Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ม
มูซา วันแอเลาะ
•
ติดตาม
17 พ.ย. 2021 เวลา 05:07
อับดุลสาตตาร อีดีฮ์ عبدالستار ايدهي ยอดนักเมตตาธรรม ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ปลอมในเรือนร่างมนุษย์จริง
เขาไม่รวย แต่หัวใจไม่จน ก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศปากีสถาน
" การาจี " เป็นเมืองใหญ่ในประเทศปากีสถาน มีประชากรอยู่แน่นขนัดราว 20 ล้านคน
ย้อนไปหลายสิบปีก่อน มีนักศึกษาไทยมากพอประมาณ กระจัดกระจายเรียนตามสถาบันต่าง ๆ เช่น
มหาวิทยาลัยอะบูบักร์
มหาวิทยาลัยการาจี หรือ ยู การาจี
มหาวิทยาลัยดิราซาต
มหาวิทยาลัยบินนูรีย์
ดารุ้ลอุลูมนิวทาวน์
และอีกหลายสถาบันที่กล่าวไม่หมด
นักศึกษาไทยในปากีสถานนั้น ถ้าไปเรียนในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่เมืองใหน เช่น
อิสลามาบาด
ลาฮอร์
ฟัยซาลาบาด
ปิชาวาร์
และการาจี
ส่วนมากรู้จักกัน เดินทางไปมาหาสู่กันบ่อย
อย่างน้อย ๆ ไม่เห็นหน้าก็ต้องได้ยินชื่อ หรือไม่ก็เป็นเพื่อนของเพื่อน
ยิ่งนักศึกษาที่เรียนเมืองการาจีด้วยแล้ว คุ้นหน้าคุ้นตากันทั้งนั้น
ส่วนใครจะคุ้นเคยมาก หรือสนิทมากสนิทน้อย ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ชาวการาจีไม่นิยมดื่มกาแฟ แต่ชอบดื่มน้ำชา นักศึกษาไทยในการาจี ต่างก็ชอบดื่มน้ำชา เลยเป็นกัลยาณมิตรร่วมร้านน้ำชา
ดื่มน้ำชาทุกครั้งที่มีโอกาส ยามฟ้าสางหลังละหมาดศุบฮ์ ก่อนเข้าเรียน ยามเย็นหลังเลิกเรียน ยามสนธยา ยามย่ำค่ำ หรือจะยามใหนก็ตาม
ร้านน้ำชาบางร้าน จึงไม่เพียงแค่เป็นร้านขายน้ำชา บางครั้งถูกแปรสภาพไม่ต่างกับสโมสรนักศึกษา
" กุลชาน อิกบาล " كلشان اقبال เป็นชื่อของสถานที่หนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกของการาจี
ชัยภูมิเยี่ยมมาก เพราะอยู่ไม่ไกลจากสถาบันต่าง ๆ ที่นักเรียนไทยกระจายกันเรียน
" กุลซาน อิกบาล " เป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ มีร้านขายน้ำชาจำนวนมาก
" กุลซาน อิกบาล " เป็นหนึ่งในสถานที่นักศึกษาไทย มักจะมาหาน้ำชาดื่มในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ร่วมวงดื่มน้ำชาอย่างเดียว แต่มีผลพลอยได้ด้วย คือ พบปะเพื่อน ๆ พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ เช่น
ถามทุกข์สุขดิบ เรื่องเรียน ฟุตบอล อาหารการกิน ศาสนา เรื่องนักศึกษาไทยที่เรียนเมืองอื่น ๆ เหตุการณ์เมืองไทย และอีกสัพเพเหระ
มันเป็นธรรมดาของนักศึกษาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง
เรียนหนังสือเสร็จ ได้พบปะเพื่อนร่วมชาติ เปรียบเป็นยาวิเศษที่สร้างกำลังใจ และกระตุ้นให้เรียนจบ
เกริ่นเรื่อง " การาจี " เพราะจะขอพูดถึง ชาวการาจีคนหนึ่ง ที่นักศึกษาไทยรู้จักดี
เป็นชาวการาจี ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้ไม่รวยสตางค์ แต่มีน้ำใจช่วยเหลือคนไม่มีสตางค์
เป็น "ซูเปอร์ฮีโร่ " ตัวจริง เกิดขึ้นกับชีวิตคนจริง ๆ
ไม่ใช่" ซูเปอร์ฮีโร่ " ปลอม ที่เป็นตัวละครในภาพยนต์ แต่งขึ้นให้มีลักษณะพิเศษเหนือมนุษย์ทั่วไป นับตั้งแต่อุปโลกน์ให้มี " ซูเปอร์แมน " ในปี ค.ศ.1938
จากนั้น เหล่าซูเปอร์ฮีโร่อุปโลกน์ ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นขบวนพาเหรด ได้ถูกแต่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจินตนาการ เช่น
แบทแมน สไปเดอร์แมน เอ๊กซ์แมน อุลตร้าแมน
และ ตระกูล " แปลงร่าง " เป็น " มด " ทั้งหมด ทั้ง มดเขียว มดแดง มดเอ็กซ์
แต่สำหรับ " ซูเปอร์ฮีโร่ " ที่กำลังจะพูดถึง ไม่ได้เป็นผู้วิเศษ
ไม่ใช่เป็นพ่อมดหมอผี ไม่เป็นซูเปอร์ฮีโร่กำมะลอ
เขาเป็นสามัญชนทั่วไป ไม่ใช่โต๊ะกีกะรอมัต ไม่ใช่จอมคาถา ไม่มีเข็มขัดแปลงร่างเป็นมดแดง และไม่มีพลังจากในโลก หรือนอกโลก
เขาเป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่มีพลังพิเศษอะไรทั้งสิ้น
เขามีอวัยวะ เหมือนกับที่ทุกคนมี มีมือ มีเท้า เหมือนกับที่ทุกคนมี มีตา มีหู มีจมูก เหมือนกับที่ทุกคนมี
และที่สำคัญ เขามีขนาดของหัวใจ เท่ากับหัวใจที่ทุกคนมี
เพียงแต่ว่า เขารู้จักสร้างหัวใจ ด้วยปัญญาที่เขามีอยู่ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
ซูเปอร์ฮีโร่ที่กำลังพูดถึงมีชื่อว่า " อับดุลสาตตาร อีดีฮ์ "
อับดุลสาตตาร์ ลืมตาดูโลกดุนยา เพื่อมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เมื่อปี ค.ศ.1928 ที่แคว้น " คุชราต " อินเดีย
( สมัยนั้น อังกฤษปกครองอินเดีย ปากีสถานกับอินเดีย ยังไม่ได้แยกประเทศ )
ปิดเปลือกตาถาวร จากโลกดุนยา สู่โลกแห่งสุสาน อาลัม บัรซัค สิ้นสุดการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ปี ค.ศ.2016 ที่การาจี ปากีสถาน
สิริอายุของอับดุลสาตตารได้ 88 ปี
พื้นฐานครอบครัว มีฐานะปานกลาง บิดาประกอบอาชีพขายผ้า
วัยเด็กของอับดุลสาตตาร เหมือนเด็กทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ เรียนฟัรดูอีนขั้นพื้นฐานในหมู่บ้าน เรียนประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล
ปี ค.ศ.1939 ขณะที่อับดุลซาตตาร มีอายุได้ 11 ปี มารดาของเขา ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ป่วยเป็นอัมพาตและป่วยทางจิต
ต่อมา เมื่ออับดุลสาตตารเริ่มเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา อาการป่วยของมารดาทรุดหนัก ทำให้เขาต้องหยุดเรียนกลางคัน
มารดาของเขาได้ความทุกข์ทรมาน และแสนจะเจ็บปวดจากอาการป่วย
ณ เวลานั้น สิ่งใดเหล่าจะสำคัญเท่าปรนนิบัติรับใช้มารดา
เขาเห็นมารดาเจ็บหนัก หัวใจของเขาสงสารมารดาอย่างยากจะบรรยาย ทำให้เขาต้องทิ้งการเรียนอย่างไม่มีเยื่อใย
อับดุลสาตตาร ปฏิบัติตนรับใช้มารดาทุกอย่าง
ทั้งคอยนอนเป็นเพื่อนมารดา ทำความสะอาดที่หลับที่นอน
อับดุลสาตตารอาบน้ำให้มารดา เปลี่ยนเสื้อผ้า หยอกล้อมารดาให้มารดาไม่เครียด หุงหาอาหาร และคอยป้อนอาหาร
อับดุลสาตตาร ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เพราะต้องรับใช้มารดาที่ป่วยหนัก
อับดุลสาตตาร คิดอยู่เสมอว่า มารดาต้องมีความสุข และแอบหวังลึก ๆ ให้มารดาหายป่วย
แต่ด้วยตักดัรของอัลลอฮ์ สภาพอาการป่วยของมารดาย่ำแย่ลงต่อเนื่อง และเสียชีวิตในที่สุด
ตอนที่มารดาเสียชีวิตนั้น อับดุลซาตตาร มีอายุ 19 ปี
ชีวิตการศึกษาของอับดุลสาตตาร ไม่มีโอกาสเรียนสูง เพราะดูแลมารดา
" สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา " เป็นถ้อยคำที่เป็นจริงเสมอ เพราะซิฟัตหนึ่ง หรือคุณลักษณะหนึ่งของชาวสวรรค์คือ " ทำความดีต่อมารดา "
อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยบุตรคนหนึ่งที่ทำให้บิดามารดาพอใจ
แม้นว่า อับดุลสาตตารไม่ได้เรียนหนังสือในชั้นเรียน แต่อัลลอฮ์ทรงชดเชยสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิตเขา
สำหรับอับดุลซาตตารแล้ว โลกแห่งความอ่อนแอ และความทุกข์ของมารดา ได้กลายเป็นหลักสูตรการเรียนที่ล้ำค่า
อาการป่วยของมารดาได้กลายเป็นอาจารย์สอนพิเศษ
ความสงสารที่เขามีต่อมารดากลายเป็นแหล่งที่มาของปัญญา
การที่เขาดูแลมารดาอย่างดีเยี่ยม เปรียบคล้ายกับว่า เขาเป็นหมออินเทิร์น หรือ แพทย์ฝึกหัดที่เพิ่งจบหลักสูตรการศึกษา
ปี ค.ศ. 1947
หลังจากมารดาเสียชีวิตได้ไม่นาน
อับดุลสาตตาร ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิด อพยพไปเมืองการาจี
เขาประกอบอาชีพขายผ้า ทำมาหากินด้วยการเป็นพ่อค้าเร่
อัลลอฮ์ ทรงให้ความจำเริญแก่คนทำความดีต่อมารดา
การค้าการขายของอับดุลสาตตารมีบาร่อกัตและก้าวหน้ามาก
เขาค้าขายไม่นาน เขาได้กลายเป็นยี่ปั๊ว หรือผู้ค่าส่ง เป็นพ่อค้าคนกลางที่รับสิ้นค้าจากผู้ผลิต หรือ เถาปั๊ว
ต่อมาได้ร้านเล็ก ๆ เลี้ยงชีพเป็นยี่ปั๊วขายผ้าในตลาดค้าส่งของเมืองการาจี
วันที่เขาดูแลการป่วยของมารดา เป็นดั่งเมล็ดพืชแห่งการเสียสละที่ถูกบ่มเพาะในจิตใจเขา
และเมล็ดพืชนั้นได้เจริญงอกงามอย่างมีพลัง
แม้นว่า เขาจะยุ่งกับงานเป็นยี่ปั๊วขายส่งผ้าแต่วิญญาณที่จิตใต้สำนึกของเขาคิดอยู่เสมอว่า จะช่วยคนป่วยที่ขัดสนได้อย่างไร
อัลลอฮ์ทรงปรารถนาเขาด้วยความดี อับดุลสาตตารไม่ปล่อยให้จิตวิญญานของเขาต้องรอคอยนาน
เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ใครต้องคิดว่า " หาญกล้า " ทั้งที่จบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษา และไม่เคยเรียนแพทย์
เพราะเขาตั้งศูนย์การแพทย์เล็ก ๆ มียาสามัญประจำบ้าน บริการรักษาคนป่วยที่ขัดสน
ด้วยการรักษาแบบพื้นบ้าน และจ่ายยาเบื้องต้น ตามประสบการณ์ที่ได้มาจากดูแลมารดาที่เคยทุพพลภาพ เป็นอัมพาต และป่วยโรคจิต
เขาให้บริการคนป่วยแบบให้เปล่า และให้บริการดูแล แม้กระทั่งคนป่วยมาตอนดึกตอนดื่น
ปี ค.ศ. 1951
จิตวิญญาณแห่งการเสียสละของอับดุลซาตตารยังไม่หยุดอยู่กับที่
ขณะนั้น เขาอายุยังน้อยแค่ 20 ต้น ๆ แต่ความคิดของเขาใหญ่โตยิ่งกว่าชะง่อนผายักษ์บนเทือกเขาหิมาลัย
เขาเลิกขายผ้า เพราะคนในตลาดเห็นความตั้งใจของเขาที่ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จึงพร้อมใจสนับสนุนด้านการเงินแก่เขา
เขาตัดสินใจก่อตั้ง " มูลนิธิอีดีฮ์ " เพื่อช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง แก่ผู้ยากไร้ ขัดสน
งานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของอับดุลสาตตาร เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
เพราะผู้คนต่างรู้จักเขาว่า เป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริงที่ปลดทุกข์ให้ผู้ยากไร้
จากนั้น เงินบริจาคจากชุมชนหลั่งไหลสู่มูลนิธิของเขา เพราะทุกคนมั่นใจในตัวเขา
ปี ค.ศ. 1957
เป็นปีที่งานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเขา ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด
" โรคไข้หวัดใหญ่เอเชีย " เป็นชื่อของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปีนั้น ลือกันว่า โรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองจีน
โรคได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และปากีสถานก็ไม่พ้นภัย
ชาวปากีสถานจำนวนมากป่วยโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแพทย์น้อยมาก
ด้วยความตั้งใจของอับดุลสาตตารที่จะรับมือกับโรคนี้ให้ดีที่สุด
เขาขอรับบริจาคเงินตามท้องถนนเพื่อเอามาใช้รักษาผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และประกาศหาแพทย์จิตอาสา
ประชาชนจำนวนมาก บริจาคให้มูลนิธิของเขาเพื่อใช้ต่อสู้กับโรคและพยาบาลรักษาผู้ป่วย
ทำให้เขามีเงินพอที่จะซื้อรถพยาบาลคันแรกได้
หลังเหตุการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ชีวิตของเขาได้รับความสนใจจากคนทั่วประเทศปากีสถาน
เสียงดังที่ออกมาจากลำโพงของการปฏิบัติ ย่อมเสียงดังกว่าลำโพงของถ้อยคำที่พูดอย่างเดียว
เสียงระนาดในโลงลิเก ฤาจะสู้เสียงดังของฆ้องที่ถูกตีบนหอสูง
ทุกคนเห็นอับดุลสาตตาร ตีฆ้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จริง
ไม่ใช่แสดงจำอวดเหมือนตีระนาดในวิกลิเก แล้วคนเล่นลิเกบอกว่า ช่วยเหลือตามท้องเรื่อง
ประชาชนเห็นความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในตัวเขา
และทุกคนมั่นใจว่า เขาคือซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริง ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่อุปโลกน์ เพราะเขาได้ทำงานที่ไม่เห็นแก่ตัว
เงินบริจาคจำนวนมากไหลเข้ามาในมูลนิธิของเขาอย่างมากมาย ทำให้เขาสามารถสร้างโรงพยาบาล
สร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ตั้งสถานสงเคราะห์สตรี ตั้งศูนย์บำบัดทางการแพทย์ได้เป็นร้อย ๆ แห่ง และงานของเขาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ
ในเวลาต่อมา งานของเขา ไม่ใช่แค่จำกัดอยู่ในเมืองการาจีเท่านั้น แต่ยังขยับขยายไปเมืองอื่น ๆ ทั่วปากีสถาน
อัลลอฮ์ทรงให้บุคลิกพิเศษอย่างหนึ่งสำหรับอับดุลสาตตาร
เขาสุภาพเรียบร้อย ใช้ชีวิตเรียบง่ายด้วยการอาศัยอยู่ในห้องเล็ก ๆ ใส่เสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชุด และมีเสื้อคลุมยาวแค่ 2 ชุดเท่านั้น
ตลอดเวลา เขาคิดถึงความทุกข์ยากของมารดา ทำให้เขาคิดถึงความทุกข์ยากของผู้อื่นเสมอ
ในปากีสถาน เรียกสกุลเงินว่า " รูปี "
" เงินทุกรูปี สำหรับอับดุลสาตตารแล้ว มีราคาและคุณค่า เขาใช้จ่ายเงินเพื่อคนอื่น เพื่อปลดทุกข์ผู้เดือดร้อน
แม้นว่า เขาจะมีชื่อเสียงและมีเงินบริจาคไหลเข้ามาในมูลนิธิอย่างมากมาย
เขาก็ยังปฏิบัติตนอย่างมาตรฐานของคนจน
เขาไม่ยอมแตะต้องฝ่ายการเงิน และเลี้ยงชีพด้วยเงินเดือนเพียงน้อยนิดที่เขาได้จากหลักทรัพย์รัฐบาล
เขาใช้จ่ายอย่างประหยัดต่อตนเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่น
คนใกล้ชิดอับดุลสาตตารที่ทำงานเป็นเลขามูลนิธิเล่าว่า
" ฉันไม่เคยเห็นใคร เหมือนอย่างเขาเลย เขายากจนจริง ใช้ชีวิตเหมือนคนยากจนทั่วไป
แม้นว่า เขาจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เขาเองก็ยังทำงานหนัก แม้นว่า จะมีปัญหาด้ัานสุขภาพ "
อับดุลสาตตารทำงานหนักด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทุกพลังงานในร่างกาย เขามอบให้แก่ผู้ได้รับความทุกข์ยาก
ตอนที่เขาเสียชีวิตนั้น มูลนิธิของเขาครอบคลุมช่วยเหลือผู้ประสบภัยเกือบทุกหมวด เช่น
อัคคีภัย อุทกภัย อุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วยเหลือคนจรจัด จัดอบรมศาสนาอิสลามเบื้องต้น ฝึกพยาบาล และอื่น ๆ
มูลนิธิของเขา มีศูนย์ทั่วประเทศปากีสถานประมาณ 330 แห่ง
เขาดูแลเด็กกำพร้ามากกว่า 50,000 คน
เขาเป็นบิดาบุญธรรมของเด็ก ๆ มากกว่า 20,000 คน
มูลนิธิมีรถพยาบาลบริการคนเจ็บคนป่วยถึง 1,800 คัน
อับดุลสาตตาร อีดีฮ์ เกิดมาใช้ชีวิตในโลกดุนยาอย่างคุ้มค่าและน่าสรรเสริญ
ชีวิตอันงดงาม เปี่ยมด้วยสงสารธรรมที่เขาแสดงออกกับมารดา
เมตตาธรรมที่เขาแสดงออกกับผู้ยากไร้ แสดงออกแก่ผู้ทุกข์ยาก ช่างประเสริฐโดยแท้
ตลอดเวลาที่เขาทำงานรับใช้ผู้ทุกข์ยาก มีรางวัลจากทั่วโลกถาโถมมามอบให้เขาอย่างต่อเนื่อง เช่น
รางวัลแมกไซไซ จากฟิลิปปินส์
รางวัลกินเนสบุ๊ค บันทึกสถิติโลก
รางวัลเลนินสันติภาพ จากโซเวียต
รางวัลบัลซาน จากอิตาลี
รางวัลคานธี จากอินเดีย
รางวัลลอนดอนสันติภาพ จากอังกฤษ
และ 7 สมัยที่ถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล
แม้นว่า " อับดุลสาตตาร อีดีฮ์ " จะได้รับรางวัลมากมาย
เขากลับรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย
และเขายังห้ามผู้คนไม่ให้จัดงานเฉลิมฉลองรางวัลที่เขาได้รับ และจะเชิญเขาปรากฏตัวในงาน
เขาบอกว่า
" เขาไม่พร้อมปรากฏตัว เพราะจะทำให้เขาเสียเวลาดูแลผู้ทุกข์ยาก "
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย