Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สังคมสีดาร์ก
•
ติดตาม
16 พ.ย. 2021 เวลา 04:55 • การเมือง
ความ toxic ของมนุษย์ไม่เข้าใครออกใคร บทความนี้เชิญทุกทานมาสำรวจคนรอบตัว และที่สำคัญคือสำรวจตัวเราเอง เพื่อสังคมไทย ห่างไกลความ toxic นะครับ
"สามเหลี่ยมแห่งความมืด"
[บทความแปล จากคลิปยูทูป]
https://youtu.be/W2Uo368uCDg
มีลักษณะนิสัย 3 ประการ ที่เมื่อนำมารวมกันแล้วเราจะได้คุณลักษณะของมนุษย์พลัง toxic สุดดาร์ก ผู้แสนน่าสะพรึงกลัว
คนทั่วไปปรกติแล้วอาจมีคุณลักษณะ toxic เหล่านี้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าได้อยู่ภายใต้การอบรมและดูแลจิตใจที่ดีก็จะสามารถดำรงชีวิตในสังคม มีชีวิตที่ดีและเจริญก้าวหน้าได้
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทางจิตวิทยาเชื่อว่า เมื่อคุณลักษณะนิสัยดังกล่าวรวมตัวกันได้อย่างสมบูรณ์ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะสามารถบ่มเพาะอย่างช้า ๆ จนสร้างบุคคลผู้มีอุปนิสัยชั่วร้ายแบบสุดกู่ สามารถก่อหายนะในทุกที่รอบตัวได้เลยทีเดียว
ในทางจิตวิทยา ลักษณะนิสัย 3 ด้านนี้ถูกเรียกรวมว่า “สามเหลี่ยมแห่งความมืด” (the dark triad) ซึ่งประกอบด้วย :
1.
Narcissism คือ ความหลงตัวเอง + ขาดความเห็นใจเพื่อนมนุษย์
2.
Machiavellianism คือ จอมชักใย มีความสุขเมื่อได้ปั่นประสาทผู้คนเป็นหุ่นเชิด
3.
Psychopathy คือ ความผิดปรกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม ขาดความเห็นใจผู้อื่น ความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง (ข้อนี้อ้างอิงความหมายจาก กรมสุขภาพจิต)
ความ toxic เหล่านี้อยู่ในระดับที่สามารถสร้างหายนะให้กับชีวิตคน ๆ นึงทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น คำแนะนำดีที่สุดคือเลี่ยงได้ควรเลี่ยง
ถ้าคุณคิดว่าคุณอาจรู้จักใครสักคนใกล้ ๆ คุณที่น่าจะมีคุณลักษณะ “สามเหลี่ยมแห่งความมืด” (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกย่อ ๆ ว่า บุคคลดาร์ก) อย่าเพิ่งวิตกไป เรามีคำแนะนำให้คุณ
เรามีการจัดอันดับ 13 สัญญาณที่บ่งชี้ถึงลักษณะนิสัยอันดำมืดของคน
ขอให้อ่านให้จบเพราะข้อท้ายสุดคือสัญญาณที่ชี้ชัดที่สุดของความดาร์ก
อันดับที่ 13 - ชักชวนหรือหลอกล่อ ให้เพื่อนร่วมงานมีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง หรือจงใจยั่วยวนเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าให้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว
จากการศึกษาและสังเกตพฤติกรรม แสดงให้เราเห็นว่า บุคคลดาร์ก มักจะมีความมั่นใจและสเน่ห์ดึงดูดผู้คนรอบตัวเสมอ ๆ และก็ไม่แปลกที่เขาจะใช้คุณสมบัตินี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการส่วนตัวทั่ว ๆ ไป หรือเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน เรามักจะเห็นคนเหล่านี้จงใจทำตัวยั่วยวนดึงดูดเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานเข้าสู่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว
การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า บุคคลดาร์ก มักจะหลงไหลชื่นชอบความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในเวลาสั้น ๆ รักง่ายหน่ายเร็ว หรือแม้กระทั่ง one-night stand มากกว่าความสัมพันธ์ระยะยาวที่ชัดเจนจริงจัง
อันดับที่ 12 - บุลลี่ หรือ ใช้วาจาโต้เถียงเพื่อนร่วมงานให้เบนความสนใจจากงาน
ความโกลาหลและความเห็นแก่ตัว ถือเป็นคติพจน์ของบุคคลดาร์ก และจุดนี้คือจุดที่เขาได้ปลดปล่อยความซาดิสถ์ (รสนิยมชอบความรุนแรง) ที่ฝังลึกอยู่ใน mind set เขาออกมา เขาสนุกที่ได้บุลลี่เพื่อนร่วมงานหรือได้ปั้นบทสนทนาที่นำไปสู่การโต้เถียงกัน เพื่อหลอกล่อให้เพื่อนร่วมงานหลุดโฟกัสออกจากงานที่กำลังทำ หรือหลุดโฟกัสจากสิ่งใด ๆ ที่เป็นประโยชน์
เมื่อบุคคลดาร์กดึงความสนใจเหยื่อออกจากงานหรือชีวิตส่วนตัวสำเร็จ จึงเปิดทางสำหรับเขาได้แสวงหาประโยชน์ส่วนตนที่เขาแอบวาดแผนซ่อนไว้ในใจลึก ๆ โดยไม่มีใครจับได้ไล่ทัน
ไม่เพียงแค่ความสนุกแบบซาดิสถ์ของเขาจะได้รับการเติมเต็มจากการเห็นผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด จากการแกล้งให้ผู้อื่นเกิดความอับอายหรือการบุลลี่แล้ว เขายังจะสามารถเบนความสนใจเหยื่อให้ลดการรับรู้ในเรื่องจริงที่ว่าตัวของเขานั้นมีรสนิยมที่ผิดปรกติ มีความปรารถนาอันเลวทรามอันผิดวิสัยของมนุษย์มนาได้อีกด้วย
อันดับที่ 11 - มีปัญหากับกฎระเบียบข้อบังคับ และความเป็นอยู่ของสังคมเสมอ ๆ
โดยไม่สนว่าหัวหน้างานที่ได้รับหน้าที่คุมกฎจะมีความสุจริตหรือมีเหตุมีผลตามปรกติวิสัยขนาดไหน บุคคลดาร์กก็จะสามารถมีปัญหากับกฎเกณฑ์ได้เสมอ นอกจากนี้บุคคลดาร์กชอบที่จะไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นอีกด้วย
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากด้าน psychopathy และ ด้าน narcissism ของเขาเป็นตัวผลักดันให้เขารู้สึกว่าเขานั้นเหนือกว่าแม้แต่ผู้ที่ปกครองเขา
แม้บุคคลดาร์กจะโดนจับได้คาหนังคาเขาว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ความรู้สึกที่ว่าตัวเขาสามารถเก่งพอ / ฉลาดพอหาทางซิกแซกหลบเลี่ยงกฎหมายกับตำรวจหรือผู้พิพากษาเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติที่สังคมควรเคารพร่วมกันก็จะผุดขึ้นในหัวเขา
และอุปนิสัยด้าน machiavellian ทำให้ธรรมชาติของบุคคลดาร์กจะคอยเสาะหาทางที่จะใช้วิธีการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมเสมอ ๆ แม้หลังจากกระบวนการที่โดนชี้ผิด-สั่งฟ้องไปแล้ว
อันดับที่ 10 - ชอบแสดงให้คนเห็นว่าตัวเขาไม่ซีเรียสใส่ใจในจริยธรรมคุณธรรมใด ๆ
เป็นกระบวนการทางความคิดในการพร่ำบอกตัวเองว่ากฎเกณฑ์หรือจริยธรรมใด ๆ ล้วนได้รับการยกเว้นสำหรับตัวฉันเองเสมอ (แต่มีไว้ใช้กับบุคคลอื่นเท่านั้น) เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลดาร์กได้ทำผิดหรือถูกตำหนิจากความผิดที่ทำลงไป
ตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลดาร์กกำลังแข่งขันกับใครสักคนเพื่อการได้เลื่อนตำแหน่งในที่ทำงาน บุคคลดาร์กอาจเริ่มที่จะใช้แผนปล่อยข่าวลือในแง่ลบเกี่ยวกับคู่แข่ง หรือฉวยโอกาสเสนอหน้ารับความดีความชอบในงานของคู่แข่ง โดยไร้ความรู้สึกละอายใจ สำนึกผิดหรือความรู้สึกเป็นตราบาปใด ๆ ถ้าสิ่งที่ทำนั้นจะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เป็นอุปนิสัยที่เสริมคุณลักษณะของความกล้าได้กล้าเสียของคนพวกนี้ด้วยเช่นกัน
เหล่าคนดาร์กจะสามารถหลีกหนีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีในจิตใจได้เสมอจากการพร่ำบอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่าจริยธรรมใด ๆ นั้นไม่สามารถใช้กับคนอย่างฉันได้ (ฉันมันคนเทา ๆ ไม่ได้ดีเลิศ และก็ไม่เลวนัก แล้วไง?) ในขณะที่คนอื่น ๆ เคารพในจริยธรรมและกฎเกณฑ์เพื่อความผาสุขโดยรวมของสังคม
อันดับที่ 9 - ไม่สามารถรับความเห็นต่างได้
บุคคลดาร์กจะแสดงอาการก้าวร้าวทันทีเมื่อได้รับฟังความเห็นต่างและการโต้แย้ง แม้ว่าการแย้งนั้นจะทำด้วยความอ่อนน้อมอย่างที่สุดแล้ว เพราะบุคลิกในด้านความหลงตัวเอง (narcissism) ของเขาจะรีบปกป้องอีโก้ เพื่อคงความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติให้กับสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่น ถ้ามีใครสักคนปฏิเสธความปรารถนาดี หรือแค่ปฏิเสธการนัดหมาย หรือพูดเพียงว่างานเขาน่าจะพัฒนาได้ดีกว่านี้ ก็อาจจะโดนสวนกลับได้ด้วยกริยาอันไม่น่าพึงประสงค์
อันดับ 8 - มักตัดสินใจที่รวดเร็ว และหวังผลเพียงระยะสั้น ๆ โดยไม่มองผลแท้จริงที่จะตามมา
บุคคลดาร์คมักจะมีธรรมชาติที่หุนหันพลันแล่น และตัดสินใจทำในสิ่งร้าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาในภายหลัง ตั้งแต่การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่คำนึงถึงหายนะทางการเงินที่จะตามมา ไปจนถึงการแก้แค้นเพียงเพื่อให้ได้รู้สึกสะใจแค่ประเดี๋ยวประด๋าว บุคคลดาร์กจะทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีเพียงชั่วครู่ชั่วคราว
อันดับ 7 - รักการแข่งขัน แทนที่จะร่วมมือ
บุคคลดาร์กมักเลือกที่จะแข่งขัน-แข่งดีกันเสมอ มากกว่าที่จะร่วมมือหรืออยู่ในภาวะที่กลมเกลียวกัน แม้กระทั่งการใช้ชีวิตคู่ แทนที่จะเชื่อมั่นในหลักการของความสามัคคีและทีมเวิร์คที่สามารถรับประกันความสำเร็จได้มากกว่า เราจะได้กลิ่นคนพวกนี้คอยแอบดูแคลนเพื่อนร่วมทีม หรือแอบเก็บแต้มในผลงานของตัวเองเพื่อแอบข่มคนอื่น หรือแม้กระทั่งว่าถ้ามีคนประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างในทีม คนพวกนี้ก็จะแอบเคลมว่าเขาต่างห่างที่เหนือกว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน คุณลักษณะทางธรรมชาติของบุคคลดาร์กเหล่านี้จะทำลายงานโปรเจคที่ต้องอาศัยศักยภาพของทีมเวิร์คสูง ๆ ด้วยการสร้างบรรยากาศตึงเครียด-เพ่งเล็งกันในทีม คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าอารมณ์แห่งการแข่งขันอาจดูเร้าใจและทำให้ทีมดูฮึกเหิมคึกคักเพียงช่วงแรก ๆ แต่พอนานไปมักกลายเป็นปัจจัยที่บั่นทอนและดูดพลังในการทำงานในระยะยาว
อันดับ 6 - จ้องที่จะล้างแค้น
บุคคลดาร์กไม่ลังเลที่จะตามล้างแค้นเมื่อโดนปฏิเสธหรือขัดใจ ด้วยคุณลักษณะของความหลงตัวเอง + ความชอบชักใยมนุษย์ + ความไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี รวมตัวกันแล้ว ทำให้การล้างแค้นของบุคคลดาร์กนั้นมีความอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกบอกเลิกความสัมพันธ์ บุคคลดาร์กจะตามรังควาญอดีตคนรักด้วยสารพัดวิธีเช่น แกล้งปล่อยข่าวลือไปยังครอบครัวหรือเพื่อนฝูงอดีตคนรักให้เขาเสื่อมเสีย แบล๊คเมล์ หรือปธิเสธที่จะคืนทรัพย์สินต่าง ๆ เพียงเพราะคนนี้บังอาจกล้าดีที่จะบอกเลิกฉัน
ซึ่งเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะยิ่งดูเป็นที่น่าตกใจสำหรับบุคคลที่ 3 มากเพราะด้วยบุคลิกภาพที่ดูเหมือนมีสเน่ห์ น่ารักใคร่ชื่นชมในตอนแรกพบเห็น ดังที่ได้กล่าวใน [อันดับที่ 13] กลับกลายมาเป็นความร้ายกาจ เล่ห์เหลี่ยมมารยาจัด เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
อันดับ 5 - ใช้มารยาหลอกล่อ ชวนเชื่อผู้อื่น เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ด้วยคุณสมบัติแห่งความเป็นจอมชักใยมนุษย์ ในไปสู่ความเชื่อที่ว่า “ผลลัพธ์ คือทุกสิ่ง” และ “ศีลธรรม” ก็ไม่ใช่สิ่งที่ฉันจะต้องให้ความสำคัญนัก ซึ่งก็แปลว่าเขาจะ “ไม่เลือกวิธีการ” เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการนั่นเอง แม้ว่าจะต้อง “หลอกใช้” ผู้ใด หรือเหยียบหัวใครเป็นขั้นบันไดเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการก็ตาม
หรือในอีกกรณี บุคคลดาร์ก เขาก็มีการประเมินหลักศีลธรรมผิดชอบชั่วดีด้วยเช่นกัน แต่เขาจะประเมินว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น “ถูกต้อง” และ “เป็นธรรม” แล้วแบบเข้าข้างตัวเองเสมอ ๆ
อันดับที่ 4 - ไม่แบ่งปันความรู้
ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรู้คือพลัง” และแน่นอนที่บุคคลดาร์กมักจะชอบหอบหิ้วสะสมขุมพลังไว้กับตัวเอง เขามักเลือกจะแกล้งโง่เวลาโดนถามข้อมูลสำคัญอะไรบางอย่าง หรือไม่ก็แกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำทองไม่รู้ร้อนเมื่อถูกขอข้อมูลหรือขอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หรือไม่ก็อาจจะถึงขั้นแกล้งให้ข้อมูลผิด ๆ ไปเลยเพื่อเติมเต็มความสุขแห่งความเป็นนักชักใยมนุษย์
บุคคลดาร์กจะสามารถตบปากรับคำสัญญาที่จะสงเคราะห์หรือช่วยเหลือคน แม้ในนาทีนั้นเขาได้คิดไว้แล้วว่าเขาจะไม่มีวันที่จะทำตามคำสัญญานั้นแน่ ๆ หรือแม้แต่การไม่ยอมให้ความรู้หรือข้อมูลแก่เพื่อนร่วมงาน และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เขาก็จะแกล้งโยนความผิดไปยังบุคคลอื่น
อันดับที่ 3 - พยายามที่จะควบคุม หรือด้อยค่าสถานภาพของบุคคลอื่น
จะเห็นได้ทั่วไปในอุปนิสัยคนที่ชอบ “ปักป้ายเทียม ๆ” หรือ “ขีดเส้นเทียม ๆ” เพื่อเหยียดหรือด้อยค่าว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นแบบนี้เสมอ ๆ และตัวเขาเองก็อยู่ในตำแหน่งหรือสถานะ “เทียม ๆ” ที่เหนือกว่าคนเหล่านั้นโดยปริยาย ใช้ได้ทั้งในการเป็นเกราะกำบังความบกพร่องของตัวเอง และอาวุธในการไล่ฟาดฟันด้อยค่าคนอื่น
เทคนิคนี้สามารถใช้ชักใยคนให้หลงผิดได้ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในความสัมพันธ์ เมื่อบุคคลดาร์กโดนกล่าวโทษว่าชอบใช้วาจารุนแรง หรือใช้ความรุนแรงแก่คู่รัก บุคคลดาร์กจะทำการปักป้ายผู้กล่าวโทษว่า “ก็เพราะเธอมันเป็นคนชอบจับผิดฉันเสมอนี่” หรือ “เพราะเธอชอบทำให้ฉันโกรธเสมอนี่”
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ขีดเส้นเทียม ๆ ด้อยค่าคนอื่นได้ เช่น เมื่อครอบครัวบุพการีของผู้ถูกกระทำรุนแรงจะเอาเรื่อง บุคคลดาร์กก็จะขีดเส้นเทียม ๆ ว่า “เรื่องของชีวิตคู่มันเป็นเรื่องของสองคนเท่านั้น บุคคลอื่นไม่ควรยุ่งเกี่ยว” เป็นต้น
อันดับ 2 - คนที่ไม่เด่นไม่ดังต้องกลายเป็นแพะรับบาป
บุคคลดาร์กชื่นชอบคนเก่ง คนดีมีความสามารถ และจะพยายามทำความเชื่อมโยงตัวเองเขากับกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นการแสดงออกว่าบุคคลดีเด่นเหล่านั้นมีความสามารถมากเหลือคณนาและสมควรจะได้รับการตบรางวัลอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างภาพพจน์ให้บุคคลดาร์กพลอยดูดีดูสูงขึ้นไปด้วย บุคคลดาร์กจะไม่ปฏิบัติกับคนทุกคนอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน ในอีกด้านหนึ่งบุคคลดาร์กจะด้อยค่า เดียดฉันท์ และใส่ร้ายคนที่ไม่ได้เป็นบุคคลดีเด่น คนระดับปรกติ รวมถึงชักชวนให้คนอื่น ๆ ในองค์กรเกลียดชังคนระดับปรกติไปด้วย เพื่อที่จะสร้างกลุ่มก้อนลัทธิแห่งความเกลียดชังที่ตัวเองอยู่ในจุดที่เป็นแสงสว่างเหนือผู้อื่นตลอดเวลา
อันดับ 1 - ไม่เขินอายที่จะยกย่องตัวเอง
แค่การพูดถึงใครสักคนหนึ่งว่าเขาสมบูรณ์เพอร์เฟคมาก ๆ มันก็ชวนคิดในทางกลับกันว่ามันจะจริงได้ขนาดนั้นเลยเหรอ? บุคคลดาร์กจะสามารถพูดถึงตัวเองในแง่ดีในระดับที่เว่อร์วังเหนือจินตนาการถ้าเขามีโอกาส ให้เราพยายามฟังในส่วนที่เขาจะพูดถึงคนอื่นด้วย แล้วถ้าคุณพบว่ามนุษย์คนอื่นล้วนไม่มีข้อดีในสายตาเขาเลย ให้คุณสงสัยไว้ได้เลยว่าบุคคลนี้อาจเป็นบุคคลดาร์กที่มีคุณลักษณะของ “สามเหลี่ยมแห่งความมืด”
[จบบทความ]
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย