14 พ.ย. 2021 เวลา 05:32 • การศึกษา
“พระชัยฯ ป้อมเล็ก ฐานสูง (ครบสูตร ลงชาด หรดาน ทอง)”
@@@ พระชัยวัฒน์ พิมพ์ป้อมเล็ก ฐานสูง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม @@@
มีพุทธลักษณะประทับนั่งสมาธิบนอาสนะบัวสองชั้นปรากฏเส้นสังฆาฏิยาวพาดลงมาชนมือ พระพักตร์จะไม่ชัด ใต้ฐานจะเห็นก้านชนวนพร้อมรอยตัด
จุดพิจารณาของพระพิมพ์นี้ นอกจากพิมพ์ที่ถูกต้องแล้ว มวลสารโลหะผสมต้องแห้งเก่า รวมถึงหรดาลสีเหลืองแห้งสดใสเป็นธรรมชาติ ชาดที่ทาปิดไว้ก็ปรากฏความแห้ง ปรากฏความเก่าทั่วถึงกันทั้งองค์ เล่ากันว่า พระพิมพ์นี้ถ้าเช่าบูชาก่อนปีพ.ศ.2516 จะมีรอยจารอักขระตัว “เฑาะว์มหาอุด” ตรงรอยตัดก้านชนวน ซึ่งเป็นรอยจารที่หลวงปู่เพิ่มได้จารไว้ในยุคนั้น ส่วนที่นำออกมาให้บูชาหลังปี พ.ศ.2516 จะไม่มีรอยจารอักขระแล้ว นอกจากนำไปให้หลวงปู่เพิ่มจารเป็นพิเศษเท่านั้น พระชัยวัฒน์พิมพ์ป้อมเล็กฐานสูงนี้จะมีจำนวนการสร้างที่มากกว่าทุกพิมพ์ มีทั้งลงรักปิดทองเก่าเดิมมา ลงชาดอย่างเดียว หรือลงชาดปิดทอง หรือทาด้วยหรดาลสีเหลืองและลงชาดทับเหมือนองค์นี้ และจะมีบางองค์ที่เนื้อกลับดำสนิทแต่เป็นส่วนน้อย
และองค์ที่เนื้อกลับดำสนิทมักจะเป็นองค์ที่อยู่บนยอดพุ่มเท่านั้นเพราะน้ำหนักมวลสารผสมที่ใช้ในการหล่อคือเงินและทองคำซึ่งเป็นส่วนผสมจะตกลงมาอยู่ล่างสุดก็คือองค์ยอดช่อนั่นเอง ซึ่งขณะเทน้ำทองนั้นจะกลับช่อลงล่าง โลหะที่มีมวลหนักกว่าสารอื่นเช่นทองคำและเงินจะไปรวมอยู่ที่ปลายสุดก็คือองค์ ยอดช่อนั่นเอง หลวงปู่เพิ่มเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระเทพโมฬี “ กับหลวงปู่บุญ ยุคของการสร้างพระชัยวัฒน์ในปี พ.ศ.2444 นั้น สมเด็จพระสังฆราช(แพ) ท่านเสด็จมาค้างกับ หลวงปู่บุญ เป็นประจำและมาค้างที่วัดกลางบางแก้วคราวละหลายคืน และหลวงปู่ขณะยังเป็นสามเณรอยู่ก็ได้เข้าไปรับใช้อย่างใกล้ชิด
ดังนั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่าการสร้างพระชัยวัฒน์ของหลวงปู่บุญนั้นสมเด็จพระสังฆราช (แพ) น่าจะมีส่วนร่วมในการสร้างด้วย หลวงปู่บุญได้สร้างพระชัยวัฒน์ขึ้นหลายพิมพ์ พิมพ์ที่นิยมสุดและหายากที่สุดคือพิมพ์ชะลูดที่มีจารึกเป็นตัวนูนที่ใต้ฐานว่า "ร.ศ.๑๑๘" เป็นเลขไทย อันหมายถึง ร.ศ.118 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2444 ซึ่งจะจารึกเฉพาะยอดสุดของช่อพระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูดซึ่งมีช่อละองค์เท่านั้น
นอกจากนี้ก็มี พระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูด พระชัยวัฒน์พิมพ์ต้อ พระชัยวัฒน์พิมพ์คอหนอก พระชัยวัฒน์พิมพ์ป้อมใหญ่ พระชัยวัฒน์พิมพ์ป้อมเล็กเกศแหลม และ พระชัยวัฒน์พิมพ์ป้อมเล็ก แบบองค์ที่นำมาให้ชมนี้ เป็นต้นครับ
กระแสเนื้อโลหะทั้งหมดจะเป็นทองเหลืองแบบทองผสม มีวรรณะของเนื้อโลหะออกไปทางเหลืองอมเขียว ยกเว้นพระชัยวัฒน์บางองค์มีการทาหรดาลสีเหลืองทับ หรือลงรักปิดทองเก่าเดิมมา ลงชาดอย่างเดียว ,ลงชาดปิดทอง หรือทาด้วยหรดาลสีเหลืองและลงชาดทับ ,ทองเหลืองล้วน และบางองค์ที่เนื้อกลับดำสนิทแต่เป็นส่วนน้อย
ในยุคแรกหลวงปู่บุญก็ได้แจกพระชัยวัฒน์ให้กับลูกศิษย์ที่ศรัทธา ที่เหลือท่านได้เก็บเข้ากรุไว้บนเพดานมณฑปภายในวัดกลางบางแก้ว และต่อมาทางวัดเปิดกรุเมื่อปี พ.ศ.2516 และนำออกให้ทำบุญพร้อมกับพระเครื่องรุ่นอื่น ในสมัยนั้นทางวัดให้ทำบุญพระชัยวัฒน์แค่องค์ละ 100-200 บาทเท่านั้น ไปถึงก็ใช้คีมตัดจากช่อเองเลย บางคนก็เช่ายกเป็นช่อไป
ปัจจุบันทุกท่านสามารถไปดูพระเครื่องทุกพิมพ์ของหลวงปู่บุญเพื่อเป็นองค์ความรู้ได้ที่ พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก วัดบางกลางแก้ว ซึ่งมีครบทุกพิมพ์ มีจำนวนมากกว่า 2,000 องค์ จะทำให้การเรียนรู้ศึกษาดูพิมพ์และความเก่าเกิดเป็นองค์ความรู้ในพระเครื่องของหลวงปู่บุญได้อย่างถ่องแท้ นอกจากพระเครื่องชุดนี้แล้ว หลวงปู่บุญ ท่านยังได้สร้าง พระเครื่องเหรียญหล่อพิมพ์เจ้าสัว ซึ่งโด่งดังจากชื่อและพุทธคุณสำหรับผู้ที่บูชา และชุดพระเครื่องที่สร้างจากผงยาจินดามณี ประคำนเรศวรปราบหงสาวดี เบี้ยแก้ และพระเครื่องดินเผาพิมพ์อื่นๆอีกมากมาย เป็นต้น วัตถุมงคลของหลวงปู่บุญล้วนแต่เป็นที่ที่นิยมในหมูนักสะสม เพราะพุทธคุณของพระเครื่องทุกชุดของหลวงปู่บุญที่ลูกศิษย์ได้นำไปบูชาล้วนแต่มีพุทธคุณดังใจผู้ที่บูชาทั้งสิ้น
โฆษณา