16 พ.ย. 2021 เวลา 02:00 • การเกษตร
ช่วงที่ผ่านมากระแสความบอนสีมีมากขึ้น จนใครหลายคนต่างซื้อบอนสีพันธุ์ที่ชอบมาปลูกเลี้ยงกัน แต่รู้หรือไม่ว่า “บอนสีพักตัวในฤดูหนาว...” ซึ่งจะทำให้ใบบอนสีฟุบ เหี่ยวแห้งไป อดชื่นชมความงามของใบบอนอย่างแน่นอน แล้วจะมีวิธีไม่ให้บอนสีพักตัวอย่างไร มาเรียนรู้กัน
3
บอนสีหรือ Caladium เป็นไม้ประดับที่มีหัวคล้ายหัวมันฝรั่ง ทำหน้าที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีตาหรือที่เรียกในภาษานักเล่นบอนว่า “เขี้ยว” อยู่รอบๆ ธรรมชาติของบอนสีเมื่อถึงฤดูหนาวซึ่งมีความชื้นในอากาศต่ำ และแห้งแล้ง ต้นบอนสีจะหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบใหม่ หรือที่เรียกว่าพักตัว ซึ่งต่อมาใบจะเริ่มเหี่ยวเฉาจะไม่มีใบเหลืออยู่เลย แต่นักเลี้ยงบอนสีในบ้านเรา สามารถแก้ปัญหานี้เพื่อให้บอนสีสวยทั้งปีได้ด้วย การเลี้ยงบอนสีในตู้ เพื่อควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้สม่ำเสมอ เสมือนเป็นบ้านของบอนสี สำหรับให้เหล่าต้นบอนสีได้พักพิง และเติบโตอย่างสวยงามในบริเวณบ้าน
3
รอบหัวบอนสีจะมีส่วนเจริญที่เรียกว่า ตา หรือเขี้ยว ที่เกิดเป็นหน่อใหม่ได้
ฮกหลง เป็นบอนสีที่กลายเป็นไม้ประดับยอดนิยมทั้งที่ปลูกเป็นไม้กระถางและปลูกประดับแปลง เพราะปลูกเลี้ยงง่าย เติบโตได้สวยงาม
มิสมัฟเฟ็ท (Caladium 'Miss Muffet') เป็นบอนสีพันธุ์ต่างประเทศที่ปลูกเลี้ยงง่าย
ในอดีตตู้บอนสีจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ต่อมามีการดัดแปลงโดยใช้เหล็กเส้นและท่อพีวีซีเป็นโครงสร้างแทน ซึ่งการสร้างตู้บอนสีมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้
1. เตรียมพื้นที่ ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 1-2 ตารางเมตรหรือมากกว่า ขึ้นกับจำนวนต้นบอนสี ต้องมีแสงแดดส่องถึง มีร่มเงาบ้าง แล้วปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน หรือเทพื้นด้วยปูนก็ช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้
2.เตรียมวัสดุทำตู้ ตัดเหล็กหรือท่อพีวีซีให้มีความยาวตามภาพ ความกว้างของตู้ประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร เสาตู้สูงตู้ 50 เซนติเมตร ความสูงของจั่วประมาณ 30 เซนติเมตร ดังภาพ
การสร้างบ้านให้บอนสีบนพื้นปูน จะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้ ในภาพเป็นตู้บอนสีที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กเส้น
3.ประกอบชิ้นส่วน เริ่มจากเสาตู้ก่อน แล้วประกอบส่วนหลังคา ถ้าเป็นท่อพีวีซีเตรียมข้อต่อสามทาง, สามตาสี่ทาง, ข้อต่องอ 45 องศาและข้อต่องอสามทางให้พร้อม
4.ปูพลาสติกบนพื้นตู้ โดยยกขอบขึ้นเพื่อให้ขังน้ำได้ ควรเลือกพลาสติกหนาและไม่ฉีกขาดง่าย นิยมใช้พลาสติก PE สีดำที่ใช้กรุบ่อน้ำ ซึ่งมีความเหนียวทนทาน
5.กรุพลาสติกโดยรอบ พลาสติกใสเป็นพลาสติกที่ใช้คลุมโรงเรือนจะเหนียวและทนทาน หากโครงสร้างเป็นพีวีซี สามารถใช้คลิปล๊อคพลาสติกที่มีจำหน่ายทั่วไป แต่ถ้าโครงสร้างเป็นเหล็กจำเป็นต้องใช้เชือกไนล่อนเส้นเล็กเย็บติดกับเหล็กเส้นให้แน่น ส่วนหลังคายึดติดเฉพาะคานบน แล้วปล่อยชายไว้สองด้าน สำหรับเป็นช่องเปิด-ปิดตู้
ในภาพคือตัวอย่างตู้บอนสีที่ทำด้วยท่อพีวีซี และปูพื้นด้วยการดัดแปลงแผ่นพลาสติกป้ายโฆษณามาใช้
1
Tips
 ไม่ควรสร้างตู้สูงหรือเตี้ยเกินไป เพราะถ้าตู้เตี้ยต้นบอนอาจชนหลังคาตู้ แต่ถ้าสูงไปจะยกกระถางเข้าออกไม่สะดวก
 ถ้าโครงสร้างเป็นท่อวีซีจะมีน้ำหนักเบา หากต้องการเปลี่ยนตำแหน่ง สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย แต่ควรมีเหล็กยึดโครงสร้างไว้สี่มุม เพื่อป้องกันตู้ล้ม
 หมั่นทำความสะอาดพลาสติกหลังคาตู้อยู่เสมอ เพื่อให้แสงส่องถึงต้น และควรเปลี่ยนน้ำที่หล่อในพื้นตู้ออกบ้าง ในช่วงเย็น ไม่ควรเปลี่ยนช่วงกลางวันที่มีแสงแดดจัด จะทำให้ใบสลดได้
 ควรใช้คลิปหนีบปลายพลาสติกด้านหลังคาไว้ เพื่อควบคุมความชื้นในตู้ ป้องกันไม่ให้ลมพัดหลังคาเปิด
 สำหรับผู้ที่ต้องการผลิตบอนสีเพื่อการค้า นิยมตู้ให้บอนสี จะช่วยให้ผลิตต้นบอนสีที่สมบูรณ์สวยงามได้จำนวนมาก
ในภาพคือตู้บอนสีที่ทำด้วยเหล็กเส้น ซึ่งสะดวกในการใช้งานขึ้น
2
นอกจากการสร้างบ้านหรือตู้ให้บอนสีแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันกลุ่มนักเลี้ยงบอนสีที่มีพื้นที่น้อย คือ การทำกระโจม มี 3 วิธีให้เลือกใช้ ดังนี้
แบบที่ 1 ปักไม้สี่ด้าน รอบกระถางบอน ใช้ถุงพลาสติกครอบ หาอิฐวางทับปากถุงไว้
แบบที่ 2 อาจขุดพื้นดินให้เป็นหลุมกว้างพอวางกระถางพร้อมจานรอง วางต้นลงในหลุม ปักไม้สี่ด้าน แล้วครอบถุงพลาสติก ใช้อิฐวางทับปากถุง
1
วิธีดังกล่าวข้างต้น ผู้ปลูกเลี้ยงควรเลือกตำแหน่งพื้นที่มีแสงเพียงพอกับต้น แต่ถ้าต้องการย้ายตำแหน่งจะเคลื่อนย้ายไม่สะดวก
2
ปัจจุบันมีวิธีทำกระโจมแบบที่ 3 ที่เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก และเคลื่อนย้ายต้นได้สะดวกขึ้น มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
Step 1 ดัดลวดอะลูมิเนียมให้เป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางและสูงประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมตะขอสำหรับครอบบนกระถางบอน ดังภาพ
Step 2 ลองวางครอบบนกระถางบอนสี ปรับตำแหน่งตะขอยึดให้แน่นให้พอดีกับกระถาง
Step 3 ครอบถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ลงบนกระโจม ใช้เชือกมัดถุงติดกับด้านล่างกระถาง ด้านบนตัดก้นถุงออกเพื่อสะดวกต่อการสำรวจต้นบอนสีของเรา ใช้เชือกมัดปากถุงด้านบนให้แน่น ยกกระถางไปวางในตำแหน่งที่เหมาะสม พร้อมหล่อน้ำในจานรองกระถาง
1
บางคนอาจดัดแปลงด้วยการทำกระโจมด้วยกะละมังพลาสติก โดยเจาะรูที่ขอบกะละมังสี่มุม ยึดลวดติดกับกะละมัง วางกะละมังลงในถุงพลาสติก แล้วนำต้นบอนสีวางลงในกะละมังที่ใส่น้ำหล่อไว้เพื่อให้ต้นบอนสีได้รับความชื้นสม่ำเสมอ แล้วมัดปากถุงให้สนิท เท่านั้นก็ได้บ้านเดี่ยวให้บอนสีแล้วค่ะ
ข้อดีของการปลูกบอนสีในกระโจมคือ ช่วยให้ต้นบอนสีสวยงาม ใบเป็นระเบียบกว่าต้นที่เลี้ยงในตู้พลาสติก เหมาะกับบอนสีใบกาบ แต่วัชพืชเติบโตได้ดี ต้องคอยถอนหญ้าบ่อยๆ
สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกในบ้านหรือห้องทำงาน อาจใช้ตู้ปลาขนาดใหญ่ที่มีฝาปิดแทนการสร้างบ้านและกระโจม ที่สำคัญคือ ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ช่วยให้ต้นบอนสีเติบโตได้และไม่พักตัวได้เช่นกัน
ควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดแผ่นพลาสติกด้านในตู้ส่วนที่เป็นหลังคา เพื่อให้ต้นบอนสีได้รับแสงแดดเพียงพอกับการเจริญเติบโต
นักเลี้ยงหลายท่านที่ต้องการส่งไม้ประกวด นิยมเลี้ยงบอนสีใบกาบที่ปลูกในกระโจม เพราะจะมีชั้นใบสวยงามกว่าปลูกในตู้
บอนสีที่เลี้ยงนอกตู้ต้นจะแข็งแรง แต่ทางใบจะไม่เป็นระเบียบ
นักเลี้ยงบอนสีที่ต้องการส่งไม้ประกวด จะเลี้ยงบอนสีในตู้หรือกระโจมพร้อมกับค้ำก้านใบเพื่อให้ใบเรียงเป็นระเบียบสวยงามขึ้น
ศึกษาเทคนิคการปลูกเลี้ยงบอนสีเพิ่มเติมได้ใน หนังสือบอนสี : Caladium ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน รับรองว่าบอนสีของคุณจะสวยงามได้ตลอดทั้งปีแน่นอน
1
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ >> https://bit.ly/3Hm70B1
เรื่อง : วิฬาร์น้อย
ภาพ : อนุพงศ์ ฉายสุขเกษม
ขอบคุณแหล่งภาพ : คุณจิระวัฒ แซ่อึ้ง แห่งสวนมณีมณ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
2
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา