15 พ.ย. 2021 เวลา 12:37 • ท่องเที่ยว
#ทริปอยุธยา No.2 หมู่บ้านญี่ปุ่น (Japanese Village) หรือ Memorial Site of the Old Japanese Settlement in Ayutthaya
พิพิธภัณฑ์ทันสมัยบนพื้นที่ตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาสมัยอยุธยา มานี่ได้ทั้งความรู้และพักผ่อนในบรรยากาศญี่ปุ่นๆ
3
#หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณทิศใต้นอกเกาะเมืองของอยุธยา เป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชุมชนชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส
แถวนี้สมัยก่อนเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติที่เดินทางมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ โดยต่างได้รับพระราชทานที่ดินตั้งชุมชนบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงกันปัจจุบันบริเวณนี้เรียกว่า ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา
[เรื่องราวความเป็นมาในสมัยอยุธยา]
ที่นี่เป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นในอยุธยาเริ่มจากชุมชนเล็กๆตั้งแต่ช่วงปลายสมัยพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2132) เมื่อพ่อค้าเรือสำเภาญี่ปุ่นได้ตั้งคลังสินค้าที่นี่เพื่อรวบรวมสินค้าไว้คอยสำเภามาจากญี่ปุ่นในฤดูปีถัดไป ก่อนหน้านี้อยุธยากับญี่ปุ่นก็มีการค้าระหว่างกันมาซักพักแล้ว โดยมีอาณาจักรริวกิว (ปัจจุบันคือ หมู่เกาะโอกินาวา ตอนใต้สุดของญี่ปุ่น) เป็นตัวแทนการค้า
เส้นทางสันนิษฐานการเดินเรือของญี่ปุ่นในสมัยก่อน
พอการค้าเฟื่องฟูขึ้น ก็มีชาวญี่ปุ่นอพยพมาอาศัยบริเวณนี้กันมากขึ้นเป็นชุมชนใหญ่โต โดยในชุมชนมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ พ่อค้า โรนิน (ซามูไรที่ไม่มีนายสังกัด) ที่เข้ามาเป็นทหารอาสาให้อยุธยา และ ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเดินทางอพยพหนีออกมาเพื่อเสรีภาพเพราะช่วงนั้นญี่ปุ่นมีการกวาดล้างกีดกันศาสนาคริสต์อยู่ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์อยุธยาพระราชทานที่ดินตรงนี้ให้ตั้งเป็นหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น
ตัวอย่างเครื่องใช้ต่างๆของชาวญี่ปุ่น จัดแสดงอยู่ในส่วนพิพิธภัณฑ์
ตัวอย่างเครื่องใช้ต่างๆของชาวญี่ปุ่น จัดแสดงอยู่ในส่วนพิพิธภัณฑ์
หมู่บ้านญี่ปุ่นมีประชากรลดลงเรื่อยๆ จากการปิดประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นสมัยพระเจ้าปราสาททองเนื่องจากต้องการปิดประเทศเพื่อกีดกันศาสนาคริสต์ มีคำสั่งห้ามทำการค้ากับภายนอกและห้ามคนญี่ปุ่นจากภายนอกกลับเข้าญี่ปุ่น ชุมชนนี้เลยลดขนาดและบทบาทลงอย่างมากจนปิดตัว
[เรื่องราวความเป็นมาในยุคปัจจุบัน]
หลังจากช่วงตั้งแต่ชุมชนนี้หายไปร่วมกว่า 400 ปี ก็เริ่มกลับมีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ใหม่ให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีสมาคมไทยญี่ปุ่นเป็นหัวแรงและเป็นผู้บริหารจัดการสถานที่นี้จนถึงปัจจุบัน
ธันวาคม พ.ศ.2523 เจ้าชายนารูฮิโต มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่นในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น) ได้ทรงเสด็จมาเยือนที่หมู่บ้านญี่ปุ่นนี้
ธันวาคม พ.ศ.2523 เจ้าชายนารูฮิโต มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่นในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น) ได้ทรงเสด็จมาเยือนที่หมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา
พ.ศ.2529 ได้รับการปรับปรุงครั้งแรก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 999 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาทไทยในขณะนั้น) เนื่องในโอกาสที่ ร.9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา (พ.ศ.2530) และเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น
พ.ศ.2550 ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ของ ร.9 และครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ได้ปรับปรุงอาคารผนวกและปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการภายในใหม่ทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และจัดสร้างสวนและพร้อมศาลาญี่ปุ่นเพื่อเป็นอนุสรณ์
ภูมิทัศน์และสวนพร้อมศาลาญี่ปุ่น
พ.ศ.2557 ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ปรับปรุงอาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรอันใหม่ พร้อมสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย ใช้ชื่อว่า “นิทรรศการยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) และท้าวทองกีบม้า”
อาคารจัดแสดงนิทรรศการด้านในอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พ.ศ.2560 ในวาระครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น ได้ดำเนินการปรับปรุงต่อยอดการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์อยุธยาและหมู่บ้านญี่ปุ่นด้วยเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง VR Street Museum โดยปรับปรุงห้องฉายภาพยนตร์และจัดทำ Street Museum แบบ 3D เพิ่มความตื่นตาตื่นใจในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มบรรยากาศของความเป็นญี่ปุ่น
บรรยากาศภายในอาคารจัดแสดงส่วนหน้า
[สถานที่สำคัญภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น:]
• อาคารจัดแสดง 1 เรียกว่าอาคารผนวก อยู่ด้านหน้าสุดตรงจุดขายตั๋วเลย ด้านในเป็นห้องแอร์ขนาดใหญ่มืดๆ นำเสนอความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา เส้นทางเดินเรือ การติดต่อค้าขาย เรื่องราวเกี่ยวกับการเข้ามาของคนญี่ปุ่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนญี่ปุ่นในอยุธยา เครื่องใช้ต่างๆของคนญี่ปุ่น ชุดเกราะซามูไร จัดแสดงแบบทันสมัยเลยด้วยแสงสี
ด้านหน้าทางเข้าอาคารมีห้องฉายวีดีโอเกี่ยวกับส่วนที่แสดงในอาคานี้ ความยาวประมาณ 7-8 นาที และที่อาคารนี้ยังมีบริการให้เช่าชุดยูกะตะทั้งผู้ชายและผู้หญิงใส่ถ่ายรูปในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้ด้วย รู้สึกคนละ 100 บาทครับ
บรรยากาศอาคารจัดแสดง 1
บรรยากาศอาคารจัดแสดง 1
• อาคารจัดแสดง 2 อยู่ตรงริมน้ำติดกับร้านอาหารด้านใน เป็นนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ 2 คน คือ
# ยามาดะ นางามาซะ ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา เป็นหัวหน้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ออกญาเสนาภิมุข” มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น ได้รับการยกย่องในความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกษัตริย์ไทย และมีตั้งรูปปั้นของออกญาเสนาภิมุขอยู่อีกฝั่งด้านนอกอาคาร 2
รูปปั้นของออกญาเสนาภิมุข
บรรยากาศภายในอาคารจัดแสดง 2 ส่วนของ ยามาดะ นางามาซะ
# ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา เป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส (ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับหมู่บ้านญี่ปุ่น) ถ้าใครเคยดูละครดังแห่งยุคบุพเพสันนิวาส น่าจะรู้จักบทบาทอยู่แล้ว คือได้เข้ารับราชการเป็นหัวหน้าห้องครัวดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของโปรตุเกสนั่นเอง
บรรยากาศภายในอาคารจัดแสดง 2 ส่วนของ มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา
• ศาลาและสวนญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางของหมู่บ้าน ก็อารมณ์สวนหินเซนทั่วไป ไม่ใหญ่มาก แต่ดูแล้วมีปรัชญาแฝงความหมายในการจัดลวดลายของคลื่นบนพื้นหิน
สวนหินเซน
สวนหินเซน
• สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เช่น ป้ายหินดั้งเดิมชื่อหมู่บ้าน อยู่ตรงลานด้านหน้าทางเข้า ศาลเจ้าญี่ปุ่น และแท่งศิลาจารึกประวัติของที่นี่
ป้ายหินดั้งเดิมชื่อหมู่บ้าน
แท่งศิลาจารึกประวัติของหมู่บ้านญี่ปุ่น
### ความเห็นส่วนตัว ###
ตอนก่อนมาคิดว่าจะมีแค่สถานที่และจุดถ่ายรูปสวยๆแค่นั้น แต่พอเข้ามาแล้วความคิดเปลี่ยนเลยที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยอยุธยาแบบจัดเต็มมากครับ รายละเอียดเยอะ โดยเฉพาะตรงชาร์จที่เป็น Timeline ในอาคาร 1 ละเอียดมาก ใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาที่นี่เหมาะมากครับ
2
ยังได้ความรู้อะไรใหม่ๆที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยจากอาคาร 2 เช่น อะวาโมริ ซึ่งเป็นเหล้าท้องถิ่นของโอกินาวา จริงๆแล้วได้รับอิทธิพลมาจากบ้านเราคือเหล้าขาวที่ถวายในพระราชสำนักสมัยอยุธยาครับ ดังนั้นที่นี่เหมาะมากสำหรับมาได้ทั้งครอบครัว ผู้ใหญ่และเด็ก แนะนำ
1
[พิกัด:]
อยู่ถนนเส้นเดียวกันกับที่จะตรงไปวัดพนัญเชิง คือถ้ามาจากถนนเส้นตัดใหม่จากสายเอเซียตรงศาลาว่าการใหม่ ไม่ต้องข้ามแม่น้ำ ให้กลับรถใต้สะพานเลี้ยวทางที่จะไปวัดพนัญเชิง เลี้ยวมาก็เจอที่นี่เลย หรือถ้ามาจากทางวงเวียนนักเลง ให้เลี้ยวมาเส้นเลยหน้าวัดใหญ่ ตรงมาเลยวัดพนัญเชิงมาอีก ประมาณกิโลได้อยู่ฝั่งขวามือ
1
# วันและเวลาทำการ
• วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.30 - 18.00 น.
• วันเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 - 18.00 น.
1
ซื้อตั๋วก่อนเข้าชม
# ค่าเข้าชม
• คนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 20 บาท
• ต่างชาติ คนละ 50 บาท
• ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 บาท
• เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่เสียค่าเข้าชม
โฆษณา