Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คุยกับนักเศรษฐศาสตร์
•
ติดตาม
14 พ.ย. 2021 เวลา 03:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
DeFi พร้อมเป็นระบบการเงินเต็มรูปแบบแล้วหรือยัง?
2
ที่ผ่านมา พัฒนาการของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้เอื้อให้เกิดการพัฒนา “Decentralized Finance (DeFi)” หรือระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลาง ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและตอบโจทย์การทำธุรกรรมการเงินให้ผู้ใช้งานบางกลุ่ม โดยระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลางหรือ DeFi จะไม่มีพรมแดนประเทศ ไม่ต้องมีหน่วยงานผู้กำกับดูแล ไม่ต้องมีตัวกลางทางการเงิน เพราะอาศัยการทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการเปิดเผยโค้ดคอมพิวเตอร์อย่างโปร่งใสให้นักพัฒนาสามารถเขียนสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ต่อยอดกันได้ ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นจุดเด่นของ DeFi ซึ่งส่งผลให้ DeFi ในทุกวันนี้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นแอพพลิเคชั่น (decentralized application: Dapp) ที่มีทั้งการฝาก การกู้ยืม และการระดมทุน คล้ายกับระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่มีตัวกลาง (Centralized Finance: CeFi) โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)
4
https://www.forbes.com/sites/tatianakoffman/2021/04/20/meet-clover-the-next-generation-of-defi-on-polkadot-and-kusama/?sh=1fafca9a2a07
นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นยังสามารถซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและสเตเบิลคอยน์ได้ง่าย ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถืออีกด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และมีช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
1
ในปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากได้หันมาใช้บริการ DeFi ดังนั้น คำถามสำคัญที่อยู่ในใจของหลายคนจึงคงหนีไม่พ้นว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ DeFi จะมาทดแทน CeFi ในอนาคตอันใกล้?
2
ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ อาทิ การออกแบบระบบ DeFi โดยใช้ trustless lending ซึ่งทำงานโดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจ แต่เป็นการยอมรับร่วมกันของผู้ใช้แต่ละคน (หรือ node) ในขณะปัจจุบันนั้น ๆ ตลอดจนกลไกการออกแบบให้สภาพคล่องยังมีอยู่ใน pool อย่างเพียงพอ น่าจะทำให้ DeFi สามารถดำรงอยู่และอาจเป็นโลกคู่ขนานกับระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้
แต่หากถามว่าจะมาทดแทนระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้เลยหรือไม่? ผู้เขียนเห็นว่ายังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก DeFi ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายประการก่อนจะสามารถทำหน้าที่เป็นระบบการเงินเต็มรูปแบบได้ ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้แต่หากถามว่าจะมาทดแทนระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้เลยหรือไม่? ผู้เขียนเห็นว่ายังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก DeFi ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายประการก่อนจะสามารถทำหน้าที่เป็นระบบการเงินเต็มรูปแบบได้ ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้แต่หากถามว่าจะมาทดแทนระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้เลยหรือไม่? ผู้เขียนเห็นว่ายังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก DeFi ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายประการก่อนจะสามารถทำหน้าที่เป็นระบบการเงินเต็มรูปแบบได้ ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
2
● การให้กู้ยืมจำเป็นต้องอาศัยหลักประกันเสมอ (secured loans)
3
ด้วยข้อจำกัดของ smart contract และตัวตนในโลก DeFi ที่มีลักษณะที่เรียกกันว่า “กึ่งนิรนาม” (pseudo anonymous) กล่าวคือ มีเพียง wallet address และไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ทำให้ใครก็สามารถสร้าง address ขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ คือ “ใช้แล้วทิ้ง” ก็ได้ หากเกิดกรณีไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แพลตฟอร์มที่ให้กู้ยืม (lending protocol) จะไม่ทราบว่าจะไปทวงถามกับใคร ทำให้ไม่อาจมี “คำมั่นสัญญา” ที่แท้จริงในโลก DeFi ได้
ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนที่ว่า “Ichigo, Ichie” หมายความว่า “การพบกันแค่ครั้งเดียว” ซึ่งสามารถนำมาเปรียบกับ lending protocol ในบริบทของโลก DeFi ได้ กล่าวคือ เราอาจจะไม่ได้พบกับผู้กู้คนนี้อีกแล้วก็เป็นได้ จึงทำให้การปล่อยกู้ต้องเป็นแบบ trustless ในรูปแบบของ repo (repurchase agreement หรือการกู้ยืมระยะสั้นโดยใช้หลักทรัพย์ที่มั่นคงเป็นหลักประกัน) ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้ถือว่าเป็นการกู้ยืมเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการ “จำนำ” เสมือนเป็นการขายหลักประกันไปแล้ว หากผู้กู้ยืมจะไม่หวนกลับมาไถ่หลักประกันคืน ก็ไม่สามารถไปทวงถามกับผู้กู้คนนั้นได้อีก
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าความ “กึ่งนิรนาม” ในโลก DeFi ไม่สามารถให้กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันได้ (unsecured loans) แตกต่างจากโลก CeFi ที่มีทางเลือกให้กู้ยืม ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน
2
● หลักประกันที่ใช้ในการกู้ยืมจำเป็นต้องมีราคาที่สามารถยอมรับและซื้อขายได้ตลอดเวลา
2
หลักประกันในโลก DeFi จำเป็นต้องมีราคาที่สามารถยอมรับร่วมกันและซื้อขายได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ทำงานบนระบบบล็อกเชน ดังนั้น หากผู้กู้ยืมบน DeFi ต้องการใช้หลักประกันที่ไม่ใช่โทเคนประเภทคริปโทเคอร์เรนซีหรือสเตเบิลคอยน์ แต่เป็นโทเคนที่เกิดจากการแปลงหลักประกันจากโลก CeFi (ด้วยกลไก tokenization เช่น อสังหาริมทรัพย์หรือยานพาหนะ) จะพบกับความท้าทายสำคัญ คือ โทเคนนั้นต้องสามารถหาราคาผ่านแหล่งกลาง (blockchain oracle) ที่สามารถยอมรับได้โดยทุกคนในระบบในทุกขณะด้วย จึงจะสร้างความมั่นใจได้เทียบเท่ากับการวางหลักประกันในโลก CeFi
1
ยกตัวอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเฉพาะตัว (uniqueness) หากแปลงหลักประกันเป็นรูปแบบ non-fungible token (NFT) ที่เป็นโทเคนเฉพาะกับหลักประกันนั้น (เสมือนนำโฉนดมาอยู่ในบล็อกเชน) โทเคนเฉพาะนั้นก็จำเป็นต้องมีราคาที่สามารถยอมรับและซื้อขายได้ตลอดเวลาด้วย หรือหากจะแปลงเป็น fungible token (เสมือนการออก real estate investment trust ผ่านบล็อกเชน) ที่นำหลักประกันมาแบ่งเป็นหน่วยย่อย ราคาโทเคนของหลักประกันนั้นก็ยังต้องอิงกับราคาอสังหาริมทรัพย์อยู่ดี (จากการทำงานของ smart contract ที่ธุรกรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้แต่ละหลักประกันที่แปลงเป็นโทเคนต้องมีการซื้อขายในทุกขณะเช่นกัน เพื่อให้ smart contract มีราคามาใช้อ้างอิงในการคำนวณได้)
1
ในทางกลับกัน โลก CeFi ในปัจจุบัน การสำรวจราคา (price discovery) และการยอมรับความไม่แน่นอนของราคาหลักประกันที่ไว้สำหรับให้สินเชื่อ (price risk) ถือเป็นต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์แบกรับอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การประเมินมูลค่าบ้าน นักประเมินแต่ละคนอาจให้มูลค่าประเมินที่แตกต่างกัน และเมื่อประกาศขายจริงอาจไม่ได้ราคาตามที่ประเมินไว้ก็ได้ แต่เนื่องจาก ธพ. เป็นผู้ปล่อยกู้เอง ราคาประเมินจึงไม่จำเป็นต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคน เพราะสุดท้ายแล้ว ธพ. เป็นผู้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของราคาดังกล่าว ขณะที่ยังมีช่องทางอื่นในการไปติดตามทวงถามได้
2
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับโลก DeFi ซึ่งพึ่งพาผู้ใช้ในระบบเพื่อทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ อีกทั้งผู้กู้เป็นใครก็ไม่ทราบ ไม่สามารถไปติดตามทวงถามได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การทำงานของโลก DeFi ปัจจุบันที่ใช้เพียงแค่โทเคนในกระแสหลักที่มีสภาพคล่องสูงเป็นหลักประกัน (เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ETH และสเตเบิลคอยน์ DAI และ USDC) จะถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำกลไกของโลก DeFi มาใช้เพื่อการให้สินเชื่อของระบบการเงินปัจจุบันได้จริง
● ผู้กู้มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกยึดหลักประกัน ขณะที่หากใช้หลักประกันจากโลก CeFi กลไกการยึดหลักประกันใน DeFi ยังไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
4
ในโลก CeFi ธพ. มีต้นทุนในการทวงถามและยึดหลักประกัน ขณะที่การทวงถามในโลก DeFi ไม่มีต้นทุน เพราะการใช้กลไก overcollateralization (มูลค่าหลักประกันที่วางไว้จะสูงกว่ามูลค่าการกู้โทเคนใด ๆ เสมอ) ทำให้ไม่จำเป็นต้องทวงถาม แต่สามารถเข้ายึดหลักประกันทันทีที่มูลค่าไม่สูงพอตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (แม้มูลค่าหลักประกันจะเกินมูลค่าการกู้ยืมอยู่มากแล้วก็ตาม) ซึ่งผู้รับผลกระทบทางอ้อมคือ ผู้กู้ที่กู้ได้ในมูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าหลักประกันที่วางไว้มาก
หากเปรียบกับการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ ก็เหมือนกับผู้กู้มีหลักประกันมูลค่า 10 ล้านบาท เจ้าหนี้มีวงเงินให้กู้ถึง 7 ล้านบาท (ตัวเลขเพื่อการเปรียบเทียบเท่านั้น) แต่สามารถเข้ายึดหลักประกันได้ทันทีหากหลักประกันมีมูลค่าลดลงถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้สุดท้ายแล้วผู้กู้ไม่กล้ากู้เต็มวงเงิน และต้องคอยหวาดระแวงต่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักประกันตลอดเวลา (อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีบาง protocol สามารถให้บริการสินเชื่อโดยไม่ต้องเข้าไปยึดหลักประกันอัตโนมัติได้แล้ว แต่ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดของประเภทสินเชื่อและหลักประกัน)
1
นอกจากนี้ กลไกการยึดหลักประกันเพื่อชำระหนี้ใน DeFi จบลงได้ทันทีด้วยการปรับข้อมูลในบล็อกเชน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปฏิสัมพันธ์หรือธุรกรรมอื่นใดอีก ดังนั้น หากต้องการนำหลักประกันของโลก CeFi มาใช้ ก็จำเป็นต้องทำให้การยึดโทเคนที่เป็นตัวแทนหลักประกันนั้นมีมูลค่าเพียงพอและถือเป็นการชำระหนี้ได้ในทันที อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง การยึดหลักประกันมีความซับซ้อน มีทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงินและเวลาตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ได้รองรับได้โดยง่ายในระบบบล็อกเชนปัจจุบัน ทำให้กลไกการยึดหลักประกันที่เป็นหัวใจของการบริหารความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ใน DeFi ยังไม่สามารถใช้หลักประกันของโลก CeFi แม้จะสามารถแปลงเป็นโทเคนได้แล้วก็ตาม
1
● ต้นทุนค่า gas ที่อาจสูงกว่าต้นทุนของระบบ CeFi ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3
ค่า gas คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้บริการ DeFi จ่ายให้ผู้ร่วมดูแลระบบบล็อกเชน เพื่อคำนวณ smart contract และบันทึกธุรกรรมลงในบล็อก ทั้งนี้ ต้นทุนค่า gas ที่ไม่ได้คำนวณตามมูลค่าธุรกรรม แต่คำนวณตามความซับซ้อน ความเร่งรีบของผู้ใช้งาน และราคาโทเคนที่ใช้จ่ายค่า gas ในเครือข่ายนั้น ๆ ทำให้ความนิยมของโลก DeFi กลับกลายเป็นดาบสองคม กล่าวคือ อาจทำให้ค่า gas สูงขึ้นจนทับถมคุณค่าของธุรกรรมที่ต้องการจะทำทั้งหมดได้
1
หากจุดประสงค์ของ DeFi มีไว้เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการของ ธพ. (underbanked) ซึ่งมักมีธุรกรรมขนาดเล็ก (micro transactions) ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นจากค่า gas ที่ผู้ใช้งานต้องเป็นคนจ่าย อาจจะสูงกว่าต้นทุนของระบบ CeFi ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี มีความพยายามในการแก้ไขข้อจำกัดนี้ เช่น ปรับ consensus mechanism หรือการสร้างระบบคู่ขนานเพื่อลดการคำนวณบนเครือข่ายหลัก
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนค่า gas เกิดขึ้นจากความต้องการให้เครือข่ายไร้ตัวกลาง ต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ร่วมดูแลเครือข่าย ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง ต้นทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นก็ได้ หากยอมรับเครือข่ายที่มีตัวกลาง ทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า การยึดหลักการ decentralization ซึ่งต้องแลกกับการจ่ายต้นทุนค่า gas ในทุกธุรกรรมที่ทำ ขณะที่มีข้อจำกัดในประเภทธุรกรรมที่สามารถทำได้ คุ้มค่าหรือไม่และเป็นประโยชน์เพียงใดต่อผู้ใช้บริการ DeFi?
3
● ความเป็นไปได้ในการเกิดกลไกทำลายตนเอง (negative self-reinforcing loop)
4
Decentralization ในบริบทของ DeFi จำเป็นต้องอาศัยกลไกการทำงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนต้องยึดถือ smart contract เป็นสรณะ (“code is law”) กล่าวคือ ต้องพึ่งพาการออกแบบระบบให้แต่ละคนที่เข้าร่วมมีแรงจูงใจที่จะทำหน้าที่ที่จำเป็นต่อระบบ ทั้งผู้กู้ยืม ผู้ฝากหรือ liquidator โดยแต่ละคนไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ไม่ต้องพึ่งพาการแทรกแซงหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากตัวกลางใด ๆ เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การยึดถือ smart contract สามารถเป็นบ่วงที่ย้อนกลับมาผูกมัดให้การทำงานต้องเป็นไปตามสมการที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิด negative self-reinforcing loop จนเกิดความเสียหายถึงขั้นล่มสลายได้เช่นกัน อย่างในกรณีของ Iron Finance
4
ที่ผ่านมา นักพัฒนา DeFi มักสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานด้วยการให้ governance token โดยผู้ถือโทเคนชนิดนี้จะมีสิทธิในการออกเสียงและมอบอำนาจให้นักพัฒนาไปปรับทิศทางแทน เมื่อได้รับความเห็นชอบตามกระบวนการเสนอญัตติและออกเสียงที่กำหนด แต่โทเคนเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายได้โดยแทบไม่มีต้นทุน หากพิจารณาด้วยกรอบความคิดของ CeFi โทเคนนี้ก็เปรียบเสมือนหุ้นสามัญในกิจการที่แทบไม่ทำกำไร ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ และไม่ได้กำหนดภาระความรับผิดชอบของกิจการต่อผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด (เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายใด และ smart contract ที่สร้างโทเคนนี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่นิติบุคคล)
1
governance token ที่ถูกนำมาแจกจ่ายให้กับผู้ใช้งานอย่างเอื้อเฟื้อและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับความนิยมจนราคาสูงขึ้นนี้ อาจนำมาซึ่งการบิดเบือนแรงจูงใจจนทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น yield farming สร้างธุรกรรมที่ไม่ได้มาจากความต้องการเงินกู้ที่แท้จริง
3
ดังนั้น กล่าวโดยสรุป แม้ DeFi จะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำให้สามารถเป็นโลกคู่ขนานกับระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้ แต่จากข้อจำกัดที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น หากต้องการให้ระบบการเงินในโลกยุคดิจิทัลทำงานด้วย decentralized smart contracts การสร้าง lending protocol ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีเสถียรภาพและไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจอันบิดเบือน ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ DeFi ในปัจจุบันต้องเร่งแก้ไขและพัฒนา หากต้องการทำหน้าที่เป็นระบบการเงินอย่างเต็มรูปแบบโดยแท้จริง
3
หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
2
ผู้เขียน:
คณิสร์ แสงโชติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
2
คริปโทเคอร์เรนซี
defi
stablecoins
35 บันทึก
13
4
28
35
13
4
28
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย