25 พ.ย. 2021 เวลา 08:40 • ครอบครัว & เด็ก
⭐️ EP.50 TACTILE DEFENSIVENESS or TOUCH SENSITIVITY
ภาวะหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือ การไวต่อการสัมผัส
การรับความรู้สึกผ่านการสัมผัส (Tactile) เป็นหนึ่งในระบบการรับรู้ของร่างกาย ที่ทำให้เด็กๆเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ เช่น การกอด การจับ การสัมผัส ทำให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่และคนในครอบครัว การทำงานในระบบนี้ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นฐานที่สำคัญทางอารมณ์ของเด็ก
4
Tactile Defensiveness (TD) คือ อาการที่แสดงออกมาหลังจากมีการสัมผัสสิ่งหนึ่งๆ แล้วทำให้ผู้สัมผัสมีการแสดงออกทางพฤติกรรมในเชิงลบ เนื่องจากเด็กรู้สึกไม่ชอบ ไม่สบายใจกับการสัมผัสสิ่งนั้น ที่ไม่ได้เกิดจากความเจ็บปวด ซึ่งภาวะ TD อาจพบได้ในเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษบางประเภท เช่น เด็กออทิสติก เป็นต้น และนอกจากนี้ความรุนแรงในการตอบสนองของเด็กแต่ละคนจะต่างกัน ✨
สังเกตอาการของ Tactile Defensiveness
- ไม่ชอบการสัมผัสเนื้อผ้าบางเภท หรือสิ่งทอบางประเภท
- ไม่ชอบสัมผัสตะเข็บของถุงเท้า จึงหลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้า
- ไม่ชอบใส่รองเท้า
- เด็กบางคนมีการต่อต้านหรือร้องไห้โวยวาย เวลาใส่เสื้อผ้าที่มีแท็กที่คอเสื้อ
- หลีกเลี่ยงการที่ต้องสัมผัสที่ทำให้รู้เลอะเทอะ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วมือวาดรูป หลีกเลี่ยงการใช้กาว แป้งโด ในบางคนมีการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งแห้งๆ เช่น ทราย
- ไม่ชอบการถูกสัมผัส เช่น การกอด การสัมผัสใบหน้า
- แปรงฟันยาก หลีกเลี่ยงการเอาสิ่งของเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการปรับอาหาร บางคนทานชอบทานของเหลวๆ เช่น นม พอเริ่มมีการปรับให้ทานของหยาบขึ้น จะเจอว่าเด็กปฏิเสธและไม่ยอมทาน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวหรือผิวสัมผัสที่ไม่คุ้นเคย
การตอบสนองทางอารมณ์ของเด็ก เมื่อมีภาวะ Tactile Defensiveness
- มีความวิตกกังวลเวลาต้องอยู่ใกล้คนอื่น
- เด็กไม่ชอบถูกสัมผัส มักจะสัมผัสผู้อื่นมากกว่า
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ทำให้มีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นไม่ดี
- มีความหงุดหงิดเวลาต้องสัมผัส ใกล้ชิด หรือเรียนรู้ผิวสัมผัสที่ไม่คุ้นเคย หรือการสัมผัสเบาๆ
Tactile defensiveness เกิดจากความบกพร่องในการบูรณาการประสาทรับความรู้สึก (Sensory Intergration Dysfunction) คือการที่สมองไม่สามารถประมวลผลข้อมูลความรู้สึกที่ได้รับใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ภาวะหลักเลี่ยงการสัมผัสนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้รวมถึงความสามารถทางสติปัญญาของเด็ก
กระบวนการทำงานภายในสมองที่คอยจัดระเบียบคัดกรองความรู้สึก และสิ่งที่กระตุ้นร่างกายผ่านระบบประสาทรับความรู้สึกและสั่งให้ร่างกายแสดงออกมา แต่มีบางกระบวนการที่ผิดปกติ จึงทำให้สมองของเด็กไม่สามารถประมวลผลและส่งต่อข้อมูลถึงระบบการรับความรู้สึกได้
ถ้าเด็กเป็น TD จะทำยังไงดี ?
ถ้าเด็กๆหรือเบบี๋ที่บ้านมีภาวะหลีกเลี่ยงการสัมผัส แต่มีปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรงมาก เริ่มปรับโดยให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มากที่สุด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้และรู้จักผิวสัมผัสอื่นๆ เช่น จับทราย จับหญ้า แตะพรม เป็นต้น แต่ถ้าในช่วงแรกเด็กๆปฏิเสธก็ไม่ควรบังคับนะคะ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กๆต่อต้าน ค่อยๆเริ่ม ไม่ต้องใจร้อนค่ะ 🤍 แต่ถ้าเด็กๆที่บ้านมีปัญหาหลีกเลี่ยงการสัมผัสอย่างรุนแรงแนะนำให้พบแพทย์ หรือนักกิจกรรมบำบัดเพื่อประเมินและบอกแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกวิธี
สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน และสอบถามเพิ่มเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กภาวะหลีกเลี่ยงการสัมผัสได้นะคะ 😀
WELL KIDS 👶🏻
โฆษณา