16 พ.ย. 2021 เวลา 11:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การก่อตั้งบริษัท Microsoft ท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำมันโลกในยุค 70
บริษัท Microsoft เป็นบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกที่ผ่านวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน และถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งบริษัท ก็จะพบว่า Microsoft ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังถดถอย และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลก (Oil embargo recession) หนักที่สุด
📌 ผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกต่อสหรัฐฯ
ถ้าให้เล่าแบบสรุปสั้นๆ คือ ในช่วงปี 1973 สหรัฐฯ ได้สนับสนุนอิสราเอล ทางกลุ่มประเทศอาหรับที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จึงตอบโต้สหรัฐฯ โดยการห้ามส่งออกน้ำมันไปให้ประเทศสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลด้วย ซึ่งผลจากการห้ามส่งออกน้ำมันนี้ ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากที่สุด ราคาน้ำมันพุ่งไปกว่า 4 เท่า ส่วนราคาน้ำมันดิบ เมื่อปรับผลของเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นจาก 25.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 1973 ไปสู่ 46.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 1974
ในช่วงเวลานั้น มีนโยบายควบคุมราคาและค่าจ้างชั่วคราวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ที่เหมือนกับการกดปุ่มให้ราคาและค่าจ้างหยุดนิ่ง และธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เดี๋ยวก็ปรับดอกเบี้ยขึ้นลงจนบริษัทไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ บริษัทจึงพยายามรักษาระดับราคาให้สูงไว้ก่อน และไม่กล้าจ้างคนงานใหม่ๆ จึงทำให้เกิดทั้งภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยในเวลาเดียวกัน
ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ในอดีตที่ผ่านมา
ซึ่งวิกฤตน้ำมันโลกที่เข้ามาทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกนี้เอง ก็ถูกกล่าวว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุการถดถอยของเศรษฐกิจในช่วงปี 1973 - 1975 และตามมาด้วยภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อก็สูงและการว่างงานก็มาก) GDP ติดลบ 3.4% และการว่างงานสูงถึง 9%
วิกฤตน้ำมันโลกถูกกล่าวว่าเป็นหนึ่งสาเหตุของ เศรษฐกิจถดถอยช่วงปี 1973 - 1975
อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงในช่วงปี 1973 - 1975
📌 Microsoft เติบโตขึ้นท่ามกลางการถดถอยของเศรษฐกิจ
ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยเช่นนั้น แม้แต่บริษัทที่เปิดกิจการอยู่แล้วยังไม่กล้าลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลย แต่นั่นไม่ใช่สำหรับคุณ Bill Gate และคุณ Paul G. Allen เพราะในปี 1975 ทั้งคู่ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยเริ่มจากการแปลงภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยม ให้สามารถใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในระยะแรกเริ่มได้ และบริษัทนั้นก็คือ Microsoft ที่ย่อมาจาก Microcomputer และ Software นั่นเอง
ไม่กี่ปีต่อมา Microsoft ได้ปรับปรุงภาษา BASIC และพัฒนาภาษาโปรแกรมอื่นๆ ด้วย ในปี 1980 ทางบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกอย่าง IBM ได้ขอให้ Microsoft ผลิตซอฟต์แวร์ หรือระบบปฏิบัติการให้สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของ IBM หรือที่เรียกว่า IBM PC
Microsoft ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมา และเรียกมันว่า MS-DOS ซึ่งระบบปฏิบัติการนี้อยู่ใน IBM PC ที่วางจำหน่ายในปี 1981 ภายหลังจากนั้นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่ ก็มักใช้ MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการ ซึ่งทำรายได้มหาศาลให้แก่ Microsoft ในช่วงทศวรรษที่ 1990 บริษัท Microsoft สามารถขายโปรแกรมของเขาได้กว่า 100 ล้านชิ้น และในเวอร์ชั่นต่อๆ มาก็ขายดีอย่างถล่มทลายเช่นเคย ทั้งนี้ Microsoft ยังได้กลายเป็นผู้นำในซอฟต์แวร์ประมวลผลเอกสาร และ Spreadsheet เหนือคู่แข่งอย่างยาวนานของเขาคือ Lotus และ WordPerfect
📌 ความสำเร็จขั้นต่อมาในยุคอินเทอร์เน็ต
จากกความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ส่งผลให้ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 บริษัท Microsoft ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุด และทำกำไรได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ 1996 บริษัท Microsoft มีรายได้สุทธิถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก และก็ยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ 1 ดอลลาร์ ที่ได้รับจากการขายสินค้า Microsoft จะได้รับกำไรถึง 25 เซนต์เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามสมรภูมิที่ Microsoft ลงเล่นอยู่นั้น เป็นสมรภูมิที่ดุเดือดและมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา Microsoft ไม่สามารถติดอยู่กับความสำเร็จแค่ครั้งนั้นได้ เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาถึง
ในปี 1996 บริษัท Microsoft ได้พัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ที่ชื่อว่า Internet Explorer โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ฟรี และ Microsoft ได้ไปขอให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนำไปใส่ให้ผู้ใช้งานโดยเฉพาะ Internet Explorer ที่มาพร้อมกับ Window OS จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา และได้กลายเป็นโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตที่หลายคนคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน (ภายหลังเกิดการฟ้องร้องจากบริษัท Netscape ที่เป็นผู้ครอบครองตลาดเว็บเบราว์เซอร์ ว่า Microsoft ผูกขาดทางการค้า นำมาสู่การสอบสวน และ Microsoft ต้องจ่ายค่าปรับในเวลาต่อมา)
📌 การเติบโตของ Microsoft ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน
จากวิกฤตโควิด-19 ที่หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่นั่นกลับกลายเป็นโอกาสทองของ Microsoft เนื่องจากการที่คนหันมา Work from home เร่งให้บริษัทต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบ Cloud-based computing ซึ่งทำให้ Microsoft ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ไปเต็มๆ จากการที่มี ซอฟต์แวร์และบริการเช่น Office และ Azure ที่เติบโตขึ้นกว่า 50% ซึ่งทำให้ภาคส่วนของ Intelligent Cloud ทำรายได้กว่า 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2020
Azure
จากบทเรียนของ Microsoft เราคงเห็นว่า แม้ว่าจะเริ่มต้นในขณะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ Microsoft ก็ยังสามารถพัฒนาสินค้าและบริการจนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ได้ แม้ว่าบริษัทอายุ 46 ปี นี้จะผ่านวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ยังคงความแข็งแกร่งอยู่มาได้ ด้วยการพัฒนาและปรับตัวพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่เสมอ และในโลกหลังจากนี้ที่เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เราคงต้องเฝ้ามอง Microsoft ด้วยความตื่นเต้นว่าจะผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จะถูกพัฒนาไปอย่างไร ท่ามกลางโลกเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดไปทุกวัน
#Microsoft #Bigcompany #Business
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
ttps://www.cnbc.com/2020/04/09/what-happened-in-every-us-recession-since-the-great-depression.html
โฆษณา