16 พ.ย. 2021 เวลา 00:46 • สุขภาพ
บันทึกบทที่เจ็บ…สวัสดี นิ่วถุงน้ำดี
ครบ 1 เดือนกับความเจ็บปวดที่ได้พบเจอ ขอแบ่งปันเรื่องราวการผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีสักหน่อย เนื่องจากไม่เคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับช่องท้องหรือปวดท้องมาก่อน อย่างมากก็แค่หิว จึงไม่รู้ว่าอาการที่เจอคืออะไร
เริ่มจากเย็นวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม เริ่มมีอาการปวดท้อง จึงไปร้านยาปรึกษาเภสัชกร ได้ยาช่วยย่อย และลดกรดในกระเพาะ เพราะคาดว่าเป็นโรคกระเพาะ กินยาแล้วหาย
เย็นวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม เริ่มปวดเวลาเดิมเลย ประมาณ 4 โมงเย็น แต่ก็ยังมีอารมณ์ไปเดินออกกำลังกายนะ เดินมันแบบปวดเกร็งช่องท้องอะแหละ กลับมากินยาชุดเดิม ยังปวดเกร็งอยู่ หัวค่ำมีอาการอาเจียนร่วมด้วย รู้สึกไม่ดีขึ้น จึงไปโรงพยาบาล เข้าฉุกเฉิน ฉีดยาและให้น้ำเกลือไปเลยจ้า หมอยังวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นโรคกระเพาะ เพราะกดช่องท้องแล้วไม่รู้สึกเจ็บ หลังฉีดยาแล้วกลับมาห้องอาการเป็นปกติ
เย็นวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม เวลาเดิมอีกแล้ว 4 โมงเย็น อาการปวดท้องกำเริบ ทั้งที่ทั้งวันกินแต่อาหารอ่อนๆ กินยาตัวเดิม แต่อาการไม่ดีขึ้น ปวดเกร็งมากกว่าที่ผ่านมา หัวค่ำอาเจียนไป 2 รอบ ยิ่งรู้สึกปวดเกร็งช่องท้องมากขึ้น หลังจากอาเจียนรอบที่ 2 หน้าและตาเหลือง แบบเหลืองชัดมาก จึงกดท้องด้านบนขวา รู้สึกเจ็บมาก (ในใจนี่คิดเลยว่าตับอ่อนหรือถุงน้ำดีแน่ๆ) เลยหอบร่างไปโรงพยาบาลขอแอดมิทและตรวจอย่างละเอียด ก่อนจะได้แอดมิทก็ต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ PCR ก่อน เพื่อความปลอดภัย
คืนนั้น หลังจากเข็มเจาะที่หลังมือเพื่อให้น้ำเกลือและยา ช่วงดึกๆ จึงได้ทำการอัลตร้าซาวด์ คืนนั้นทั้งคืนนอนตัวงอ ปวดช่องท้องมากจนนอนไม่หลับ แต่หลังจากได้มอร์ฟีน ไป 2 รอบ เปลือกตาจึงปิดสนิท น่าจะประมาณ ตี 2 ครึ่ง เห็นจะได้ ความปวดที่เข้ามาทักทาย ทำให้คิดถึงแม่เลยทีเดียว ไม่รู้ว่าตอนปวดท้องใกล้คลอดจะปวดแค่ไหน ปวดแบบไหนกันนะ
เช้าวันจันทร์ ตื่นขึ้นมาพร้อมความปวดที่ลดน้อยลงแต่ยังคงรู้สึกปวดท้องอยู่ คุณหมอเจ้าของไข้เข้ามาพูดคุยอธิบาย จนรู้จากผลการอัลตร้าซาวด์เบื้องต้นว่า พบนิ่วในท่อน้ำดี และในถุงน้ำดี ซึ่งการรักษาคือต้องคล้องเอานิ่วในท่อน้ำดีออกก่อน จึงจะสามารถตัดถุงน้ำดีออกได้ ซึ่งต้องทำคนละวัน
เมื่อพูดคุยปรึกษากันแน่ชัดว่าจะทำการผ่าตัดที่นี่ (เพราะปวดจนไม่ไหวจริงๆ) คุณหมอจึงให้ทำการตรวจวัดคลื่นหัวใจ และ x-ray พร้อมกับให้คุณหมอโรคหัวใจมาประเมินว่าสามารถผ่าตัดได้ คุณหมอเจ้าของไข้ กลัววางยาสลบแล้วจะไม่ฟื้น จากนั้นทำการ CT SCAN อีกครั้ง เพื่อดูท่อน้ำดีให้ชัดอีกที ปรากฏว่านิ่วในท่อน้ำดีหลุดไปแล้ว
วันนั้นทั้งวันนั่งมองแต่นาฬิกา หวังว่าการเปิดประตูหลังเข้ามาคือจะถูกเรียกเข้าห้องผ่าตัด หลังจากรออย่างใจจดใจจ่อ 4 โมงเย็นวันนั้น จึงได้ฤกษ์ผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี
ช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นมาพร้อมสายน้ำเกลือ และสายเดรนเลือด ที่เจาะอยู่ข้างลำตัว เพื่อระบายเลือดออก พยาบาลจะมาเทเลือดออกและดูปริมาณทุกครั้ง หากเลือดออกมากเกินไปถือว่าไม่ดีเท่าไหร่ ตลอด 4 วันหลังผ่าตัด ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่ได้อยู่กับสายระโยงระยางที่ตัว การลุก เดิน นั่ง นอน ก็มีอาการเจ็บๆ บ้าง และต้องคอยระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้แผลได้รับความกระทบกระเทือน (รอยแผลทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน คือ สะดือ ใต้หน้าอก ด้านขวาบริเวณถุงน้ำดี และด้านล่างขวาที่เดรนเลือด)
อาจารย์หมอที่ผ่าตัดถุงน้ำดี มาดูอาการ แจ้งว่าถุงน้ำดีอักเสบมากจนกลายเป็นสีดำ เคสเราแปลกตรงที่อักเสบมากขนาดนั้น แต่ไม่มีไข้เลย แล้วอธิบายว่าสาเหตุการเกิดนิ่วทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่จะเกิดกับ 3 กลุ่ม คือ กรรมพันธุ์ คนอ้วน และคนที่กินอาหารมันๆ ในปริมาณที่มาก มันอาจจะอยู่ในตัวเรานานแล้ว แต่ไม่รู้
นิ่วของเราถือว่าเม็ดไม่ใหญ่ และมีปริมาณไม่เยอะ แต่อยู่ในตำแหน่งที่ทำให้ปวดมาก การดูแลตัวเองหลังจากผ่าตัด คือการกินมันให้น้อยลง เพราะต่อไปนี้จะไม่มีถุงน้ำดี ให้เก็บน้ำดีส่วนเกินแล้ว หากกินอาหารมันๆ มากเกินไปจะทำให้ท้องอืดมากกว่าเดิม
ก้อนไม่ใหญ่ อาจารย์หมอว่างั้น
เราโดนเจาะเลือดไปหลายรอบ เจาะจนวันสุดท้ายก่อนจะออก เพราะต้องเช็คค่าการอักเสบ และค่าความเหลือง เม็ดเลือดขาวก่อนผ่าตัด ตัวเลขพุ่งไปถึง 15,000 เกณฑ์ปกติ ไม่เกิน 10,000 ส่วนค่าความเหลือง สูงเช่นกัน แต่หลังจากผ่าตัดแล้ว ค่าทั้ง 2 ตัวค่อยๆ ลดลง จนเกือบปกติ
อาหาร 2 มื้อแรกคือน้ำข้าวต้ม และน้ำซุปใส อะไรสักอย่าง ไม่มันเลย ใสมาก เมื่อคุณหมอเห็นว่าทานได้ อาหารมื้อที่สาม จึงเริ่มเป็นข้าวต้มและกับข้าวอ่อนๆ กินเกลี้ยงไม่เหลือสักอย่าง
เราถ่ายในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด จึงไม่ต้องใส่สายสวน ถึงแม้จะกินข้าวและผลไม้ได้แล้ว แต่ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป คือ ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ถ่ายเหลว และถ่ายทันทีหลังทานข้าวเสร็จ กว่าร่างกายจะปรับตัวได้ก็ใช้ระยะเวลาประมาณ ครึ่งเดือนได้ แต่ยังมีถ่ายเหลวอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยเท่าตอนอยู่โรงพยาบาล
ช่วงพักฟื้น 1 สัปดาห์หลังจากออกจากโรงพยาบาล สิ่งที่ต้องระวังมากๆ คือ ไม่ให้แผลโดนน้ำ ทั้งที่ติดพลาสเจอร์กันน้ำ แต่ก็ต้องระวัง และต้องเปลี่ยนเปลี่ยนพลาสเตอร์หากหลุด รวมทั้งยังกินแต่อาหารอ่อนๆ อยู่ เพราะระบบขับถ่ายก็ยังไม่ปกติ
1 สัปดาห์ต่อมา ถึงวันนัดตัดไหม (แบบเย็บแมกซ์) และเจาะเลือดตรวจอีกครั้ง ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ แผลแห้งดี 1 เดือนหลังจากนี้ งดออกกำลังกาย และยกของหนัก นอกจากนั้น คุณหมอเจ้าของไข้แนะนำให้ลดน้ำหนักลงอีก บอกคุณหมอไปว่า เราลดน้ำหนักจากปลายปี 2563 ลงมาได้ 9 กิโลกรัมแล้ว หมอทำหน้าตกใจเล็กน้อย และบอกว่าดีเลยค่ะ มาถูกทางแล้ว ยังไงก็อยากให้ลดลงอีกสักหน่อย
หลังจากกลับมาทำงาน เราปรับพฤติกรรมการกิน โดยทำอาหารมากินเองที่ออฟฟิศ และเน้นผัก ผลไม้มากขึ้น แน่นอนว่าคราวนี้สนุกกับการทำเบนโตะมากขึ้นอีกด้วย บางครั้งลืมตัวยกของหนักก็จะมีความรู้สึกปวดๆ ตึงๆ ด้านในบริเวณที่ผ่าตัดถุงน้ำดี แบบรู้สึกได้เลย หรือหากเดินเป็นระยะทางมากๆ ก็จะรู้สึกเช่นกัน
จริงๆ แล้วเราก็ปรับพฤติกรรมการกิน คือ กินขนม อาหารมันๆ และบุฟเฟ่ต์ ลดลงมาก รวมทั้งออกกำลังกายแบบจริงจังมาหลายปีแล้ว แต่คงเพราะพฤติกรรมที่ทำมามันสะสมมาเป็นเวลากว่าสามสิบปี ร่างกายจึงฟ้องว่า เฮ้ย แก ต้องดูแลตัวเองให้มากกว่านี้อีกนะ รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ลุกมาดูแลสุขภาพก่อนหน้านี้ ไม่งั้นความจริงอาจจะเป็นอะไรที่หนักกว่านี้แน่ๆ ขอบคุณน้องชายที่มาเฝ้าไข้ และดูแล ช่วงที่ร่างกายอ่อนแอสุดๆ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ส่วนหนึ่ง แต่อวัยวะของเราบางอย่างเสียแล้ว เอากลับคืนมาไม่ได้นะ ขอให้สนุกกับการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพนะคะ
โฆษณา