Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Future Perfect
•
ติดตาม
16 พ.ย. 2021 เวลา 04:14 • สิ่งแวดล้อม
บทสรุปและผลกระทบสำคัญจาก COP 26 หรือการประชุมโลกร้อนของ UN
Cr. iStock by Getty Images, Photo by sarayut
จากการรีวิวประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 หรือ COP 26 ที่เรามักเรียกกันว่าการประชุมโลกร้อนของ UN ในบทความฉบับที่แล้วของ Future Perfect นั้น การประชุมฯ ได้เสร็จสิ้นไป เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา
ทบทวนกันก่อนว่า COP 26 มุ่งเน้นการรับมือทั้งประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) ความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การขับเคลื่อนเงินทุน และการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน ไม่เพียงเฉพาะภาครัฐ เป็นกลไกสำคัญที่ COP 26 จะพยายามผลักดันให้ Net Zero Emission ทั่วโลกเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน Paris Agreement
ถือว่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่องทั้งความคืบหน้าและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบกับตัวเรา ประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับโลกเรา โดยจะมีประเด็นใดบ้างนั้น ลองเข้ามาเปิดมุมคิดกับ Future Perfect ได้เลยครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by SeppFriedhuber
จากความมุ่งหมายของการประชุม COP 26 ครั้งนี้ ความพยายามที่สำคัญคือทั่วโลกต้องการไปสู่จุดหมายปลายทางตามเป้าหมายของ Paris Agreement นั่นก็คือ เป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า หากเราต้องการมุ่งสู่เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ที่ถือว่าท้าทายมากนั้น เราจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้ได้อย่างน้อย 45% ภายในปี 2030 และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือศูนย์ในปี 2050
การประชุม COP 26 จึงเน้นไปที่แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน) หรือการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (การฟื้นฟูป่าไม้) ที่จะพยายามกำหนดให้เป็นรูปธรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ของแต่ละประเทศ ที่จะมาลงนามให้คำมั่นสัญญาร่วมกันนั่นเอง
นอกจากนี้ ก็จะเป็นการอัพเดทสิ่งที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว รวมถึงติดตามความคืบหน้าจากการประชุมในครั้งที่แล้ว หรือ COP 25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนด้วย
อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ข้อตกลงหรือคำมั่นที่แต่ละประเทศได้ให้ไว้ในการประชุมนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และถือเป็นความสมัครใจของแต่ละประเทศ ทีจะแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมาย และควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นจะเน้นการส่งเสริม ช่วยผลักดัน เพื่อสร้างความร่วมมือสู่การบรรลุเป้าหมาย ส่วนบทลงโทษสำหรับประเทศที่ไม่ทำตามคำมั่นสัญญานั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ก็มีข้อพิจารณาด้วยว่าอาจส่งผลให้บางประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงได้เช่นกัน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
ดีลสำคัญที่เกิดขึ้นใน COP 26 มีอะไรบ้าง ลองมาไล่เรียงกันครับ.
1. ยุติการทำลายป่า:
ในประเด็นนี้มีผู้นำกว่า 100 ประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้รวมกันประมาณ 85% ให้คำมั่นว่าจะยุติการทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 เพื่อให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ (Carbon Sink)
2. ลดการปล่อยก๊าซมีเทน:
มีผู้นำกว่า 100 ประเทศ เข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030 ถามว่าการลดก๊าซมีเทนสำคัญอย่างไรนั้น กล่าวโดยรวม ๆ ได้ว่าก๊าซมีเทน มักจะเกิดจากการย่อยสลายทางชีวภาพ และโดยเฉพาะที่เกิดจากมนุษย์นั้น จะเกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ ขยะและการกำจัดของเสียทั้งหลาย และสร้างปัญหาโลกร้อนได้ราว 1 ใน 3 จากการกระทำของมนุษย์ แม้ว่าก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาจะมีปริมาณเทียบไม่ได้กับคาร์บอนไดออกไซด์ก็ตาม แต่ตัวมันเองมีศักยภาพทำให้โลกร้อนคิดเป็น 25 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
1
น่าเสียดายที่ประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ประเด็นนี้อาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่อาจทำให้การลดโลกร้อนไม่มีประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
3. หันหลังให้กับถ่านหิน:
กว่า 40 ประเทศรวมถึงผู้ใช้รายใหญ่ อย่าง ชิลี โปแลนด์ และเวียดนาม ตกลงกันว่าจะเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ภายในปี 2030 สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็จะยืดไปได้จนถึงปี 2040 โดยที่ถ่านหินถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการปลดปล่อยมลภาวะและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินก็ถือเป็นขาลงและจะค่อย ๆ หายไป
อย่างไรก็ดี ประเทศที่พึ่งพาถ่านหินมากที่สุดอย่าง จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และออสเตรเลีย ไม่ได้ลงนาม ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิผลในการลดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดียวกัน
4. สนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด:
สถาบันทางการเงินประมาณ 450 แห่ง ที่ควบคุมเม็ดเงิน 130 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,200 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของสินทรัพย์เอกชนทั่วโลก ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด หรือเทคโนโลยีสีเขียว ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และจะไม่สนับสนุนทางการเงินกับอุตสาหกรรมที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
สัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการผลักดันแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ก็คือ การให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันระหว่างสองประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันและเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา และจีน ที่จะร่วมกันดำเนินการด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของ Paris Agreement
ถึงแม้ว่ายักษ์ใหญ่ทั้งสองประเทศ อาจจะมีอาการอิดออด หรือมีข้อต่อรองในบางเรื่องจากข้อตกลงที่หารือกันในการประชุม COP 26 นี้ อย่างเช่นในประเด็นของการเลิกใช้ถ่านหิน หรือการลดการปล่อยก๊าซมีเทน
หากถามว่าโดยรวมแล้ว ถือว่าการประชุมบรรลุผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเพียงใด ก็อาจกล่าวได้ว่าการประชุม COP 26 ครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เกิดข้อตกลงเรื่องใหญ่ ๆ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีข้อตกลงย่อย ๆ ที่มุ่งเป้าไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะตามที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกัน หลาย ๆ ประเทศก็มีการขานรับและแสดงความมุ่งมั่นที่จะตั้งเป้าเพื่อมุ่งสู่ Net Zero มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องแผนงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่นำไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น คงเป็นสิ่งที่ต้องหาแนวทาง ผลักดัน และติดตามกันต่อไป รวมไปถึงเรื่องการขับเคลื่อนเงินทุนให้เกิดขึ้นได้จริงตามที่มีการให้คำมั่นสัญญา ไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นอย่างมากอีกด้วย
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
สำหรับประเทศไทยแล้ว มีประเด็นที่สำคัญอะไรบ้างในเวที COP 26…
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงของรัฐบาลไทย ในเวที COP ไว้ โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า ประเทศไทยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมาย "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และตั้งเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero GHG Emission ภายในปี 2065
ความแตกต่างในประเด็นหลักของ Carbon Neutrality กับ Net Zero GHG Emission ก็คือ Carbon Neutrality สามารถพิจารณาการลดหรือดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิยังไม่เป็นศูนย์ตามเป้าหมาย สามารถใช้วิธีการชดเชย หรือ Offset ด้วยการต่าง ๆ ได้ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น
แต่ถ้าเป็น Net Zero Emission หรือ Net Zero GHG หรือ Net Zero นั้น โดยหลักการทั่วไปแล้ว จะต้องทำการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกทุกอย่างให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ด้วยตัวเอง ไม่สามารถชดเชยหรือ Offset ได้
เมื่อเทียบกับเป้าหมายเดิมของประเทศไทย ตามกรอบแผนพลังงานชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยแผนพลังงานชาติมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายใน ปี 2065-2070 นั่นแปลว่าแผนการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นตามเป้าหมายใหม่ที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยประกาศไว้ใน COP 26 จะมีความเข้มข้นยิ่งกว่าแผนเดิมตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ
การดำเนินการของประเทศเพื่อจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายแนวทาง ทั้งเรื่องของการกำหนดนโยบายและการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ รวมไปจนถึงการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการสนับสนุนเงินทุนผ่านงบประมาณและกลไกทางการเงินจากสถาบันทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการลงทุนด้านเทคโนโลยีสีเขียว
ดังที่กล่าวมานั้น เราคงจะได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า พรบ.ฉบับใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCG Model เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการกักเก็บและใช้คาร์บอน ตลอดจนการซื้อขายคาร์บอน และเครื่องมือการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by kynny
โดยสรุปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งในประเทศไทย รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็คือ
1. นโยบายของแต่ละประเทศ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานจากฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด รวมไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
2. กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้ภายในประเทศ รวมไปจนถึงมาตรการระหว่างประเทศหรือภูมิภาคที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงกีดกันทางการค้าสำหรับการธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก
3. การผลักดัน / การกำหนด / การสนับสนุน ให้ภาคเอกชน ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ / ก๊าซเรือนกระจก หรือมีการรายงานข้อมูลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยกลไกในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต
หากผู้อ่านสนใจในสาระที่ช่วยเปิดมุมคิดไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติ โปรดติดตามได้จาก Future Perfect ในบทความถัด ๆ ไป ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect สามารถกดติดตามได้เลยครับ และทุกท่านสามารถ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Future Perfect ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวกันได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) COP 26 มีประเด็นหลักที่แต่ละประเทศหารือกันก็คือเป้าหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission โดยมีแผน NDC ที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมี Milestone ที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ในปี 2030 (แต่จะทำได้จริงตามแผนแค่ไหนนั้นต้องลองติดตามกัน)
2) การเดินไปสู่ Net Zero Emission ได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาใช้เงินทุนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา และการลงทุนในเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตา
3) ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจาก COP 26 ก็คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศที่เข้มข้นมากขึ้น กฎหมาย กฎระเบียบใหม่ ๆ รวมถึงมาตรการส่งเสริม / กีดกันที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งการผลักดันเพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการและรายงานผลลัพธ์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
References
1.
https://unfccc.int/conference/glasgow-climate-change-conference-october-november-2021
2.
https://ukcop26.org/
cop26
1 บันทึก
3
3
1
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย