16 พ.ย. 2021 เวลา 05:36 • ข่าวรอบโลก
#สาระเกร็ดความรู้
แม้ว่ากฎหมายจะปลดล็อคกิ่ง ก้าน ราก ใบ ของกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติดทำให้กระแสการบริโภคอาหารจากกัญชามากขึ้น แต่ยังเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโทษ และ ประโยชน์ ในการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและสังคม
กัญชาเหรียญสองด้าน
คำแนะนำใน "การใช้กัญชาทางการแพทย์" จาก กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรองประโยชน์จากสาร THC และ CBD ว่ามีประโยชน์สำหรับการเจ็บป่วยในเบื้องต้น 4 ภาวะ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดปลายประสาท โดยภาวะเจ็บป่วยและอาการอื่นๆ ต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมทางการแพทย์
ขณะเดียวกัน การสำรวจจากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,257 คน เมื่อปี 2562 หลังจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 ค่อนข้างเชื่อหรือเชื่อมากว่ากัญชาสามารถรักษาโรคร้ายให้หายได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ออกโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยใน "การใช้กัญชาทางการแพทย์" แต่ไม่เห็นด้วยจากการใช้เชิงสันทนาการ
ทำความเข้าใจก่อนบริโภคกัญชา
“รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ” ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีวิชาการ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัวรอบรั้วให้ปลอดภัย” จัดโดย ศศก. ร่วมกับ สสส. ณ โรงแรมเดอะสุโกศล โดยระบุว่า การบริโภคกัญชาเริ่มเป็นกระแสเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเข้าใจว่าการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่ให้อนุญาตมีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่รู้สึกถึงความเคลิบเคลิ้มหรือมีความสุขอย่างที่คิด
จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นรับประทานในปริมาณมากเกินไป ดังนั้น ก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่าร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน
โฆษณา