกระทบ โลกดุนยาเป็นเรื่องของโลกดุนยา
บิดาของท่านมีความรักในศาสนา เป็นนักวิชาการอิสลามมีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศ
สนใจแค่การศึกษาหาความรู้ศาสนาและการสอน
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม จึงได้รับการเลี้ยงดูด้วยบรรยากาศแห่งอิสลาม
บิดาของท่านสอนกุรอานและให้ท่านท่องจำกุรอาน
ท่านท่องจำกุรอานทั้งเล่ม เป็นฮาฟิสตั้งแต่อายุยังน้อย ควบคู่ไปกับการเรียนชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรสามัญ
จากนั้น บิดาสอนความรู้เบื้องต้นในวิชาฟิกฮ์ อุศูลุ้ลฟิกฮ์ และหนังสือ " ศอเฮี้ยะฮ์บุคอรี "
เติบใหญ่ขึ้น เชคมีโอกาสเรียนจากโต๊ะครูท้องถิ่นหลายท่าน ที่มีชื่อเสียงที่สุดในระดับประเทศเอธิโอเปีย คือ
" เชค อับดุลบาซิต อัลบุวะรอนนีย์ " عبد الباسط البورني
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม เรียนทุกศาสตร์ของวิชาอิสลาม เช่น
ตัฟซีรกุรอาน หนังสือฮะดีษที่บันทึกโดยนักฮะดีษทั้ง 6 ท่าน
ศึกษา น่าฮู ศ่อรอฟ หรือ ไวยกรณ์อาหรับ ฟิกฮ์ และเรียนหนังสือที่มีชื่อเสียงของวิชาการอิสลาม
บางครั้ง ท่านท่องจำตัว " มะตัน " หรือตัวบทของหนังสือระดับโลก เช่น
" อัลฟียะฮ์ อิบนุมาลิก " الفية ابن مالك ที่เกี่ยวข้องกับวิชาไวยกรณ์อาหรับ เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7 ตามปฏิทินอิสลาม
ท่องจำตัวบทของ " อัลฟียะฮ์ อัลสะยูฏีย์ " الفية السيوطي ที่เกี่ยวข้องกับวิชาฮะดีษ เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม
ต่อมา เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ถิ่นฐานบ้านเกิด
ปี ค.ศ.1980 การเมืองในเอธิโอเปียอยู่ภายใต้เผด็จการทหารที่ชื่นชอบระบอบคอมมิวนิสต์ มีความสัมพันธ์ดียิ่งกับโซเวียต และคิวบา
เอธิโอเปียในวันนั้น เป็นรัฐบาลมากซิสต์ - เลนนินนิสต์ แบบหนึ่งพรรคการเมือง
เผด็จการทหารเป็นมิตรกับโซเวียต คิวบา ดีเยี่ยม แต่ปฏิบัติกับมุสลิมกลับตรงกันข้าม
คำที่ว่า " โลกดุนยา เป็นเรื่องของโลกดุนยา " โดยที่เรื่องศาสนานั้น ใครศรัทธาอย่างไรก็ว่ากันไป
แต่รัฐคอมมิวนิสต์เอธิโอเปียวันนั้น เห็นว่า เรื่องศาสนาเป็นตัวถ่วงความเจริญของโลกดุนยา และรบกวนอุลามาอิสลามตลอดเวลา
ยุคนั้น เรื่องของดุนยาในเอธิโอเปียมีผลกระทบมากต่อนักวิชาการอิสลาม ทำให้ผู้รู้ต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ
ปี ค.ศ. 1981
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมากจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์
อพยพไปจากดินแดนที่ถูกกดขี่ หนีไปให้ไกลจากความอธรรม เป็นทางออกที่ดีที่สุด
ท่านจึงอพยพเดินทางไปอาศัยอยู่ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย
ที่นครมักกะฮ์ มีสถาบันการศึกษาศาสนาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่อยู่แห่งหนึ่ง ชื่อ
" ดารุ้ลฮะดีษ "
ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1933 เป็นสถาบันที่รับรองโดยรัฐบาลซาอุดีอารเบีย
โบราณไทยบอก " ออกเรือหาถ่อ ตั้งหม้อหาฟืน "
ทำนองเดียวกับเชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม
" อยู่มักกะฮ์แบบปักหลัก ต้องคิดหนักเรื่องวีซ่า "
หมายความว่า เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม มีชีวิตอยู่ในมักกะฮ์
และถ้าจะอยู่ได้นาน ๆ ต้องมีวีซ่า หรือ ใบอนุญาตให้อยู่พำนัก หรือ ที่ชาวพื้นเมืองอาหรับเรียกสั้น ๆ ว่า " อิกอมะฮ์ "
เพราะไม่มีวีซ่าย่อมผิดกฏหมายของซาอุดีอารเบีย หากถูกตำรวจจับ ต้องถูกเนรเทศกลับประเทศต้นทาง
ทางเดียวสำหรับเชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ที่จะอยู่มักกะฮ์ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ
หาสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นนักเรียน
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม จึงได้สมัครเรียนที่สถาบัน " ดารุ้ลฮะดีษ " ในระดับซานาวี หรือ มัธยมศึกษา
เชคมีปัญหาเรื่องเข้าเรียนแน่ เพราะท่านมีอายุถึง 35 ปี
ประกาศณียบัตรชั้นสูงสุดของท่านแค่ชั้นประถมศึกษา และวุฒิไม่ " มุอาดะละฮ์ " หรือ รัฐบาลซาอุดีอารเบียไม่รับรองวุฒิเสียด้วย
แต่ทว่า " กุญแจมีไว้ให้ไข ปัญหามีไว้ให้แก้ " และพลังแห่งดุอาที่เชคขอต่ออัลลอฮ์
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม จึงขอต่อรองกับทางสถาบันว่า ท่านท่องจำกุรอานหมดทั้งเล่ม
ทางสถาบันจึงอนุญาตให้เข้าเรียน เพราะเป็นฮาฟิสกุรอาน
เพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนกับท่าน และมีชื่อเสียงในปัจจุบัน คือ
เชค ซุเอบ อะหมัด มีรปุรี شعيب احمد ميربوري เลขาธิการสมาคมอะฮ์ลุ้ลฮะดีษแห่งอังกฤษ
หลายเดือนต่อมา หลายจันทร์เสี้ยวผ่านไป
มีอุละมาเอธิโอเปียท่านหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่มักกะฮ์ ได้ทราบเรื่องของท่านชื่อ
" เชค มุฮัมหมัด อามีน อัลฮะเราะรี " محمد امين الهرري
" เชคมุฮัมหมัด อามีน อัลฮะเราะรี " ได้ติดต่อไปที่ฝ่ายบริหาร และคณาจารย์ของสถาบันฯ ว่า
" เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " ไม่ควรเรียนในระดับซานาวี เพราะเป็นอุละมามีชื่อเสียงในเอธิโอเปีย
" เชคมุฮัมหมัด อามีน อัลฮะเราะรี " บอกสถาบันว่า
อย่างน้อยต้องให้ " เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " เรียนระดับกุลลียะฮ์ หรือ ระดับปริญญาตรี
เหล่าคณาจารย์จึงทำการสัมภาษณ์และทดสอบความรู้ " เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " ว่า
เหมาะสมหรือไม่ ที่จะเรียนในระดับปริญญาตรี
ผลลัพธ์ " เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " มีความรู้มากกว่าคณาจารย์
ทางคณาจารย์จึงได้ทำการเชิญเหล่าอิหม่ามมัสญิดอัลฮะรอม มาร่วมทดสอบ
ผลลัพธ์ บรรดาอิหม่ามต่างตะลึงและทึ่งในความรู้ของ " เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " จึงมีความเห็นว่า
ควรจะให้เชคเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ไม่ใช่เป็นนักเรียน
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " มุฟตีใหญ่ซาอุดีอารเบียทราบข่าวดังกล่าว และสัมภาษณ์พูดคุยด้วยตนเอง มีความเห็นว่า
" เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " เหมาะสมเป็นอาจารย์
เชค บิน บาซ จึงเซ็นคำสั่งอนุมัติเป็นกรณีพิเศษให้เป็นอาจารย์สอนใน " สถาบันดารุ้ลฮะดีษ "
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งสอนหนังสือและเขียนหนังสือ เป็นอุละมาที่ขยันขันแข็ง
กลางวัน ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ " สถาบันดารุ้ลฮะดีษ "
พอตกกลางคืนช่วงหลังละหมาดอิซา เป็นอาจารย์สอนในมัสญิดอัลฮะรอม มักกะฮ์
บางครั้ง เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ยังใช้เวลาหาความรู้เพิ่มเติม
ด้วยการฟังบรรยายของอุละมาฮะดีษชาวอินเดียที่สอนในมัสญิดอัลฮะรอม ชื่อ
" เชค วะศียุ้ลลอฮ์ อับบาส " وصى الله عباس
" เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " ฟังการบรรยายวิชาฮะดีษจาก เชค วะศียุ้ลลอฮ์ อับบาส อย่างไม่ถือตัว ทั้งที่ " เชค วะศียุ้ลลอฮ์ อับบาส " มีอายุน้อยกว่าท่าน
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัมคุ้นเคยกับสถานที่เพียงแค่ 4 แห่งเท่านั้นกับวันเวลาที่ท่านใช้ขีวิตอยู่มักกะฮ์
1 - บ้านพัก เพื่อพักผ่อน อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ
2 - สถาบัน " ดารุ้ลฮะดีษ " ที่ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในตอนกลางวัน
3 - มัสญิดอัล ฮารอม มักกะฮ์ ที่ท่านสอนหนังสือทุกวันหลังละหมาดอิซา
4 - มัสญิดใกล้บ้านพัก สำหรับทำการละหมาดญะมาอะฮ์
" เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม " ผลิตตำรามากมายสู่ชาวโลก
และจากกองตำราที่โดดเด่นของท่าน เช่น
1 - อรรถาธิบายหนังสือ " ศอเฮี้ยะฮ์ มุสลิม " มากกว่า 40 เล่ม
2 - อรรถาธิบายหนังสือ " สุนัน นาสาอี " ทั้งหมด 42 เล่ม ( หนังสือ ใช้เวลาเขียนถึง 16 ปี ) หนังสือชุดนี้มีชื่อเสียงที่สุด
3 - อรรถาธิบายหนังสือเกี่ยวกับฮะดีษ " อัลฟียะฮ์ " ของอิหม่าม อัลสะยูฏีย์
นอกจากนั้น ยังมีผลงานทางตำราของท่านอีกในเกือบทุกศาสตร์ทางศาสนา เช่น
อะกีดะฮ์ น่าฮู ศอร่อฟ หรือ ไวยกรณ์อาหรับ และอูศูลุ้ลฟิกฮ์
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ทำหน้าที่เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ในโลกดุนยาได้อย่างดีเยี่ยม
แม้นก่อนท่านจะเสียชีวิต สุขภาพท่านไม่ค่อยสมบูรณ์ ยังทุ่มเทสอนหนังสืออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ยกตัวอย่างตารางการสอนของท่าน :
กลางวันยังสอนที่สถาบัน " ดารุ้ล ฮะดีษ " และสอนตลอดจนร่างกายไม่ไหวจริง ๆ
ส่วนกลางคืน ท่านสอนที่มัสญิดอัลฮารอม โดยวางตารางไว้คือ
วันเสาร์ หลังละหมาดอิซา : วิชาฮะดีษ บรรยายหนังสือ " อัลฟียะฮ์ " ของอิหม่ามสะยูฏีย์
วันอาทิตย์ หลังละหมาดอิซา : บรรยายหนังสือ " สุนัน อิบนุมาญะฮ์ "
วันจันทร์ หลังละหมาดอิซา : บรรยายหนังสือ " สุนัน นาสาอี "
วันอังคาร หลังละหมาดอิซา : บรรยายหนังสือ " อัลเกากับ อัสสาเฏียะอ์ " ของอิหม่ามสะยูฏีย์
วันศุกร์ หลังละหมาดมัฆริบ : บรรยายวิชา อุศูลุ้ลฟิกฮ์ และหลังละหมาดอิซา : บรรยายวิชาไวยกรณ์อาหรับ หรือ น่าฮู
ด้วยการที่เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม มีความรู้ไร้ขอบเขตจำกัด ดั่งความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรที่หาชายฝั่งไม่พบ
ทำให้ได้รับการยกย่องมากจากเหล่าอุละมา เช่น
เชค อัลบานีย์
เชค ศอและฮ์ อัลเฟาซาน
เชค มุกบิล บิน ฮาดี อัลวาดิอีย์
และ เชค อับดุลมัวะฮ์ศิน อัลอับบาด ผู้เป็นบิดาของ เชค อับดุลร็อซซาก อัลบัดร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม อรรถาธิบายหนังสือฮะดีษ " สุนัน นาสาอี "
ซึ่งเชค อับดุลมัวะฮ์ศิน อัลอับบาด ยอมรับว่า เป็นหนังสือที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเห็น
ชีวิตของเชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม ช่างเป็นชีวิตที่สวยงามอย่างยิ่ง
ความจริงจังในการแสวงหาความรู้ และการสอนของท่าน สมควรที่เราจะเอาเป็นต้นแบบอย่างยิ่ง
ชีวิตของท่าน เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ เป็นบุคคลที่มีคุณค่า
สังคมแห่งคนดีและสังคมแห่งคนรักศาสนา พร้อมจะกางแขนออกต้อนรับ และไม่มีวันดูแคลนผู้มีความรู้
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม มีลักษณะอย่างหนึ่งจนเป็นที่รับรู้ทั่วไป คือ
ไม่ชอบการสังสรรค์ ไม่ชอบงานเลี้ยง ไม่ชอบเปิดเผยตัวเอง ไม่ชอบที่จะให้ใครรู้จัก
ปรกติแล้ว อาจารย์ที่สอนในมัสญิดอัลฮารอม มักกะฮ์ จะมีเสื้อคลุมที่ทางผู้บริหารมัสญิดจัดให้สวมใส่เวลาสอนหนังสือ
เกือบทุกครั้งที่เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม สอนหนังสือเสร็จ
ท่านจะรีบถอดเสื้อคลุมออกทันที เพื่อไม่ต้องการให้คนรู้ว่า ท่านคือใคร
เหตุนี้เอง ท่านจึงได้รับสมญานามที่บรรดาลูกศิษย์มักเรียกท่านว่า
เชค มุฮัมหมัด อะลี อาดัม คือ " ยอดโต๊ะครู ผู้ไม่ชอบให้ใครรู้จัก "
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย