15 พ.ย. 2021 เวลา 11:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Uber: จากปัญหาเล็กๆ ในชีวิตจริง สู่ธุรกิจที่เขย่าวงการคมนาคม
ในเรื่องร้ายมักมีเรื่องดีซ่อนอยู่เสมอ… เป็นธรรมดาที่หลายคนจะรู้สึกกลัว เมื่อพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น อันที่จริงแล้วธุรกิจแบบใหม่ที่โด่งดังมากมายก็ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงขาลงของเศรษฐกิจก็มีเช่นกัน
ในสัปดาห์นี้ Bnomics จะพาทุกคนไปรู้จักกับธุรกิจดังที่ได้ถือกำเนิดในช่วงเศรษฐกิจซบเซา และบริษัทแรกที่เราจะพูดถึงได้แก่ Uber ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูอยู่แล้ว
Uber Technologies, Inc. หรือที่รู้จักกันในนาม Uber (อูเบอร์) เป็นบริษัทเครือข่ายคมนาคมสัญชาติอเมริกัน ที่ให้ผู้โดยสารและคนขับรถสามารถค้นหาตำแหน่งของกันและกัน และติดต่อเรียกใช้หรือให้บริการกันได้ผ่านแอพพลิเคชัน
การที่ Uber เป็นเหมือนคนกลางเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่มีรถยนต์สามารถหารายได้เสริมได้ และทำให้ผู้โดยสารสามารถได้รับบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัย
📌 ความเป็นมาของ Uber
ไอเดียธุรกิจนี้ได้เริ่มขึ้นในปี 2008 (ช่วงวิกฤติการเงินโลก) เมื่อสองนักธุรกิจ Travis Kalanick และ Garrett Camp ที่เดินทางไปร่วมงานสัมมนาที่กรุงปารีส ไม่สามารถโบกรถแท็กซี่ได้เลยในคืนหนึ่ง ทั้งคู่จึงตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหานี้
แม้ว่าไอเดียแรกจะเป็นการให้คนเช่ารถลิมูซีนแบบแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้ แต่สุดท้าย Travis Kalanick พร้อมกับ Garrett Camp และเพื่อนของเขา Oscar Salazar และ Conrad Whelan ก็ได้สร้างธุรกิจที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้โดยสารและคนขับรถภายใต้ชื่อ UberCab ได้สำเร็จในปี 2010 (ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Uber) โดยเริ่มให้บริการครั้งแรกในซานฟรานซิสโก
แม้อัตราค่าโดยสารของ Uber ในตอนนั้นจะแพงกว่าแท็กซี่ทั่วไปประมาณ 1.5 เท่า แต่ความสะดวกสบายในการใช้แอพพลิเคชัน Uber ค้นหารถ หักค่าบริการอัตโนมัติจากบัตรเครดิต หรือการเช็คตำแหน่งของตัวเองบนแผนที่ ก็ทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จของ Uber ดึงดูดนักลงทุนมากมาย จนบริษัทสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ
ในปัจจุบัน Uber ได้เงินจากนักลงทุนเป็นจำนวนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ในการระดมทุนทั้งหมด 33 รอบ และมีกิจการครอบคลุมมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
📌 กุญแจสู่ความสำเร็จของ Uber
อันที่จริงแล้วมีหลายปัจจัยที่นำมา ซึ่งความสำเร็จของ Uber และธุรกิจ Start-up อื่นๆ ก็สามารถเรียนรู้จากปัจจัยเหล่านี้ได้
(1) อย่างแรกคือ การเป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มธุรกิจแบบนี้
การเป็นผู้นำในตลาดช่วยให้ Uber ได้ส่วนแบ่งในตลาดไปเยอะ และทำให้บริษัทมีโอกาสสร้างอัตลักษณ์ (Brand Identity) ที่แข็งแกร่งกว่าด้วย ดังนั้น แม้จะเริ่มมีคู่แข่ง ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือก Uber ก่อนอยู่ดี
อย่างในปี 2021 การคำนวณของ Sensor Tower ก็แสดงให้เห็นว่า แอพพลิเคชันแท็กซี่ที่ผู้คนทั่วโลกดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็น Uber (ตาราง 1)
10 อันดับแอพพลิเคชันบริการแท็กซี่และเช่ายานยนต์ที่ถูกดาวน์โหลด มากที่สุดใน App Store และ Google Play
(2) อย่างที่สอง Uber มีค่าใช้จ่ายต้นทุนคงที่ค่อนข้างน้อย
นี่เป็นเพราะบริษัทไม่ได้มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเองเหมือนบริษัทแท็กซี่ทั่วไป จึงสามารถตัดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง หรือการสร้างอาคารพักรถ ออกไปได้
เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนที่น้อย Uber ก็สามารถปรับตัวในความเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ซึ่งช่วยให้บริษัทเติบโตได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
เหมือนตอนแรกที่ค่าโดยสารของ Uber แพงกว่าแท็กซี่ทั่วไปถึงประมาณเท่าตัว เพราะมุ่งเน้นแข่งที่คุณภาพการบริการเพียงอย่างเดียว แต่แล้วเมื่อบริษัทปรับกลยุทธ์มาแข่งด้วยราคา ภายในแค่ 1 ปีเท่านั้น Uber กลับกลายเป็นบริการที่ถูกกว่าแท็กซี่ทั่วไปถึง 10%
(3) นอกจากนี้ Uber ยังขยายธุรกิจอยู่เรื่อยๆ ด้วย
ลักษณะเด่นของ Uber คือ การมีตัวเลือกมากมายให้ลูกค้า อย่างรถก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ทั่วไป รถ SUV รถหรู รถจักรยาน สกู๊ตเตอร์ หรือการเดินทางทางอากาศที่บริษัทกำลังวางแผนดำเนินการอยู่ (แผนภูมิ 1)
Uber มีบริการรถยนต์หลากหลายรูปแบบ เช่น รถแท็กซี่ รถยนต์ SUV รถจักรยานยนต์ เป็นต้น รวมถึงบริการด้านอื่น เช่น การบริการส่งอาหาร อย่าง Uber Eats เป็นต้น
นอกจากนี้ Uber ก็ได้เปิดบริการด้านอื่น เช่น การส่งอาหาร อย่าง Uber Eats ที่ไปได้สวยในช่วงโควิดที่ผ่านมาด้วย (แผนภูมิ 2)
รายได้ของแต่ละธุรกิจจัดส่งอาหารเติบโตขึ้นสูงในช่วงวิกฤตโควิด – 19
อันที่จริงแล้วมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้ Uber กลายเป็นแอพพลิเคชันที่รู้จักกันทั่วโลก และแม้ว่าบริษัทจะเจอปัญหา เช่น การประท้วงโดยกลุ่มคนขับแท็กซี่ หรือ ข่าวเสียๆ หายๆ อยู่บ้าง แต่สุดท้าย Uber ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ และถือเป็นหนึ่งใน Start-up ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จทีเดียว
ในบทความหน้า Bnomics จะพาไปรู้จักกับบริษัทอื่นๆ ที่ได้ถือกำเนิดในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในขาลงอีก จะมีบริษัทอะไรบ้าง โปรดติดตาม
#Uber #Bigcompany #Business
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา