16 พ.ย. 2021 เวลา 15:02 • กีฬา
เปิดศาสตร์การฝังเข็ม : ศาสตร์รักษามหัศจรรย์ แต่ทำไมไม่เป็นที่นิยมในวงการกีฬาโลก ? | Main Stand
ฝังเข็ม คือศาสตร์ที่อยู่คู่โลกใบนี้มาแล้วนานกว่า 5,000 ปี เป็นวิธีการที่ช่วยปลดปล่อยผู้ได้รับการรักษาให้สัมผัสถึงลมปราณภายในที่ไหลเวียนได้ดีขึ้น ตามคัมภีร์โบราณของจีน
แต่ความเจ็บปวดเมื่อโดนเข็มทิ่มแทงนั้น กลับช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้จริง ด้วยการเข้าไปคลายกล้ามเนื้อที่ส่วนจุดกระตุ้น หรือ Trigger Point และไปกระทำให้บริเวณเส้นประสาทเกิดการตอบสนอง จนส่งผลให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บบางอย่างได้
ในเมื่อการฝังเข็มให้ผลดีได้มากเพียงนี้ แต่ทำไมการรักษาดังกล่าวถึงไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในวงการกีฬา ? มาไขคำตอบไปพร้อมกันกับ Main Stand
ต้นตำรับการฝังเข็ม
แวบแรกที่คำว่า "ฝังเข็ม" ปรากฏขึ้นมา คงยากที่คุณจะไม่นึกถึงการรักษาตามแบบแพทย์แผนจีน อันเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ฝังเข็ม
ทว่านักประวัติศาสตร์บางคนไม่เชื่อเช่นนั้น โดยอ้างหลักฐานจากร่างมัมมี่ "เอิตซี" (Ötzi) ที่คาดว่ามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ราว 3,350 ถึง 3,150 ปีก่อนคริสตกาล ว่าพบร่องรอยสักเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งฝังเข็มที่ใช้ในการลดปัญหาปวดหลังแบบในปัจจุบัน
แม้ต้นกำเนิดแรกเริ่มอาจไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีรายงานการค้นพบวัตถุจำพวกหิน กระดูก และทอง ที่ถูกเหลาให้แหลม เพื่อใช้ทิ่มแทงเข้าสู่ร่างกายมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง หรือช่วง 5,000 ปีก่อนคริสตกาล
บรรพบุรุษในช่วงเวลาดังกล่าวได้ค้นพบว่าการไปกระตุ้นในบริเวณจุด ๆ หนึ่งของร่างกาย จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ (แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่รอดชีวิตมาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ยุคก่อนเช่นกัน) จนนำมาสู่การบันทึกลงใน "คัมภีร์อายุรเวทของกษัตริย์หวงตี้" ตำราการแพทย์ฉบับสมบูรณ์ของชาวจีนราว 3,000 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งได้เป็นรากฐานในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่บันทึกเรื่องราววิธีการฝังเข็มไว้อย่างละเอียดยิบ
1
เข็มที่ใช้ในยุคนั้นเป็นเข็มที่ทำจากโลหะ ซึ่งมีการประยุกต์รูปร่างให้เหมาะสมกับการใช้งานถึง 9 ชนิด เช่น เข็มปลายมน ใช้ในการกดนวด เข็มกระบี่ ใช้สำหรับกรีดหนอง และเข็มปลายแหลมขอบมน ที่ใช้ในการแทงรักษาอาการปวดที่อยู่ลึกลงไปในร่างกาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการระบุถึงเข็มนานาชนิดไว้ในคัมภีร์ดังกล่าว แต่นักโบราณคดีก็ยังไม่เคยค้นพบหลักฐานทางวัตถุของเข็มทั้ง 9 รูปแบบนี้ได้เลย และเข็มทองคำที่ถูกค้นพบเมื่อปี 1968 จากสุสานเจ้าชายหลิวเซิ่ง ผู้มีชีวิตอยู่ช่วง 2,000 ปีที่แล้วในมณฑลเหอเป่ย ก็ไม่ได้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเข็มโบราณทั้งเก้าเลย
2
หากอิงตามข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ เกาหลี ถือเป็นชาติแรกนอกเหนือจากจีน ที่นำการฝังเข็มเข้ามาใช้รักษาเมื่อช่วงคริสตศักราชที่ 6 ตามด้วยเวียดนามในคริสตศักราชที่ 8 ก่อนจะแพร่กระจายไปสู่ชาติฝั่งตะวันตกเป็นครั้งแรกราว 1,000 ปีให้หลัง เมื่อบริษัท ดัตช์ อีสต์ อินเดีย เข้ามาทำการค้ากับจีนและญี่ปุ่น ที่ทำให้แพทย์ของพวกเขาเข้ามาเรียนรู้วิชาการฝังเข็มเป็นครั้งแรก อันช่วยให้ศาสตร์ดังกล่าวถูกนำไปใช้งานในทั่วทุกมุมโลกดั่งเช่นในปัจจุบัน
ฝังเข็มทำอย่างไร ?
ฝังเข็ม แค่ชื่อก็ฟังดูน่ากลัวราวกับเป็นพิธีเสกตะปูใส่ท้องหรือยัดอะไรบางอย่างเข้าไปอยู่ภายในร่างกายของเรา จนอาจไม่กล้าที่จะศึกษาหรือดำเนินการต่อในลำดับถัดไปแล้ว
แต่ในความเป็นจริง การฝังเข็มคือการแทงเข็มเข้าไปตามจุดของร่างกายในตำแหน่งเส้นลมปราณตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งในส่วนแกนกลางของร่างหรือด้านซ้ายขวาของร่างกาย และมีจุดที่สามารถฝังเข็มลงไปได้มากกว่า 349 แห่ง ตามข้อมูลที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก
นอกเหนือจากนี้ยังมีวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ฝังเข็มเข้าไปในร่างกายเพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งค้าง ซึ่งคล้ายคลึงกับแบบแผนของจีนแต่ต่างกันตรงที่การฝังเข็มแบบต้นตำรับนั้น มีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นให้ลมปราณไหลเวียนและรู้สึกดีขึ้นจากอาการบาดเจ็บได้
ก่อนที่จะเข้ารับการฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาอย่างพอดี เพื่อไม่ให้เกิดเป็นลมระหว่างการฝังเข็ม และไม่ควรกินมากใกล้กับเวลาฝังเข็ม โดยเฉพาะหากต้องฝังในบริเวณใกล้กับกระเพาะอาหารหรือหน้าท้อง เพราะอาจทำให้เกิดความผิดพลาดและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เข็มที่ถูกใช้นั้นเป็นเข็มเส้นขน หรือ Fillform Needle ที่ทำมาจากโลหะและมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่เล็กมากจนเหมือนกับเส้นขน ซึ่งจะช่วยให้สามารถแทงเข้าไปได้ลึกกว่าในบางพื้นที่ที่จำเป็นต้องฝังเข็มเข้าไปให้ถึงเส้นลมปราณ โดยไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บมากเกินกว่าที่ควร
กระบวนการฝังเข็มนั้น ขึ้นอยู่กับว่าอาการที่มีคืออะไรหรือเกิดขึ้นที่บริเวณไหน โดยแพทย์อาจเลือกใช้วิธีทิ่มเข็มแล้วเอาเข็มออกทันทีหรือปักค้างไว้ราว 20-30 นาที เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัวและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
ฝังเข็มกับนักกีฬา
แม้อาจฟังดูว่าเป็นกระบวนการรักษาแบบทางเลือก แต่การฝังเข็มกลับได้รับความนิยมจากนักกีฬาหลายแขนงมากยิ่งขึ้น ด้วยความปรารถนาที่จะสลัดอาการบาดเจ็บให้กลับมาลงเล่นได้โดยเร็ววัน
1
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้รับรองการรักษาด้วยการฝังเข็มไว้ว่าสามารถบรรเทาอาการได้มากกว่า 43 รูปแบบ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดหัว ตับอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ นอนไม่หลับ เป็นต้น
นอกจากอาการบาดเจ็บแบบทั่วไป ยังมีการศึกษาด้วยว่าการฝังเข็มสามารถบรรเทาอาการบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา เช่น เส้นเอ็นขาด ข้อต่ออักเสบ แฮมสตริง หรือปวดกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ให้สามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
วิล เดมป์ส (Will Demps) อดีตเซฟตี้แมนของทีม บัลติมอร์ เรฟเวนส์ (Baltimore Ravens) เคยเปิดเผยไว้ว่า "ระหว่างที่ผมกำลังฝึกซ้อมตอนปิดฤดูกาล ผมสัมผัสได้ถึงความแตกต่างในความว่องไวและบาลานซ์ในร่างกายของผม หลังจากที่ได้รับการฝังเข็มมา มันเหมือนกล้ามเนื้อของผมถูกเปิดสวิตช์ขึ้นมาอีกครั้งเลย"
นอกจาก เดมป์ส แล้ว ยังมีสองอดีตนักกีฬาในเมเจอร์ลีก เบสบอล อย่าง อิจิโร ซูซูกิ (Ichiro Suzuki) และ คาซึฮิโระ ซาซากิ (Kazuhiro Sasaki) ที่เผยแพร่การฝังเข็มให้เป็นที่รู้จักกับเพื่อนร่วมทีม รวมถึง เควิน โอเวอร์แลนด์ (Kevin Overland) นักสเก็ตชาวแคนาดา ผู้เปิดเผยว่าการฝังเข็มเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เขาคว้าเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อปี 1998 มาได้สำเร็จ
มีงานวิจัยที่ศึกษาการฝังเข็มในวงการกีฬา ที่ใช้ข้อมูลจากนักวิ่งระยะไกล นักกีฬาบาสเกตบอล รักบี้ วอลเลย์บอล ฟุตบอล และพายเรือ รวมทั้งยังมีการศึกษาข้อมูลในนักกีฬาพาราลิมปิก จนพบประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการบาดเจ็บระยะสั้น และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาฝึกซ้อมหรือลงแข่งได้เร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้ควบคู่กับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันร่วมไปด้วย
แม้จะมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น แต่การฝังเข็มก็อาจยังไม่ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกหลักหรือถูกใช้เพื่อเร่งฟื้นฟูนักกีฬามากนัก เพราะทั้งความจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลการรักษาหรือความนิยมของนักกีฬาบางคนที่ไม่ได้ต้องการให้มีอะไรมาทิ่มแทงลงบนเรือนร่างของตน
ดั่งเช่นในยุคหนึ่งที่ขงจื่อเคยระบุไว้ว่า "ร่างกายของคนเราเป็นสิ่งล้ำค่าที่บิดามารดาสร้างมาหรือมอบให้ การยินยอมให้ของมีคมหรือวัตถุแปลกปลอมล่วงล้ำทำร้ายต่อร่างกาย ถือเป็นบาปต่อบุพการี" จนส่งผลให้ชาวจีนหันหลังให้กับการฝังเข็มเป็นจำนวนมากมาแล้ว การที่นักกีฬาบางรายเลือกเดินตามเส้นทางที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาแนะนำเพื่อฟื้นฟูร่างกายก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า
แต่ไม่แน่ว่าในสักวันหนึ่ง ศาสตร์การฝังเข็ม อาจถูกยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในวงการกีฬา หากมีใครไปค้นพบความลับอันมหัศจรรย์บางอย่าง ที่ยืนยันการทิ่มแทงลงไปใต้ผิวหนังจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพให้ได้รวดเร็วกว่าการแพทย์แบบเมนสตรีม โดยยังคงความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจไว้ได้อยู่ดังเดิม
บทความโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
1
แหล่งอ้างอิง:
โฆษณา